ศาลเยาวชนฯ นัดพิจารณาคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ของ 4 นักกิจกรรม ทั้งนำ “วอน” ไปสอบถามในอีกคดี โดยไม่มีทนาย-ไม่อนุญาตให้เพื่อนเข้าฟัง

วันที่ 14 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดพิจารณาคดี “ละเมิดอำนาจศาล” คดีหมายเลขดำที่ ลศ.3/2566 ของนักกิจกรรม 4 คน ได้แก่ “สายน้ำ” นภสินธุ์ (สงวนนามสกุล), “แบม” อรวรรณ (สงวนนามสกุล), “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “วอน” (นามสมมติ) จากการตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ศาลที่พยายามจะนำตัววอนไปที่ห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล อีกคดีหนึ่งโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566

สายน้ำ, แบม และวอนเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ส่วนตะวันยังไม่ได้รับหมายนัดจากศาล จึงไม่ได้เดินทางมาด้วย โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากทนายความติดว่าความในคดีอื่นและตะวันยังไม่ได้รับหมายเรียก ศาลจึงให้เลื่อนนัดไต่สวนไปเป็นวันที่ 11 และ 17 เม.ย. 2567

หลังจากนั้น ผู้พิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีแจ้งกับวอนและผู้รับมอบฉันทะทนายความว่า วอนมีหมายจับในคดีละเมิดอำนาจศาล คดีหมายเลขดำที่ ลศ.2/2566 เมื่อเสร็จจากคดีนี้ให้ไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ 10 เพื่อดำเนินการในคดีดังกล่าว โดยที่วอนไม่เคยทราบรายละเอียดมาก่อนเนื่องจากยังไม่เคยได้รับหมายเรียก

ที่หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 10 ในขณะที่ผู้รับมอบฉันทะทนายความกำลังเขียนคำร้องขอเลื่อนคดี วอนเล่าว่า ตนถูกตำรวจศาลเดินเข้ามาบอกว่า ศาลรอมา 20 นาทีแล้ว และถูกดันเข้าไปในห้องพิจารณาเพียงคนเดียว โดยผู้รับมอบฉันทะทนายความและเพื่อนยังไม่ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว 

ขณะอยู่ในห้องพิจารณา ผู้พิพากษาได้สอบถามวอนเกี่ยวกับคดีโดยที่ไม่มีทนายความอยู่ด้วย วอนเล่าว่า เขาถูกผู้พิพากษาขึ้นเสียงใส่และพยายามถามว่า เขาเป็นบุคคลในภาพใช่หรือไม่ โดยไม่มีการแสดงภาพดังกล่าวให้ดูก่อนแต่อย่างใด 

วอนเปิดเผยว่า ในเวลานั้นเขาตกใจและตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขาเป็นโรคตื่นตระหนกหรือแพนิค (Panic Disorder) ตามใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลสงขลา ทำให้ในตอนนั้นเขาตอบคำถามศาลไปด้วยความหวาดกลัวและรับว่าเป็นบุคคลตามภาพ

หลังจากผู้รับมอบฉันทะทนายความและเพื่อน ๆ ที่มารอให้กำลังใจทราบว่าวอนถูกนำตัวเข้าห้องพิจารณาโดยไม่มีทนายความ ผู้รับมอบฉันทะทนายความจึงรีบติดตามเข้าไป ส่วนสายน้ำและแบมถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าห้องพิจารณา ทั้งสองจึงเขียนคำร้องขอเข้าห้องพิจารณาคดี แต่ศาลก็ยกคำร้อง 

ผู้รับมอบฉันทะทนายความเล่าว่า เมื่อเข้าไปในห้องพิจารณาคดีพบว่า วอนนั่งตัวงอและก้มหน้าอยู่ จึงพยายามแถลงต่อศาล พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษากล่าวว่า เป็นแค่ผู้รับมอบฉันทะ ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจ ไม่มีสิทธิที่จะแถลงต่อศาล โดยตอบได้เท่าที่ศาลถาม 

ผู้รับมอบฉันทะทนายความจึงพยายามชี้แจงว่า ทนายความไม่สามารถมาศาลได้ในวันนี้ เนื่องจากติดว่าความในคดีอื่น จำเป็นต้องขอเลื่อนคดี ศาลกล่าวว่า ศาลตั้งทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ ผู้รับมอบฉันทะทนายความจึงขอให้วอนได้โทรศัพท์คุยกับทนายความก่อนเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องนี้ แต่ผู้พิพากษาไม่อนุญาต

อย่างไรก็ตาม วอนยืนยันว่า ประสงค์จะให้ทนายความที่ตนไว้ใจเป็นทนายความให้ ประกอบกับผู้กล่าวหาแถลงไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตเลื่อนนัดไต่สวนไปเป็นวันที่ 22 ม.ค. 2567 เวลา 13.30 น.

ทั้งนี้ ในคดี ลศ.2/2566 เบื้องต้นทราบว่า วอนถูก ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพในห้องพิจารณาบริเวณผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี คาดว่าเป็นวันที่หยกถูกนำตัวไปศาลเยาวชนฯ เพื่อตรวจสอบการจับกุมในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566 

ทั้งนี้ กรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้สายน้ำและแบมเข้าไปสังเกตการณ์ในคดีของวอนนั้น มีข้อสังเกตว่า คดีดังกล่าวไม่ใช่คดีเยาวชนที่ศาลจะอนุญาตให้เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าร่วมฟังการพิจารณาเท่านั้น  การพิจารณาคดีจึงต้องเป็นไปตามหลักในการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย การปฏิเสธไม่ให้ประชาชนเข้าห้องพิจารณาคดีจะต้องเป็นกรณีที่ศาลสั่งพิจารณาลับเท่านั้น ซึ่งในคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับแต่อย่างใด

X