“วิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน”: ‘คาริม ทะลุฟ้า’ จากห้องเรียนนิติศาสตร์ สู่ท้องถนน เรือนจำ และคดีความ ม.112

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก จิตริน พลาก้านตง รวม 3 ปี 10 วัน ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การประกันตัวในคดีแบบนี้ จิตรินและเพื่อน ๆ ร่วมคดี ยังได้รับการปล่อยตัวในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

จิตริน หรือ “คาริม” ในวัย 27 ปี ก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวอีกหลายคนในประเทศนี้ ที่ไม่ได้คาดหมายมาก่อนว่าการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยความหวังความฝันที่อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จะนำไปสู่เส้นทางการถูกดำเนินคดีที่หนักหน่วงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งพาไปสู่การถูกจองจำในเรือนจำมาแล้ว และยังอาจเกิดขึ้นอีกในห้วงเวลาข้างหน้า

เขาบอกติดตลกว่า ในหมู่เพื่อนฝูงนักกิจกรรม เมื่อยามทบทวนปัญหาชีวิตกัน มีการพูดถึง “ปัญหาสัมภาระ 4 ห่อ” อันได้แก่ ครอบครัว, เพื่อน, การเรียน และสังคม แต่สำหรับคนรุ่นใหม่หลายคนในรุ่นปัจจุบัน กลับต้องพูดถึงห่อที่ 5 คือ เรื่อง “คดีความ” อันพัวพัน ยืดยาว จนทำให้ชีวิตแต่ละคนยุ่งเหยิงขึ้นไปอีกด้วย

เนื่องใน “วันรพี” 7 สิงหาคมของทุกปี วันซึ่งถูกสถาปนาให้มีความสำคัญทางกฎหมายในประเทศไทย เราพูดคุยกับ “คาริม ทะลุฟ้า” ในฐานะผู้เติบโตในครอบครัวทนายความ ผ่านห้องเรียนด้านนิติศาสตร์ สู่การเป็นนักกิจกรรมผู้พยายามเรียนรู้ปัญหากฎหมายจากชาวบ้านนอกห้องเรียน กระทั่งออกมาร่วมผลักดันการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองบนท้องถนนในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา จนเผชิญกับคดีความจากการแสดงออกไปรวม 14 คดีแล้ว

เผื่อว่าหากพูดถึงนักเรียนกฎหมายในอนาคต เราจะได้พอมีเรื่องราวของสามัญชนที่ได้ทดลอง เรียนรู้ และพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบของเขาเองมากยิ่งขึ้น

.

จากครอบครัวทนายความ และความสนใจทางการเมืองหลังรัฐประหาร

จริง ๆ แล้ว ชื่อเล่นสมัยเด็ก ๆ ของเขาคือ “คิม” เท่าที่ทราบคือตอนเขาเกิด แม่ชอบภาพยนตร์เกาหลีมาก โดยเฉพาะเรื่อง “แดจังกึม” ทำให้ตั้งชื่อลูกเช่นนี้ แต่พอเริ่มโตขึ้น อยากมีตัวตนมากขึ้น และพบว่าชื่อของตัวเองไม่ค่อยเหมือนคนในครอบครัว ที่เป็นคำสองพยางค์กันหมด จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมถึงมีชื่อพยางค์เดียว ช่วงมัธยมจึงเปลี่ยนชื่อเล่นเอาเอง เป็น “คาริม” ให้ล้อไปพี่ชายที่มีชื่อในลักษณะใกล้เคียงกันด้วย

คาริม เกิดและเติบโตที่จังหวัดอุบลราชธานี เขาเป็นลูกชายคนเล็ก ในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ประกอบอาชีพเป็นทนายความ เปิดสำนักงานอยู่ในพื้นที่ แม้จะแวดล้อมด้วยงานการด้านกฎหมายมาตั้งแต่วัยเยาว์ เคยถูกพาไปเล่นที่ศาล ไปวิ่งอยู่ที่ทำงานของพ่อกับแม่ แต่เขาบอกว่าตัวเองไม่ได้ให้ความสนใจกับกฎหมายหรือวิชาชีพทางนี้มาแต่แรก

“ผมเคยตามพ่อไปศาลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร ตามเขาไปเฉย ๆ ก็จะเห็นว่างานพ่อกับแม่ต้องคุยกับคน ไปแล้วมีคนเยอะ มีคนหลายฝ่าย แล้วก็จะเห็นคนมาปรึกษาพ่อที่บ้าน ต้องมีการเคลียร์ การอธิบาย การประนีประนอม การจะฟ้องกัน มันก็อาจจะมีส่วนให้เราซึมมาเรื่องนี้ แม้จะไม่ได้สนใจเท่าไร” คาริมย้อนเล่า

ในวัยมัธยม เขาไม่ใช่เด็กทำกิจกรรม อย่างมากก็ร่วมงานกีฬาสีหรือกิจกรรมทั่วไปของโรงเรียน แถมยังนิยามตัวเองว่าเป็น “เด็กหลังห้อง แบบหลังถึงหลังที่สุด” โดยเฉพาะในวิชาที่ไม่ชอบ อย่างพวกสายวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ แต่เขาชอบวิชาอย่างสังคมศึกษาและภาษาอังกฤษ ทำให้ตั้งใจเรียนอยู่บ้างในเรื่องนี้

ความสนใจในด้านการเมืองและกฎหมายของคาริม กลับค่อย ๆ เริ่มก่อรูปจากเหตุการณ์เล็กๆ ในชีวิตที่มากระทบใจ เรื่องเล็ก ๆ อย่างการแสดงออกของคนในครอบครัวระหว่างไปชมภาพยนตร์ หรือการที่อยู่ ๆ ก็ถูกห้ามออกจากบ้าน ในคืนที่เขากับเพื่อนจะจัดงานวันเกิด แต่กลับพ้องพานกับวันที่เกิดรัฐประหารพอดี

เรื่องแรกนั้น เกิดเมื่อยังเรียนชั้นมัธยมปลาย เขาไปดูภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีแดง” กับที่บ้าน และพบว่าคนในครอบครัวคนหนึ่งไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ ขณะที่อีกคนหนึ่งยืนขึ้น ทำให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างคนในครอบครัว ขณะที่ตัวเขาก็อยู่ในภาวะก้ำ ๆ กึ่ง ๆ ว่าควรทำอย่างไร รวมทั้งยังโยนคำถามเล็ก ๆ ต่อสภาวะที่เกิดขึ้นตามมา ถึงปัญหาของการยืนหรือไม่ยืนในโรงหนัง

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นในช่วงที่เขาเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว ซึ่งตรงกับปี 2557 พอดี และอยู่ในช่วงของการปิดเทอมยาว เพื่อปรับภาคการศึกษาให้ตรงกับประเทศอาเซียน ทั้งช่วงเวลานั้นก็กลับมีการรัฐประหารเกิดขึ้นพอดี

“วันที่ 22 พฤษภา ผมจำได้เลยว่า วันนั้นผมจะไปฉลองงานวันเกิดพอดี เพราะผมเกิด 25 พฤษภา แต่มันไม่ตรงกับวันที่เพื่อน ๆ เขานัดกัน เลยเลื่อนมาจัดวันที่ 22 ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่ามันจะมีอะไร เราก็ไม่ได้ติดตามสถานการณ์ วันที่ 22 เราก็นัดแนะกับเพื่อนแล้ว ว่าตอนเย็นให้มาที่บ้านเรา มากินข้าวสังสรรค์กัน แต่สรุปว่าเย็นนั้นมีประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน ผมและเพื่อนก็ช็อคกันว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนเรากำลังจะปาร์ตี้กันนี่แหละ

“ตอนแรกผมก็นึกว่าอาจจะแค่ในกรุงเทพฯ หรือเปล่า เราลองขับรถไปซื้อของเซเว่นดู แต่แล้วก็เห็นทหารออกมาอยู่ตามจุดตรงนู้นตรงนี้ ก็เป็นสถานการณ์ประกาศกฎอัยการศึก แล้วก็มีเคอร์ฟิวทั่วประเทศ  พูดได้ว่า ผมเริ่มสนใจสังคมการเมือง เพราะประสบกับเรื่องเล็ก ๆ ในเรื่องส่วนตัวก่อน”

ในช่วงรอยต่อก่อนเข้ามหาวิทยาลัย อันเป็นช่วงปิดเทอมที่ค่อนข้างยาวนั้นเอง เขาเริ่มดูยูทูป อ่านข่าว ศึกษาเรื่องการเมือง ว่าทำไมถึงเกิดรัฐประหารขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศไทย ต่อยอดไปถึงความสนใจเรื่องปัญหาการเมืองในแง่มุมต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องกฎหมายด้วย

“ส่วนหนึ่งคือผมรู้ว่าไม่ชอบวิชาคำนวณ ก็หาว่าเรียนอะไรถึงจะไม่มีคำนวณ แล้วก็เราพอสนใจกับเรื่องการเมือง พอติดตามเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง ก็เห็นว่าหลาย ๆ เรื่องมันเกิดจากเรื่องกฎหมายนี่แหละ”

นั่นเอง ที่นำเขาไปสู่การเลือกเข้าเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

.

จิตรินในวัยมหาวิทยาลัย (ภาพจากเฟซบุ๊กจิตริน)

.

จากคณะนิติศาสตร์ และชีวิตนอกห้องเรียน

คาริม ให้ความเห็นว่าคณะนิติศาสตร์ ที่ขอนแก่นนั้น เป็นคณะที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาคิด และเรียนรู้เยอะอยู่เหมือนกัน แต่ก็มีอาจารย์ภายนอกที่มาสอนหลายคน ทำให้เกิดคำถามเรื่องการยอมรับจากนักศึกษา อาทิ การมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินในทิศทางที่ดูเหมือนตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย ถูกเชิญมาเป็นผู้สอน หรือเมื่อพวกเขาเริ่มจัดกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2563 ก็มีอาจารย์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในคณะเดียวกัน บรรยากาศจึงอยู่ในภาวะก้ำ ๆ กึ่ง ๆ

แต่การเรียนกฎหมายในสภาวะหลังรัฐธรรมนูญถูกฉีก, คำสั่ง คสช. มีอำนาจเหนือกฎหมาย, สภาผู้ผ่านกฎหมายมาจากคณะรัฐประหาร หรือประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ก็ยิ่งทำให้การเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ของเขา เผชิญกับคำถามต่อหลักการต่าง ๆ ที่ร่ำเรียนมา

“พอไปเรียนกฎหมายจริง ๆ กลับยิ่งเป็นการเพิ่มคำถามให้ผมมากขึ้นอีก เกิดคำถามว่ากฎหมายของบ้านเรา มันไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน หรือเป็นไปตามสิ่งที่เราเรียนในห้อง ยิ่งพวกกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายมหาชน ในสภาพที่เป็นจริง อำนาจขององค์กรต่าง ๆ มันไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่เราเรียนมา ยิ่งมีการฉีกรัฐธรรมนูญซ้ำไปมา

“มันมีทั้งส่วนที่เพิ่มคำถามให้ผม และส่วนที่ตอกย้ำว่า เหตุที่ผมเข้ามาเรียนนิติฯ เพราะคิดว่ากฎหมายบ้านเมืองมีปัญหา ตอนนั้นก็มีปัญหาจริง ๆ ยิ่งเรียนจบมา ก็ยิ่งเห็นว่ามีปัญหาเยอะจริง ๆ”

นอกจากห้องเรียน คาริมยังเริ่มทำกิจกรรมนอกห้องเรียนหลาย ๆ อย่าง อันเป็นที่มาของการได้รับรู้ปัญหาของประเทศนี้มากยิ่งขึ้น โดยเขาเริ่มไปออกค่ายเรียนรู้ปัญหาชุมชน รวมทั้งเริ่มร่วมกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน

“ผมไปค่ายค่อนข้างเยอะ ช่วงมหาลัย ประมาณน่าจะมากกว่า 10 ค่าย เกือบ 20 ค่ายได้อยู่ การเข้ามาทำกิจกรรมของผม ก็เริ่มจากค่ายก่อนนี้แหละ ไปเรียนรู้ปัญหาที่ดิน เรียนรู้ปัญหาชาวบ้านต่างจังหวัด”

การเรียนรู้ของเขาตอนนั้น ใช้หลายวิธีการทั้งการได้อ่านหนังสือ การเข้าห้องเรียนบางส่วน ร่วมวงเสวนาพูดคุย แต่หลัก ๆ คือเข้าให้น้ำหนักการลงพื้นที่ และพูดคุยกับผู้คนจริง ๆ ที่พบเจอปัญหาทางสังคมมากที่สุด

“สมัยนั้น ผมสนใจเรื่องนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ตอนนั้นมันมี ‘นโยบายอีสานประชารัฐ’ เป็นนโยบายที่มียุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนพื้นที่ภาคอีสาน จากปลูกข้าวให้ไปปลูกอ้อย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันขัดกับวิถีชีวิตชุมชนอีสานมาก พอมีนโยบายนี้ มันทำให้เกิดการเปลี่ยนพื้นที่ชุมชน หลายชุมชนโดยไม่ได้มีการถามชาวบ้านก่อน

“ผมไม่ได้บอกว่าการพัฒนาเปลี่ยนไปปลูกอ้อย แล้วไปทำน้ำตาล ไม่ใช่ไม่ดีกับชุมชน แต่ปัญหาของนโยบายตอนนั้นคือมันไม่ได้มีการถามชาวบ้านแบบจริง ๆ เช่น ที่ผมไปเห็นบางพื้นที่ มีกระบวนการทำ EIA เรียกชาวบ้านมา แต่ 70% ของคนที่มานั่งยกมือว่าเห็นด้วย คือไม่ใช่คนในชุมชน เป็นคนจากต่างพื้นที่ ที่แบบนายทุน หรือคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เกณฑ์เข้ามา เรื่องนี้มันก็เปลี่ยนพื้นที่อีสานไปเยอะ ตอนนั้นเราก็ไปเรียนรู้ชุมชนผ่านประเด็นนี้ด้วย

“แล้วก็ได้ไปประเด็นอื่น ๆ เช่น ประเด็นเหมืองทองคำ เป็นเรื่องชุมชนมีปัญหากับนโยบายของภาครัฐ เราก็ไปดูเรื่องพวกนี้ แล้วก็เคยมาร่วมกับชาวบ้านยื่นหนังสือในกรุงเทพฯ ในประเด็นเรื่องปัญหาโรงงานน้ำตาล”

นอกจากนั้น คาริมยังเข้าชมรมด้านกีฬาของคณะอีกหลายชมรม ทั้งมวย ฟุตบอล ซอฟบอล โดยชมรมมวยนี่เองที่กลายเป็นที่รวมของคนทำกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งด้านกีฬาและด้านสังคมการเมือง โดยมีการรวมกลุ่มทำบ้านนักกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าเป็นบ้าน “UNME of Anarchy”

“บ้าน UNME มาในช่วงที่ไผ่ (จตุภัทร์) ติดคุกอยู่ ก็คือมีคนที่เคยอยู่บ้านดาวดิน แยกออกมาอยู่บ้านอีกหลังหนึ่ง ครึ่งหนึ่งที่มาก็มาจากบ้านดาวดินนั่นแหละ เพราะพื้นที่มันมีจำกัด ก็เลยแยกออกมา แล้วคนที่มามันก็จะมีจริตประเภทหนึ่ง แต่ในเชิงหลักการ ก็ยังเหมือนกัน คนส่วนใหญ่ก็คือนักศึกษาชมรมมวย คณะนิติศาสตร์ ตอนนั้นชมรมมวยมีประมาณ 10 คน ก็มาอยู่กันเกือบหมด มีทั้งคนที่เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมอื่นๆ”

การเข้ามาทำกิจกรรมยังทำให้เขาเห็นโลกกว้างขึ้น และได้รู้ว่ายังมีเพื่อน ๆ ที่อยากเห็นสังคมที่ดีกว่าอยู่อีกหลายคน เพื่อนที่ร่วมกัน ช่วยกันคิด จินตนาการ และลงมือทำ

“ตอนนั้นรู้สึกว่าสิ่งที่เรียน มันไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่ต้องการเอาไปใช้แล้ว ตอนแรกเพื่อนที่เป็นนักกิจกรรม หรือเคลื่อนไหวทางสังคม ผมก็ไม่ได้เยอะมาก ยังไม่เห็นมิติการเคลื่อนไหวมากพอ เราก็เห็นอะไรมุมแคบ ๆ จะแก้กฎหมายในประเทศนี้ ก็เป็นไปได้ยากเหลือเกิน จะแก้รัฐธรรมนูญก็ยิ่งยาก แต่พอได้ทำกิจกรรมมากขึ้น ได้มาเจอเพื่อนเยอะขึ้น ก็ทำให้รู้ว่าเรื่องพวกนี้มันไม่ใช่การสู้อยู่คนเดียว มันก็มีคนที่คิดเหมือนเรา หรือคิดบ้า ๆ กว่า มีคำถามร่วมกันว่าถ้ากฎหมายยังเป็นแบบนี้ บ้านเมืองเรามันจะอยู่ยังไง มีคนมาช่วยกันจินตนาการ ช่วยกันคิด”

.

.

จากเสียงเรียกภายใน สู่การต่อสู้บนท้องถนน

คาริมใช้เวลาเรียนมากกว่าเพื่อน ๆ นิดหน่อย เขาไม่ได้จบภายใน 4 ปี เนื่องจากใช้เวลานอกห้องเรียนมากกว่า แต่ที่สุดเขาก็จบการศึกษาในช่วงปี 2563 พอดี ชีวิตมหาวิทยาลัยของเขาจึงเริ่มต้นช่วงหลัง คสช. ครองอำนาจ และสิ้นสุดในช่วงคาบเกี่ยวกับการลุกขึ้นชุมนุมเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่เมื่อผู้นำของ คสช. ยังสืบทอดอำนาจต่อมา

ช่วงก่อนจบการศึกษา เขาเริ่มขยับจากงานกิจกรรมเกี่ยวกับชุมชนและปัญหาชาวบ้าน มาสู่ประเด็นทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ คาริมจำได้ว่าเรื่องแรก ๆ ที่ออกมามีส่วนร่วม เป็นช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่เกิดปัญหาสูตรการนับคะแนนของ กกต. และความน่าสงสัยในกลไกการเลือกตั้งอีกหลายอย่าง เป็นที่มาของแคมเปญลงชื่อถอดถอน กกต. ในเว็บ Change.org ซึ่งมีคนลงชื่อเกือบหนึ่งล้านบัญชีในช่วงนั้น คาริมและเพื่อนได้ร่วมตั้งโต๊ะลงชื่อถอดถอนนี้ที่คณะนิติศาสตร์ด้วย

หลังจากนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฯ จากระบบที่ “ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” ได้อีกครั้ง ต้นปี 2563 เมื่อเกิดกิจกรรมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้มข้นขึ้น คาริมก็เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในประเด็นการเมืองภาพใหญ่อย่างเต็มตัว ทั้งกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่ขอนแก่น การจัดการชุมนุมในมหาวิทยาลัย จนกลางปีนั้น หลังเหตุการณ์อุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมือง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งกลายเป็นชนวนสำคัญหนึ่งที่นำไปสู่การปะทุของการชุมนุมขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

“ปี 2563 ผมขยับมาเรื่องการเมืองใหญ่ คือทั้งนักศึกษาและประชาชนหลายคนตอนนั้น ไม่เห็นด้วยกับการอุ้มหายวันเฉลิม หลายอย่างมันสะสมรวมกัน มันนำไปสู่การเคลื่อนไหว เกิดจากสถานการณ์ที่หลายพื้นที่เริ่มลงถนนกัน เกิดม็อบเยาวชนปลดแอก พวกผมก็อยู่อีสาน ก็เห็นภาพการเคลื่อนไหวกระจายตัว เห็นหลายคนเริ่มออกมา

“พวกผมก็อยากทำอะไร เกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าเรียกแบบภาษาวรรณกรรม ช่วงนั้นมันเหมือนเป็นช่วงที่มี ‘เสียงเรียก’ มีคำถามว่าเขาขนาดนี้แล้วนะ พวกมึงทำอะไรกันอยู่ จะมีจุดยืนยังไง โดยไม่ได้ต้องมีใครมาถามเรานะ แต่เราเปิดโทรศัพท์ขึ้นมา เราเห็นข่าวสาร เราก็เกิดคำถามกับตัวเอง พอมาเจอเพื่อน หลาย ๆ คนก็มาคุยกัน ส่วนใหญ่ของพวกผม ก็จะจัดกิจกรรมในมหาลัย ที่ข้างคณะนิติ หรือที่บึงสีฐาน ตอนหลังก็เกิดเครือข่ายที่ชื่อว่าขอนแก่นพอกันที เป็นหลาย ๆ กลุ่มมารวมกัน

“บทบาทของผมตอนนั้น เป็นเรื่องการช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่มหาลัย พอเริ่มช่วงชุมนุมเยอะขึ้น ก็จะไปร่วมเป็นการ์ดดูแลการชุมนุม ช่วงมีกระแส คนเริ่มเยอะขึ้น มีคนขั้นต่ำพันคน ก็ต้องคุยกันในการดูแล มีทั้งปัญหาเรื่องป้ายที่อาจจะสุ่มเสี่ยง มีอาจารย์มหาลัยมากดดันในเรื่องป้าย ให้ไปตามหาชื่อคนเอามาป้ายมาให้หน่อย มาจากคณะไหน  แล้วก็มาพยายามปรามไม่ให้มีป้ายสุ่มเสี่ยงในงาน พวกผมก็รับฟัง แต่ก็ไม่สามารถไปห้ามใครได้ตอนนั้น”

ไม่เพียงเท่านั้น จากการดูแลการชุมนุม คาริมเริ่มขยับขึ้นปราศรัยบนเวทีด้วย โดยเขาจำได้ว่าครั้งแรกที่ขึ้นปราศรัยคือตอนไปร่วมเวทีชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่จังหวัดร้อยเอ็ด (วันที่ 3 ก.ย. 2563) ครั้งนั้นเขาเดินทางไปร่วมม็อบจากขอนแก่น และเพื่อนชวนขึ้นพูด ประสบการณ์การขึ้นปราศรัยของเขามีอยู่บ้าง ตอนไปร่วมชุมนุมกับม็อบของชาวบ้านที่มีประเด็นปัญหา โดยเคยไปพูดเรื่องข้อกฎหมาย และกระบวนการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ก็ไม่เคยปราศรัยในประเด็นการเมืองโดยตรงมาก่อน นั่นจึงเป็นครั้งแรกของคาริม

“ผมคิดว่ามาโดนตำรวจหมายหัว เอาใส่เข้าในบัญชีรายชื่อจริง ๆ ตอนม็อบที่ร้อยเอ็ดนั่นแหละ ตอนนั้นก็มีเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ไปปราศรัยด้วย ก็ไม่ได้คิดว่าจะโดนอะไร เพราะคิดว่าเรื่องต่าง ๆ มันพูดได้ คนในสังคมเขาต้องการสะท้อนปัญหากัน แล้วตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีการใช้ข้อหา 112 กันน่ะ ที่เพนกวินโดน ก็มาโดนแจกย้อนหลังไปแล้ว ไม่ได้โดนทันที”

เมื่อเคลื่อนไหวมากยิ่ง สถานการณ์การถูกติดตามคุกคาม ก็เกิดขึ้นตามมา บ้าน UNME ก็กลายเป็นเป้าจับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ และโดนเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตามหลายครั้ง

“ที่หนักที่สุดคือก่อนการชุมนุม 19 กันยา ที่สนามหลวง ตอนนั้นพวกผมก็จะไปร่วมกับทีมราษฎรอีสาน ก็รับผิดชอบร่วมเขียนป้าย 10 ข้อเสนอฯ ไป แต่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาที่บ้าน และยึดป้ายไปหมด”

จนช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 สถานการณ์เข้มข้นขึ้นอีก เริ่มมีการคุมขังแกนนำในกรุงเทพฯ และใช้กำลังสลายการชุมนุมหนักหน่วงขึ้น ขณะการประท้วงในเมืองหลวงก็มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย คาริมเริ่มเข้ามาช่วยกิจกรรมที่กรุงเทพฯ เขาจำได้ว่าลงไปร่วมม็อบ “นอนแคมป์ไม่นอนคุก” ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อให้กำลังใจแกนนำและผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขังอยู่

“หลังจากไปกรุงเทพฯ ก็ไปอยู่เคลื่อนไหวตรงนั้นยาว มันจะมีช่วงที่เพื่อนติดคุก ก็ต้องช่วยประสานครอบครัวให้เพื่อน ช่วยกันดูแล ก็เลยไปอยู่กรุงเทพฯ มากกว่า”

คาริมร่วมเคลื่อนไหวกับทีมของไผ่ จตุภัทร์ ซึ่งต่อมาคลี่คลายเป็น “กลุ่มทะลุฟ้า” ในช่วงปี 2564 และเขายังเริ่มถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2564 โดยคดีแรกเป็นกรณีจากการไปร่วมชุมนุมที่หน้า สภ.ภูเขียว เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษต่อการไปคุกคามเยาวชนที่จะไปร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” และตามมาด้วยถูกจับกุมเป็นครั้งแรกจากการร่วมปักหลักที่ “หมู่บ้านทะลุฟ้า”

คาริมเป็นคนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2564 อันเป็นการเดินเท้าระยะทาง 247.5 กิโลเมตร จากนครราชสีมถึงกรุงเทพฯ เพื่อร่วมเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ปล่อยเพื่อนเรา, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยกเลิก 112  และเขาคิดว่านี่เป็นกิจกรรมที่ประทับใจที่สุดในการชุมนุม 2-3 ปีนั้น สำหรับตัวเอง

“ตอนกิจกรรมเดินทะลุฟ้า เป็นกิจกรรมที่ประทับใจมาก คือภาพแรกที่ออกจากโคราช มันมีคนไม่ถึง 50 คน แต่ภาพตอนที่เดินมาถึงรังสิต ออกจาก มธ. อีก 10 กิโล ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มันเป็นภาพที่ผมจำมาจนถึงวันนี้ได้เลยว่ามันมีคนมาสนับสนุนพวกเราเยอะมาก จากคนแค่ 50 คนกลายเป็นขบวนเดินน่าจะ 500-600 คน พอไปตั้งเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพที่ผมเห็น คือคนล้อมรอบอนุสาวรีย์ มันเหมือนเป็นสโนว์บอล จากภาพที่เราเริ่มคิดจะทำ แล้วเราลงมือทำ แล้วทำแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง คือผมเห็นทุกชอร์ต ทุกเหตุการณ์ ทุกความเป็นไป ผมเดินกับมันไปตลอดทาง

“กิจกรรมนี้ มันให้อะไรผมหลายอย่าง เปิดโลกผม อย่างเมื่อก่อนตอนเป็นนักศึกษา ผมก็ยังกินกาแฟเซเว่น จนผมมาร่วมเดินทะลุฟ้า ผมเจอว่ากาแฟมันไม่ได้มีแค่กาแฟแบบนั้น มีเพื่อนจากภาคเหนือ เอากาแฟมาฝาก ผมก็ไม่เคยกินกาแฟใส่ห่อแบบนั้นมา ก็มานั่งดริปกัน ก็เปิดโลกผม แล้วกาแฟที่เขาเอามา ก็เป็นกาแฟจากพี่น้องชุมชนที่เขาต่อสู้เรื่องปัญหาที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐเหมือนกัน ก็เป็นปัญหาที่คล้ายกันที่ผมเรียนรู้จากภาคอีสาน เพียงแค่เปลี่ยนบริบทพื้นที่ไป ผมเลยประทับใจกิจกรรมนี้”

หลังจากเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้า ทำให้คาริมมีคดีติดตามมาอีกหลายคดี โดยเฉพาะช่วงกลางปี 2564 ที่กลุ่มมีการนัดหมายชุมนุมอย่างต่อเนื่อง คาริมบอกว่าช่วงนั้นต่อให้พวกเขาไม่จัดการชุมนุม ก็มีกลุ่มที่ไปชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงแทบทุกวัน ซึ่งมีทั้งคนใช้แรงงาน คนที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการโควิด เด็กที่ครอบครัวไปขายของไม่ได้

“มันมีความโกรธกัน เขาก็ออกไประบายกัน แต่พวกผมรู้สึกว่าตอนนั้น message ที่พวกเขาต้องการสื่อสารมันไม่ค่อยออก หรือว่าสิ่งที่เขาต้องการพูดมันไม่เห็น เช่นว่ามาตรการป้องกันโควิดมันมีปัญหายังไง การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่สลายชุมนุมมันมีปัญหายังไง แต่วิธีการพูดของเขาด้วยรูปแบบนั้น สังคมมันไม่ได้ฟัง แล้วก็ถูกตีความไปอีกแบบ ทางพวกผมก็คิดว่าอยากมีพื้นที่อธิบายให้กับคนกลุ่มนี้ด้วย ช่วงนั้นทะลุฟ้าก็เลยพยายามจัดกิจกรรมไปด้วย เป็นอีกลักษณะหนึ่ง

“ถ้าเป็นหนัง ตอนนั้นคือของทะลุฟ้าก็อาจจะเป็นหนังซีรีส์ ส่วนของที่ดินแดง มันคือหนังบู๊ แต่มันคือหนังเหมือนกันที่ต้องการพูดถึงปัญหาการบริหารจัดการของรัฐที่ไม่ได้รับการยอมรับ ผู้นำมาจากการรัฐประหาร อะไรแบบนี้”

“ปัญหาหลังจากนั้น คือมันมีหมายเรียกตามมาอีก แต่มันไม่ได้มาทีเดียว มันมาทีหลัง เราก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่ากิจกรรมไหนบ้างที่มันจะมีหมาย”

สถานการณ์ที่ถูกหมายเรียกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รวมแล้วจนถึงปัจจุบัน คาริมถูกกล่าวหาดำเนินคดีไปทั้งหมด 14 คดี เกือบทั้งหมดเป็นคดีในกรุงเทพฯ โดยมีคดีในภาคอีสานอยู่ 1 คดี และจนถึงปัจจุบันสิ้นสุดไปแล้ว 6 คดี มีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้อง หรือลงโทษปรับ

เขาทบทวนถึงการชุมนุมในช่วงนั้น ย้อนกลับไปว่า “สิ่งที่ช่วงนั้นประสบความสำเร็จ คือทำให้สังคมกลับมาฉุกคิดเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง ว่าบ้านเมืองเรามันมีอะไรบางอย่างที่มีชนักอยู่ ที่ทำให้มันพัฒนาไปได้ไม่เท่านานาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย สิทธิมนุษยชน การศึกษา ต่างๆ  ทำให้คนเห็นแล้วว่ามันมีปัญหาที่เราไม่ได้พูดถึงกันมานาน แล้วเราไม่เคยได้ถกเถียงร่วมกันสักที ผมคิดว่าคุณูปการของม็อบตอนนั้นคือการตั้งคำถามและทำให้คนจำนวนมากได้คิด-ถกเถียงเรื่องที่ใหญ่กันจริงๆ ในระดับวาระของสังคม 

“ส่วนความล้มเหลว คือคำถามเหล่านั้น ทำให้สังคมสนใจมากก็จริง แต่วิธีการจัดการ วิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ มันจะทำยังไงต่อไป แล้วถ้าเราแก้ด้วยวิธีหนึ่งไม่ได้ เรามีวิธีไหนบ้างที่จะแก้ได้ แบบเป็นรูปธรรมและเป็นฉันทามติของคนส่วนใหญ่ด้วย ที่ไม่ได้มาจากแค่บางกลุ่ม คือมันมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมหลากหลายของแต่ละกลุ่ม แต่มันไม่สามารถได้รับการยอมรับได้กว้างมากพอ

“แล้วก็การใช้กฎหมายของรัฐ ก็ทำให้เราล้มเหลวด้วยเหมือนกัน เขาปราบปรามโดยใช้กฎหมาย จนทำให้หลายคนที่เข้ามาร่วมต่อสู้มีภาระเต็มไปหมด หลายคนก็ไม่ได้มีแผนอะไร เราแค่รู้สึกว่าต้องออกมาต่อสู้ ออกมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ก็ต้องเผชิญผลกระทบจากกฎหมายของรัฐ” คาริมสรุปบทเรียน

.

กิจกรรมเดินทะลุฟ้า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (ภาพจาก Pai Jatupat)

.

จากมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “คุก”

คดีความที่เกิดขึ้น ยังนำคาริมไปสู่การถูกจองจำเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อในช่วงกลางปี 2565 ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวเขาและเพื่อนสมาชิกทะลุฟ้า รวม 7 คน หลังถูกสั่งฟ้องในคดีทำกิจกรรมชุมนุมและสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564

“ช่วงนั้นพอเริ่มโดนคดี ก็เริ่มคิดว่าอาจจะต้องติดคุก คิดว่าถ้าไปขั้นตัดสินถึงที่สุด ก็อาจจะติด แต่ไม่คิดว่าจะติดตั้งแต่ตอนถูกสั่งฟ้อง ยังไม่ได้สู้คดีเลย มันก็เหนือความคาดหมายหน่อย เพื่อน ๆ หลายคนช่วงแรกติดไปตั้งแต่ช่วงนี้ ติดจากกระบวนการฝากขัง หรือตั้งแต่ถูกสั่งฟ้อง”

คุกจึงกลายเป็น “มหาวิทยาลัย” แห่งใหม่สำหรับคาริม ที่เขาก็ต้องทดลองศึกษาเรียนรู้ในสถานที่แห่งใหม่ หลังจากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยภายนอก

“ในคุก ผมจะมีไดอารี่เล่มหนึ่ง จะเขียนหน้าสมุดไว้ว่า วิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ผมก็จดทุกอย่างที่ผมเรียนรู้ในคุกเอาไว้”

“ผมเห็นว่าในคุก เราจะเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการกดขี่ สภาพไม่ต่างจากข้างนอกเรื่องนี้ มีคียเวิร์ดเรื่องหนึ่งที่สะท้อนเรื่องการกดขี่ขูดรีด เช่นเรื่องพ่อบ้านในคุก พ่อบ้านเหมือนกับคนดูแลห้อง คนคอยเช็คชื่อ หรือคอยประสานงานกับผู้คุม หนึ่งห้องก็จะมี 20 คน ผู้คุมเขาก็จะคุยกับพ่อบ้าน แล้วให้พ่อบ้านปกครองนักโทษกันเองอีก 20 คน ซึ่งผมก็จะเจอพ่อบ้านบางคนก็มาสั่งให้คนในห้องทำงานต่ออีก มีทุกอย่างสารพัดงาน

“ในคุกก็มีการแบ่งฝ่ายงานกันอีก ผมก็ไปอยู่กองงานโรงครัว ซึ่งแต่ละกองงานก็จะมีหน้างานของตัวเอง แล้วจะมีกองงานหนึ่ง ที่เป็นกองล้างจาน ก็จะล้างจานอยู่ทั้งวัน พวกผมก็ได้ดูเรื่องผ้าในโรงครัว ก็จะอยู่ใกล้ ๆ กับงานซักผ้า ก็จะได้ยินเขาบ่นกัน ล้างไปก็บ่นไป มีคำหนึ่งแล้วผมรู้สึกเหมือนถูกจี้ใจจำ คือ ‘ตกลงกูมาเป็นนักโทษ หรือมาเป็นขี้ข้าว่ะ’ (หัวเราะ)

“อารมณ์แบบนอกจากเป็นนักโทษ ยังต้องมาทำงานหนักอยู่ข้างใน มาถูกใช้แรงงาน หลายคนไม่ได้มีญาติส่งเงินมาให้ ก็ไม่มีเงินซื้ออะไร ก็ต้องเน้นกินอาหารที่รัฐจัดให้ กินข้าวของรัฐ ข้าวนี้โภชนาการอาหารอะไรก็คือน้อยมาก คนที่ติดคุกนานๆ ก็จะบอกไม่ดีต่อสุขภาพ หลายคนก็ต้องหางานทำในคุก เพื่อจะได้พอมีเงินเอาไปแลกของมาใช้

“อีกเรื่องหนึ่งคือผมอยู่ในกองงานสวัสดิการ ก็จะเห็นว่าภาพในเมนู สมมติเขาเขียนว่าจะได้กินแกงจืด ไข่พะโล้ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ภาพอาหารก็จะภาพเหมือนร้านอาหาร แต่อาหารจริง ๆ ที่ได้กิน คือ 5-6 เมนูนี้ แทบจะแยกกันไม่ออก ผัดผัก แกงจืด ต้มจับฉ่าย คือแยกกันไม่ออกเลย หน้าตาเหมือนกันหมด ถ้าเป็นภาษาคนทำร้านอาหารก็จะเรียกว่าวนวัตถุดิบเนอะ”

หากชีวิตในคุก ก็มีแง่มุมที่คาริมในฐานะนักเรียนกฎหมาย ได้ทำประโยชน์บางอย่างเช่นกัน ทำให้เขาเริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนเล่าเรียนมาบ้าง

“คนในคุก พอเขารู้ว่าผมมีวุฒิเป็นเด็กนิติศาสตร์ เขาจะเรียกผมว่า ‘ทนาย’ กัน ทั้งที่ยังไม่ได้เป็น ตอนนั้นถ้าไม่มีทนายหรือคนมาเยี่ยม งานอดิเรกของผมคือจะมีเพื่อน ๆ ในคุก มาปรึกษาเรื่องคดีนี่แหละ เอาสำนวนมาให้ผมดู มาเล่าเรื่องคดี ตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน ว่าเขาโดนแบบนี้ ข้อกฎหมายเป็นยังไง ผมก็อธิบายเท่าที่ได้ ผมก็รู้สึกประทับใจ ว่าสิ่งที่เราพอเรียนมา มันได้ถูกนำมาใช้ และได้เอามาช่วยคนจริง ๆ  คนในคุก 90% คือไม่ได้สามารถจ้างทนาย ส่วนใหญ่ก็เป็นทนายอาสาที่ตำรวจหรือศาลจัดให้” 

คาริมยังย้อนเล่าถึงความพยายามในการปรับตัวต่อการใช้ชีวิตภายในคุก ว่าเขาและเพื่อน ๆ ทะลุฟ้าที่เข้าไปด้วยกัน ต่างพยายามออกแบบกระบวนการกลุ่มในระหว่างถูกจองจำ เพื่อทำให้สามารถอยู่รอดได้นานที่สุด

“พวกผมพยายามเตือนสติกันกับเพื่อน ๆ ก็คือเรื่องการใช้จ่าย และร่วมกันประเมินสถานการณ์ คือพยายามอยู่ด้วยกันให้ได้ การอยู่การกินจากเงินกองทุนที่โอนมา พวกผมทะลุฟ้า ตอนนั้นมี 6 คน (กลุ่มที่เรือนจำชาย) ก็จะเอาเงินมารวมกัน แล้วก็จะได้เงินก้อนหนึ่ง เป็นแบบสหกรณ์ แล้วก็เราก็ใช้เงินนี้บริหารจัดการชีวิตทุกคน

“มันก็จะต้องคุยกันทุกวัน ออกแบบตั้งแต่กินข้าวหรือซื้อของ เป็นงบของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล แล้วก็เตือนกันว่าแต่ละวันเราจะใช้เงินกันเท่านี้ ก็ต้องเท่านี้ จะเอาไปให้คนอื่นอีกก็ลำบาก เราก็ไม่ได้รวย เราก็ต้องเผื่อไว้กรณีฉุกเฉินด้วย เช่น เราอาจต้องติดเป็นปี หรือกองทุนอาจจะไม่มีเงิน มันก็ต้องวางเผื่อกันไว้”

สรุปแล้วในการถูกจองจำครั้งแรกนั้น คาริมต้องใช้ชีวิตในคุกรวมทั้งหมด 56 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แต่ให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ด้วย ซึ่งก็นำมาสู่ผลกระทบไปอีกแบบ

“พอเราโดยคดี และต้องติด EM หลายคนพอไปสมัครงานหรือบางองค์กรเขาก็จะมองว่าโดนคดี หรือมองเป็นคนผ่านเรือนจำมา เขาก็จะมองแบบไม่ยอมรับ

“ตอนหลังผมออกจากคุก แล้วผมไปสอบตั๋วทนาย ต้องใส่ EM ไป ที่หน้าห้องสอบมันจะมีการตรวจร่างกายก่อนเข้าห้อง เขาก็เห็น EM เขาก็ถามว่าไปโดนคดีอะไรมา คดีถึงที่สุดหรือยัง ผมก็ต้องอธิบาย บอกว่าคดีมันยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี ผมได้ประกันตัวออกมา ก็ต้องอธิบายพักใหญ่ มันก็ยากหลายเรื่องเลย” คาริมเล่าถึงช่วงที่เขาต้องติดกำไล EM อยู่เกือบ 5 เดือน ก่อนศาลอนุญาตให้ถอดออก

.

.

จากการต่อสู้กับคดีมาตรา 112

ไม่จบเพียงเท่านั้น คาริมยังเผชิญกับประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตอีกอย่างหนึ่ง คือการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ข้อกล่าวหาอันแสนพิเศษสำหรับระบบกฎหมายในประเทศนี้

หลังออกจากคุกได้ไม่นาน ปลายปี 2565 เขาถูกแจ้งข้อหาในคดีใหม่ที่ สน.นางเลิ้ง โดยเที่ยวนี้มีข้อกล่าวหาหนักอย่างมาตรา 112 เป็นคดีแรก จากกรณีถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ที่บริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม ในระหว่างการชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564

เขาพอทราบว่าจะถูกดำเนินคดีนี้ก่อน ตั้งแต่ช่วงอยู่ในเรือนจำ ที่มีเพื่อนทะลุฟ้าเริ่มถูกแจ้งข้อหาไปก่อนแล้ว และยังมีเจ้าหน้าที่รัฐไปหาพ่อถึงที่บ้านที่อุบลราชธานีเป็นครั้งแรก ไปสอบถามข้อมูลของเขา พร้อมบอกว่าทราบหรือเปล่าว่าลูกโดนคดีมาตรานี้

“ที่บ้านผม เขาก็บ่นตลอด เขาก็เป็นห่วงนั่นแหละ ทั้งพ่อทั้งแม่ก็คือบ่นผม ผมเริ่มโดนคดีเขาก็บ่น แต่ก็บอกในฐานะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ สำหรับเราในตอนนั้น เราก็พยายามยืนยัน พยายามพูดถึงสังคม ที่ประชาชนในยุคนี้ เขาต้องการยืนยันความคิดทางการเมืองแบบนี้ ก็พยายามอธิบายกับที่บ้าน เขาก็รับฟังนะ แต่ก็ให้ระวังหน่อย เป็นห่วงอะไรแบบนี้

“พอมาโดน 112 พ่อเขาไม่พูดไม่บ่นแล้วนะ เขารู้ว่าผมโดน 112 ตอนที่ผมติดคุกด้วย เริ่มทราบว่ามีคดีใหม่รออยู่ เป็นคดี 112 ที่บ้านเขาก็รู้ แล้วเขาก็มาเยี่ยมผม กลับกลายว่าเป็นการเยี่ยมที่ผมร้องไห้ โดยที่พ่อไม่ได้พูดว่าผมเรื่องคดีนี้สักคำ เขาไปพูดถึงเรื่องให้ดูแลตัวเอง พ่อก็พยายามอธิบายเรื่องกฎหมายช่วย บอกว่าเดี๋ยวก็ได้ประกันอะไร ให้กำลังใจเรามากกว่า ยิ่งเขาให้กำลังใจเรา เราเลยยิ่งแบบสะเทือนใจ”

การต่อสู้คดีนี้ คาริมยังได้รับการประกันตัว และต่อสู้คดีมาเกือบ 2 ปีแล้ว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของคดีข้อหานี้ คาริมยังต้องเตรียมตัวและเตรียมใจหากต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง

“ถ้าต้องเข้าคุกอีกรอบ ผมก็ยังเตรียมใจไว้ พอมันเป็นคดี 112 แล้ว หลายคำตัดสินในคดีนี้ ก็มีปัญหามาก มีการใช้ดุลยพินิจที่อธิบายได้ยากทางกฎหมายอยู่เรื่อย ๆ

“หนึ่งในทีมทนายที่ต่อสู้อยู่ คือทนายอานนท์ นำภา ที่ติดคุกอยู่ และโดนตัดสินใจโทษคดีข้อหาเดียวกับที่พวกเราโดนพิจารณา แล้วการสืบพยานคดีนี้ เปิดโลกการสืบพยานทางกฎหมายของผมที่สุดเลย ตั้งแต่ผมเรียนกฎหมายมา มันคือการอธิบายยืนยันหลักสิทธิต่าง ๆ หลักการทางกฎหมาย เราเอาสิ่งเหล่านี้มาอธิบายกับศาล กับเจ้าหน้าที่รัฐ กับพยานจริงๆ

“มันเป็นคดี 112 ครั้งแรกของผม ก็เลยตั้งใจเป็นพิเศษ ตั้งใจฟัง ตั้งใจดูว่าเขาพูดอะไรกัน สิ่งที่ทนายนำสืบ มันคือตรงตามกฎหมายแบบที่เราเรียนมาเลย มันก็รู้สึกว่ามีคนมาช่วยกันยืนยันไป ว่าสิ่งที่เราออกมาชุมนุมช่วงปี 63-65 มันมีคนที่เข้าใจเรา

“คดีนี้ ถ้าตอบแบบตามพยานหลักฐาน น้ำหนักของพยานหลักฐาน ถือว่าเบามาก อ่อนมาก เพื่อนผมเป็นนักกฎหมายทำงานอยู่อีกที่ มานั่งฟัง ก็ยังคิดว่าน่าจะยกฟ้องได้ แต่ในฐานะนักกิจกรรม และเคยมาที่ศาลอาญาอยู่บ่อย ๆ ผมยังคิดว่า 50-50” คาริมประเมินให้ฟัง ก่อนเขาจะมาฟังคำพิพากษา ซึ่งในที่สุดแล้ว ศาลอาญาพิพากษาว่ามีความผิด แต่ยังได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

.

.

จากการรอนแรมสู่เชียงใหม่ และความพยายามอีกครั้งในด้านกฎหมาย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากคดีความที่ยังไม่สิ้นสุด พร้อมกับกระแสการชุมนุมที่เบาบางลง คาริมต้องเลือกเส้นทางชีวิตต่อไป โดยเขาเลือกลองไปใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ช่วงปี 2566 และล่าสุดเริ่มลงทุนในกิจการทำบาร์กาแฟเล็ก ๆ อันเป็นธุรกิจของตัวเองครั้งแรกในชีวิต

“ตอนแรกที่มาก็โรแมนติกเชียงใหม่ แล้วเราก็มีเพื่อนนักกิจกรรมที่นี่เยอะ ช่วงปี 63 ที่ผมไปเคลื่อนไหวมา จนถึงปี 66 ถ้าเป็นรถไฟ ก็คือเป็นช่วงชีวิตที่ผมขึ้นรถไฟความเร็วสูงอย่างเดียว คือมันไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยได้มีช่วงหยุดทบทวน มาคิด มาถอดบทเรียนในชีวิต คิดว่าเราคิดถูกไหมเรื่องนี้ ไปทำแบบนี้มันส่งผลอะไรบ้าง ส่งผลต่อคนรอบข้างหรือตัวเองยังไง ไม่ค่อยได้มีช่วงเวลามานั่งคิด

“ช่วงผมอายุ 25 แล้วผมติดคุก พอได้ออกมา ผมรู้สึกว่าต้องการไปสักที่หนึ่ง ที่ได้ทบทวนช่วงเวลาประมาณ 4 ปีนี้ เผื่อจะได้ตกผนึกขึ้น เพื่อที่จะได้เลือกใช้ชีวิตต่อหลังจากนี้ ให้มันมั่นคงกับตัวเองมากขึ้น ก็เลยตัดสินใจลองมาอยู่เชียงใหม่ เปลี่ยนที่ดู

“แผนการตอนนี้ก็ขอทำร้านกาแฟให้รอด เราก็ลงทุนทำบาร์กาแฟเล็ก ๆ เป็นการทำธุรกิจแรกของตัวเองเลย จริง ๆ ผมมีความฝันอีกเยอะ ทั้งอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ ไม่ใช่ 2-3 ปีนี้แน่”

นอกจากการงานที่กำลังทดลองทำ คาริมยังกลับมาสู่วิชาชีพด้านกฎหมาย โดยกำลังพยายามสอบใบอนุญาตการเป็นทนายความให้ผ่านอยู่ แล้วอาจทดลองทำอะไรด้านนี้ดู 

“ตอนช่วงปี 3 ผมเคยหมดไฟกับการเรียนกฎหมาย ไม่อยากทำอาชีพกฎหมายอะไรแล้ว แต่พอได้มาเห็นโลกในมุมที่กว้างมากขึ้น ผมรู้สึกอยากกลับมาทำอาชีพในทางกฎหมาย เพื่อผลักดันอะไรดู ก็เลยคิดอยากเป็นทนายก่อน

“พ่อแม่ก็ดีใจนะ ที่ผมคิดจะลองเป็นทนาย อาชีพแบบที่เขาคิดว่าน่าจะมีลู่ทางในชีวิตสำหรับเขา เพราะช่วงหนึ่ง ผมเคยบอกที่บ้านว่าจะไม่ทำงานด้านกฎหมาย เพราะรู้สึกหมดศรัทธากับกฎหมายในประเทศนี้

“ตอนหลัง ผมสนใจทางกฎหมายสิทธิมนุษยชน รู้สึกว่าเรื่องนี้ช่วยอะไรคนอื่นได้เยอะ ตอนเรียนมันไม่ได้มีวิชานี้บังคับให้เรียนนะ มันจะเป็นวิชาเลือก ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เลือกไปเรียนกัน เพราะมันดูยาก แล้วก็ไม่ได้บังคับ ก็แทบไม่มีใครเรียน ทั้งที่ค่อนข้างสำคัญมาก” คาริมบอกเล่าความสนใจทางกฎหมาย

ไกลออกไปจากเรื่องชีวิตตัวเอง ท่ามกลางความผิดหวังจากสถานการณ์บ้านเมือง คาริมก็ยังย้ำว่าเขาอยากเห็นประเทศของตัวเองดีขึ้นได้กว่านี้ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก

“ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชนจริง ๆ การเขียนต้องออกแบบโดยเจ้าของปัญหาต่าง ๆ ของประเทศนี้ มาจากการกลั่นกรองจากทุกภาคส่วนของผู้คน ว่าในแต่ละเรื่องมันต้องเป็นยังไง แล้วมันแก้ไขปัญหาในประเทศไทยให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างประชาธิปไตยใหม่ ไม่เกิดรัฐประหารอีก ลดการผูกขาดของทุน เป็นกฎหมายหลักที่จะทำให้ประเทศนี้พัฒนาไปใหม่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมยังอยากเห็นสิ่งเหล่านี้” 

.

X