ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว 7 สมาชิกทะลุฟ้า คดีสาดสีหน้าพรรค ปชป. หลังอัยการสั่งฟ้องคดี ระบุน่าเชื่อว่าอาจไปก่อเหตุภยันตรายอีก

19 ก.ค. 2565 ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 มีคำสั่งฟ้องคดีของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า จำนวน 9 คน จากกรณีทำกิจกรรมชุมนุมและสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ต่อมาศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย 7 คน โดยอ้างเหตุว่าน่าเชื่อหากปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยอาจก่อภยันตรายอื่นได้อีก

สำหรับคดีนี้มี ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สน.บางซื่อ โดยมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 10 คน ที่ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปี 2564 ได้แก่ ทรงพล สนธิรักษ์, นวพล ต้นงาม, เจษฎาภรณ์ โพธิ์เพชร, ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี, กตัญญู หมื่นคำเรือง, จิตริน พลาก้านตง, ทวี เที่ยงวิเศษ, ชาติชาย ไพรลิน, ทสมา สมจิตร์ และกฤษณะ มาตย์วิเศษ โดยที่ในวันนี้ นวพล ไม่สามารถเดินทางมาฟังคำสั่งฟ้องของอัยการได้ เนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ทำให้อัยการสั่งฟ้องเฉพาะผู้ต้องหา 9 รายไปก่อน

เมขลา อัจฉราวงศ์ชัย พนักงานอัยการ ได้เป็นผู้เรียงฟ้องคดี โดยกล่าวหาทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216, ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358, ข้อหาบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตามมาตรา 362 ประกอบมาตรา 365, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

.

คำฟ้องโดยสรุปกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 จำเลยทั้งเก้า พร้อมกับพวกรวมจำนวนประมาณ 50-60 คน ในนามกลุ่มทะลุฟ้า ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมทางการเมือง เพื่อไปยื่นหนังสือเรียกร้องทางการเมืองต่อพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีการใช้รถยนต์ติดตั้งเครื่องขยายเสียง โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโคโรน่า 2019 และเป็นกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 5 คน ที่มีเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

กลุ่มจำเลยยังได้ร่วมกันขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ด้วยการด่าทอ ตำหนิ โห่ไล่เจ้าพนักงานตำรวจที่นำแผงเหล็กไปวางกั้นบริเวณทางเข้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ หลัง พ.ต.ท.วรภัทร สุขไทย รองผู้กำกับสืบสวน สน.บางซื่อ ได้สั่งให้จำเลยเลิกการชุมนุม แต่จำเลยทั้งหมดยังขัดขืน ไม่เลิกการมั่วสุม ทั้งยังบุกรุกเข้าไปภายในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และสำนักงานของผู้เสียหาย

กลุ่มจำเลย ยกเว้นทรงพลและเจษฎาภรณ์ ยังมีการขว้างปาถุงสีเข้าไปภายในพรรค ที่ป้ายชื่อพรรคและผนังของพรรค มีการติดสติกเกอร์และกระดาษที่มีรูปภาพล้อเลียนบุคคลที่ประตูที่ทำการพรรค และได้จุดไฟเผาหุ่นฟางที่บริเวณพื้น จนป้าย ผนังอาคารของพรรคเสียหาย รวมเป็นค่าเสียหายจำนวน 6,328 บาท

เฉพาะทรงพล, เจษฎาภรณ์ และกตัญญู ยังได้แสดงความคิดเห็นโจมตีการบริหารราชการของรัฐบาล โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจศาล แต่ขอให้นับโทษจำคุกในคดีนี้เรียงต่อคดีอื่นๆ ที่จำเลยแต่ละคนถูกกล่าวหาในทุกคดี และยังขอให้ริบของกลางในคดี ได้แก่ ถุงพลาสติกบรรจุสีแดง และสติกเกอร์ด้วย

.

ต่อมา หลังการสั่งฟ้องคดี จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลได้กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 22 ส.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ขณะที่ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวทั้งหมดในชั้นพิจารณา 

ก่อนที่ในช่วงเย็น ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเฉพาะทรงพลและเจษฎาภรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว คนละ 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นไปในทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน และให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแลจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ส่วนจำเลยอีก 7 ราย ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุว่า จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท ทั้งการใช้ความรุนแรงเกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุสมควร โดยเฉพาะจำเลยทั้ง 7 ยังเคยถูกดำเนินคดีที่ศาลนี้มาแล้วด้วย จึงน่าเชื่อว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยทั้ง 7 อาจก่อภยันตรายอื่นได้อีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาที่จัดทำคำสั่ง ไม่ได้ลงลายมือชื่อระบุไว้แต่อย่างใด

ผลจากคำสั่งประกันตัวดังกล่าว ทำให้ศักดิ์สิทธิ์, จิตริน, ทวี, ชาติชาย และกฤษณะ ถูกนำตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนกตัญญู และทสมา ถูกนำตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

อีกทั้งจนถึงวันที่ 19 ก.ค. 2565 มีผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว รวมอย่างน้อย 30 คน แล้ว (ดู รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมืองตั้งแต่มีนาคม 2565)

.

X