คุยกับ “มิว วัชรภัทร”: 92 ปี อภิวัฒน์สยาม แต่อ่านประกาศ “คณะราษฎร” ยังต้องสู้คดี ม.116

24 มิถุนายน วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ “วันอภิวัฒน์สยาม” เวียนมาบรรจบอีกครั้ง

ท่ามกลางกระแสการช่วงชิงความหมายให้กับเหตุการณ์ในปี 2475 จากชุดความคิดและอุดมการณ์อันหลากหลายในปัจจุบัน ในปีครบรอบ 92 ปี ของเหตุการณ์นี้ ควรต้องบันทึกเรื่องหนึ่งว่า ยังต้องมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการอ่านออกเสียงเอกสารประวัติศาสตร์อย่าง “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ในที่สาธารณะ

วัชรภัทร ธรรมจักร หรือ “มิว” เป็นบัณฑิตใหม่หมาดจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นหนึ่งในสี่ผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร จากกรณีร่วมทำกิจกรรม “แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566

คดีนี้มีอดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 มอบอำนาจให้นายทหารไปกล่าวหาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยในส่วนของมิว ระบุว่าเขาเป็นผู้อ่านคำประกาศของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าการนำประกาศฉบับดังกล่าวมาอ่านอีกครั้งในปี 2566 ทำให้เข้าใจได้ว่า มีแนวคิดเชิญชวนบุคคลที่ได้รับฟัง เกิดความกระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพกฎหมายหรืออาจล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ผ่านไปเกือบ 1 ปี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด ยังอยู่ในชั้นของพนักงานสอบสวน ที่เพิ่งสอบสวนพยานนักวิชาการเพิ่มเติม และตำรวจยังเรียกกลุ่มผู้ต้องหา 4 คน ไปสอบสวนเพิ่มเติมอีกเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่า “กระบวนการยุติธรรม” จะเอาการเอางานกับ “การเอาผิด” การอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์นี้ไปถึงขั้นใด

ในฐานะที่เพิ่งจบเป็นบัณฑิตทางด้านกฎหมาย มิวใช้เวลากับชีวิตนักศึกษานานไปอยู่บ้าง คือกว่า 7 ปี เนื่องจากออกไปผจญภัยกับการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง และต้องฝ่าฝันกับคดีความที่ตามมาหลังจากนั้น

ตลอดชีวิตนักศึกษา เขาถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองไปทั้งหมดถึง 8 คดี เกือบทั้งหมดเป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-64 หากแต่ก็มีถึง 3 คดี ที่ถูกกล่าวหาพ่วงข้อหาหนัก อย่างข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ดังกล่าวด้วย

ในคดีที่มิวถูกกล่าวหา อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหามาตรานี้ไปแล้วสองคดี เหลือเพียงคดีจากการอ่านประกาศคณะราษฎรดังกล่าวอีก 1 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ การปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร นำข้อหาเช่นนี้มากล่าวหาต่อการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน อย่างกว้างขวาง ฟุ่มเฟือย เลื่อนลอย และถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติเช่นนี้ ควรนับเป็นปัญหาใหญ่ในระบบกฎหมาย

เราชวนมิวทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่าง ๆ ต่อชีวิต ในโอกาสครบรอบวันเปลี่ยนแปลงปกครองอีกครั้ง

————————————-

.

มิว ทบทวนว่าตั้งแต่เขาทำกิจกรรมนักศึกษา เห็นว่ามีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนา มาเกือบทุกปี และในแต่ละปี ก็มักมีคนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 มาตลอดเช่นกัน รวมทั้งการเผยแพร่อยู่แล้วในหนังสือและบนโลกออนไลน์ต่าง ๆ  แต่ก็ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดีมาก่อน

มิว เห็นว่ามีปัจจัยอยู่บ้างที่ทำให้การอ่านประกาศนี้ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อปี 2566 ถูกดำเนินคดี เนื่องจาก “กิจกรรมแห่ไม้ก้ำ” นี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการจัดเสวนาซึ่งชูประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจ และนอกจากนักวิชาการหรือภาคประชาสังคม ยังมีตัวแทนจากคณะก้าวหน้ามาร่วม มีการขอสถานที่จัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่กลับถูกกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์แตกต่างคอยต่อต้านกดดัน และทราบว่าเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีอิทธิพล ทำให้ไม่สามารถจัดที่มหาวิทยาลัยได้ ต้องไปจัดโรงแรมภายนอกแทน แต่ก็ยังมีการตามไปกดดัน และจับตากิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

กรณีการแห่ไม้ก้ำนั้น ผู้จัดได้ออกแบบให้ใช้ประเพณีวัฒนธรรมของภาคเหนือ เป็นเครื่องมือกระจายข่าวสารเรื่องวาระการกระจายอำนาจให้กับชาวเชียงใหม่ ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี โดยมีการแห่ไม้ก้ำจากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปยังลานสามกษัตริย์ และทำกิจกรรมอ่านประกาศคณะราษฎรและประกาศคณะก่อการล้านนา ที่เรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การกระจายอำนาจ, การสร้างรัฐสวัสดิการ

มิว เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยเห็นว่าระหว่างทางก็ได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากชาวบ้านออกมาพูดคุย ถึงปัญหาของเมือง ทั้งเรื่องฟุตบาธหน้าบ้านซ่อมแซมไม่เสร็จสักที และอำนาจการจัดการต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ท้องถิ่น มิวในวันนั้นแต่งกายคอสเพลย์ในชุดทหารโบราณ ก็ได้รับเลือกเป็นผู้อ่านประกาศคณะราษฎรดังกล่าว

มิวเห็นว่า กลุ่มของฝ่ายที่มีอุดมการณ์แตกต่างนั้น พยายามปลุกปั่นว่ากิจกรรมดังกล่าวแบ่งแยกการปกครอง บิดเบือนเจตนาต่าง ๆ และชงเรื่องไปยังทหารด้วย จนนำไปสู่การดำเนินคดี และการใช้ข้อหาทางกฎหมายอย่างมาตรา 116 ที่มีปัญหาอย่างมากทั้งตัวบทที่กว้างขวาง และการตีความบิดเบือน

.

.

“ในฐานะที่เรียนกฎหมาย เราก็เห็นว่าในหลาย ๆ คดี มันไปไม่ถึงตั้งแต่ต้น แต่ความบ้าของภาวะที่เป็นอยู่ คือนักกฎหมาย และคนในกระบวนการยุติธรรม ผลักดันมันไป ตั้งแต่พนักงานสอบสวน คดีแบบนี้เขาสามารถไม่รับเลยก็ได้นะ ถ้าเห็นว่ามันไม่เข้าอยู่แล้ว และอยู่ในอำนาจ ความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ตำรวจก็ทำได้นะ ไม่ใช่รออัยการทำ แต่คดีมันถูกพาไปอย่างเป็นกระบวนการ

“แล้วกระบวนการพวกนี้ มันเหมือนปั้นขึ้นด้วย ตำรวจต้องมาตั้งคณะพนักงานสอบสวน มากไปกว่านั้น ในคณะมีคณะทำงานความมั่นคงของภาค มันดูยิ่งใหญ่ไปหมดเลย แล้วเหมือนเราถูกตีตราไปเลยว่า ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง’ เพียงแค่เอาคลิปที่เราอ่านแถลงการณ์มากล่าวหา

“ต่อให้ผมคิดจริง ๆ ว่าจะทำอะไรแบบที่เขากล่าวหา แล้วผมจะไปทำได้ยังไง ผมไม่ได้มีอำนาจ ไม่ได้มีกองกำลัง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างอำนาจอะไรแม้แต่น้อย แค่ตั้งคำถามและไปอ่านประกาศแค่นี้เป็นความผิดร้ายแรงแล้วหรือ”

มิวเล่าว่าเท่าที่คุยกับตำรวจ เขาก็ไม่ได้อยากทำคดีลักษณะนี้ เพราะต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรจำนวนมาก ต้องตั้งทีมในระดับภาค ถูกติดตามเร่งรัด และได้ค่าสำนวนไม่ได้มากนักเลย แต่ก็ต้องทำตามที่ได้รับมอบหมายมา เป็นภาวะที่ยากลำดับของตำรวจระดับล่าง

“คดีแห่ไม้ค้ำนี้ ตอนแรกเราก็ให้การไปแล้ว แต่ภาค 5 ให้มาสอบเพิ่มเติม ดูแล้วอาจจะทำเรื่องฟ้องอีก ซึ่งทำให้เราเสียเวลาต่อไปอีก และไม่ใช่แค่เวลา แต่คือทรัพยากรต้นทุนที่เราต้องใช้ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  เมื่อไปถึงบางคดีสุดท้ายก็สั่งไม่ฟ้องไป แต่เราเสียไปหมดแล้ว ถ้าไม่มีตั้งแต่ต้น มันจะดีมากกว่าหรือเปล่า

“หรือจริง ๆ เขาอยากให้เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว มันจะได้กำราบพวกที่เคลื่อนไหวสักที แต่ผมไม่ยอมหรอก ผมเป็นคนดื้อ (หัวเราะ)” มิวเล่าถึงต้นทุนการถูกดำเนินคดีที่ต้องเสียไป

————————————-

.

.

จากทั้งหมด 8 คดีที่มิวถูกกล่าวหานั้น เพิ่งสิ้นสุดไปจำนวน 3 คดี ยังเหลือต้องต่อสู้อีกถึง 5 คดี ทั้งคดีจากการชุมนุมโดยสงบในช่วงปี 2563 หรือคดีจากการร่วมคาร์ม็อบขับไล่ประยุทธ์ในช่วงปี 2564 ล้วนยังค้างคาอยู่ในชั้นอัยการ

มิวบอกว่าคดีที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบให้กับเขาหลายอย่าง มีช่วงหนึ่งเขาถึงกับต้องปรึกษานักจิตวิทยา เนื่องจากรู้สึกว่าเกิดภาวะที่ไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตตนเองได้ มีอาการย้ำคิดย้ำทำ แม้ไม่ไปถึงขั้นป่วยทางใจ นอกจากนั้นยังกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อแม่ก็ค่อนวิตกกังวลกับหมายเรียกที่ไปที่บ้าน และยังมีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยติดตามด้วย

“เรื่องใหญ่คือ เราเสียเวลามากในการต่อสู้คดี ทำให้เราใช้เวลาเรียนค่อนข้างนาน ด้านหนึ่งเราก็อยากอยู่ในสถานะนักศึกษา แต่มีก็เทอมที่เราต้องดรอปเรียนไปเลย มีช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่เราทราบว่าโดนหมายจับในคดี 116 นี่แหละ (ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี หลังผ่านไป 3 ปีเศษ) ช่วงนั้นมีการจับกุมพี่อานนท์ (นำภา) และพี่เจมส์ (ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์) มาที่เชียงใหม่ เราก็ไม่รู้จะถูกจับเมื่อไร เราต้องไปอยู่ที่คณะนิติฯ อยู่พักใหญ่ ไปกินนอนอยู่ในมหาลัย แล้วเราก็ต้องดรอปเรียน เราไม่มั่นใจว่าจะถูกจับหรือต้องเข้าคุกหรือเปล่า ก็ส่งผลต่อการเรียนด้วย

“การไปต่อสู้ในกระบวนการพวกนี้ กว่าจะไปถึงชั้นศาลแต่ละคดี ก็เสียเวลามาก ๆ การสอบสวนหลายคดี ก็ไม่เคยสอบสวนครั้งเดียว จากตำรวจ ไปชั้นอัยการ ก็ต้องไปรายงานตัว ถ้าเป็นคดีศาลแขวง ก็ต้องไป 5-6 รอบ เผื่อให้ขาดฟ้อง แล้วค่อยไปรอเขาขออนุญาตฟ้องอีกที มันเสียเวลาไปทั้งหมด”

มิวในฐานะคนเรียนกฎหมายคนหนึ่ง เห็นว่ากระบวนการใช้ข้อหาต่าง ๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของเครืองมือปราบปรามทางการเมืองเช่นนี้ ควรนับเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมต้องร่วมกันหาทางยุติมัน

“อยากขอให้คนในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าในตำแหน่งไหน มีจิตสำนึกให้มาก ทุกวันนี้ เราไม่ได้ฟาดฟันกันด้วยตัวบทกฎหมายเท่าไรหรอก แต่เราฟาดฟันด้วยว่าคุณมีความเป็นคนเท่าไร ผมไม่ได้เก่งกฎหมายขนาดนั้น แต่หลายเรื่อง ผมพอจะบอกได้ว่าอันนี้มันไม่ใช่ ไม่อยู่ในครรลองที่ควรจะเป็น เราเห็นการเลือกปฏิบัติ การใช้กฎหมายอย่างไม่ตรงไปตรงมา

“อันนี้คือรวมถึงนักการเมืองด้วย ตอนนี้เวลาเกิดปัญหากันในเชิงสังคม ถกเถียงอะไรกันสักอย่าง แล้วหาข้อยุติไม่ได้ สุดท้ายไปใช้กฎหมายกัน ตัดสินว่าใครถูกใครผิด แต่หลายเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องถูกผิดไง แต่มันเป็นเรื่องมโนสำนึกว่าเราจะรับผิดชอบชั่วดีได้มากแค่ไหน จึงอยากให้มีจิตสำนึกในหน้าที่ของตัวเอง”

————————————-

.

.

แม้จะใช้เวลาไปมากกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการต่อสู้คดี แต่มิวก็ไม่ได้รู้สึกว่าการออกมาต่อสู้เช่นนี้ เป็นความล้มเหลวแต่อย่างใด เขากลับประเมินว่ามันจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอนาคตต่อไป แม้อาจต้องใช้ระยะเวลาบ้าง

“ผมว่า เราสามารถเคลื่อนไหวทางความคิดต่อสังคมได้มาไกลมาก และเร็ว ถ้าเทียบไทมไลน์ระยะยาว เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 90 กว่าปี ความตื่นรู้ของประชาชนในช่วง 4-5 ปี นี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีขบวนการนักศึกษา ภาคประชาชน ที่สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ในสังคม ตอนนี้เราเห็นหลายแนวคิดทางการเมืองที่ผลิบานมากขึ้น มีงานศึกษาแนวคิดต่างๆ ออกมา ให้คนหนุ่มสาว เยาวชนได้ศึกษา มีมิติทางการเมืองที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมกับข้อเรียกร้องทางการเมืองต่างๆ

“การเคลื่อนไหวมันอาจจะไม่ได้สำเร็จแบบเปลี่ยนโครงสร้างระบบการเมืองไปได้เลย แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางความคิดนี้ มันจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้สังคมนี้มันเคลื่อนไหวต่อไป เกิดแรงส่งไปถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ

“อีกข้อคือ เราต่างมองเห็นปัญหาใหญ่ ที่เราต่างพูดกันออกมาในช่วงที่ผ่านมา และมันไม่ได้อยู่ใต้พรมเหมือนแต่ก่อน ก่อนหน้านี้มันอยู่ทั้งใต้พรมแบบที่รู้แต่ไม่พูด กับแบบที่อยู่ใต้พรมแบบที่ไม่รู้เลย แต่ตอนนี้มันมาอยู่หน้าพรมแล้ว สิ่งนี้มันเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่มันจะเป็นอย่างไรต่อไป เราต่างรู้ว่ามันเป็นปัญหา แล้วคนรุ่นผมหลายคนจะไม่ยอม” มิวให้ความเห็นต่อการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นหลังช่วงเวลาของการชุมนุมดันเพดานผ่านไป

.

.

ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก อย่างการต้องเผชิญกับภาระทางคดี ถูกจองจำ หรือการมองไม่เห็นอนาคตนี้ หลายคนท้อแท้ หมดกำลังใจ ยุติการเคลื่อนไหว มิวยังเป็นคนหนึ่งที่ยังมีความหวังกับอนาคต และอยากให้แต่ละคนรักษาชีวิตและจิตใจเอาไว้

“เราก็เคารพการตัดสินใจของแต่ละคน ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่วิธีการอาจจะต่างกัน ตอนนื้มันอาจจะรู้สึกโรยแรง มันท้อ แต่ถ้าหวนคิดถึงสถานการณ์ที่ผ่านมา ผมคิดว่าไม่ถึงกับใช้คำว่าเสียสละอะไร แต่คิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันให้สังคมได้ขับเคลื่อนทางความคิด และตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ได้อย่างมาก ผมคงไม่กล้าพูดว่าม็อบที่ผ่านมา มันจะยิ่งใหญ่กว่าในอดีต เหตุการณ์ตุลาหรือพฤษภาอะไรเลย แต่ผมคิดว่ามันทำให้เกิดคำถามมากกว่าครั้งใด” 

ท้ายที่สุด เมื่อชวนย้อนทบทวนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แม้จะผ่านมากว่า 92 ปี จากมุมมองของปัจจุบัน มิวคิดว่าสำหรับคนรุ่นใหม่ เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจมากขึ้น และวันนี้ควรนับเป็นหมุดหมายหนึ่ง สำหรับให้คนในสังคมช่วยกันทำแบบประเมินถึงการพัฒนาประชาธิปไตยของสังคมไทย ว่าไปถึงไหนแล้วในแต่ละปี

“ผมคิดว่า 24 มิถุนา กลายเป็นหมุดหมายหนึ่ง ที่พอมาถึง เราต้องมาพูดคุยกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีการสืบค้นศึกษาแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดคำถามใหญ่ว่าผ่านมาเกือบจะร้อยปีแล้ว ประชาธิปไตยไทยมันมูฟมาทางไหน มันไปถึงจุดไหนแล้ว หรือมันย้อนกลับ เป็นวันที่เราเอามาตั้ง เหมือนกับทำการบ้าน pre-test, post-test ในแต่ละปี ว่าหมุดหมายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ๆ หนึ่งมันมีอะไรดีขึ้น พัฒนาขึ้น หรืออะไรแย่ลง เหมือนมาร่วมกันทำการบ้านในแต่ละปีมากกว่า”

.

X