ตำรวจเข้าสอบปากคำพยาน 2 นักวิชาการ มช. คดี ม.116 ‘ทหาร’ กล่าวหา 4 นักกิจกรรมเชียงใหม่ เหตุอ่านประกาศคณะราษฎร

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ จันทร์เจือแก้ว พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เข้าสอบปากคำ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่ 4 นักกิจกรรมและนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีอ่าน “ประกาศคณะราษฎร 2475” ระหว่างกิจกรรม “แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 

คดีนี้มี พล.ต.สันติ สุขป้อม อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 มอบอำนาจให้ ร.อ.กิตติศักดิ์ ศิริภาพ ไปกล่าวหาดำเนินคดีนักกิจกรรมและสื่อมวลชนที่ไลฟ์สดกิจกรรมดังกล่าว ไว้ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ 

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ชาติชาย ธรรมโม, วัชรภัทร ธรรมจักร, ธีราภรณ์ พุดทะสี และ เบญจภัทร ธงนันตา โดยสามรายหลังยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวหาทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ทั้ง “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, กีดขวางทางสาธารณะ, ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

พฤติการณ์หลักที่อ้างว่าเข้าข่ายมาตรา 116 คือการอ่านประกาศของคณะราษฎร ณ วันที่ 24 มิ.ย. 2475 ผู้กล่าวหาอ้างว่าทำให้เข้าใจได้ว่า ผู้ต้องหากับพวก มีแนวคิดเชิญชวนบุคคลที่ได้รับฟัง เกิดความกระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพกฎหมายหรืออาจล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

นอกจากนั้น ข้อกล่าวหายังกล่าวถึงการอ่านคำประกาศ “คณะก่อการล้านนา” ที่มีการเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การกระจายอำนาจ, การสร้างรัฐสวัสดิการ แต่ไม่ได้บรรยายว่าเป็นความผิดตามมาตรา 116 แต่อย่างใด

ต่อมาหลังรับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธ ทางผู้ต้องหาได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ โดยยืนยันว่าประกาศทั้งสองฉบับไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 116 เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ประกาศคณะราษฎรก็เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ มีการเผยแพร่อยู่ทั่วไป ไม่ได้ถูกห้ามเผยแพร่ กิจกรรมไม่ได้ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินแต่อย่างใด

รวมทั้งผู้ต้องหายังให้การต่อสู้ในประเด็นข้อหาอื่น ๆ ทั้งหมด ทั้งยังได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบพยานนักวิชาการเพิ่มเติมในสาขาต่าง ๆ ทั้งทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ โดยเสนอชื่ออรรถจักร์และสมชายเอาไว้ด้วย ทางตำรวจจึงได้นัดหมายสอบปากคำนักวิชาการทั้งสองคน

.

.

เนื้อหาการสอบปากคำ ประเด็นหลักทางตำรวจได้สอบถามว่านักวิชาการทั้งสองว่าเคยอ่านประกาศคณะราษฏรฉบับที่ 1 มาก่อนหรือไม่ และอ่านแล้ว คิดว่าประชาชนที่ได้รับฟังจะออกไปกระทำผิดกฎหมายหรือไม่

นักวิชาการทั้งสองคนได้ให้ความเห็นว่า ประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่รับรู้กันโดยทั่วไป และเผยแพร่อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ถูกใช้ในการเรียนการสอนทั้งทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยหรือวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ถูกใช้ศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ คิดไปไม่ได้ว่าเป็นความพยายามชักจูงให้ไปผิดกฎหมายใด ๆ 

การอ่านประกาศในโอกาสครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน ก็เป็นเพียงการสร้างความรับรู้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น และพบว่าโดยตัวของกิจกรรม เมื่ออ่านประกาศแล้ว ก็ไม่มีการแสดงความเห็นว่าทำให้เกิดการกระทำอันเป็นการผิดกฎหมายใด ๆ จัดกิจกรรรมเสร็จก็แยกย้ายกันกลับ

ส่วนประกาศคณะก่อการล้านนา ก็พบว่ามีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ อันเป็นเรื่องปกติในระบอบเสรีประชาธิปไตย ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ และการสร้างสวัสดิการให้ประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมไทยควรร่วมกันคิดและไตร่ตรองมากกว่า

อรรถจักร์ยังระบุว่า การกล่าวหาโดยนำเรื่องประกาศคณะราษฎร และประกาศข้อเรียกร้องของคณะก่อการล้านนา มาเชื่อมโยงกัน เพื่อทำให้กลายเป็นความผิดตามกฎหมายนั้นเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผลใด ๆ รองรับเลย

หลังการสอบปากคำ ทางพนักงานสอบสวนระบุว่า ต้องนำสำนวนคดีไปพิจารณากับทางผู้บังคับบัญชาและคณะทำงาน เพื่อทำความเห็นทางคดีต่อไป ขณะที่ทางผู้ต้องหาเตรียมจะร้องเรียนการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งกล่าวหาดำเนินคดีนี้ โดยเฉพาะการใช้ข้อกล่าวหาในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมากล่าวหาเช่นนี้ ต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไป

.

ย้อนอ่านข่าว 

4 นักกิจกรรมเชียงใหม่รับทราบข้อหาหลัก ม.116 ทหารกล่าวหาอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร 2475’ ในวันที่ 24 มิ.ย. เท่ากับยุยงให้กระด้างกระเดื่อง

.

X