บันทึกเยี่ยมพรชัย: แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของบุ้ง-เสียดายพลาดหวังลงสมัคร สว.

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านไป วันที่ 17 และ 31 พ.ค. 2567 ทนายความเดินทางไปเยี่ยม พรชัย วิมลศุภวงศ์ ผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2567  หลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 4 ข้อความเมื่อช่วงปี 2563 โดยศาลลงโทษจำคุก 12 ปี และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา

คดีของพรชัยนี้ เขาตัดสินใจจะไม่ฎีกาต่อ เนื่องจากคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งของเขาที่ศาลจังหวัดยะลานั้น ไม่มีผู้พิพากษารับรองให้ฎีกา ทำให้คดีสิ้นสุดลงแล้ว เขาต้องรับโทษในคดีนั้นตามคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ทำให้เขาเห็นว่าน่าจะรับโทษทั้งสองคดีพร้อมกันไปเลย เนื่องจากไม่ได้มีการให้นับโทษต่อกัน และเพื่อให้เข้าเกณฑ์การพิจารณาลดหย่อนต่าง ๆ โดยเร็วที่สุดต่อไป 

พรชัยยืนยิ้มให้อยู่ด้านหลังกระจกกั้นในการเยี่ยมผู้ต้องขัง ผมของเขาสั้นเตียนและสวมชุดนักโทษสีฟ้าเหมือนเช่นเคย เขาเริ่มถามเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้ว ทำให้ทราบว่ายังไม่มีอะไรคืบหน้าเท่าไร ยังอยู่ระหว่างการประชุมของกรรมาธิการศึกษาแนวทางที่สภาตั้งขึ้น

พรชัยทราบข่าวการเสียชีวิตของบุ้ง ทำให้เขาอึ้งเงียบไปสักพัก ก่อนบอกว่าเขาขนลุกไปหมด ไม่คิดว่าจะไปจนถึงขั้นนี้ เขาฝากแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

“ขอแสดงความเสียใจ ขอให้ไปสู่สุขคติ ขอให้พระเจ้ารับบุ้งไว้ ให้พบกับแสงสว่างที่ดี ขอให้มีชีวิตในสวรรค์อย่างมีความสุข ขอให้กำลังใจอีกหลาย ๆ คนที่ยังถูกคุมขัง ขอให้มีชีวิตอยู่ต่อ ได้กลับไปอยู่กับครอบครัว

“ขอให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน และต้องไม่มีประชาชนคนไหนถูกคุมขังเพียงแค่เขามีความเห็นแตกต่าง” เขาฝากถ้อยคำในฐานะคริสตชนคนหนึ่ง

เมื่อกลับมาพูดคุยถึงสถานการณ์ของตัวเอง เขาย้ำเช่นเดิมว่าเขาไม่ได้กลัวการถูกคุมขัง แต่รู้สึกเสียดายช่วงเวลาในชีวิตที่จะต้องเสียไปทุกวันในขณะต้องมาอยู่ในเรือนจำเช่นนี้ เขากำลังลงทุนทำธุรกิจปลูกดอกไม้ กำลังมีแผนการเกี่ยวกับชีวิตในอนาคต แต่สิ่งเหล่านี้ก็ต้องหยุดชะงักลง

“การอยู่ที่นี่เหมือนอยู่ไปวัน ๆ ตั้งเป้าหมายชีวิตไม่ได้เลย” 

ท่ามกลางภาวะนี้ พรชัยบอกว่า เขาเลยลองตั้งความหวังว่าจะได้ออกจากคุกก่อนอายุ 45 ปี หรืออีกราว ๆ 4 ปี นับจากนี้ 

“ผมมีความหวังว่าผมจะได้ออกจากที่นี่ในเร็ววัน ก่อนที่ผมจะอายุ 45 ปี ถ้าเลย 45 แล้วมันจะน่ากลัวสำหรับการเริ่มต้นใหม่ เพราะชีวิตของผมเริ่มมาจากศูนย์ ผมเคยต้องไปนอนที่สถานีรถไฟ ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง สภาพร่างกายอาจจะไม่ไหวที่จะต้องออกไปเริ่มจากศูนย์ใหม่ และความรู้สึกในวัย 45 ก็จะแตกต่างออกไป ความกระตือรือร้นต่อหน้าที่อาจจะลดลง ทุกอย่างที่เคยสร้างมามากับมือ ก็โดนยึดไปหมดแล้ว ออกไปผมก็ไม่เหลืออะไรเท่าไร

“ผมยังหวังว่าจะได้ออกไปให้เร็วที่สุด และผมมั่นใจว่าพี่น้องชาติพันธ์ุอีกหลายชีวิตต้องการผม สิ่งสำคัญคือผมอยากให้การให้อภัย การเสียสละ การยกโทษ ต้องไม่มีข้อแม้ใด ๆ เพราะว่าเราคือเพื่อนร่วมโลก แม้ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นต่างกัน แต่เราจะต้องลดอคติลง”

พรชัยยังเล่าถึงสภาพแวดล้อมในเรือนจำ ที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด หลายคนวนเวียนเข้าออกจากเรือนจำเป็นประจำ กระบวนการดำเนินคดีต่าง ๆ ไม่ได้แก้ไขปัญหาสังคมในเรื่องนี้ เท่าที่เขาคลุกคลีกับคนข้างใน หลายคนก็คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง คิดกันไปคนละแบบเลย ขณะที่คดีของเขาเป็นคดีจากการแสดงความคิดเห็น แต่เขาก็พยายามปรับตัวกับสภาพแวดล้อมนี้หลังอยู่ในเรือนจำรอบนี้มาจวนครบ 2 เดือน

พรชัยยังสนใจเรื่องการเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ เขาคิดว่าถ้าตัวเขาอยู่ข้างนอก ตอนนี้ก็น่าจะลองลงสมัครดูแล้วเหมือนกัน เพราะอายุเขาถึงเกณฑ์แล้ว ทั้งได้คิด ๆ นโยบายและสิ่งที่อยากทำเอาไว้อยู่ เขาจึงเสียดายโอกาสเรื่องนี้เหมือนกัน

“ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจการเมือง พยายามศึกษาเรื่องการเมือง เท่าที่ผ่านมา สังเกตว่า นโยบายแต่ละนโยบาย ยังไม่เห็นมีใครลงมาที่พื้นที่อย่างแท้จริง (พูดถึงบ้านเกิดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน) จึงทำให้ผมอยากจะลองลงสมัคร สว. ครั้งนี้ ผมมีความคิดว่าผมอยากจะแก้โครงสร้างรัฐธรรมนูญ และแก้ไขปัญหาความเป็นพลเมืองชั้นสองของกลุ่มชาติพันธุ์”

“อยากจะฝากถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ขอให้ช่วยผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ปฏิบัติต่อพี่น้องประชาชนให้เท่าเทียม ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติเนื่องด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม” พรชัยฝากทิ้งท้าย

.

ย้อนอ่านเรื่องราวชีวิตของพรชัย การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112

.

X