บ้นทึกเยี่ยมพรชัย คดี ม.112 ทบทวนชีวิต พยายามต่อสู้เต็มที่ แม้อาจต้องสูญเสียโอกาสหลายปีจากนี้ไป

วันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ ทนายความเดินทางไปเยี่ยม พรชัย วิมลศุภวงศ์ ผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2567 หลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 12 ปี และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา

พรชัยออกมาพบในชุดผู้ต้องขัง ในฝั่งตรงข้ามของกระจกกั้นแน่นหนา การพูดคุยดำเนินผ่านเครื่องโทรศัพท์ 

เขาเริ่มพูดถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำว่า รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแกะดำ เนื่องจากนักโทษส่วนใหญ่ที่อยู่ในแดน 4 มากกว่า 80-90% เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด แต่ก็ยังให้เกียรติระหว่างกันอยู่ จึงไม่ได้มีปัญหาอะไรต่อกัน พรชัยจะพยายามปรับตัวให้ได้ และคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่นี้ก็ค่อนข้างดี

โดยการเข้าเรือนจำกลางเชียงใหม่รอบนี้เป็นรอบที่ 3 สำหรับพรชัย หลังเคยถูกคุมขังในชั้นสอบสวนไป 44 วัน และมาถูกคุมขัง 6 วัน หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ให้ประกันตัวเขา เพราะเห็นว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ในครั้งนี้ ศาลฎีกากลับเห็นว่า มีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี และอาจเป็นครั้งที่ต้องถูกคุมขังเนิ่นนานกว่าครั้งก่อนหน้านี้

พรชัยได้พูดคุยปรึกษาถึงเรื่องคดีต่อไป โดยล่าสุดในคดีที่เขาถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งที่ศาลจังหวัดยะลา ศาลได้มีหมายนัดไปฟังคำสั่งเรื่องการขออนุญาตฎีกาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมแล้ว คดีนี้เขาถูกศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุก 2 ปี แต่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา หากก็เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่มีผู้พิพากษาที่รับรองให้ฎีกา ทำให้คดีนั้นอาจจะสิ้นสุดลงด้วย

เดิมนั้นพรชัยคิดว่าในคดีของเชียงใหม่ ก็น่าจะได้ประกันในแนวทางเดียวกันกับศาลจังหวัดยะลา แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืน คดียังไม่ถึงที่สุด ให้โอกาสจำเลยต่อสู้ในศาลสุดท้าย แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ประกันตัว 

พรชัยเล่าว่าในช่วงหลังก่อนมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เขาได้ไปทำสวนดอกไม้ และผลไม้ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ผ่านมาชีวิตของเขาดำเนินมาด้วยความยากลำบาก ตั้งแต่เกิดบนดอย และเข้ามาดิ้นรนอยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนคนจรจัด ถูกผู้คนดูถูกเหยียดหยาม เขาตั้งใจหาความรู้ และพยายามสร้างชีวิตจนพอไปได้

เขาเสียใจที่อาจจะต้องติดคุกหลายปีจากนี้ ไม่สามารถไปใช้ชีวิตส่วนที่เหลือได้ แต่เขาย้ำว่าไม่ได้เสียใจในครึ่งชีวิตที่ผ่านมา ที่เขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ และช่วยเหลือประชาชน โดยเชื่อว่าเขาได้พยายามเต็มที่ที่จะเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจหนึ่งให้แก่พี่น้องชาติพันธุ์

เขาเล่าย้อนไปว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็ต้องการจะมีพื้นที่ในสังคม แต่มีข้อจำกัดทางวัฒนธรรม การเข้าถึงทรัพยากร ความรู้ความสามารถ ทำให้ไม่กล้าแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ และมักจะมองตนเองเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่ทุกวันนี้คนหนุ่มสาวเริ่มมีความกระตือรือร้นมากขึ้น และมีหนทางใหม่ ๆ มากขึ้น

“ผมอายุ 40 ปีแล้ว อีกครึ่งชีวิตของผมที่ต้องเก็บเกี่ยว แต่ทุกอย่างหยุดชะงัก ทั้งทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ”

พรชัยยังหวังว่าเขาได้รับปล่อยตัวออกไปโดยเร็ววัน เพราะการจองจำเขาไว้ รัฐก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เขาไม่ได้มีอิทธิพลจะไปทำลายประเทศไทยได้เลย แต่ถูกจองจำด้วยโทษความมั่นคง เป็นอาชญากรทางความคิด

“ก่อนนอนผมขอพรทุกคืน ขอให้พระเจ้าให้อภัยผู้ที่แจ้งความผม ทั้งที่เชียงใหม่และยะลา เพราะเขาทำไปโดยไม่รู้ ขอให้อภัยทุกคนในกระบวนการยุติธรรม ผมไม่โกรธแค้น ผมอธิษฐานให้เขามีสุขภาพดีแข็งแรง อายุยืนยาวที่สุดที่เขาจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงเวลา ผมให้อภัยครั้งยิ่งใหญ่” พรชัยสรุป

.

ย้อนอ่านเรื่องราวชีวิตของพรชัย การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112

.

X