ไม่พบใครเป็นผู้จัด – ไม่พบเหตุวุ่นวาย – ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด 10 นักกิจกรรมลุ้น! คำพิพากษาคดี ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ คาร์ม็อบขอนแก่น#3

วันที่ 8 มี.ค. 2567 ศาลแขวงขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษา คดีที่นักศึกษาและนักกิจกรรม “ราษฎรขอนแก่น” รวม 10 คน ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบขอนแก่น#3 “แห่ ไล่ ประยุทธ์” ในวันที่ 22 ส.ค. 2564 

นักกิจกรรมทั้งสิบซึ่งเป็นจำเลยในคดี ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, กรชนก แสนประเสริฐ, ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, พายุ บุญโสภณ, ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์, ชานน อาจณรงค์, วีรภัทร ศิริสุนทร, นุ้ก (นามสมมติ), พงศธร (สงวนนามสกุล) และกุลธิดา กระจ่างกุล จำนวนนี้ขณะถูกดำเนินคดีเป็นนักศึกษาถึง 6 คน 

ย้อนไปในวันที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อเดือนตุลาคม 2564 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันชุมนุมและจัดกิจกรรมที่มีจำนวนมากกว่า 20 คน และ 50 คน ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันขับขี่รถใช้เสียงสัญญาณแตรรถยาวเกินความจําเป็น, ร่วมกันกีดขวางการจราจร และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต”

หลังตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการ กระทั่งถึงเดือนมีนาคม 2566 รณกร ภูดิฐวัฒนโชค พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงขอนแก่นเพียงข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมกันชุมนุมและจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนความผิดฐานอื่น ๆ อัยการมีคําสั่งยุติการดําเนินคดีกับจําเลยทั้งสิบ เพราะคดีขาดอายุความ 

อัยการบรรยายพฤติการณ์คดีในคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 จําเลยทั้งสิบกับพวกได้ร่วมกันชุมนุม และจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “CAR MOB #3” โดยร่วมกันประกาศชักชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม มี “กลุ่มราษฎรขอนแก่น” เข้าร่วมประมาณ 150 คน นํารถยนต์เข้าร่วม 45 คัน และรถจักรยานยนต์ 31 คัน และ “กลุ่มแดงก้าวหน้า 63” เข้าร่วมประมาณ 20 คน นํารถยนต์เข้าร่วม 9 คัน และรถจักรยานยนต์ 6 คัน

จากนั้นได้มีการขับขี่รถติดตามกันไปเป็นขบวน บีบแตรรถส่งเสียงดังเป็นระยะ และใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล พร้อมกับใช้ป้ายผ้าและหุ่นฟางประกอบกิจกรรม เมื่อถึงบริเวณด้านหน้าตํารวจภูธรภาค 4 จําเลยทั้งสิบกับพวกได้ปิดกั้นช่องทางเดินรถ ทําให้รถของบุคคลทั่วไปไม่สามารถใช้ช่องจราจรได้ตามปกติ มีการร่วมกันตระเตรียมถุงบรรจุน้ำสี และปาใส่ป้ายตํารวจภูธรภาค 4 รวมทั้งโล่เจ้าหน้าที่ตํารวจ พร้อมกับกล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล 

อันเป็นการร่วมกันชุมนุมจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 20 คน ซึ่งขณะนั้นจังหวัดขอนแก่นได้กําหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยจําเลยทั้งสิบและผู้ที่เข้าร่วมทํากิจกรรมไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามที่ทางราชการกําหนด 

ก่อนศาลนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 18-21 ธ.ค. 2566 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 โดยมี สรรชัย รุ่งโรจน์ชนาทิพย์  ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงขอนแก่นเป็นผู้พิจารณาคดี พนักงานอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบ 5 ปาก ได้แก่ ตำรวจฝ่ายสืบสวนผู้กล่าวหา 2 ปาก, ตำรวจจราจร, นักวิชาการสารณสุข และพนักงานสอบสวน ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบ 2 ปาก ได้แก่ อรรถพล บัวพัฒน์ และภาณุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์

ราษฎรขอนแก่นต่อสู้คดีว่า การชุมนุมในวันที่ 22 ส.ค. 2564 สถานที่ชุมนุมทั้งบริเวณศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า และที่ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่โล่งแจ้ง ขณะเคลื่อนขบวนรถออกจากจุดดังกล่าวก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการดูแลการจราจรโดยตำรวจ จำเลยรวมถึงผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย และอยู่ในรถของตนเอง แม้กระทั่งเมื่อไปถึงหน้าตำรวจภูธรภาค 4 ที่มีการผลักดันกับตำรวจก็ไม่พบเหตุรุนแรงถึงขนาดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ หลังการชุมนุมก็ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในขอนแก่นก็ลดลง นอกจากนี้ การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิในการวิจารณ์รัฐบาลและสิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

.

ชุดสืบสวน-ผู้กล่าวหา ระบุ ที่ชุมนุมเป็นที่โล่งแจ้ง จำเลยสวมหน้ากากอนามัย – ไม่ทราบใครเป็นเจ้าของเครื่องเสียง

พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ พุทธิทัยธีรธร สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ผู้กล่าวหา เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 พยานได้สืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊ก ดาวดิน สามัญชน, ขอนแก่นพอกันที, ภาคีนักเรียน KKC, กลุ่มราษฎรขอนแก่น และกลุ่มแดงก้าวหน้า 63 ทราบว่า ในวันที่ 22 ส.ค. 2564 กลุ่มแดงก้าวหน้า 63 ซึ่งทราบว่า แกนนำคือ วรพจน์ นัดรวมตัวกันที่ฝั่งตรงข้ามศาลเจ้าพ่อปึงเถ่ากงม่า ส่วนกลุ่มราษฎรขอนแก่นซึ่งพยานสืบทราบว่า แกนนำคือ อรรถพล บัวพัฒน์ เตรียมรวมตัวที่หน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งสองกลุ่มโพสต์ข้อความนัดรวมตัวลงเฟซบุ๊ก ช่วงเวลานั้นมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจังหวัดขอนแก่นถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

เมื่อถึงวันที่ 22 ส.ค. 2564 พยานและ พ.ต.ต.ธีรภัทร วงษ์วิลาศ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เดินทางไปตรวจดูบริเวณนัดหมายทั้งสองจุด ประมาณ 15.00 น. พยานไปถึงศาลเจ้าพ่อปึงเถ่าฯ พบเห็นรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้ามาที่เกิดเหตุ มีคนอยู่ราว 10 คน ก่อนจะเดินทางไปที่ตึกอธิการฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อไปถึงเห็น ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น กำลังพูดคุยกับคนกลุ่มหนึ่ง และเห็นอรรถพลอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย

พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ เบิกความว่า ที่จุดชุมนุมทั้งสองแห่งไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยบางส่วน ไม่ได้เว้นระยะห่าง และไม่ได้จัดให้มีแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ 

ผู้กำกับฯ ได้แจ้งผู้ชุมนุมว่าอย่าทำผิดกฎหมาย ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน รถยนต์ประมาณ 15 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 20 คัน จากนั้นผู้ชุมนุมต่างขับรถออกจากหน้าตึกอธิการฯ ไปตามถนนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าสู่ถนนมิตรภาพ มุ่งหน้าไปสมทบกับกลุ่มแดงก้าวหน้าที่หน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 

จากนั้นทั้งสองกลุ่มได้เคลื่อนพร้อมกันไปที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 4 เมื่อไปถึง ผู้กำกับฯ แจ้งกลุ่มผู้ชุมนุมอีกครั้งว่าอย่าทำผิดกฎหมาย พยานเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมถุงพลาสติกบรรจุสีเจตนาปาใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าไปยืนเรียงหน้ากระดานหน้าป้าย หลังผู้ชุมนุมพยายามปาถุงสีใส่ป้ายได้สักพักก็หยุด จากนั้นอรรถพล, กรชนก และภาณุพงษ์ ได้ขึ้นปราศรัย ใช้เวลาร่วม 1 ชั่วโมง ก่อนยุติกิจกรรมในเวลาประมาณ 20.00 น.

หลังการชุมนุมพยานได้รวบรวมพยานหลักฐานไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 10 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศจังหวัดขอนแก่น และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งนี้ พยานไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าภายหลังการชุมนุมมีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่

ต่อมา พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ทั้งบริเวณศาลเจ้าพ่อปึงเถ่าฯ และตึกอธิการฯ เป็นที่สาธารณะ และโล่งแจ้ง พยานเห็นอรรถพลพูดคุยกับตำรวจที่หน้าตึกอธิการฯ โดยใส่หน้ากากอนามัย ผู้ชุมนุมบริเวณนั้นก็ใส่หน้ากากอนามัย 

ขณะผู้ชุมนุมเคลื่อนรถไปตามถนนมิตรภาพโดยใช้เลนซ้าย ประชาชนทั่วไปใช้รถสัญจรไปมาได้ตามปกติ กลุ่มผู้ชุมนุมที่ขับรถยนต์ต่างปิดกระจกรถยนต์ กระทั่งไปถึงหน้าตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งเป็นที่โล่งแจ้งเช่นกัน และถนนยังใช้สัญจรได้ปกติ 

กลุ่มผู้ชุมนุมเพียงจะมารวมตัวอยู่บริเวณหน้าป้ายตำรวจภูธรภาค 4 เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาเข้าไปภายในอาคาร ทั้งในช่วงที่ผู้ชุมนุมต้องการใช้ถุงสีปาไปที่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ตำรวจที่อยู่บริเวณนั้นก็ถือโล่ป้องกันตัวและพยายามเข้าปิดกั้น จึงเป็นเหตุให้มีการกระทบกระทั่งกันในลักษณะดันโล่กันไปมา แต่ไม่มีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ชุมนุมก็มาชุมนุมโดยไม่มีอาวุธ และไม่มีการพูดว่าจะใช้ความรุนแรงในขณะชุมนุม

จำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัยโดยยืนอยู่บนรถ ห่างจากผู้ชุมนุมคนอื่นพอสมควร เนื้อหาการปราศรัยโจมตีการทำงานของตำรวจที่สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

พยานไม่ทราบว่า เมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วจะทำให้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ สิ้นผลไปด้วยหรือไม่

พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กทั้ง 5 บัญชีที่พยานเบิกความไปตอนต้น และตามรายงานการสืบสวนไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์เรื่องการชุมนุมในวันเกิดเหตุ ไม่ทราบด้วยว่า เครื่องเสียงที่ใช้ในการชุมนุมเป็นของใคร และใครจัดเตรียมถุงสี

พยานทราบว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในจังหวัดขอนแก่นมีการจัดคาร์ม็อบลักษณะอย่างเดียวกันนี้รวม 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งคาร์ม็อบครั้งที่ 2 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีแล้ว

พ.ต.ต.ธีรภัทร์ วงศ์วิลาส ตำรวจฝ่ายสืบสวนอีกนายที่ลงพื้นที่ติดตามการชุมนุมในวันเกิดเหตุและเข้าแจ้งความดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้งสิบ เบิกความไปในทำนองเดียวกับ พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ธีรภัทร์ ระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าตึกอธิการฯ เว้นระยะห่างกันประมาณ 1 เมตร

และตอบคำถามทนายจำเลยว่า ขณะเดินทางไปถึงตึกอธิการฯ พบเห็นรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องเสียงจอดไว้อยู่ก่อนแล้ว แต่รายงานการสืบสวนไม่พบว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของเครื่องเสียงดังกล่าว ในรายงานการสืบสวนก็ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นเจ้าของเพจ ดาวดิน สามัญชน, ขอนแก่นพอกันที และภาคีนักเรียน KKC

วันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสิบสวมหน้ากากอนามัย แต่อาจมีบางช่วงที่หน้ากากหล่นลงมาอยู่ใต้คาง ทั้งนี้ มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนที่มีภาพถ่ายอยู่ในรายงานการสืบสวน แต่ไม่ถูกดำเนินคดีในคดีนี้ 

ในเหตุการณ์ปาสีไม่มีตำรวจคนใดได้รับบาดเจ็บ

.

ตร.จราจรยืนยัน วันเกิดเหตุเปิดใช้การจราจรได้ตามปกติ มีประชาชนขับรถปะปนในขบวนคาร์ม็อบ บางคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย

พ.ต.ท.ปรีชา พลพงษ์ ตำแหน่งสารวัตรจราจร สภ.เมืองขอนแก่น เบิกความว่า วันเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลการจราจร โดยได้เดินทางไปดูเหตุการณ์ที่ศาลเจ้าเป็นหลัก และดูเหตุการณ์บริเวณหน้าตึกอธิการฯ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างตามสมควร และไม่มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ บริการเจลแอลกอฮอล์ 

เมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจะออกจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น พยานจึงเดินทางตามไปดู และขับรถติดตามไปตอนท้ายขบวนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคคลทั่วไป เมื่อถึงหน้าตำรวจภูธรภาค 4 พยานเห็นผู้ชุมนุมปาสีใส่ป้าย ซึ่งมีตำรวจยืนอยู่หน้าป้าย เป็นเหตุให้ตำรวจบางคนถูกสีกระเด็นใส่เสื้อ หลังจากนั้นผู้ชุมนุม 3 คน ได้ขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาลและตำรวจที่สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ก่อนยุติการชุมนุมในเวลา 19.40 น.

พ.ต.ท.ปรีชา ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุถนนในจังหวัดขอนแก่นสามารถเปิดใช้การจราจรได้ตามปกติ กลุ่มผู้ชุมนุมใช้เพียงเลนซ้ายสุดเพียงเลนเดียว ไม่ได้กีดขวางช่องทางเดินรถของประชาชนทั่วไป โดยมีพยานและตำรวจจราจรประมาณ 15 คน ช่วยดูแลการจราจรตลอดเส้นทาง ส่วนที่หน้าตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งเป็นถนน 2 เลน แต่ช่องจราจรมีความกว้างค่อนข้างมาก รถสามารถจอดในช่องจราจรซึ่งระบายสีขาวดำได้

กลุ่มผู้ชุมนุมขับรถโดยเว้นระยะห่าง ถนนและสี่แยกไฟแดงที่ขบวนเคลื่อนไปล้วนเป็นที่โล่งแจ้ง การเคลื่อนขบวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีอุบัติเหตุใด ๆ ระหว่างเคลื่อนขบวนมีรถของประชาชนทั่วไปขับปะปนกันไป ซึ่งบางคนก็สวมหน้ากากอนามัย บางก็ไม่สวม พยานไม่ทราบว่า คนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ 

.

นักวิชาการสาธารณสุขชี้ ช่วงเกิดเหตุไม่พบการติดโควิดที่เกี่ยวพันกับการชุมนุม

วัฒนา นิลบรรพต นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด และมีหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 

ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดจำนวนมาก และจังหวัดขอนแก่นถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 

วันเกิดเหตุมียอดรายงานผู้ติดเชื้อในจังหวัดขอนแก่นจำนวน 141 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 39 ราย พยานไม่ได้ไปดูเหตุการณ์ แต่หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้เรียกพยานไปให้การ โดยได้นำรายงานการสืบสวนที่มีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวมาให้ดู พยานเห็นว่า ตามภาพเหตุการณ์ผู้ชุมนุมมีทั้งสวมหน้ากากอนามัยและไม่สวม 

วัฒนาตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า โควิด-19 เป็นเชื้อโรคอุบัติใหม่ คนทั่วไปก็จะขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค แพร่ระบาดรุนแรงในประเทศที่มีภูมิอากาศหนาวเย็นมากกว่าประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนเช่นประเทศไทย และพื้นที่ลักษณะปิดย่อมมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าพื้นที่เปิดโล่ง  

บริเวณที่ชุมนุมในแต่ละจุดเป็นที่สาธารณะ มีลักษณะเปิดโล่ง ตามประกาศจังหวัดขอนแก่นข้อ 9 ระบุว่า การจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์รวมถึงเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิเป็นหน้าที่ของเจ้าของสถานที่

สำหรับพยานหากสวมหน้ากากอนามัยแล้วรู้สึกหายใจไม่สะดวกและอยู่ในที่โล่ง พยานก็เปิดหน้ากากอนามัยออกอยู่บ้าง

ตามภาพถ่ายหลักฐานโจทก์พบว่า ผู้ชุมนุมขับรถเว้นระยะห่างกัน ถนนเป็นที่โล่ง หยุดติดไฟแดงไม่นาน โอกาสแพร่เชื้อโควิดย่อมเกิดขึ้นได้น้อย  

ก่อนวันชุมนุมมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าวันที่มีการชุมนุม และหลังการชุมนุมยอดผู้ติดเชื้อก็ลดลงเรื่อย ๆ พยานได้ตรวจสอบข้อมูลเป็นการเฉพาะรายเบื้องต้นแล้วพบว่า ผู้ติดเชื้อภายหลังการชุมนุมไม่มีความเกี่ยวพันอะไรกับการชุมนุม ส่วนที่มีเอกสารหลักฐานของโจทก์ว่า ผู้ชุมนุมรายหนึ่งติดเชื้อภายหลังวันชุมนุมนั้น แต่ในเอกสารดังกล่าวก็ระบุว่า การติดเชื้อเกิดจากการทานอาหารร่วมกัน

พนักงานสอบสวนรับ ไม่มีข้อมูลว่าจำเลยทั้งสิบเป็นเจ้าของเพจที่เชิญชวนให้ร่วมชุมนุม ทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัย-ปราศรัยอยู่ห่างผู้ชุมนุม

พ.ต.ท.ปุณณริศร์ ธนานันทเศรษฐ์ พนักงานสอบสวน เบิกความว่า วันที่ 23 ส.ค. 2564 พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ เข้ามาแจ้งความกล่าวหาอรรถพลกับคนอื่น ๆ รวม 10 คน ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศจังหวัดขอนแก่น โดยนำรายงานการสืบสวน, ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวมามอบให้ด้วย จากนั้นได้มีการตั้งพนักงานสอบสวนมากกว่า 10 คน รวมทั้งพยานเป็นคณะกรรมการสอบสวน

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิบรายทะยอยเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธ กระทั่งคณะกรรมการของพนักงานสอบสวนมีความเห็นตรงกันว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดกระทำความผิดจึงมีความเห็นสั่งฟ้อง

พ.ต.ท.ปุณณริศร์ ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ไม่มีข้อมูลว่าจำเลยทั้งสิบเป็นเจ้าของเพจดาวดิน สามัญชน, ขอนแก่นพอกันที หรือภาคีนักเรียน KCC รายงานการเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุพบว่า ผู้ชุมนุมรายหนึ่งโพสต์ข้อความชวนชุมนุมในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุด้วยว่าเป็นแกนนำการชุมนุมที่ศาลเจ้าฯ แต่ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมรายดังกล่าว

พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นเจ้าของเครื่องเสียงที่ใช้ในวันเกิดเหตุ รายงานการสืบสวนก็ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นผู้ขับมา 

กลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลในการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ผู้ปราศรัยอยู่บนรถที่มีระยะห่างจากผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ นอกจากนี้ ตามภาพถ่ายในรายงานการสืบสวน จำเลยทั้งสิบล้วนสวมหน้ากากอนามัย

พยานทราบว่า ในจังหวัดขอนแก่นมีคดีคาร์ม็อบรวม 3 คดี โดยในคดีที่ 2 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา แต่พยานไม่ทราบรายละเอียดคำสั่ง

.

“ครูใหญ่” ยืนยัน ไม่ได้จัดชุมนุม – ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทั้งระวังการแพร่เชื้อโควิดอยู่ตลอด

อรรถพล บัวพัฒน์ จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้องในคดีนี้ ทราบจากเพจดาวดิน สามัญชน ซึ่งประกาศให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบ เพื่อโจมตีการทำงานของรัฐบาลในการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ จึงต้องการเดินทางไปร่วมชุมนุม โดยพยานไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าว รวมถึงเพจขอนแก่นพอกันที และภาคีนักเรียน KKC 

วันเกิดเหตุพยานไปถึงหน้าตึกอธิการฯ ในช่วง 16.30 – 17.30 น. โดยมีผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงก่อนหลายคนแล้ว มีรถเครื่องขยายเสียงจอดอยู่ ซึ่งไม่ทราบว่าใครจัดเตรียมมา และมีคนพูดปราศรัยอยู่ก่อนแล้ว 

บริเวณดังกล่าวเป็นลานกว้าง พยานสังเกตเห็นมีการจัดเจลแอลกอฮอล์ และเครื่องวัดอุณหภูมิอยู่ที่หน้าตึกอธิการฯ ผู้ชุมนุมมีการเว้นระยะห่าง หลายคนก็อยู่ในรถจักรยานยนต์และรถยนต์ของตัวเอง โดยส่วนมากสวมหน้ากากอนามัย และพยานก็สวมหน้ากากอนามัย

ขณะพยานยืนอยู่บริเวณลานดังกล่าว ผู้กำกับ สภ.เมืองขอนแก่น ก็ได้เดินเข้ามาชี้แจงข้อกฎหมายให้พยานทราบ 

เมื่อถึงเวลากลุ่มผู้ชุมนุมต่างขับรถแล่นไปตามถนนภายในมหาวิทยาลัยออกถนนมิตรภาพ โดยไม่ได้มีการปิดกั้นการจราจร มีตำรวจจราจรคอยช่วยดูแลการจราจร พยานเห็นผู้ชุมนุมที่ขับจักรยานยนต์มีการสวมหน้ากากอนามัย แต่คนที่อยู่ในรถยนต์ ไม่ทราบว่าสวมหรือไม่

ตามแผนที่เพจดาวดิน สามัญชน ระบุว่า ให้ผู้ชุมนุมไปหยุดรถหน้าอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ แต่บริเวณดังกล่าวถูกปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไป กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเดินทางไปที่หน้าตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยจอดรถเป็นแนวยาว ผู้ชุมนุมบางส่วนมายืนข้างรถ ขณะนั้นประชาชนทั่วไปยังสามารถสัญจรไปมาได้ กระทั่งตำรวจเริ่มเข้ามาปิดถนน 

พยานเห็นรถเครื่องเสียง ซึ่งคิดว่าเป็นรถของกลุ่มคนเสื้อแดง มีการเปิดให้ผู้ชุมนุมแสดงความเห็นผ่านไมค์ได้ พยานจึงเดินไปหยิบไมค์พูดโจมตีการทำงานของรัฐบาลที่สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยก่อนพูดได้ใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ฉีดที่ไมโครโฟนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนคนพูดก็จะมีการเช็ดทำความสะอาดไมโครโฟนเช่นกัน 

พยานไม่ทราบว่า ใครจัดเตรียมสีน้ำบรรจุถุงพลาสติกมาด้วย แต่เห็นว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนนำถุงสีปาใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีบุคคลใดได้รับบาดเจ็บ 

หลังการชุมนุมจะมีบุคคลใดติดเชื้อโควิดที่เกี่ยวเนื่องมาจากการชุมนุมหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่ตัวพยานไม่ได้ติดเชื้อ

ผู้ชุมนุมมาแสดงออกเพื่อต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากการเป็นนายกฯ และโจมตีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ การมาแสดงออกดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

.

ไนซ์ ดาวดิน ระบุ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจที่ประกาศชวนชุมนุม – ขึ้นปราศรัยเช่นเดียวกับอีกหลายคน 

ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือไนซ์ ดาวดิน จำเลยที่ 4 เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม แต่เห็นข้อความจากเพจดาวดิน สามัญชน, ขอนแก่นพอกันที และภาคีนักเรียน KKC ประกาศพร้อม ๆ กัน โดยพยานไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจทั้งสาม 

พยานสนใจเข้าร่วมการชุมนุมที่ตึกอธิการฯ เมื่อถึงวันเกิดเหตุจึงเดินทางไปเข้าร่วมโดยสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไปด้วย เมื่อไปถึงพบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนต่างเดินทางมาถึงก่อนแล้ว แต่ละคนสวมหน้ากากอนามัย และอยู่กระจัดกระจายตามรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของตัวเอง

จากนั้นพยานเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนรถไปตามถนน จึงขอติดตามไปกับรถเครื่องเสียงคันหนึ่ง เนื่องจากพยานไม่ได้ขับรถของตนเองไปด้วย แต่พยานไม่เห็นใบหน้าของคนที่ขับรถเครื่องเสียงและไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด

เมื่อขบวนไปถึงหน้าตำรวจภูธรภาค 4 ที่ชุมนุมมีการถามว่าบุคคลใดต้องการขึ้นพูดแสดงความคิดเห็น พยานอยู่ใกล้จึงขอขึ้นไปพูด โดยพูดถึงความไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดการวัคซีนโควิดไม่ทั่วถึง พยานจำไม่ได้ว่ามีใครขึ้นพูดอีกบ้าง แต่จำได้ว่ามีหลายคน 

หลังการชุมนุมพยานไม่ได้ติดโควิด และไม่ทราบข้อมูลว่ามีบุคคลใดติดเชื้อโควิดจากการชุมนุมหรือไม่ 

.

คาร์ม็อบขอนแก่น#3 “แห่ ไล่ ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 นักกิจกรรมที่เข้าร่วมนอกจากถูกดำเนินคดีในคดีนี้แล้ว 5 ใน 10 คน ได้แก่ ณัฏฐสกล, นุ้ก, พงศธร, กุลธิดา และพายุ ยังถูกฟ้องอีกคดี ในข้อหา “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” ซึ่งมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้กล่าวหา โดยศาลแขวงขอนแก่นนัดสืบพยานในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567

หากย้อนไปอีกจากคาร์ม็อบครั้งดังกล่าวนั้น ตำรวจยังออกหมายเรียกนักเรียนและเยาวชนอีก 3 ราย ได้แก่  ไอค่อน, ขวัญข้าว และเปค โดยกล่าวหาขวัญข้าวและเปคว่า เป็นผู้ปาสีน้ำใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และถนน จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาฐาน “เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดลงบนถนน” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ทั้งกล่าวหาไอค่อนว่าขึ้นร้องหมอลำ เป็นความผิดฐาน “โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ทั้งนี้ เยาวชนทั้งสามรับว่าได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริง พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับขวัญข้าวและเปคคนละ 1,000 บาท และปรับไอค่อน 200 บาท ทำให้คดีอาญาสิ้นสุดไปในชั้นสอบสวน  

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

คาร์ม็อบขอนแก่น แห่ไล่ประยุทธ์ 3 ครั้ง “ราษฎรขอนแก่น” เจอ 3 คดี นร.สะท้อน “รัฐควรแก้ปัญหา ไม่ใช่ดำเนินคดีผู้ชุมนุม

อัยการฟ้อง 5 นศ.-นักกิจกรรมขอนแก่น ร่วมคาร์ม็อบ#3 “ทำให้เสียทรัพย์” อีกคดี กล่าวหาปาสีใส่ป้าย ตร.ภ.4 – รูป ร.10 จนเปรอะเปื้อน-ใช้การไม่ได้

X