ตำรวจคุมตัว ‘ผู้ต้องหาคดีการเมือง’ ไปสถานีตำรวจห่างไกล-ไม่ใช่เจ้าของคดี อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ

จากสถานการณ์การจับกุมนักกิจกรรมจำนวน 9 ราย ที่ไปเคลื่อนไหวเรียกร้องกรณีของ “หยก” เยาวชนที่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ที่หน้า สน.สำราญราษฎร์ โดยมีการควบคุมตัวทั้ง 9 คน แยกไปใน 3 สถานีตำรวจ ทั้ง สน.ทุ่งสองห้อง, สน.ฉลองกรุง และ สน.ลาดกระบัง ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุทั้งสามสถานี และทั้งสามสถานียังอยู่ห่างไกลออกมาจากพื้นที่เกิดเหตุ ทำให้ยากต่อการเดินทางติดตามทั้งในส่วนของทนายความ ครอบครัว หรือผู้ไว้วางใจ

ก่อนหน้านี้ ในเดือนเมษายน 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีอย่างน้อย 3 กรณี ที่ตำรวจมีการควบคุมตัวนักกิจกรรมหรือผู้แสดงออกทางการเมืองไปยัง สน.ฉลองกรุง ซึ่งอยู่ในเขตมีนบุรี ด้านที่ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา มาแล้ว ได้แก่ คดีของสถาพร ที่ถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 จากจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2566 ทั้งที่เป็นคดีของ สน.ชนะสงคราม แต่ตำรวจกลับนำตัวไปสอบปากคำที่ สน.ฉลองกรุง โดยอ้างเรื่องว่า สน.ชนะสงคราม ไม่มีสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา

วันที่ 6 เม.ย. 2566 หลังตำรวจจับกุม “สายน้ำ” และ “ออย” กรณีพ่นสีสเปรย์ตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ ซึ่งตำรวจจะมีการแจ้งข้อหาทั้งในคดีของ สน.สำราญราษฎร์, สน.พญาไท, สน.ดินแดง และ สน.ดุสิต แต่กลับมีการนำตัวผู้ต้องหาแยกไปสองสถานีตำรวจที่ไม่ใช่เจ้าของคดีแต่อย่างใด โดยนำตัวออยไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในรูปแบบที่ไม่มีใครทราบในขณะพาตัวไป แต่มาทราบในภายหลังด้วย ขณะที่พาสายน้ำแยกไปที่ สน.ฉลองกรุง โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเหตุใดจึงต้องพาแยกกันไปสองสถานีตำรวจดังกล่าว 

อีกทั้งวันที่ 14 เม.ย. 2566 ทั้งสายน้ำและออยได้เข้ามอบตัวที่ สน.ดุสิต ในอีกคดีหนึ่งกรณีถูกออกหมายจับมาตรา 112 เหตุจากโพสต์ภาพชูสามนิ้วที่ลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ตำรวจกลับนำตัวทั้งสองคนไปสอบสวนที่ สน.ฉลองกรุง ที่อยู่ห่างออกไปราว 40 กิโลเมตร แม้ผู้ต้องหาจะขอให้สอบสวนที่ สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งอยู่ใกล้กว่า แต่ชุดสืบสวนไม่ยินยอม

ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 และ 84 นั้น กำหนดให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมไปยังสถานีตำรวจท้องที่ที่ถูกจับกุม หรือสถานีตำรวจเจ้าของคดีเท่านั้น

สถานการณ์การนำตัวผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ไปสอบสวนยังสถานที่ห่างไกล ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจที่เกิดเหตุหรือสถานีตำรวจเจ้าของคดีนั้น ดำเนินมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ได้เริ่มมีการนำตัวผู้ถูกจับกุมตัวไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) จังหวัดปทุมธานี และระยะต่อมายังมีการนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต อีกด้วย

ในช่วงแรกดังกล่าว ตำรวจมีการอ้างประกาศของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่อง “กำหนดสถานที่ควบคุม” ระบุให้กรณีที่มีการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้สามารถส่งตัวไปควบคุมที่ บก.ตชด. ภาค 1 ได้ 

แต่การควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนั้น เจ้าหน้าที่ต้องมีการร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตดำเนินการ ออกหมายศาล (เรียกกันว่า “หมายฉฉ.”) เพื่อให้มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน (ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)

หากแต่ช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าไม่มีกรณีใดเลยที่ศาลออกหมายควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้แต่อย่างใด ดังนั้นแล้วแม้จะเป็นช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เจ้าพนักงานยังต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการควบคุมตัวบุคคลตามปกติ 

แม้หลังยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงแล้ว ตำรวจก็ยังดำเนินการในลักษณะเรื่องการนำตัวผู้ชุมนุมมาควบคุมในสองสถานที่ดังกล่าวมาเป็นระยะจนถึงปี 2565 ก็ยังมีสถานการณ์เช่นนี้อยู่ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจโดยชัดแจ้งแต่อย่างใด 

ในช่วงปี 2566 แม้พบว่าตำรวจไม่ได้มีการนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวจากการแสดงออกทางการเมืองไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 และ บช.ปส. อีก แต่กลับมีการนำตัวไปสถานีตำรวจท้องที่ห่างไกลออกไปจากเมือง และยังมีการแยกตัวผู้ต้องหาในคดีเดียวกันออกไปคนละสถานี คนละพื้นที่อีกด้วย

การควบคุมตัวผู้ต้องหาในลักษณะดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาหลายประการ ทั้งการที่ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องหาได้ในทันที ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางติดตามไป บางกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ให้เข้าพบผู้ถูกจับกุมโดยทันที หรือมีการแอบนำตัวไปโดยไม่ให้ใครทราบ ทำให้การเข้าให้ช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นไปอย่างล่าช้า รวมทั้งญาติหรือผู้เกี่ยวข้อง ก็ติดตามไปได้อย่างยากลำบากเช่นกัน 

อีกทั้งสถานที่ควบคุมตัวที่ไม่แน่นอนและเป็นไปตามอำเภอใจเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ยังนำไปสู่ความเสี่ยงของผู้ต้องหาที่จะถูกบังคับสูญหายหรือถูกซ้อมทรมานในระหว่างควบคุมตัวอีกด้วย 

.

ย้อนดู สถิติผู้ถูกควบคุมตัวไป บก.ตชด. ภาค 1 – บช.ปส. จากการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2563-64

.

X