แม้สูญเสียแต่ยังหวังถึงสังคมที่ดีอยู่เสมอ: คุยกับ “พรพจน์” ระหว่างอิสรภาพ (ชั่วคราว) ก่อนฟังคำพิพากษาคดีแรก 

 วันที่ 28 มี.ค. 2566 ศาลอาญารัชดา นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พรพจน์ แจ้งกระจ่าง และยุรนันท์ (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันปาระเบิดปิงปองบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง #ม็อบ17ตุลา64 เป็นคดีแรกที่พรพจน์ถูกศาลตัดสินจากจำนวนคดีที่เขาถูกกล่าวหาทั้งหมดรวม 6 คดี โดยตลอดช่วงปี 2564-2566 พรพจน์เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังทางการเมืองซึ่งถูกคุมขังยาวนานที่สุด มีอาการป่วยจากการติดวัณโรคในเรือนจำและโควิด นอกจากนี้ยังเป็นผู้ต้องขังที่ถือว่าอายุมากที่สุด คือ 49 ปี เป็นรองเพียง ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี หรือ “เฮียซ้ง” ซึ่งมีอายุ 62 ปี ขณะถูกคุมขัง โดยพรพจน์ถูกคุมขังรวมกัน 2 ครั้ง ยาวนานถึง 448 วัน

พรพจน์เข้าเรือนจำครั้งแรก เนื่องจากถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาในคดีนี้ ภายหลังถูกจับเขายังถูกแจ้งข้อกล่าวหาอีก 1 คดี โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมก่อเหตุยิงพลุและปาประทัด ใน #ม็อบ18ตุลา บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตฝากขังครั้งที่ 1 และไม่ให้ประกันตัว พรพจน์ติดวัณโรคจากเพื่อนผู้ต้องขังและยังติดโควิดอีกด้วย ในเวลานั้นพรพจน์ถูกขังระหว่างวันที่ 20 ต.ค. 2564 – 1 มี.ค. 2565 รวมเป็นระยะเวลาถึง 133 วัน  

ภายหลังจากที่พรพจน์ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวไม่นาน เขาก็ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งจากกรณีถูกออกหมายจับในเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 ในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2565 โดยเขาเข้ามอบตัวในวันที่ 12 เม.ย. 2565 และศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยการถูกคุมขังในครั้งที่ 2 ในระยะเวลาห่างกับครั้งแรกเพียง 1 เดือนกว่า กลับทำให้เขาต้องอยู่ในเรือนจำยาวนาน 315 วัน ก่อนพรพจน์จะได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 20 ก.พ. 2566 

ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ซึ่งอาจจะทำให้พรพจน์ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกเป็นครั้งที่ 3 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ชวนพรพรจน์มานั่งคุยสั้นๆ ถึงจุดเริ่มต้นและความหวังในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา เบื้องหลังการเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าใช้ความรุนแรงของเขาและกลุ่มทะลุแก๊ส ตลอดจนถึงความสูญเสียและความหวังหลังผ่านการถูกจองจำมากว่า 1 ปี

.

ชีวิตก่อนจะเคลื่อนไหวทางการเมือง

พรพจน์เล่าว่า เขาเกิดในปี 2515 พื้นเพเป็นคนกรุงเทพมหานคร โดยช่วงนั้นตรงกับยุคที่เผด็จการครองเมือง “อย่างที่เรารู้จักกันในนาม 3 ทราช (จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร) และเราก็ผ่านยุค 14 ตุลา 2516 มา เราโตมากับยุคเผด็จการ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ลงลึกเพียงแค่รับรู้” 

ช่วงชีวิตในวัย 50 ปี ของเขาได้เห็นการรัฐประหารมาก็หลายครั้ง “ที่จำได้ก็คือปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐประหาร รสช.(1) แล้วก็ไล่มาก็เป็นการรัฐประหารที่นำโดยพลเอกสนธิ (บุญญะรัตกลิน) ต่อด้วยพลเอกประยุทธ์ ที่เรารับรู้มาก็ 4-5 ครั้ง แต่ก่อนนั้นเรายังไม่ค่อยเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร”

ตั้งแต่เรียนจบมา พรพจน์บอกว่า เขาทำงานด้านจิตอาสามาตลอด ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตามต่างจังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน ไม่ได้ค่าตอบแทน ขอแค่มีที่อยู่และอาหาร รวมถึงค่ารถที่จะกลับบ้านเมื่อต้องการก็เพียงพอ “เมื่อก่อนเรียนมาทางด้านบัญชีแต่ถูกบังคับให้เรียน ไม่เคยใช้วิชาความรู้ที่เราร่ำเรียนมาประกอบอาชีพเลย ช่วงวัยรุ่นก็เป็นคนเกเร เลยใช้ชีวิตนอกกรอบไม่ได้ยึดติดกับวุฒิการศึกษาและใบปริญญา แต่เป็นคนใฝ่รู้ หาความรู้นอกตำราด้วยตัวเอง ตอนบวชเณรก็เคยเรียนนักธรรมจนจบนักธรรมเอก” 

.

จุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การมีคดีการเมืองของตัวเองเป็นคดีแรก

“จิตวิญญาณของเสรีชน มันมีอยู่ลึกๆ ในจิตใจเราอยู่แล้ว” ช่วงปี 53 ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ตามมาด้วยการสลายการชุมนุมที่มีประชาชนเสียชีวิตเกือบร้อยศพนั้น เขาอยู่ที่ลำพูนสลับกับกาญจนบุรี  แม้ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ หรือร่วมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดง แต่ติดตามข่าวสารมาโดยตลอดและมีความเห็นอกเห็นใจพี่น้องคนเสื้อแดง

“เรายังเห็นเพื่อนๆ ที่เป็นทหารถูกเรียกกำลังพลไปสลายการชุมนุมด้วย เราเห็นภาพการใช้อาวุธยิงใส่ประชาชน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การออกกฎหมายมาบังคับใช้กับสถานการณ์นั้นมันโหดร้ายมากที่เอามาใช้กับคนเห็นต่างทางการเมือง ตอนนั้นเราก็ครุกรุ่นมากแล้ว ไม่โอเคกับบทบาทของทหาร บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐ” 

“จริงๆ เราได้ซึมซับเรียนรู้มาตลอด ในปี 2535 พฤษภาทมิฬ ตอนนั้นเราก็อายุ 20 แล้ว รู้เรื่อง มีวุฒิภาวะแล้ว เราพบว่า เผด็จการเลวร้าย การยึดอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่โอเค จนมาถึงจุดพีคคือ การออกมาเคลื่อนไหวของน้องๆ นักศึกษาปี 2563 จริงๆ หลังการยึดอำนาจของ คสช.ในปี 2557 เราก็ไม่โอเคแล้ว แต่ปี 2563 เป็นปีที่เราตัดสินใจว่าจะออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับน้องๆ นักศึกษา กะมาแค่แสดงพลัง แล้วเราก็จะกลับไปใช้ชีวิตต่อ”

พรพจน์บอกว่า ไม่ได้ออกมาต่อสู้เพราะสนใจหรือมีพรรคในดวงใจ “ผมบอกกับทุกคน ทุกฝ่ายเสมอว่า เราไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนที่ยึดโยงกับพรรคการเมือง เพราะประชาชนต่างหากเป็นหัวใจหลักของการต่อสู้ เราอยู่ข้างประชาชน สู้เพื่อประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกภาคี ที่เขายินดีที่จะให้เราแสดงความคิดเห็น 

อย่างไรก็ตามพรพจน์ไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตปกติอย่างที่เขาตั้งใจ

“หลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ มันเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้เราต่อสู้มาจนถึงทุกวันนี้ เราเห็นความเลวร้ายของการบังคับใช้กฎหมายกับคนที่มาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ว่าเขาใช้สารเคมี ใช้การสลายการชุมนุม ใช้ความรุนแรงกับประชาชน กับนักเรียนนักศึกษา มันเลยทำให้เราไม่โอเค เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมายเป็นหน้าที่ของเราที่เป็นประชาชน ที่จะออกมาต่อต้าน”   

ส่วนใหญ่พรพจน์ติดตามข่าวสารจากหลายช่องทาง ทั้งทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ เพราะจะได้รับข้อมูลหลายๆ ทาง แล้วจึงใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ว่าความจริงคืออะไร หลังจากติดตามข่าวสารมานาน พรพจน์ก็ตกผลึกทางความคิด “เราต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม เพราะรัฐลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจกดขี่ประชาชน” 

เขาบอกว่า ออกมาเคลื่อนไหวคนเดียว ไม่มีกลุ่มหรือเพื่อน แต่ได้ไปรู้จักกับคนอื่นๆ ในม็อบ 

“เราไปเจอคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน และแชร์มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ร่วมกัน จึงทำให้เกิดความผูกพันในการต่อสู้ลงถนน ในการเคลื่อนไหวเราใช้เงินส่วนตัวที่เป็นเงินเก็บของเรามาตลอด”

.

บทบาทในการต่อสู้เคลื่อนไหว

ฉายา “เพชรพระอุมา” เป็นชื่อในเฟซบุ๊กที่พรพจน์ตั้งขึ้น เนื่องด้วยถูกคุกคามจากคนเห็นต่างจึงเปลี่ยนเป็นชื่อดังกล่าว เขาเล่าถึงที่มาของชื่อว่า ส่วนตัวชอบการอ่านหนังสือและชอบเรื่องราวในนวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” เดิมเขาตั้งใจจะใช้ชื่อนี้แค่เดือนสองเดือน “แต่มีคนเรียก เพชร กันจนติดปากจึงปล่อยเลยตามเลย” และกลายมาเป็นนามแฝงส่วนตัวของเขา

ในช่วงแรกที่ออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากพรพจน์มีความสนใจและเห็นใจคนเสื้อแดงเป็นทุนเดิม เขาจึงอยู่ในรถปราศรัยของคนเสื้อแดงเป็นหลัก และเคยขึ้นปราศรัยหลายครั้งบนรถขยายเสียง แต่ในภายหลังพรพจน์บอกว่า เขาเลือกที่จะแยกออกมาเคลื่อนไหวอย่างอิสระก่อนที่จะได้มารู้จักและเคลื่อนไหวกับเด็กๆ ย่านดินแดง 

พรพจน์บอกว่า เขาไม่ได้รู้จักกับใครเป็นการส่วนตัว การชุมนุมเป็นลักษณะของต่างคนต่างไป “แต่พอชุมนุมร่วมกันบ่อยครั้งทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน เพราะมีแต่คนอายุน้อยกว่าและพวกเขาถูกกระทำจากรัฐ”  ในช่วงแรกเขาคอยเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ แต่เมื่อมาร่วมเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ทำให้มีอารมณ์ร่วมกับสถานการณ์ 

เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เนื่องจากอายุเยอะกว่าคนอื่นจึงถูกอุปโลกน์จากฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นหัวโจก “ทะลุแก๊ส” และมักโดนหมายหัวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น การถูกออกหมายจับโดยไม่ได้รับหมายเรียกมาก่อนในคดีที่ สน.ลุมพินี 

.

วิธีการต่อสู้และนิยามเรื่องความรุนแรง

ชายผู้ผ่านการเป็น “วัยรุ่นเกเร” มาก่อน สะท้อนมุมมองต่ออารมณ์ความรู้สึกของวัยรุ่นกับการชุมนุมว่า เขาเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ยืนยันว่า เขาไม่ได้สนับสนุนวิธีการใช้ความรุนแรง เพียงแต่เขารู้ว่าถ้าหากจะเข้าไปห้ามยิ่งจะเกิดการต่อต้านมากขึ้น เขาบอกว่าการได้เข้าร่วมชุมนุมกับเด็กๆ ทะลุแก๊ส และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนเรื่องแนวคิด ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ หรือช่วยกันทักท้วง ดึงกันเมื่อรู้สึกว่าการชุมนุมเกินขอบเขต 

“การตอบโต้ของกลุ่มทะลุแก๊ส เป็นปฎิกริยาจากการที่เด็กรู้สึกว่าถูกรังแกจากรัฐ เป็นการโต้ตอบที่เหมือนกับตบยุง เพราะยุงมากัดเขารู้สึกเจ็บ เขาเลยต้องตบ” พรพจน์เปรียบเทียบ

.

ตัดสินใจมอบตัวในคดีปาระเบิดหน้าบ้านประยุทธ์

พรพจน์เล่าถึงช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจเข้ามอบตัวหลังถูกออกหมายจับในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 

“ที่ผ่านมาเรารู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ถูกเพ่งเล็ง ถูกออกหมายจับ ตอนนั้นเพิ่งออกจากเรือนจำมาได้ประมาณเดือนนึงและยังคงต้องกินยารักษาวัณโรค ต้องรักษาตัว แต่ก็ถูกออกหมายจับอีก ถ้าจะต้องหนีหรือหลบซ่อน ก็รู้สึกเหนื่อยเกินไป เหมือนเป็นสัตว์ที่ถูกล่า คู่คดีของเราได้ประกันตัว แต่เราก็ทำใจว่าถ้าไปมอบตัวอาจจะไม่ได้ประกันตัว”   

.

เข้าเรือนจำ 2 ครั้งและติดเชื้อวัณโรคจากเรือนจำ

ในรอบแรกที่เข้าเรือนจำ พรพจน์ถูกฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัว ภายหลังร่วม #ม็อบ18ตุลา บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2564 โดยหนึ่งในข้อหาที่ถูกกล่าวหาคือ “ทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น” เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2564 จนถึง 1 มี.ค. 2565 รวมเป็นเวลากว่า 132 วัน จากคนวัย 49 ที่สุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัว พรพจน์ต้องเจ็บป่วยจากการติดโควิดในเรือนจำ ซ้ำร้ายเขายังติดวัณโรคจากเพื่อนผู้ต้องขังซึ่งกักตัวโควิดอยู่ด้วยกัน เนื่องจากเรือนจำในช่วงเวลาที่เชื้อโควิดกำลังระบาดมีความแออัด พรพจน์เล่าว่า เขาต้องกินยาของโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นเวลานาน โดยวัณโรคมีระยะเวลาที่ต้องกินยารักษาตัวประมาณ 6 เดือนจึงจะหาย

เมื่อเขาถูกคุมขังเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 13 เม.ย. 2565 หลังจากเข้ามอบตัวที่ สภ.เมืองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 11 เม.ย. กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 หลังจากการชุมนุมรำลึกเมษาเลือด #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 อาการของวัณโรคได้กำเริบอีกครั้งและต้องกินยาเพื่อรักษาวัณโรคเป็นรอบที่ 2 เนื่องจากสุขภาวะในเรือนจำไม่ดีนัก ประกอบกับอายุของเขาที่อยู่ในวัย 50 ปีแล้ว 

ปัจจุบันอาการของโรคที่ยังเหลือค้างอยู่ในตัวเขาคือ การไอ โดยเฉพาะช่วงเช้าที่จะไอออกมาเป็นเลือด พรพจน์บอกว่าสุขภาพของเขาไม่กลับมาดีเหมือนเดิมอีกเลย 

“ถึงโควิดไม่ลงปอด แต่ปอดของเราคงถูกวัณโรคทำลายไปแล้ว” เวลาที่เขามีอาการป่วยที่เกิดจากผลข้างเคียงของวัณโรค พรพจน์บอกว่า เขามีเพียงสิทธิการรักษาตามบัตรทอง 30 บาทเท่านั้น แต่สิทธิดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลที่ใกล้กับที่อยู่ปัจจุบันเพราะอยู่ในต่างจังหวัด

.

เป็นพี่ต้องเข้มแข็ง

พรพจน์เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้จากการถูกคุมขังว่า เนื่องจากเขาถูกขังมา 2 รอบแล้ว แม้รอบที่สองจะยาวนานถึง 315 วัน แต่อย่างน้อยเขาก็มีประสบการณ์มาแล้ว เขาต้องอยู่ในเรือนจำอย่างมีความหวังแม้จะเหนื่อยและท้อแท้ แต่การเป็นผู้ต้องขังที่เกือบจะอายุมากที่สุดในบรรดาเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันในคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในแสดงออก ผลักดันให้พรพจน์มีแรงใจที่จะใช้ชีวิต เขาบอกว่า เขาต้องเข็มแข็ง กระฉับกระเฉง เพื่อที่จะดูแลน้องๆ 3-4 คนในแดนเดียวกัน และให้กำลังใจคนที่ติดอยู่ข้างในให้ได้ แม้ตัวเองจะรู้สึกไม่ไหวในบางครั้งก็ตาม 


“บอกน้องๆ ตลอดว่า เดี๋ยวก็ได้ประกัน คดีของทุกคนไม่ได้หนักมาก เดี๋ยวก็ได้กลับบ้าน แต่สุดท้ายเราก็อยู่มาด้วยกันสามร้อยกว่าวัน วันที่เราได้ประกันตัว น้อง (คทาธร) มายืนเกาะลูกกรง เราก็น้ำตาคลอว่า น้องน่าจะได้ออกก่อน แต่สุดท้ายเราได้ออกแต่น้องยังต้องอยู่” 

.

แม้เส้นทางนี้มีสิ่งที่ต้องสูญเสียแต่ยังหวังถึงสังคมที่ดีอยู่เสมอ 

เป็นธรรมดาที่การเดินบนเส้นทางการต่อสู้กับอำนาจรัฐ มีสิ่งที่ต้องสูญเสีย เป็นบทเรียนอีกข้อที่พรพจน์สรุปได้ ในกรณีของเขาคือการสูญเสียอิสรภาพกว่า 1 ปี และสูญเสียสุขภาพที่เคยแข็งแรงไป แต่ในประวัติศาสตร์นักต่อสู้ก็ล้วนต้องเสียสละ “ไม่ติดคุกก็ถูกสังหาร แม้แต่พี่น้องในบ้านเราที่ถูกอุ้มฆ่าก็มีมาแล้ว เราทำใจเผื่อไว้แล้ว ต้องยอมรับสภาพ” 

เมื่อถามว่าปลายทางที่เขาอยากเห็นเมื่อการต่อสู้ประสบความสำเร็จคืออะไร พรพจน์บอกว่า เขาอยากเห็นสังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

“ต้องมีการปฏิรูปทุกๆ วงการ ทหารต้องไม่สามารถออกมาทำรัฐประหารได้อีก เด็กๆ รุ่นใหม่ต้องมีเวลาที่จะได้เติบโต ในอนาตคเด็กๆ ควรได้รับการศึกษาด้วยหลักสูตรที่มีคุณภาพ มีระบบรัฐสวัสดิการ คนเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่มีผู้มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ”

แม้ปัจจุบันจะไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่และไม่ได้มีการชุมนุมที่ดินแดงแล้ว พรพจน์เข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวและยอมรับว่าทุกๆ การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาเสมอ “ช่วงเวลานี้ทุกคนต้องพักรักษาตัวเอง เนื่องจากประชาชนถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก จึงเป็นระยะเวลาแห่งการรอดูสถานการณ์และดูทิศทางของการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา” 

แม้พรพจน์จะทราบดีว่า สิ่งที่เขาคาดหวังจะเห็นจากการต่อสู้ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่เป็นอย่างที่หวังทั้งหมด แต่เขายืนยันว่า

“การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อให้คนเท่ากัน เป็นเส้นทางและความคาดหวังที่เราต้องมุ่งมั่นที่จะเดินและไปให้ถึงให้ได้”  

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

จับเยาวชน 17 ปี โยงเหตุปาระเบิดปิงปองหน้าราบ 1 ขณะ “พรพจน์” มอบตัวที่พิษณุโลก ก่อนหวนเข้าเรือนจำครั้งที่ 2
“พรพจน์” ถูกขังจนติดวัณโรค พี่สาวหวั่นร่างกายน้องไม่ไหว 2 เดือนก่อนเพิ่งหายโควิดหลังติดในเรือนจำ
ผู้ปราศรัย #ม็อบ18พฤศจิกา เข้ารับทราบข้อหา แต่ตร.แสดงหมายจับออกก่อนวันนัด

X