ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์
ได้รับการสนับสนุนการผลิตจากโครงการ Journalism that Builds Bridges
การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไป แม้ใกล้จะผ่านพ้นปีที่ 3 แล้วของการดันเพดานทางสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยที่ถูกจุดขึ้นมาด้วยการชุมนุมใหญ่อย่าง “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีจุดสิ้นสุดในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการอดอาหารของผู้ต้องขังคดีการเมืองในเรือนจำ การเดินประท้วงและยืนเฉยๆ เพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องทางการเมือง ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์การมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,888 คน ในจำนวน 1,165 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี
สำหรับสถิติการดำเนินคดีที่น่าสนใจ พบว่าในการแจ้งดำเนินคดีกับประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะแจ้งดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาแล้ว อย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี
นอกจากนั้นการดันเพดานขึ้นครั้งนี้ทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์นำข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลับมาใช้หลังจากหยุดใช้เป็นเวลานับปีจนพุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จนถึงปัจจุบันมีประชาชนถูกกล่าวหาอย่างน้อย 225 คน ในจำนวน 243 คดี
นอกจากนี้ ในสถิติคดีมาตรา 112 ข้างต้นของศูนย์ทนายฯ ยังได้รวมชุดข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ในช่วงปี 2564- 2565 อีก 5 รายและศาลได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว และได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหลายพื้นที่ โดยไม่ทราบรายละเอียดคดี ตลอดจนการเรียกเงินประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างสูงและไม่มีมาตราฐาน โดยเฉพาะกับประชาชนที่ถูกกล่าวหาในมาตราดังกล่าว และไม่สามารถเข้าถึงองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในคดีการเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญ
ปัญหาของเงื่อนไขการประกันตามดุลยพินิจของศาล
จากหลักเกณฑ์ของการดำเนินคดีในข้อหา ‘หมิ่นประมาท’ ทั่วๆ ไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ในมาตรา 328 ฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยโฆษณา บันทึกภาพ กระจายภาพหรือเสียง โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรา 112 ที่กำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดไม่แตกต่างกันมากนัก แต่กำหนดอัตราโทษไว้สูงกว่าคือมีโทษจำคุก 3-15 ปี และในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ เมื่อถึงคราวพิพากษาคดีศาลมักจะลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา และในบางรายไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างชั้นอุทธรณ์
บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ความคลุมเครือของข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในชั้นศาล และการปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมของสถาบันเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในข้อหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อองค์กรศาลยุติธรรม ตลอดจนประชาชนที่ต้องการจะสู้คดีให้ถึงที่สุดจำนวนมาก ความไร้ซึ่งมาตราฐานของการวินิจฉัยในกระบวนการยุติธรรม นำมาสู่การโต้แย้งถึงขอบเขตของมาตรา 112 ว่าศาลกำหนดบทลงโทษในความผิดฐานหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ไว้อย่างไรกันแน่
อ่านปัญหาของมาตรา 112 เพิ่มเติม >>> 10 คำถาม-คำตอบน่ารู้เกี่ยวกับมาตรา 112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว “อานนท์ อำภา และ เพนกวิน — พริษฐ์ ชิวารักษ์” 2 แกนนำราษฎร ในทุกคดี หลังถูกคุมขังอยู่นานกว่า 7 เดือน แต่ ศาลได้เรียกเงินประกันตัวคนละกว่า 1,000,000 บาท จึงสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากจนสามารถระดมทุนบริจาคให้กับกองทุนราษฎรประสงค์กว่า 10 ล้านบาท ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อประกันตัว 2 แกนนำออกมา
ในบางกรณี ที่แม้ศาลจะให้ประกันตัวแต่ยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวหลายอย่าง ซึ่งเงื่อนไขการประกันตัวเหล่านั้นได้จำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการ เช่น เสรีภาพการแสดงออก สิทธิการชุมนุมโดยสงบ โดยปัญหาเงื่อนไขการประกันตัวที่มีการนำมาใช้กับนักกิจกรรมในช่วงปี 2564 – 2565 ค่อนข้างมีความหมายที่สามารถตีความได้กว้าง อาทิเช่น ห้ามกระทำการที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและสงบของรัฐ หรือห้ามกระทำให้ชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ตลอดจนการห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล ปัญหาของเงื่อนไขเหล่านี้มีการนำไปใช้ในการพิจารณาคดีการเมือง และการใช้เพื่อพิจารณาเพิกถอนการประกันตัว โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112
ในเดือนเมษายน 2565 ศาลสั่งมีคำสั่งเพิกถอนการประกันและปฏิเสธคำร้องประกันตัวของตะวัน — ทานตะวัน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในกรณีโพสต์ที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ และสวมชุดดำเข้าร่วมการรับขบวนเสด็จ ซึ่งในการพิจารณาไต่สวนถอนประกัน ศาลอธิบายว่าพฤติกรรมของตะวันฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันที่ห้ามไม่ให้ตะวันเข้าร่วมกิจกรรมที่กระทบต่อชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์ และการโพสต์เฟซบุ๊กของตะวันมีการเชิญชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะก่อความไม่สงบต่อบ้านเมือง
ย้อนอ่านคำสั่งถอนประกันตะวัน >>> ศาลสั่งถอนประกัน “ตะวัน” เหตุร่วมรับเสด็จ-โพสต์โพลขบวนเสด็จเดือดร้อนหรือไม่ ส่งตัวไปทัณฑสถานหญิงทันที โดยไม่รอยื่นประกัน | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
จากสถิติข้อมูลของ iLaw มีการสำรวจวงเงินประกันตัวในคดีมาตรา 112 ในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 – 2560 พบว่า หลักทรัพย์ขั้นต่ำที่ใช้ในการยื่นประกันตัวจะอยู่ที่ 100,000 บาท และหลักทรัพย์ประกันที่สูงที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวที่ศาลเคยอนุญาตให้ประกันคือ 500,000 บาท
อ่านสถิติคดี 112 และการให้ประกันตัวในช่วงปี 2557 – 2560 >>> สถิติคดี 112 ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี 2557- 2560
จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2565 พบว่าเงื่อนไขที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวในคดี มาตรา 112 ทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีจะมีตั้งแต่การให้สาบานตนจนถึงการให้วางหลักทรัพย์สูงถึง 310,000 บาท แต่ในส่วนของคดีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลักทรัพย์ประกันจะอยู่ที่ 20,000 – 30,000 บาท นอกจากนี้ในชั้นศาล โดยเฉพาะในคดีที่มีการพิพากษาโทษจำคุก และไม่รอลงอาญาจะตีมูลค่าการประกันตั้งแต่ 90,000 – 300,000 บาท
ยกตัวอย่างในกรณีของ ‘ภัคภิญญา’ ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาลงโทษจำคุกถึง 9 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีโพสต์แชร์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวน 6 โพสต์ ซึ่งภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันโดยวางเงิน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ทั้งนี้คดีของภัคภิญญา ถือได้ว่าเป็นคดี ม.112 ที่มีการพิพากษาลงโทษจำคุกสูงที่สุดแล้วในปี 2565
ในคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2563 ได้ปรากฎข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตราฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ว่ากำหนดไว้ว่าสามารถให้ประกันตัวได้โดย ไม่จำต้องนำวงเงินประกันหรือราคามาเป็นปัจจัยในการพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 (2) และ มาตรา 111 ระบุว่าศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องมีหลักประกันได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่นการวางหลักทรัพย์ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี
อ่านคำแนะนำเรื่องมาตรฐานกลางสำหรับปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย เพิ่มเติม >>> คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2563
อย่างไรก็ตาม ในคดีของไมค์ — ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ที่ศาลจังหวัดพระครศรีอยุธยา ได้มีการนัดไต่สวนการประกันตัว ในคดี ม.112 จากการชุมนุม “อยุธยาจะไม่ทน” เมื่อช่วงปี 2563 พบว่าศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน แต่หากผิดเงื่อนไขประกันที่กำหนดไว้จะมีการสั่งปรับ 150,000 บาท การพิจารณาของศาลเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าในการขอประกันตัวโดยให้จำเลยทำสัญญาประกัน แต่ไม่ต้องตั้งเงื่อนไขให้วางหลักทรัพย์ประกันสูงนับแสนบาทก็ย่อมทำได้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ‘ปล่อยโดนไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน’ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นกับประชาชนธรรมดาที่ถูกกล่าวหาในข้อหาดังกล่าวเลย อาจเป็นเพราะการที่องค์กรศาลยุติธรรมไม่ได้มีมาตรฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก นอกเสียจากการใช้ ‘ดุลยพินิจ’ ของผู้พิพากษาเท่านั้น
นอกจากนี้ จำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงกับความต้องการหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเฉพาะในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ศาลมักจะเรียกหลักทรัพย์ประกันสูงถึงหลักแสนบาท การมีอยู่ขององค์กรที่ให้ความช่วยเหลือกับผู้ต้องหาคดีการเมืองทางด้านการประกันตัวอย่าง กองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งในปี 2564 กองทุนดังกล่าวเคยช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีการเมืองมากถึง 401 ครั้ง และจำนวนเงินตีเป็นมูลค่ามากถึง 19 ล้านบาท ภายในเวลาเพียงแค่ครึ่งปี (14 ม.ค.-7 ก.ค. 2564) ด้วยเหตุนี้ กองทุนราษฎรประสงค์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นกำลังหลักในกระบวนการยุติธรรมและการต่อสู้คดีของนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เรื่อยมา
อ่านข้อมูลการให้ความช่วยเหลือของกองทุนราษฎรประสงค์ เพิ่มเติม >>> ครึ่งปี 19 ล้าน กองทุนราษฎรประสงค์ยื่นประกัน-จ่ายค่าปรับคดีการเมืองรวม 401 ครั้ง
แต่ในวันที่ 22 พ.ย. 2565 ศาลอาญาได้มีการนัดฟังคำสั่งประกันตัวของ ‘แซม – แม็ก – มิกกี้บัง’ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ก่อนจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน โดยระบุว่านายประกันและเงินประกันไม่เกี่ยวข้องกับผู้กำกับดูแล ก่อนที่ทนายจะยื่นคำร้องใหม่โดยระบุว่าเงินประกันจำเลยทั้ง 3 คน เป็นทรัพย์สินของผู้กำกับดูแลไม่ใช่กองทุนราษฎรประสงค์ ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท
อ่านเงื่อนไขประกัน 3 ทะลุฟ้า >>> ศาลให้เปลี่ยนผู้กำกับดูแล-เงินประกัน ก่อนให้ประกัน “แซม – แม็ก – มิกกี้บัง” วงเงินคนละ 1 แสน พร้อมให้ติด EM และอีก 4 เงื่อนไข | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
การตั้งเงื่อนไขและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันโดยใช้ดุลยพินิจแล้วแต่ศาลในคดีของทะลุฟ้า มีความสอดคล้องกับระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ซึ่งแก้ไขระเบียบฉบับเก่าใน ข้อ 4 ของระเบียบเดิมที่ไม่ได้กำหนดตัวผู้ร้องขอประกันตัวไว้ แต่ระเบียบที่แก้ไขใหม่มีการกำหนดตัวผู้ร้องขอประกันตัว ได้แก่ 1.ผู้ต้องหาหรือจำเลย 2.เครือญาติ 3.ผู้ที่มีความเกี่ยวพันในทางสมรสกับผู้ต้องหาหรือจำเลย 4.ผู้ที่มีความเกี่ยวพันในทางการงานกับผู้ต้องหาหรือจำเลยเท่านั้น ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวสามารถยื่นคำร้องได้โดยไม่ต้องเสนอหลักประกันใดๆ
แต่ภายหลังระเบียบดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกการบังคับใช้ไปแล้ว หลังจากที่มีข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยเรื่องการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ.2565 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 ในข้อ 22 เรื่องการใช้บุคคลเป็นหลักประกัน ระบุไว้ว่านอกจากบุคคลที่จะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว สามารถใช้ผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอนตามที่ศาลเห็นสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 114 วรรค 2 (3)
และจากการมีประกาศข้อบังคับข้างต้น ก็ไม่ได้ทำให้ความลักลั่นของศาลหายไป เมื่อศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในกรณีไดโน่ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2565 ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในครั้งแรก และปฏิเสธเงื่อนไขที่ทนายความยื่นคำร้องขอใช้นายประกันเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัว แต่ไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องหลักทรัพย์ ว่าจะต้องเป็นเงินของครอบครัวและญาติเท่านั้น
อ่านข่าวประกันของไดโน่ ทะลุฟ้า >>> อัยการสั่งฟ้องคดี “ไดโน่ ทะลุฟ้า” ก่อนได้ประกันวางเงิน 90,000 บาท หลังถูกขัง 1 คืน ศาลชี้ให้นายประกัน-ผู้กำกับดูแลเป็นคนในครอบครัวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คดีที่เกิดขึ้นนักกิจกรรมทะลุฟ้าดังกล่าว เป็นความลักลั่นอย่างหนึ่งระหว่างการปฏิบัติตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาและระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 ที่ได้ถูกยกเลิกใช้ไปแล้ว แต่ได้อนุญาตให้นายประกันไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันได้ และถึงแม้ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าว ได้เปิดช่องทางให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจกับบุคคลอื่นในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ แต่ก็พยายามตั้งหลักเกณฑ์ในการเรียกหลักทรัพย์ประกันด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการพยายามปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ของการปล่อยชั่วคราว อาจส่งผลกระทบต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในทุกประเภท ไม่เพียงแต่ในคดีความอาญาทางการเมือง
สิ่งที่น่าสนใจจากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น คือการใช้ดุลยพินิจของศาลในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งการตั้งเกณฑ์หลักทรัพย์ในคดีอาญาทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ประกอบกับข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยเรื่องการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ถึงแม้ในคดีของทะลุฟ้าดังกล่าว จะเป็นกรณีแรกที่ศาลได้มีคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับการประกันตัวที่ลักลั่น แต่หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีกกับคดีความการเมือง ความไม่แน่นอนของศาล อาจสร้างภาระโดยไม่จำเป็นต่อจำเลยและครอบครัว ตลอดจนองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านการประกันตัว ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวต่อผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย