จับตา 19 ตุลา ศาลนราธิวาสพิพากษาคดี ม.112 “ภัคภิญญา” บรรณารักษ์ชาวกรุงเทพฯ หลังเจ้าตัวปฏิเสธแชร์ 6 โพสต์วิจารณ์การเมือง

วันที่ 19 ต.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ภัคภิญญา” (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี อดีตบรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ผู้ถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) กรณีถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์ในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวน 6 โพสต์

คดีนี้เป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 8 คดีที่ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยคดีเหล่านั้นบางคดีศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษาแล้ว ได้แก่ คดีของ “อุดม” ซึ่งถูกฟ้องจากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวม 7 ข้อความ ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดใน 2 กรรม ลงโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 ปี ก่อนให้ประกันตัวสู้คดีชั้นอุทธรณ์ และคดีของ “วารี” ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง ให้เหตุผลว่า พยานโจทก์ยังไม่น่าเชื่อถือว่าจำเลยโพสต์จริงตามที่ถูกกล่าวหา

ในคดีนี้ ข้อความที่อัยการฟ้อง กล่าวหาว่าภัคภิญญาเป็นผู้แชร์และโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวมีดังนี้

1. วันที่ 17 พ.ย. 2563 แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH’ ซึ่งโพสต์ภาพตำรวจควบคุมฝูงชนฉีดน้ำ พร้อมข้อความว่า “ด่วน ตํารวจฉีดน้ำพยายามสลายการชุมนุมแล้วถึง 5 ครั้ง ใส่แนวหน้าของเราที่เข้าไปแสตนบายที่พื้นที่ก่อนมวลชนจะมาถึง! และประกาศจะใช้กระสุนยาง!!!…” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “ถ้าใส่เสื้อเหลืองเมื่อเช้านี่เปิดให้เข้าได้เลยนะ พ่อเขาบอกว่ารักทุกคน เราเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมอ่ะ สับปลับ!”

2. วันที่ 24 พ.ย. 2563 แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก ‘KTUK-คนไทยยูเค’ ซึ่งโพสต์ข้อความในทำนองว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้สั่งเตรียมรับมือการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกา เมื่อปี 2563 โดยสั่งการให้มวลชนเสื้อเหลืองเข้าปะทะกับผู้ชุมนุม และเตรียมใช้ 112 จับแกนนำ โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

3. วันที่ 31 ธ.ค. 2563 แชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “ถ้าจะเก็บสนามหลวงไว้เผาศพอย่างเดียว กูก็ขอให้พวกมึงได้ใช้บ่อยละกัน” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “รับสิ้นปีเลยนะ”  

4. วันที่ 17 ม.ค. 2564 แชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊ก ‘อานนท์ นําภา’ ที่มีข้อความว่า “อุ้มหายบ่อยๆ จะทําให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับเยอรมันลําบาก พวกทําไปกะเอาใจนายรับรู้ไว้ด้วย อย่าขยันแต่โง่” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “5555 ว้ายยยย”

5. วันที่ 18 ม.ค. 2564 แชร์โพสต์จากเพจ ‘ราษฎร’ ซึ่งมีเนื้อหาตั้งคำถามถึงเหตุผลในการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างล่าช้าของรัฐบาล และการให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผูกขาดการผลิตวัคซีนเพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยจำเลยไม่ได้พิมพ์ข้อความใดประกอบ

6. วันที่ 10 เม.ย. 2564 แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “เพื่อคนๆ เดียวมา 7 ปี ยอมล้มทั้งกระบวนการนิติบัญญัติ ล้มกระบวนการยุติธรรม ล้มแม้กระทั่งหลักการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ จนประเทศล้มเหลวขนาดนี้ นับมาสิบห้าปี ประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้าง นอกจากพอร์ทของเจ้าสัวใหญ่สิบห้าตระกูล ถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีสติในบ้านเมืองนี้หน่อยเถอะ ยอมไปได้ไง”  โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “ฆ่าคนกว่าหกสิบล้าน เพื่อคนๆ เดียว แปลว่าถ้าคนๆ เดียวตาย มันอาจจะดีขึ้นไหมนะ” 

อนึ่ง เหตุตามฟ้องทั้ง 6 กรณีข้างต้น ผู้กล่าวหาได้ใช้วิธีการแคป (Capture) ภาพหน้าจอมือถือ และนำไปแจ้งความดำเนินคดีกับภัคภิญญา โดยแต่ละโพสต์เป็นการโพสต์คนละวัน คนละเวลากัน แต่มีการนำโพสต์ทั้งหมดมาใส่ไว้ในกระดาษแผ่นเดียวเพื่อแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สื่อในลักษณะว่าข้อความทั้งหมดมีความเชื่อมโยงถึงกัน 

ภาพโดย iLaw

.

>> ฟ้องคดี ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ บรรณารักษ์ชาวกรุงเทพฯ ไกลถึงนราธิวาส เหตุแชร์ 6 โพสต์วิจารณ์การเมือง อัยการอ้างจำเลยเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงกษัตริย์  

.

ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์ชี้โพสต์เข้าข่าย ม.112 ทำให้ ร.10 เสื่อมเสีย ด้านจำเลยเปิดข้อต่อสู้ พยานหลักฐานโจทก์ขาดความน่าเชื่อถือ 

การสืบพยานในคดีของภัคภิญญา มีขึ้นเมื่อวันที่ 17-19 ส.ค. 2565 โดยศาลดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งสิ้น 5 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา พนักงานสอบสวน ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย ปลัดอำเภอ และประธานสภาทนายความจังหวัดนราธิวาส และสืบพยานจำเลยไปได้ทั้งสิ้น 2 ปาก ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 1 ปาก และผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อีก 1 ปาก 

ทั้งนี้ พยานโจทก์เป็นชุดเดียวกับที่เข้าเบิกความเป็นพยานในคดีมาตรา 112 ที่มี “วารี” เป็นจำเลย รวมทั้งบางปากก็เป็นพยานในคดีของ “อุดม” ด้วย ซึ่งทั้งสองคดีมีพสิษฐ์เป็นผู้แจ้งความเช่นเดียวกัน

ภาพรวมของการสืบพยานโจทก์ พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า โพสต์และข้อความที่เขียนประกอบตามฟ้องนั้นมีการใส่ร้ายใส่ความกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมเสีย บางโพสต์แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่พยานบางปากก็เห็นว่า เพียงบางโพสต์เท่านั้นที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์เหล่านี้ตอบทนายจำเลยว่า ในบางโพสต์ไม่ได้ระบุถึง ร.10 พยานอาศัยการตีความเอง และบางโพสต์เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ หรือรัฐบาลเท่านั้น

ด้านข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยคือ โพสต์เฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหาแคปหน้าจอและพิมพ์ออกมาก่อนนำมาแจ้งความร้องทุกข์นั้นขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากผ่านการตัดต่อ แก้ไข และเปลี่ยนแปลงข้อมูลมาแล้ว รวมถึงชี้ให้เห็นว่า มีการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยสถิติการดำเนินคดีสัมพันธ์ไปกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ

.

ผู้กล่าวหายันแจ้งความในนามส่วนตัว ไม่ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ โดยการแคปโพสต์จากหน้าจอโทรศัพท์ ไม่ได้สั่งปรินท์จากเฟซบุ๊ก

พยานโจทก์ปากแรกคือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ซึ่งประกอบอาชีพครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ อยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2564 เวลากลางคืน พยานได้ใช้เฟซบุ๊กอ่านข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองจากโทรศัพท์ของตนเอง จากนั้นก็อ่านข่าวสารของเพจศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกลั่นแกล้งทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เจอคอมเมนต์จากเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งมีวิวาทะกับ แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธาน ศชอ. ก่อนจะกดเข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และเห็นโพสต์ที่สื่อความหมายถึงกษัตริย์ดังนี้

โพสต์ที่ 1 – พสิษฐ์อ้างคำว่า ‘ดินแดนแห่งการประนีประนอม’ เป็นคำที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศรายหนึ่ง ว่า We love them all the same. Thailand is the Land of Compromise. เมื่ออ่านแล้วเข้าใจได้ว่าโพสต์ดังกล่าวเจตนาสื่อว่า คำพูดของในหลวง ร.10 เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 

โพสต์ที่ 2 – พสิษฐ์เห็นว่า โพสต์นี้สื่อความหมายว่า ในหลวงสั่งตำรวจสลายการชุมนุมและสั่งผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองให้เอาม็อบชนม็อบ ซึ่งในความเป็นจริง การรักษาความสงบเป็นหน้าที่ของตำรวจและพื้นที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอยู่แล้วเพื่อการควบคุมโควิด ไม่เกี่ยวกับในหลวง ร.10 

โพสต์ที่ 3 -พสิษฐ์เบิกความว่า สนามหลวงเป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญต่างๆ เป็นที่จัดงานพระราชพิธีของกษัตริย์ เช่น การสวรรคตของในหลวง ร.9, พิธีพืชมงคล คนทั่วไปอ่าโพสต์ก็เข้าใจได้เลยว่า เป็นการอาฆาตมาดร้าย และสื่อถึงในหลวง ร.10 พระราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ จะตีความเป็นคนอื่นไม่ได้

โพสต์ที่ 4 -พสิษฐ์เบิกความว่า ในช่วงดังกล่าวมีนักโทษที่หนีคดี 112 ไปที่กัมพูชาถูกอุ้มหาย ครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหายยังตามหาตัวกันอยู่ และเป็นประเด็นที่กลุ่มปฏิรูปสถาบันกษัตริย์รณรงค์เรื่องการอุ้มหาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่าใครอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการพูดลอยๆ ที่ไม่มีหลักฐาน บุคคลทั่วไปเห็นข้อความ จะทำให้คิดว่าในหลวง ร.10 เป็นผู้สั่งการได้ รวมถึงเป็นการล้อเลียนตำรวจหรือทหารที่ทำงานรักษาความปลอดภัยให้ในหลวง ร.10

โพสต์ที่ 5 และ 6 -พสิษฐ์เบิกความว่า โพสต์ทั้งสองทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดว่า ในหลวง ร.10 มีอำนาจในการสั่งการเรื่องวัคซีนและการจัดสรรวัคซีนเพราะพระองค์มีหุ้นในบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ แต่สยามไบโอไซเอนซ์เป็นบริษัทมหาชน การกระทำการใดๆ ต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้น มีขั้นตอนมากมาย บุคคลคนเดียวไม่มีอำนาจในการสั่งการได้ ข้อความทั้งสองจึงไม่เป็นความจริง 

ต่อมา พยานจึงได้รวบรวมเอกสารโดยการบันทึกภาพจากหน้าจอโทรศัพท์และข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าวให้ตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ในวันที่ 11 เม.ย. 2564 เพื่อให้ดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 โดยแจ้งความพร้อมกับกรณีอื่นๆ รวมทั้งหมด 9 ราย ระบุตัวตนได้ 3 ราย อีก 6 ราย ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และวันที่ 12 เม.ย. 2564 ได้ไปแจ้งความอีกครั้ง โดยแจ้งเพิ่มอีก 6 ราย

พยานไม่เคยเจอภัคภิญญามาก่อน แต่ยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่พยานไปแจ้งความ

ในช่วงถามค้านของทนายจำเลย  พสิษฐ์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า พยานไปแจ้งความคดีมาตรา 112 ในนามส่วนตัว โดยที่ไม่ได้สังกัดเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (คปส.) แต่อย่างใด แม้ในเอกสารที่นำไปแจ้งความจะระบุว่า พยานเป็นสมาชิกของเครือข่ายดังกล่าว พยานไม่ทราบว่า คปส.จะมีสมาชิกกี่คน ใครเป็นแกนนำ รวมถึงไม่ทราบว่า คปส.มีวัตถุประสงค์ดำเนินคดีประชาชนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทราบเพียงว่า สมาชิก คปส. ไปดำเนินการแจ้งความคดีมาตรา 112 ในจังหวัดต่างๆ แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าแจ้งที่ใดบ้าง

พสิษฐ์ทราบว่า มาตรา 112 ไม่ได้บังคับใช้ในระหว่างปี 2560-2563 และทราบจากข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 ว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับรวมทั้ง 112 เพื่อจะเอาผิดกับผู้ชุมนุม

ทนายจำเลยถามว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ทำให้พยาน, กลุ่ม ศชอ. และ คปส. ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีประชาชนฐานดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ทั่วประเทศใช่หรือไม่ พสิษฐ์ตอบเพียงว่า พยานเห็นข้อความเท็จในโซเชียลทุกวัน มองว่าไม่เหมาะสม จึงได้ศึกษา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งปรึกษารุ่นพี่ที่เรียนกฎหมายว่า ข้อความไหนเข้าเกณฑ์   

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 1 ตามฟ้อง – พสิษฐ์ตอบทนายจำเลยว่า ทราบว่าตำรวจสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่ไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวม็อบเสื้อเหลืองเข้าไปชุมนุมได้ และปะทะกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยพสิษฐ์รับว่า ไม่ทราบว่าข้อความที่มีการแชร์มาจากเพจเยาวชนปลดแอกนั้นเป็นการเปรียบเทียบกับผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง แต่ไม่ออกความเห็นว่า พระราชดำรัสของ ร.10 ที่ว่า “ดินแดนแห่งการประนีประนอม” ประชาชนทั่วไปสามารถหยิบยกมาอ้างได้หรือไม่ และการที่ตำรวจสลายม็อบราษฎรแต่ม็อบเสื้อเหลืองชุมนุมได้ แสดงว่าประเทศไทยไม่ใช่ดินแดนประนีประนอมตามพระราชดำรัสหรือไม่

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 2 ตามฟ้อง – ทนายจำเลยชี้ให้เห็นว่าที่พยานเบิกความโจทก์ว่า ข้อความในโพสต์ที่ 1 และโพสต์ที่ 2 มีความสัมพันธ์กันนั้น ที่จริงเพจเยาวชนปลดแอกและคนไทยยูเคโพสต์คนละวันกัน และเนื้อหาไม่ได้เชื่อมโยงกัน  

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 3 ตามฟ้อง – โพสต์ไม่ได้เอ่ยชื่อผู้ใด เป็นการตีความของผู้อ่านแต่ละคนเอง พสิษฐ์ระบุว่า ตนไม่ทราบว่า ช่วงเวลาที่มีการโพสต์ ร.10 และพระราชินีไม่ได้เจ็บป่วย นอกจากนี้พสิษฐ์รับว่า ไม่ได้แจ้งความต่อผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กซึ่งเป็นต้นโพสต์ดังกล่าว 

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 4 ตามฟ้อง – พสิษฐ์ทราบว่า หลังการรัฐประหาร 2557 มีคนที่ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้านถูกอุ้มหาย แต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน และไม่ทราบว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ พสิษฐ์รับว่า การอุ้มหายผู้ลี้ภัยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และข้อความที่มีการแชร์มาจากเฟซบุ๊กของอานนท์เป็นการกล่าวถึงผู้ที่กระทำการอุ้มหายว่าจะทำให้ในหลวง ร.10 ลำบาก

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 5 ตามฟ้อง -ทนายจำเลยชี้ให้เห็นว่า โพสต์ดังกล่าวที่เป็นการแชร์มาจากเพจราษฎร เป็นการวิจารณ์รัฐบาลว่าจัดหาวัคซีนมาแจกจ่ายล่าช้า ข้อความที่ติดแฮชแท็กก็เป็นเพียงข้อความที่เกี่ยวกับวัคซีนเท่านั้น แต่พสิษฐ์อ้างว่า ตีความได้ 2 แบบ มีการจงใจใช้คำราชาศัพท์เพื่อสื่อว่า รอวัคซีนจากพระองค์ท่านหรือเปล่า 

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 6 ตามฟ้อง – พสิษฐ์รับว่า โพสต์ดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อในหลวง ร.10 และพระราชินี และกล่าวถึงผู้นำรัฐประหาร 2557 ซึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนคำว่า ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ สื่อถึงรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ทั้งนี้ พยานก็ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวด้วย 

พสิษฐ์รับว่า เอกสารที่นำไปแจ้งความมาจากการแคปภาพจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้สั่งพิมพ์จากหน้าเฟซบุ๊ก จึงไม่มี URL (Universal Resource Locator) ของแต่ละโพสต์ ทั้งยังมีการเอาไฟล์รูปภาพที่แคปโพสต์ดังกล่าวจากโทรศัพท์ลงคอมพิวเตอร์ ปรับขนาด จัดเรียงในโปรแกรม Word และพิมพ์ออกมา 

.

ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยชี้มีเพียงบางโพสต์ที่ใส่ร้าย ร.10 แม้ไม่มีการระบุชื่อบุคคลใด พยานอาศัยการตีความ    

พยานโจทก์ปากที่ 2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันชัย แก้วหนูนวล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเบิกความว่า เมื่อประมาณตุลาคม 2564 รองอธิการบดีโทรศัพท์มาหาแจ้งว่า มีผู้มาขอคำปรึกษาด้านภาษาไทย ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.สุไหงโก-ลก โดยตำรวจให้พยานดูข้อความและสอบถามความหมายและความเข้าใจ

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 1 ตามฟ้อง – โพสต์อ้างว่าในหลวง ร.10 มีส่วนรู้เห็นในการสลายการชุมนุมของตำรวจ มีการยกพระราชดำรัสในหลวงที่ให้สัมภาษณ์สื่อมาด้วย เมื่ออ่านทั้งหมดแล้วสื่อความหมายว่า ในหลวง ร.10 พูดไม่จริง ไม่น่าเชื่อถือ

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 2 ตามฟ้อง – วันชัยเห็นว่า เป็นการใส่ร้ายและกล่าวหาให้ในหลวง ร. 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยนำพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งโดยปกติพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 3 ตามฟ้อง – พยานเห็นว่า สนามหลวงใช้ในพิธีกรรมเผาศพของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ สามัญชนจะเผาศพที่นั่นไม่ได้ ดังนั้นจึงถือเป็นการสาปแช่งให้สิ้นพระชนม์

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 4 ตามฟ้อง – พยานเห็นว่า เป็นการตำหนิติเตียนผู้กระทำการอุ้มหาย ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดในหลวง ร.10 ซึ่งเมื่อไปกระทำการอุ้มหายพลอยทำให้ในหลวง ร. 10 มีความผิดหรือเสื่อมเสียไปด้วย 

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 5 ตามฟ้อง – พยานเห็นว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการตั้งคำถามรัฐบาล ว่าให้คนไทยรอวัคซีนนานแค่ไหน ทั้งที่ประเทศอื่นได้วัคซีนไปแล้ว หากตีความประกอบกับภาพ จะสื่อได้ว่า รัฐบาลรอให้กษัตริย์ประทับตราอนุมัติ ส่วนสยามไบโอไซเอนซ์คือชื่อบริษัทหนึ่งที่นำเข้าหรือผลิตวัคซีน โดยพยานไม่ทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวอย่างไร 

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 6 ตามฟ้อง – พยานเห็นว่า หมายถึงผู้นำในการบริหารประเทศ คือนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว

ในช่วงทนายจำเลยถามค้าน วันชัยเบิกความตอบว่า หลักการในการตีความ ดูที่ความหมายโดยตรงหรือโดยนัยของคำ บางคำต้องดูคำแวดล้อม ภาพประกอบ และประสบการณ์การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ช่วงเวลา และความรู้ของศาสตร์นั้น ๆ ด้วย 

วันชัยรับว่า ข้อความตามฟ้องไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลใด พยานตีความโดยการหาคำแวดล้อมที่เกี่ยวข้องมาประกอบกับความรู้ ประสบการณ์ และข่าวสารที่รับรู้มา โดยที่พยานไม่แน่ใจว่า มีการสลายการชุมนุมในช่วงเดียวกับที่มีการโพสต์ข้อความที่ 1 หรือไม่ ทั้งรับว่าคนทั่วไปสามารถนำถ้อยคำที่ ร.10 ทรงตรัสไว้ในการให้สัมภาษณ์สื่อมาใช้ได้ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่มีการโพสต์เกี่ยวกับสนามหลวง พยานรับว่าไม่มีข่าวว่าในหลวง ร.10 หรือพระราชินีทรงพระประชวร

.   

ปลัดอำเภอสุไหงโก-ลก ชี้โพสต์ทั้ง 6 หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่รับกับทนายจำเลยว่า บางโพสต์ไม่ได้ระบุถึง ร.10 – แค่วิจารณ์ตำรวจ-รัฐบาล 

พยานโจทก์ปากที่ 3 สุปราณี ใสบริสุทธิ์ ปลัดอำเภอสุไหงโก-ลก เบิกความว่า เมื่อประมาณตุลาคม 2564 พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก มาขอพบที่ที่ทำการปกครองอำเภอเพื่อขอความร่วมมือให้ไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 หลังจากนั้นพยานเดินทางไปที่ สภ.สุไหงโก-ลก พนักงานสอบสวนให้ดูเอกสาร เป็นภาพถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์ จากนั้นให้อ่านข้อความในภาพและถามความเห็น

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 1 ตามฟ้อง – สุปราณีเห็นว่า โพสต์นี้ให้ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 ว่า พูดไม่จริง ไม่ทำตามคำพูด อย่างไรก็ตาม สุปราณีรับกับทนายจำเลยว่า ตนไม่ทราบว่า เพจเยาวชนปลดแอกโพสต์ข้อความในวันที่มีการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาหรือไม่ ทั้งไม่ทราบว่า ในการชุมนุมครั้งนั้นเจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างม็อบเสื้อเหลืองกับม็อบกลุ่มราษฎร และประชาชนทั่วไปด่าตำรวจเรื่องการสลายการชุมนุมหรือไม่ สุดท้ายพยานรับว่า ข้อความทั้งหมดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 2 ตามฟ้อง – พยานอ่านแล้วเข้าใจว่า ในหลวง ร.10 สั่งให้มีการปะทะกับประชาชนที่ไปชุมนุม ซึ่งทำให้มองว่า ร.10 เป็นคนจิตใจโหดร้าย 

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 3 ตามฟ้อง – พยานเข้าใจว่า สนามหลวงใช้ในการทำพิธีพระราชทานเพลิงศพพระบรมวงศ์ชั้นสูง โพสต์นี้จึงสื่อความหมายถึงการสาปแช่งให้กษัตริย์เสียชีวิต แต่เมื่อทนายจำเลยถาม พยานรับว่า ข้อความที่โพสต์และแชร์ไม่ได้ระบุชื่อ ร.10 และพยานไม่ทราบว่า ในช่วงเวลาที่โพสต์มีข่าวการประชวรของในหลวง ร.10 หรือพระราชินีหรือไม่

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 4 ตามฟ้อง – พยานอ้างว่า โพสต์มีการระบุชื่อในหลวง ร.10 ชัดเจน ถือเป็นการใส่ร้ายว่า พระองค์เกี่ยวข้องกับการที่บุคคลถูกอุ้มหาย ทำให้คนเห็นว่าพระองค์โหดร้าย แต่ต่อมา พยานตอบทนายจำเลยว่า ผู้โพสต์คือ อานนท์ นำภา ต้องการตำหนิผู้ที่กระทำการอุ้มหายว่าจะทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งพำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมันได้รับผลกระทบ

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 5 ตามฟ้อง – พยานเห็นว่า โพสต์นี้มีเจตนาสื่อว่า ต้องรอให้กษัตริย์อนุญาตก่อน ประชาชนจึงจะได้รับวัคซีน ซึ่งในความจริงกษัตริย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการวัคซีน โพสต์ดังกล่าวจึงทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย แต่เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความว่า ข้อความในโพสต์เป็นการตั้งคำถามเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่ล่วงเกินบุคคลอื่น

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 6 ตามฟ้อง -พยานเห็นว่า คำว่า ‘คน 60 ล้านคน’ คือ ประชาชนทั้งหมดของประเทศ ซึ่งมีผู้ปกครองคนเดียวคือกษัตริย์ โพสต์ดังกล่าวทำให้เข้าใจว่า ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนั้นกษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้อง ถือเป็นการกล่าวหา เนื่องจากในความเป็นจริงกษัตริย์ไม่มีส่วนในการบริหารประเทศ ต่อมา พยานรับกับทนายจำเลยว่า โพสต์ไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใด และรับว่า ข้อความสื่อถึง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีหน้าที่บริหารประเทศ บริหารคน 60 ล้านคน

.

ประธานสภาทนายความ จ.นราธิวาส ชี้ 4 โพสต์ไม่ได้ระบุถึงกษัตริย์ ไม่สามารถตีความว่าหมิ่นประมาท ร.10 ได้ 

พยานโจทก์ปากที่ 4 ประสิทธิ์ ศรีสืบ ประธานสภาทนายความจังหวัดนราธิวาส โดยพยานปากนี้เบิกความรับว่า ตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ได้ติดต่อมาขอให้มาเป็นพยานในคดีนี้ โดยเมื่อไปถึงสถานีตำรวจ พนักงานสอบสวนได้จัดทำคำให้การไว้เรียบร้อยแล้ว พยานได้ดูเอกสารแล้วเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิ์เห็นว่า มีเพียง 2 โพสต์ที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ คือโพสต์ ที่แชร์มาจากอานนท์ นำภา กล่าวถึงการอุ้มหาย และแชร์จากเพจ KTUK-คนไทยยูเค กล่าวถึงการเตรียมการสลายการชุมนุม เนื่องจากมีการระบุถึง ร.10 และข้อความเป็นการให้ร้ายว่า ในหลวง ร.10 เป็นคนใจร้าย เป็นคนไม่ดี ส่วนโพสต์อื่น ๆ พยานเห็นว่าไม่เข้าข่ายเป็นความผิด เนื่องจากไม่ได้ระบุถึงกษัตริย์ 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ประสิทธิ์เบิกความโดยสรุปว่า พยานไม่ทราบว่าเอกสารที่พนักงานสอบสวนให้ดูซึ่งมาจากการแคปหน้าจอโทรศัพท์นั้นจะผ่านการตัดต่อมาหรือไม่ และรับว่า โพสต์ที่อานนท์กล่าวถึงการอุ้มหายนั้น เป็นการตำหนิผู้ที่กระทำการอุ้มหาย โดยในหลวง ร.10 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ 

.

พนักงานสอบสวนระบุการตรวจสอบเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาเป็นของจำเลย แม้จะระบุ IP Address ไม่ได้ แต่รับไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของหลักฐาน  

พยานโจทก์ปากที่ 5 พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก เบิกความว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 ขณะพยานเป็นพนักงานสอบสวนเวร พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้มาแจ้งความดำเนินคดีภัคภิญญาในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยนำเอกสารที่เป็นภาพแคปหน้าจอเฟซบุ๊กมาส่ง โดยระบุว่าเขาได้เปิดเฟซบุ๊กส่วนตัว และพบเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความที่เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112 จึงแคปหน้าจอ นำภาพมาจัดวางและพิมพ์ออกมา 

พ.ต.ต.นที เบิกความว่า ตนได้จัดพิมพ์ทะเบียนราษฎร์ของภัคภิญญาให้พสิษฐ์ดูและยืนยัน จากนั้นพยานตรวจสอบเอกสารที่พสิษฐ์นำมาแจ้งความเห็นว่า บางข้อความมีลักษณะหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บางข้อความก็ไม่เข้าข่าย และหลังทำหนังสือไปที่ บก.ปอท. ขอให้ตรวจสอบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าว แล้วพบว่า น่าจะเป็นเฟซบุ๊กของจำเลย จึงได้ออกหมายเรียกจำเลยให้มาพบในวันที่ 15 ต.ค. 2564 ก่อนแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยจำเลยให้การปฏิเสธ

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีเบิกความว่า หนังสือแจ้งความที่พสิษฐ์ทำมาระบุว่า พสิษฐ์เป็นสมาชิกเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ โดยพสิษฐ์ได้นำพยานหลักฐานที่ทำขึ้นด้วยวิธีการแคปภาพหน้าจอ ทำให้ไม่ปรากฏ URL ของแต่ละโพสต์ พยานยอมรับว่า ตนเองในฐานะพนักงานสอบสวนไม่ได้ขอดูโทรศัพท์มือถือของพสิษฐ์ หรือไฟล์ภาพที่แคปมา รวมถึงไม่ได้ยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ของพสิษฐ์ไว้ตรวจสอบ ดังนั้น พยานจึงไม่ทราบว่า ข้อความที่พสิษฐ์นำมาแจ้งความจะตรงกับโพสต์ที่อยู่ในเฟซบุ๊กชื่อบัญชีที่ถูกกล่าวหรือไม่

นอกจากนี้ พยานรับกับทนายจำเลยอีกว่า จากการตรวจสอบไม่สามารถระบุ IP Address ที่ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาได้ ตรวจสอบจากยูทูบก็ไม่สามารถระบุตัวตนได้ อีกทั้งชื่อบัญชีเฟซบุ๊กอาจมีการซ้ำกันได้ และพยานไม่ทราบว่า บุคคลอื่นสามารถปลอมแปลงแก้ไขข้อมูลในเฟซบุ๊กได้หรือไม่  ทั้งนี้หลังจากออกหมายเรียก จำเลยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 

ที่สำคัญพนักงานสอบสวนตอบทนายจำเลยว่า โพสต์ที่พสิษฐ์แจ้งความมีเพียง 4 โพสต์ รวมทั้งตอบศาลว่า พยานมีความเห็นควรสั่งฟ้องจากการโพสต์ข้อความทั้งหมดรวมเป็น 1 กรรม แต่อัยการฟ้องแยกเป็น 6 กรรม 

.

ผู้จัดการ iLaw ชี้พยานหลักฐานในคดีนี้ไม่เพียงพอระบุได้ว่า เฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความตามฟ้องเป็นของใคร – มีการใช้ 112 กลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมืองจำนวนมาก

พยานจำเลยปากแรก ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความว่า พยานทำงานเกี่ยวกับการติดตามกระบวนการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตั้งแต่ 2552 ถึงปัจจุบัน 

นอกจากนี้พยานเคยทำวิจัยเรื่องผลกระทบจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งพบว่า กฎหมายดังกล่าวซึ่งออกมาเพื่อใช้ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กลับถูกนำมาใช้เกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคง

เกี่ยวกับการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ยิ่งชีพเบิกความ เพื่อให้พยานหลักฐานมีความน่าเชื่อถือจะต้องทำ 5 ขั้นตอน คือ

1. ระบุ URL (Universal Resource Locator) เพื่อจะได้ยืนยันว่าโพสต์ดังกล่าวนั้นมีอยู่จริง ซึ่ง URL จะปรากฏหากสั่งพิมพ์โพสต์ด้วยคอมพิวเตอร์ 

2. นำ URL ไปให้ผู้ให้บริการเพื่อขอ IP Address 

3. นำ IP Address ไปขอให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือตรวจสอบว่ามีผู้ใดใช้ IP Address ดังกล่าว 

4. ตรวจค้นผู้ต้องสงสัยและขอหมายศาลเพื่อค้นอุปกรณ์หาร่องรอยการใช้งานและค้นหาข้อความที่โพสต์ 

5. ตรวจ DNA เครื่องที่ตรวจยึดว่าใครเป็นผู้ใช้งาน

จากนั้นทนายจำเลยก็ให้พยานดูเอกสารที่พสิษฐ์นำมาแจ้งความ พยานให้ความเห็นว่า ภาพถ่ายโพสต์น่าจะมาจากการแคปภาพหน้าจอโทรศัพท์ นำมาตัดต่อ ทำกรอบ และจัดเรียงกัน ซึ่งไฟล์ภาพจากโทรศัพท์ดังกล่าวสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมได้ทั้งรูปภาพและข้อความโดยใช้โปรแกรม Photoshop และพยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะระบุได้ว่า เป็นบัญชีเฟซบุ๊กของใครเพราะไม่มี URL 

ยิ่งชีพเบิกความอีกว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง มีการกล่าวหาและสร้างความเดือดร้อนทางการเมืองกันโดยเฉพาะเรื่องสถาบันกษัตริย์ ใน 2 ลักษณะ คือ ตั้งใจกลั่นแกล้งกันโดยตรง และการกลั่นแกล้งผู้ต้องหาที่ไม่รู้จักกันให้ไปศาลในจังหวัดที่อยู่ห่างไกลซึ่งมีจำนวนมาก 

ยิ่งชีพยกตัวอย่างคดีที่เชียงรายซึ่งเกี่ยวกับการพิสูจน์ตัวตนทางเฟซบุ๊ก โดยศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษายกฟ้อง ให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอ และอัยการไม่อุทธรณ์ คดีสิ้นสุดแล้ว

ผู้จัดการ iLaw เบิกความอีกว่า การบังคับใช้มาตรา 112 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อปี  2553, 2557 และ 2564 มีการดำเนินคดีสูงกว่าปีอื่นๆ แต่ในช่วงระหว่างปี 2561-2562 มีไม่กี่คดี เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ พูดว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน 

จากการติดตามคดี 112 ยิ่งชีพยืนยันว่า โพสต์ตามฟ้องในคดีนี้ ซึ่งแชร์มาจากบัญชีเฟซบุ๊กอื่นนั้น ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นต้นโพสต์ไม่เคยถูกดำเนินคดีจากโพสต์มีการแชร์มานั้นเลย

.

ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ระบุ หลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ ผ่านการแก้ไข ตัดต่อ หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลมาแล้ว

พยานจำเลยปากที่ 2 ดลภาค สุวรรณปัญญา วิศวกรข้อมูลอาวุโส เบิกความว่า เคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ เช่น เขียนโปรแกรม ออกแบบเว็บไซต์ วิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

หลังจากพยานดูหลักฐานเอกสารที่โจทก์กล่าวหาจำเลยแล้ว มีความเห็นเช่นเดียวกับยิ่งชีพว่า เป็นภาพที่แคปมาจากโทรศัพท์มือถือ โดยบอกแหล่งที่มาไม่ได้ เนื่องจากไม่ปรากฏ URL และถูกแก้ไขมาแล้วโดยการปรับรูปภาพใส่กรอบ 

วิศวกรข้อมูลยืนยันว่า ข้อมูลในเฟซบุ๊คสามารถแก้ไขได้โดยใช้ Web Inspector ซึ่งคนทั่วไปทำในโทรศัพท์มือถือได้ ใช้เวลาเพียง 4-5 นาที หากแก้ไขแล้วแคปหน้าจอ ภาพจากการแคปก็นำไปแก้ไขตัดต่อได้โดยใช้โปรแกรมตัดต่อภาพซึ่งมีหลายโปรแกรม ทั้งในโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ 

พยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์สรุปว่า หลักฐานของโจทก์ที่ใช้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ ผ่านการแก้ไขตัดต่อ หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลมาแล้ว

ภาพก่อนแก้ไขด้วย Web Inspector
ภาพหลังแก้ไขด้วย Web Inspector

.

X