ท่ามกลางสถานการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและอีกหลายประเด็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เด็กและเยาวชนนับว่าเป็นตัวละครสำคัญยิ่งของแนวร่วมขับเคลื่อนสังคม ขณะเดียวกันพวกเขาก็ถูกกดปราบจากรัฐไม่ต่างจากนักเคลื่อนไหวรายอื่นที่มีอายุมากกว่า
ทั้งถูกติดตาม คุกคาม ดำเนินคดี ใช้ความรุนแรงขณะจับกุม-สลายการชุมนุม ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ ‘อนาคตของชาติ’ ต้องพบเจอ เพียงเพราะออกมาแสวงหาการเปลี่ยนแปลง ชีวิตที่ดี และความเป็นธรรม โดยไม่รีรอให้ ‘ผู้ใหญ่’ กำหนดทิศทางอีกต่อไป
เมล็ดพันธุ์พืชงอกงาม เอนหาแสงแดดฉันใด เยาวชนที่กำลังเติบใหญ่ย่อมแสวงหาความหวังในการมีชีวิตอยู่ฉันนั้น
‘เอีย’ วัย 13 ปี – หวังที่จะได้อยู่ในประเทศถูกปกครองด้วยประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
‘พิงค์’ วัย 13 ปี – หวังได้เห็นความเท่าเทียมในสังคม ปฏิรูประบบราชทัณฑ์ให้ทัดเทียมนานาประเทศ
‘อันนา’ วัย 16 ปี – หวังอยากให้นักเรียนมีสิทธิและเสรีภาพ ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น
‘แซน’ วัย 17 ปี – หวังถึงการเมืองของประเทศที่ดีกว่านี้ และรัฐมีสวัสดิการดูแลประชาชนในสังคม
‘มีมี่’ วัย 18 ปี – หวังอยากสร้างสังคมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
20 ก.ย. 2565 เนื่องใน ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ (National Youth Day) เราชวนย้อนอ่าน 5 เรื่องราวของ 5 เยาวชนไทย ในซีรีส์ชุด ‘Young มีหวัง’ แม้ว่าสังคมจะถูกความสิ้นหวังกลืนกินครั้งแล้วครั้งเล่า แต่พวกเขาก็ไม่เคยหมดหวัง ยังคงมุ่งหวังก่อก้อนอิฐแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างโลกใหม่ที่ดีอยู่เสมอ
‘เอีย’ วัย 13 ปี – เยาชนอายุน้อยที่สุด (12 ปี) ที่ถูกจับกุมจากเหตุชุมนุม หวังที่จะได้อยู่ในประเทศถูกปกครองด้วยประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
“เอีย” ที่มีภาพจำชอบทำท่าทางยียวน หน้าตากวนโอ๊ย โดยเฉพาะกับพี่ๆ ตำรวจ เด็กที่มีความคิดเกินวัย ผู้ก่อนนี้เคยสารภาพเต็มปากว่า “รักลุงตู่”
แต่หลังถูกจับพร้อมกับจักรยานคู่ใจและถูกดำเนินคดีแรกในชีวิตจากม็อบดินแดง – เห็นชาวทะลุแก๊สถูกเจ้าหน้าที่รัฐโต้ตอบด้วย ‘ความรุนแรง’ เกินเหตุสารพัด หลังจากนั้นเขาพยายามเรียนรู้และเข้าใจเรื่องการเมือง นั่งลงลองจดจ่อฟังปราศรัยในม็อบครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อหวังเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น
ตอนนี้เอียออกปากว่าในวัย 13 ปี เขาเห็นด้วยกับการ “ให้นายกฯ ลาออก” รวมถึงเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวที่แม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังสองจิตสองใจว่าจะเอายังไงดีอย่าง “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”
‘พิงค์’ วัย 13 ปี – เยาวชนผู้มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ ‘บุคคลเฝ้าระวัง’ เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หวังสร้างความเท่าเทียมในสังคม
“พิงค์” เด็กหญิงวัย 13 ปี นักกิจกรรมผู้ขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองอันแหลมคมที่เด็กที่สุด ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองอันครุกรุ่น พิงค์ถูกติดตามและคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นเวลานานหลายต่อหลายครั้ง
‘คนเท่ากัน’ คือประเด็นเรื่องที่เธอเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้นจริงๆ ในสังคมไทย และคือแนวคิดสำคัญที่ทำให้เธอเลือกแสดงออกในระหว่างที่มีขบวนเสด็จ
‘อันนา’ วัย 16 ปี – ‘นักเรียนเลว’ ผู้หวังสร้างความตระหนักรู้ทางสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนไทย
ความตั้งใจสูงสุดของเธอและกลุ่มนักเรียนเลว คือ อยากจะช่วยเหลือนักเรียนไทยให้มีสิทธิและเสรีภาพอย่าง ‘เท่าเทียม’ อาทิเช่น เรื่องการแต่งกาย กฎระเบียบทรงผม ปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนปัญหาการคุกคามนักเรียนที่แสดงออกทางการเมือง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้
เธอมองว่าในปัจจุบัน นักเรียนไทยไม่ได้ถูกมองเป็นประชาชนทั่วๆ ไปคนหนึ่งในสังคม ผู้ใหญ่ยังมองพวกเขาว่าเป็นแค่ ‘เด็ก’ ที่ไม่ได้มีสิทธิในการตัดสินใจเทียบเท่ากับกลุ่มคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งอันที่จริงเธอมองว่า ‘เด็ก’ ก็คือประชาชนธรรมดาคนหนึ่งในสังคมเฉกเช่นกับ ‘ผู้ใหญ่’ ทุกคนที่ควรได้รับสิทธิอย่างพลเมืองคนหนึ่ง
“แซน” วัย 17 ปี – นักเรียนผู้เริ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในอำเภอภูเขียว
“แซน” เป็นเด็กนักเรียนในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผู้เห็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่ในอำเภอมาตั้งแต่เกิด เห็นการเคลื่อนไหวของ “ไผ่ จตุภัทร์” ในช่วงการลงประชามติ 2559 เห็นปัญหาของการศึกษาในชีวิตนักเรียนจนไม่มีความสุขกับการเรียน ท่ามกลางการตื่นตัวทางการเมืองในปี 2563 เธอเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างอำเภอชุมแพ ก่อนจะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ กระทั่งเริ่มเข้าร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้าในกรุงเทพฯ และมีบทบาทในการขึ้นปราศรัยและเป็นพิธีกรในหลายเวที
สองปีเศษของการร่วมกิจกรรมทางการเมือง เธอถูกกล่าวหาดำเนินคดีไปแล้วถึง 11 คดี แทบทั้งหมดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับเป็นเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้
‘มีมี่’ วัย 18 ปี – นักกิจกรรมเฟมินิสต์ผู้หวังสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
“มีมี่” ณิชกานต์ เป็นเยาวชนนักกิจกรรมเฟมินิสต์วัย 18 ปี ผู้มุ่งมั่นทำงานในประเด็นเรื่องเพศสภาพ (Gender) และความหลากหลายทางเพศ เธอเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 63 ทดลองทำกิจกรรมในหลากหลายประเด็นก่อน กระทั่งทำให้ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมทางการเมืองไปแล้วรวม 6 คดี
ขณะเดียวกันเธอค่อยๆ ค้นพบตัวเองว่า “ใจฟู” กับการเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศนี้ นำไปสู่การลงสนามในการทำงานประเด็นนี้อย่างจริงจัง กระทั่งร่วมก่อตั้งกลุ่มชื่อเฟมฟู