วันที่ 23 ส.ค. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความเข้ายื่นประกันตัว “เจมส์ — ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี” จากกลุ่มทะลุฟ้า เป็นครั้งที่ 5 ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจาการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ก่อนศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
วานนี้ (22 ส.ค. 2565) ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ โดยมีคำสั่งให้เบิกตัวจำเลยทั้ง 7 รายที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาเข้าร่วมพิจารณาคดีด้วย ปรากฎว่าเจมส์มีภาวะเครียดและร้องไห้อยู่ตลอดในระหว่างพิจารณาคดี
สำหรับเจมส์ ตั้งแต่ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2565 เคยยื่นขอประกันไปแล้ว 4 ครั้ง และจำเลยแสดงเจตจำนงที่จะให้มีผู้กำกับดูแลพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ แต่ศาลยังคงมีคำสั่งในลักษณะเดิมเรื่อยมา ระบุว่า ศาลให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
อ่านคำสั่งไม่ให้ประกันครั้งที่ 4 >>> ไม่ให้ประกัน ‘เจมส์ ทะลุฟ้า’ ครั้งที่ 4 แม้จำเลยขอตั้งผู้กำกับดูแล พร้อมยอมรับทุกเงื่อนไขของศาล
.
พนักงานอัยการครอบครองพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว เจมส์เป็นเสาหลักของครอบครัว เสนอให้ตั้งผู้กำกับและยอมรับทุกเงื่อนไข
ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเจมส์ มีใจความสำคัญระบุไว้ ดังนี้
1. คดีนี้พยานหลักฐานทั้งหมดในคดีถูกรวบรวมและอยู่ในความครอบครองของพนักงานอัยการโจทก์แล้วทั้งสิ้น โดยศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ซึ่งพยานโจทก์ 12 อันดับเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนและฝ่ายสอบสวน จำเลยไม่มีอิทธิพลเหนือกว่าพยานเหล่านั้นได้หรือสามารถไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานเอกสารที่โจทก์นำส่งไม่สามารถยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องได้
ทั้งนี้ ศาลกำหนดให้มีการสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 2 พ.ค. 2566
2. ในคดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเดินทางไปรายงานตัวตามกำหนดทุกนัดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจึงถึงชั้นศาล เพื่อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของตนตามกระบวนการยุติธรรม
3. จำเลยยินยอมติดอุปกรณ์ EM เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และไม่มีเจตนาหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
4. ขอเสนอให้ศาลแต่งตั้งพี่สาวของจำเลย ซึ่งเป็นบุคคลที่จำเลยเคารพนับถือ ให้เป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดต่างๆ ของศาล
5. ในคดีนี้ จำเลยเป็นเพียงผู้ประกอบอาชีพรับจ้างอิสระ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น อีกทั้งจำเลยเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว มีภาระหน้าที่ต้องเลี้ยงดูแม่ที่อายุมากแล้ว การคุมขังจำเลยไว้ ทำให้ครอบครัวของจำเลยได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับจำเลยมีภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงสามารถติดตามตัวได้โดยง่าย
6. ในกรณีที่ศาลเชื่อว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จำเลยมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น ซึ่งคำว่า “ภยันตรายอื่น” ไม่สามารถคาดการณ์ได้และไม่ได้มีกำหนดนิยามไว้เฉพาะ หากศาลเกรงว่าจำเลยจะไปก่ออันตรายประการอื่น ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขใดก็ตามที่ศาลเห็นว่าจะทำให้จำเลยไม่ไปก่ออันตรายอื่น เพื่อให้จำเลยปฏิบัติตาม
7. ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีอื่นที่มีพฤติการณ์เช่นเดียวกับคดีนี้ ของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กับพวกรวม 4 คน โดยศาลได้กำหนดเงื่อนไขไว้ จำเลยจึงขอศาลกำหนดเงื่อนไขให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้สอดคล้องกับคดีนี้
.
ต่อมาเวลา 17.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเจมส์ โดยมีคำสั่งระบุว่า “พิเคราะห์แล้วศาลนี้เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุ เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยกคำร้อง”
อย่างไรก็ตาม แม่ของเจมส์เคยเปิดเผยความรู้สึกของครอบครัวต่อกระบวนการยุติธรรมไว้ว่า “เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องทำรุนแรงขนาดนี้กับลูกเรา คือเราเป็นแค่คนธรรมดา” ตลอดจนได้เรียกร้องต่อศาลว่าเธอและครอบครัวไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เพียงขอให้ลูกชายคนเล็กได้กลับบ้าน เนื่องจากเธอมีอายุมากแล้ว และมีเพียงแค่เจมส์เท่านั้นที่จะคอยดูแลเธอได้
“สิ่งที่อยากได้มากที่สุดตอนนี้ ไม่ขออะไรเลย อยากได้ลูกเรากลับบ้าน แม่เหนื่อยและอายุเยอะแล้ว”
.
นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2565 จนถึงวันนี้ (23 ส.ค. 2565) เจมส์และเพื่อนทะลุฟ้าทั้ง 7 คน ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป รวมเป็นระยะเวลาเข้าสู่วันที่ 36 แล้ว หากไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งหมดจะต้องถูกคุมขังรอการสืบพยานต่อไป ซึ่งมีกำหนดในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2566 และต้องเตรียมการต่อสู้คดีต่างๆ จากในเรือนจำ
.
ย้อนอ่านเรื่องราวของครอบครัวเจมส์ ศักดิ์สิทธิ์
วันแม่ของครอบครัว ‘เจมส์ ทะลุฟ้า’ : สิ่งที่อยากได้มากที่สุดตอนนี้ คือขอลูกแม่กลับบ้าน