วันแม่ของครอบครัว ‘เจมส์ ทะลุฟ้า’ : สิ่งที่อยากได้มากที่สุดตอนนี้ คือขอลูกแม่กลับบ้าน

“ลูกแม่จะได้ประกันตัวไหมคะ” เป็นประโยคแรกจากปลายสายโทรศัพท์ของหญิงคนหนึ่ง หลังจากที่เธอรู้ว่าเป็นสายโทรศัพท์มาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เธอบอกว่านับวันรอพบหน้าลูกอยู่ นี่ก็ใกล้จะครบ 1 เดือนแล้ว

“อยากให้ช่วยอะไร บอกได้เลยนะคะ เพื่อลูก แม่พร้อมจะทำทุกอย่าง” เธอเอ่ยออกมาอย่างตื่นเต้นและร้อนรน หลังจากที่รู้ว่าจะต้องเล่าเรื่องราวลูกชายคนเล็กของบ้านอย่าง “เจมส์” — ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี จากกลุ่มทะลุฟ้า แม่บอกว่าหากต้องให้เดินทางไปที่ไหนเพื่อพูดคุยเรื่องของลูก เธอก็ยินดีที่จะไปได้เลย ณ ตอนนั้น

เป็นอีกปีที่ 12 สิงหาคม หรือ “วันแม่แห่งชาติ” ได้วนกลับมาบนหน้าปฏิทินอีกครั้ง แต่มีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้กลับคืนสู่อ้อมกอดของแม่ในวันนี้ ‘เจมส์ ทะลุฟ้า’ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้น ที่วันนี้จะไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับแม่ของเขาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี 

เจมส์ ศักดิ์สิทธิ์ ถูกคุมขังพร้อมกับเพื่อนทะลุฟ้าทั้งหมด 7 คน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565

เนื่องจากถูกฟ้องกรณีร่วมกิจกรรมสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 และศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเขาจนถึงวันนี้

.

ทำความรู้จัก “เจมส์ ศักดิ์สิทธิ์” ลูกชายคนเล็กของบ้าน

เจมส์ในวัย 27 ปี เป็นลูกชายคนเล็กของบ้าน จากพี่น้องรวมทั้งหมด 3 คน โดยที่พ่อเสียชีวิตไปแล้ว ขณะที่พี่อีกสองคนก็เติบโตไปมีครอบครัวของตนเอง ทำให้เจมส์อาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคน และเป็นกำลังหลักในการดูแลแม่

เจมส์เรียนยังไม่จบมัธยมปลาย ก็ออกมาทำงานช่วยแม่ เป็นพนักงานส่งเอกสาร ทั้งเคยดิ้นรนไปเป็นเด็กเสิร์ฟ และล่าสุดทำงานเป็นช่างไฟฟ้า ในกองถ่ายของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ก็จ้างงานก็เป็นลักษณะฟรีแลนซ์ ไม่ใช่ลักษณะงานประจำ

“นิสัยของเจมส์ เขาเป็นคนตรงๆ ชอบบอกชอบ ไม่ชอบก็แสดงบอกเลย หรือผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็คือถูก แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่รับฟังอะไรเลยนะคะ เขารับฟังถ้าเราพูดด้วยเหตุผล” แม่บอก พลางนึกย้อนถึงลูกชายตอนที่ยังอยู่ข้างนอก และจุดเปลี่ยนของ ‘เจมส์ ศักดิ์สิทธิ์’ มาเป็น ‘เจมส์ ทะลุฟ้า’

“เขาสนใจการเมือง อาจเป็นเพราะแม่ด้วยมั้งคะ แม่เป็นคนไม่ชอบที่เห็นคนทำร้ายเด็ก แล้วในช่วงนั้นผลกระทบจากเศรษฐกิจมันเยอะจริงๆ วัคซีนก็ไม่มี โควิดก็มา แล้วแม่ทำงานคนเดียว ลูกๆ ก็ทำงานฟรีแลนซ์กันหมด” เธอกล่าวถึงในช่วงปี 2563-64 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จนทำให้ครอบครัวอับจนหนทาง เธอบอกเลยว่าครอบครัวของเธอในตอนนั้นตกงานกันยกบ้าน

“แม่เป็นแค่แมสเซนเจอร์ พนักงานวิ่งเอกสาร พอเจมส์เห็นแม่ลำบาก เขาก็เลยออกไปเรียกร้องกับรัฐบาล” แม่เล่าว่าการเคลื่อนไหวของเจมส์ก็เป็นเฉกเช่นคนธรรมดาสามัญ ที่พอเกิดปัญหาเกิดความทุกข์ยากเพราะการบริหารที่ย่ำแย่ของรัฐบาล ก็ไม่มีช่องทางเรียกร้องมากนัก จึงต้องออกไปลงถนนกัน 

“เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องทำรุนแรงขนาดนี้กับลูกเรา คือเราเป็นแค่คนธรรมดา เรามาใช้สิทธิของเราไม่ได้เลยเหรอ?” น้ำเสียของแม่เริ่มสั่นคลอ

“เจมส์รู้นะคะ เรื่องการเรียกร้องอะไรแบบนี้ คือความตั้งใจเขาขอแค่ได้เปลี่ยน ได้ให้ประเทศมันเปิด ให้ครอบครัวเราสามารถทำมาหากินได้ เขาถึงออกไปร่วมชุมนุมแล้วมีคดีอะไรติดตัวกลับมา แต่เขาก็ไปขึ้นศาลตลอด ไม่เคยปฏิเสธ ยอมรับการกระทำของตัวเอง แต่ครั้งล่าสุดที่ไม่ได้ประกัน มันเป็นอะไรที่แม่เสียใจมาก เจมส์ไม่ได้ออกไปชุมนุมที่ไหนมาเป็นปีแล้วด้วยซ้ำ”

“บางทีแม่ก็คิดนะ ที่เป็นแบบนี้เพราะแม่หรือเปล่า” เธอพูดราวกับโทษตัวเองที่มีความคิดอยากเป็นกำลังช่วยเหลือบรรดานักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องกับรัฐบาลในตอนนั้น 

“พอประเทศเริ่มเปิด เจมส์ก็เลิกเลย ไม่ได้ไปม็อบอีก เรากลับมาช่วยกันทำมาหากิน แยกย้ายกันทำงาน เพราะเขารู้ว่าแม่ลำบากมาก” พิษร้ายของโควิดและการบริหารงานของรัฐบาลส่งผลให้ผู้หญิงคนนี้ต้องติดหนี้สินรุงรัง 

แม่บอกว่าเงินเดือน 12,000 บาท ของเธอที่ได้รับเพียงน้อยนิด และไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนนั้น ถูกกดลงให้ต่ำลงไปอีก เพราะสภาวะบ้านเมืองที่เลวร้าย ขณะที่ยังมีภาระต้องผ่อนบ้านเช่าและรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในการทำมาหากิน ยังไม่นับค่าน้ำค่าไฟ ทั้งเมื่อไม่มีเจมส์ ชีวิตอาจแทบไม่มีจะกิน

“เงินเดือนแม่ตอนนี้ 9,000 บาท งานพิเศษที่เคยไปวิ่งก็แทบไม่มีแล้ว ทุกวันนี้ฝนตก แดดร้อน แม่ก็ต้องไป”

เมื่อถามว่าแม่รู้จัก “ทะลุฟ้า” ได้อย่างไร เธอจึงอธิบายว่าเจมส์ได้เจอกับ ‘ไผ่ — จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ ในม็อบครั้งหนึ่งที่ห้าแยกลาดพร้าวเมื่อปี 2563 เจมส์ชื่นชมในตัวของไผ่ เพราะกิจกรรมของเขาบันดาลใจคน เลยทำให้เจมส์ตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้า 

“เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง เพื่อให้ประเทศนี้มันอยู่ถูกที่ถูกทางเสียที”

“ตอนนี้เหมือนกับฟ้ากลั่นแกล้ง เราอยู่กันสองคนแม่ลูก เครียดที่สุดคือ วันนี้เราจะกินอะไรกันดี วันนี้ลูกจะกินอะไร” แม่บอกเช่นนั้น เมื่อตื่นมาแล้วพบว่าตัวเองต้องอยู่ในบ้านคนเดียวและไม่มีเจมส์อีกแล้ว

ปกติตื่นเช้าขึ้นมาครอบครัวเธอก็แยกย้ายกันออกไปทำงาน ตกเย็นก็กลับบ้านมา ได้เจอหน้ากัน “เจมส์ทำงานเหนื่อยมาก เพราะมันเป็นงานฟรีแลนซ์ตามกองถ่าย เขาเป็นคนขยัน ทำงานดี ใครๆ ก็อยากได้เขาไปร่วมทีม” น้ำเสียงเธอดูดีขึ้น ในขณะที่พูดถึงเรื่องราวดีๆ จากคนอื่นที่ชื่นชมลูกชายของเธอ

“แต่แม่ก็อดห่วงเขาไมไ่ด้ แม่เคยบอกว่า เจมส์ ลูกต้องหยุดนะ ลูกทำงานตีสองตีสาม วันรุ่งขึ้นลูกต้องหยุด แต่เขาก็บอกกับเราว่าเลิกไม่ได้” 

“ศาลไม่ให้ประกันลูกเราครั้งที่ 1 เรายังมีความหวัง พอครั้งที่ 2 ไม่ได้ ครั้งที่ 3 ไม่ได้ แม่ก็อดคิดไม่ได้เลยว่าลูกแม่ทำผิดอะไรนักหนาเหรอ”

อ่านคำสั่งไม่ให้ประกันเจมส์ – คิม ครั้งที่ 3 >>> ศาลยังไม่ให้ประกัน “เจมส์-คิม” ทะลุฟ้า ครั้งที่ 3 ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

.

ทุกวิถีทางของคนเป็นแม่ ขอแค่ให้ได้เจอหน้าลูก

“ตอนที่เพื่อนๆ ทะลุฟ้า มาบอกว่าเจมส์ไม่ได้ประกัน แม่รู้สึกช็อกมาก เราพยายามตั้งสติ พยายามพูดคุยกับทนาย มันทำอะไรไม่ได้เลยตอนนั้น ไปหาเขาที่เรือนจำ เขาก็ไม่อนุญาตให้เราเข้า เพราะอยู่ในช่วงกักตัว มันปวดหัวใจมากนะคะ” แม่บอกว่าเธอพบเจอกับความยุ่งยากของระบบอย่างไม่หยุดหย่อน จนรู้สึกเหมือนไม่สามารถช่วยเหลือลูกชายตัวเองได้เลย 

“ตอนนั้นเหมือนอยู่แดนกักตัว ขอเยี่ยมก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ทำได้แค่ซื้อของฝากเข้าไป ทำได้แค่นั้นจริงๆ แล้วเพื่อนๆ ทะลุฟ้าก็ติดต่อมาหาแม่ ทุกคนพยายามช่วยแม่มาก ทำให้แม่ไม่ว้าเหว่เลย” แม่เล่าว่า เพื่อนกลุ่มทะลุฟ้าคอยช่วยเป็นธุระให้ในเรื่องการเยี่ยม ทำให้วันที่ 11 ส.ค. 2565 เธอได้พบหน้าเจมส์ผ่านการเยี่ยมทางไลน์เป็นครั้งแรก นับจากเขาถูกคุมขัง

“แม่พยายามศึกษามาให้หมด แม่เข้าไปอ่านกฎระเบียบราชทัณฑ์ เขาบอกว่าจดหมายนี่จะส่งถึงมือลูกเราได้ในทุกวันศุกร์ แต่ถ้าเราฝากทนายไป ทนายจะอ่านให้เขาฟังได้เลย” 

เมื่อถามถึงความกังวลในการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำของเจมส์ แม่บอกว่าเธอมีความกังวลมาก เนื่องจากลูกชายเป็นคนที่มีปัญหาทางปอด “เขาเป็นคนรักสะอาด เจ้าระเบียบ และเซนซิทีฟมาก ถ้าเขาเป็นหวัดนิดๆ หน่อยๆ ก็จะไอหนักกว่าคนทั่วๆ ไป เลยเป็นห่วงลูกมากว่าจะกินจะอยู่ยังไงในนั้น”

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม เจมส์ ทะลุฟ้า >>> บันทึกเยี่ยมทะลุฟ้าทั้ง 5: ฝากส่งแรงใจและกำลังใจให้คนข้างนอก ขอให้รู้ว่าทุกวันนี้ยังสู้อยู่ข้างใน 

“รู้ไหมคะ หนึ่งเดือนที่เจมส์ห่างแม่ไป แม่ยังไม่เคยได้คุยกับลูกสักคำเลย ไม่เคยเลย ไม่แม้แต่จะได้เจอหน้า มันเป็นความรู้สึกที่แย่มากสำหรับแม่คนหนึ่ง”

“ศาลไม่มีความยุติธรรมอยู่เลย ลูกเราไม่ได้ผิดอะไร เขาก็ออกมาทำงานไม่เคยได้กลับไปร่วมม็อบอีก ทำไมถึงไม่ได้ประกันคะ เราพร้อมที่จะทำตามที่ศาลต้องการ ขอแค่ให้อนุญาตปล่อยลูกเรามาทำมาหากิน เราลำบาก”

“ศาลตัดสินลูกแม่เลวร้าย ลูกแม่ผิดอะไรหนักหนา” เธอร้องไห้หนักเมื่อพูดจนจบประโยค

แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป เธอยังมีหวังและรอว่าเจมส์จะได้ออกมาเร็วๆ นี้ และพร้อมที่บอกกับเขาว่าทุกคนยังยินดีที่จะโอบกอดเจมส์เหมือนเดิม “แม่ไม่ห่วงเรื่องงานของเขาเลย ทุกคนให้กำลังใจ ทุกคนบอกว่านี่คือการเมือง ไว้เจมส์กลับมาเมื่อไหร่ ทุกคนก็พร้อมจะให้งานเขาทำเหมือนเดิม ไม่มีใครคิดเลยว่าเขาเป็นคนเลวร้าย” แม่พูดราวกับตอกย้ำและยืนยันถึงตัวตนของลูกชายว่า ไม่ใช่คนคิดอาฆาตมาดร้ายใคร

“สิ่งที่อยากได้มากที่สุดตอนนี้ ไม่ขออะไรเลย  อยากได้ลูกเรากลับบ้าน แม่เหนื่อยและอายุเยอะแล้ว”

ทั้งนี้ แม่ได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “อยากให้กำลังใจทุกคนที่อยู่ในนั้น ลูกไม่ได้ทำผิดอะไร ไม่ได้เป็นคนเลว ไม่ได้เป็นคนร้ายค้ายา ไม่ได้ฆ่าคนตาย  ลูกแค่ผิดที่เรียกร้องต่อรัฐบาล สงสารเด็กทุกคนมาก เขามีสิทธิที่จะทำการเรียกร้อง แต่เขาต้องมาลำบากเพราะอำนาจของผู้ใหญ่ มันทำให้แม่ทุกคนปวดใจมาก”

“เรารู้เลยว่าลูกทุกคนที่โดนขังอยู่ตอนนี้ พ่อกับแม่ของเขาก็คงจะรู้สึกแบบเดียวกับแม่คนนี้เหมือนกัน”

.

** หลังจากการพูดคุย แม่ของเจมส์ยังเขียนบอกเล่าเรื่องราวของเธอและลูกชายในแบบของเธอเอง มาให้ทุก คนได้รับฟัง **

X