นัดตรวจพยานคดี ‘10 ทะลุฟ้า’ สาดสีหน้าพรรรค ปชป. จำเลยแถลงต่อสู้ว่าใช้เสรีภาพในการชุมนุม-ไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายใคร

วันที่ 22 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า 10 คน ประกอบไปด้วย “ป่าน” กตัญญู หมื่นคำเรือง, “คิม” ทศม สมจิตร์, “เจมส์” ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี, “คาริม” จิตริน พลาก้านตง, “ทู” กฤษณะ มาตย์วิเศษ, “อาทิตย์” ทวี เที่ยงวิเศษ, ชาติชาย ไพรลิน, “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม และ “บอมเบย์” เจษฎาภรณ์ โพธิ์เพชร หลังถูกฟ้องจากกรณีทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 

สำหรับคดีนี้มี ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้กล่าวหา โดยกล่าวหาทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216, ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358, ข้อหาบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตามมาตรา 362 ประกอบมาตรา 365, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีนี้หลังอัยการสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวเฉพาะทรงพล, เจษฎาภรณ์ และนวพล ขณะอีก 7 คน ไมไ่ด้รับการประกันตัวมาจนถึงปัจจุบัน

.

อัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอให้รวมสำนวนคดีของ ‘ไดโน่ นวพล’ กับจำเลยอีก 9 คน ก่อนจำเลยทั้งหมดปฏิเสธพยานหลักฐานของโจทก์

วันนี้ 22 ส.ค.2565 เวลา 09.30 น. บรรยากาศหน้าห้องพิจารณาคดี 908 เต็มไปด้วยความคึกคักของประชาชนและญาติที่เดินทางมาเข้าร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจจำเลยทั้ง 10 ราย

อีกทั้ง ในวันนี้ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ตลอดจนนักกิจกรรม อาทิเช่น บุ้ง – ใบปอ, ไผ่ จตุภัทร์ และตะวัน ทานตะวัน ซึ่งมีนัดในคดีอื่นที่ศาลเช่นกัน ได้เดินทางมาเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย 

เวลา 10.20 น. จำเลยที่ถูกคุมขังทั้ง 7 ราย ได้ถูกนำตัวเข้ามาที่ห้องพิจารณาคดี พร้อมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จำนวน 5 นาย ทั้งนี้ ญาติและประชาชนได้ผลัดกันเดินเข้าไปให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมทั้ง 7 ราย พร้อมทั้งพูดคุยถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ในเรือนจำ 

ต่อมา 10.30 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยอ่านคำร้องที่พนักงานอัยการโจทก์ยื่นขอรวมสำนวนคดีของนวพลกับจำเลยอีก 9 คน ซึ่งระบุว่าทั้งสองสำนวนกระทำผิดในเหตุเดียวกัน มีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน โดยในวันที่มีคำสั่งฟ้องคดี นวพลไม่สามารถเดินทางมาฟังคำสั่งได้ เนื่องจากติดเชื้อโควิด – 19 ทำให้อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปก่อนจำนวน 9 ราย

ศาลเห็นว่า ทั้งสองสำนวนเป็นคดีเดียวกัน ถ้ารวมการพิจารณาทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน จะเป็นการสะดวก รวดเร็ว จึงอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีได้

หลังจากนั้น ศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 10 รายฟัง ก่อนจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และไม่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาตามที่อัยการโจทก์ยื่นขอให้นับโทษต่อไว้ท้ายฟ้อง

.

จำเลยรับข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานบางส่วน ประสงค์ยื่นนักวิชาการด้านสันติวิธี-สื่อมวลชนเข้าเบิกความ ยันว่าไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้ใด

ในการตรวจพยานหลักฐาน อัยการโจทก์แถลงว่าจะนำสืบพยานรวม 12 ปาก แต่ถ้าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าพยานบุคคลที่เป็นผู้ตรวจพิสูจน์สีของกลางที่ได้ในที่เกิดเหตุ ซึ่งมีผลตรวจเป็นสีอะคริลิค ละลายน้ำได้ ตามพยานหลักฐานที่แนบมาในสำนวน และผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือในที่เกิดเหตุ ซึ่งผลตรวจไม่ตรงกับลายนิ้วมือของจำเลยทั้ง 10 ราย ก็จะสามารถตัดพยานได้ 3 ปาก  ฝ่ายจำเลยและทนายความได้ตกลงยอมรับข้อเท็จจริงตามที่อัยการแถลง ไม่ติดใจสืบพยานปากดังกล่าว

อัยการโจทก์จึงแถลงว่า คงเหลือพยานที่อัยการติดใจนำสืบ 9 ปาก และขอใช้เวลาสืบพยาน 3 นัด เมื่อศาลถามว่าพยานบุคคลดังกล่าวเป็นใครบ้าง อัยการแถลงว่าประกอบไปด้วย ผู้กล่าวหา, เจ้าหน้าที่พรรคประชาธิปัตย์ผู้เห็นเหตุการณ์, พนักงานรักษาความปลอดภัยของพรรค และตำรวจผู้ดูแลที่เกิดเหตุ และพนักงานสอบสวน เป็นต้น 

ส่วนฝ่ายจำเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า

“จำเลยทั้ง 10 รายในคดีนี้ ใช้เสรีภาพในการชุมนุม เป็นการแสดงออกโดยสันติวิธี และไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้ใดแต่อย่างใด จำเลยแต่ละคนไม่ได้วางแผนร่วมกันตามที่โจทก์กล่าวหา”

ทนายความ

จำเลยทั้งหมดประสงค์สืบพยานจำนวน 15 ปาก รวมระยะเวลาสืบพยาน 3 นัด ประกอบไปด้วย นักวิชาการด้านสันติวิธี ซึ่งจะมาเบิกความในส่วนของกรอบการเคลื่อนไหวและการชุมนุมแบบสันติวิธี, นักวิชาการทางการแพทย์ เบิกความในส่วนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุในคดีนี้ ซึ่งรวมทั้งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มจำเลย 

นอกจากนี้ จำเลยประสงค์จะนำพยานบุคคลที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มาเบิกความในส่วนการชุมนุมที่ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด – 19 ตลอดจนสื่อมวลชนที่อยู่ในวันเกิดเหตุ ซึ่งจะเบิกความเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ต่อมาเวลา 12.03 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี โดยเห็นสมควรให้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 2 – 3 พ.ค. และ 9 พ.ค. 2566 ส่วนนัดสืบพยานจำเลยเป็นวันที่ 10, 12 และ 30 พ.ค. 2566

หลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น ทนายได้ขอใช้เวลาพูดคุยเพื่อปรึกษาคดีกับจำเลยทั้ง 10 ราย เป็นระยะเวลา 20 นาที แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คัดค้านและบอกว่าเนื่องจากมีจำเลยบางส่วนที่ยังถูกคุมขังอยู่ในคดีนี้ ให้ทนายคุยกับจำเลยได้เพียง 10 นาทีเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ญาติของเจมส์ ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี หนึ่งในจำเลยที่ยังถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ ได้เปิดเผยหลังจากการพิจารณาคดีว่า ครอบครัวของตนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู่คดี แม้จะยื่นประกันตัวไปแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้งทนายความพยายามเรียบเรียงเนื้อหาต่างๆ เพื่อแจ้งเหตุจำเป็นในการขอประกันตัวและโต้แย้งคำสั่งของศาลที่ไม่ให้ประกันตัวก่อนหน้านี้ แต่เหมือนศาลไม่ได้มีความสนใจที่จะเปิดอ่านเนื้อหา ยังคงสั่งในลักษณะเดิมเรื่อยมา จึงอยากขอเรียกร้องให้ศาลทำตามหลักมนุษยธรรมบ้าง

ทั้งนี้ ทนายความเตรียมจะยื่นประกันตัวสมาชิกทะลุฟ้า 7 คน ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวอีกครั้งในอาทิตย์นี้ต่อไป

X