อัยการฟ้องนักกิจกรรมขอนแก่น ‘ต่อสู้ขัดขวาง-พยายามทำร้าย จพง.’ เหตุเข้าป้องกันผู้ชุมนุม หลังถูกรอง ผบช.ภ.4 แย่งไมค์

10 มิ.ย. 2565  “บอส” อิศเรษฐ์ เจริญคง นักกิจกรรม เดินทางไปที่ศาลแขวงขอนแก่น หลังจากพนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นนัดส่งฟ้องคดี ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุลมุนหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 ขณะ “ราษฎรขอนแก่น” จัดกิจกรรมรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น 

เวลา 14.00 น. เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเดินทางมายื่นฟ้องที่ศาลแล้ว บอสจึงถูกพาตัวไปที่ห้องควบคุมของศาลในระหว่างขอประกันตัว

สำหรับคำฟ้อง กิตติพันธ์ ธิติธนาทรัพย์ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น บรรยายว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 ขณะที่ พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์, พ.ต.ท.เมธี ศรีวันนา และ ด.ต.สุทธิลักษณ์ อันทนิล กับพวกเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย สืบเนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีและคณะได้ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยได้ประกาศแจ้งเตือนข้อกฎหมายให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบ และขอให้หยุดการใช้เครื่องขยายเสียง 

จำเลยซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ด้วยการใช้กำปั้นชกไปที่ พล.ต.ต.ไพศาล อย่างแรง 1 ครั้ง และชกไปที่ พ.ต.ท.เมธี ศรีวันนา อย่างแรง 1 ครั้ง ซึ่งจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายท จึงไม่ได้รับอันตรายแก่กายสมดังเจตนาของจำเลย และจำเลยยังได้ทำร้ายร่างกาย ด.ต.สุทธิลักษณ์ ด้วยการใช้มือกระชากหมวกกันน็อคตำรวจออกจากศีรษะของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ ด.ต.สุทธิลักษณ์ ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

สภาพของอิษเรษฐ์หลังเหตุชุลมุนในวันเกิดเหตุ

อัยการระบุว่า การกระทำของอิศเรษฐ์เป็นความผิดฐาน ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย, พยายามทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และใช้กําลังทประทุษร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, มาตรา 296 ประกอบมาตรา 289(2), 80 และมาตรา 391 ทั้งนี้ คดีมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากอัยการจะขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้แล้ว ยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้เรียงต่อกับโทษจำคุกของจำเลยในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของศาลนี้อีก 2 คดี คือ คดีชุมนุมที่สวนเรืองแสงต่อเนื่องไปหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 และคดีชุมนุมหน้า สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ทั้งสองคดีมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในการยื่นประกันอิศเรษฐ์ระหว่างพิจารณาคดี ทนายความขอประกันโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ ระบุเหตุผลว่า อิศเรษฐ์ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ให้ความร่วมมือโดยเข้าพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตลอดกระบวนการสอบสวน ทั้งคดีนี้มีอัตราโทษที่ไม่สูง จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบสัมมาอาชีพ ไม่มีความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานใดได้ 

นอกจากนี้ คำร้องขอประกันยังอ้างถึงหลักการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งได้รับการรับรองไว้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 

กระทั่งเวลา 15.30 น. ศาลแขวงขอนแก่นมีคำสั่งให้ประกันตัวบอส โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ แต่ให้ทำสัญญาประกันตัว หากผิดเงื่อนไขสัญญาปรับ 30,000 บาท พร้อมทั้งนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 26 ก.ค. 2565

ก่อนหน้านี้ บอสถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ และถูกเปรียบเทียบปรับในข้อหา “ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” เป็นเงิน 700 บาท แต่หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนยังออกหมายเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานฯ และร่วมกันใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายฯ” อีก 

ครั้งนั้นบอสให้การปฏิเสธ พร้อมทั้งระบุว่า ในเหตุการณ์นั้นตนได้ถูกเปรียบเทียบปรับในข้อหาอื่นไปแล้ว ตำรวจจึงไม่สามารถมาดำเนินคดีกับตนได้อีก ตามหลักที่ว่า “บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวได้”  อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น อัยการได้ส่งคืนสำนวนและมีคำสั่งให้แจ้งข้อหา “พยายามทำร้ายเจ้าพนักงาน” กับบอสเพิ่มเติมอีก ซึ่งบอสก็ยืนยันให้การปฏิเสธเช่นเดิม ระบุว่า การกระทำตามที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นการใช้สิทธิป้องกัน เนื่องจาก “ไนซ์ ดาวดิน” หรือภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ถูก พ.ต.ท.ไพศาล เข้าแย่งไมค์ และภาณุพงศ์ได้ปัดป้องการกระทำของไพศาล ตนเองจึงได้เข้าไปเพื่อป้องกันภาณุพงศ์

คฝ.ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์ (ภาพโดย The Isaan Record)

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ระบุถึงสิทธิในการป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นไว้ว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

>>>แจ้งข้อหาเพิ่ม “บอส” การ์ดผู้ชุมนุม “พยายามทำร้าย จพง.” ขณะบอสอ้างใช้สิทธิป้องกัน หลังรอง ผบช.ภ.4 แย่งไมค์ “ราษฎรขอนแก่น” โดยไม่มีหน้าที่  

ในวันเกิดเหตุ บอสก็ได้รับบาดเจ็บ เป็นรอยฟกช้ำที่แขนซ้าย ซี่โครงซ้าย และเสื้อขาด เนื่องจากถูกตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) รุมทำร้าย กดและลากถูไปกับพื้น แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า คฝ.ที่รุมทำร้ายผู้ต้องหาเป็นคนใดบ้าง และยังไม่ได้เข้าแจ้งความเอาผิด

จากเหตุการณ์เดียวกัน (ดูคลิปเหตุการณ์ที่ ไทยรัฐออนไลน์ และ The Isaan Record) ภาณุพงศ์ก็ถูกดำเนินคดีด้วยอีกราย ในข้อหา “ร่วมกันขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” แต่อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องภาณุพงศ์มาพร้อมกับอิศเรษฐ์

ในส่วนของภาณุพงศ์เองก็ได้แจ้งความ คฝ. กลับ ฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ทำให้เสียทรัพย์ และทำร้ายร่างกาย” เนื่องจาก คฝ.ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์โดยใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนเป็นเหตุให้ภาณุพงศ์ได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้าย ข้อมือ ฝ่ามือ และบริเวณเอว รวมถึงแว่นตาแตก 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งอีก 2 ข้อหา การ์ดผู้ชุมนุม แม้เคยถูกปรับคดียุติแล้ว เหตุชุลมุนหลังรอง ผบช.ภ.4 แย่งไมค์ “ราษฎรขอนแก่น” ชุมนุมรับประวิตร

ศาลขอนแก่นรอการกำหนดโทษ 2 ปี 3 จำเลยคดีวางเพลิงรูป อีกรายขอเวลา 3 เดือน ชำระค่าเสียหายให้ครบ

X