สิตานันส่งหนังสือถามความคืบหน้า “วันเฉลิม” อุ้มหาย 1 ปี 6 เดือน ดีเอสไอ-อัยการ-กรมการกงสุล ยังไม่ตัดสินใจรับเป็นคดีที่ไทย

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2564 สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์สอบถามความคืบหน้าต่อ 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ อัยการสูงสุด, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับกรณีที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ น้องชายของสิตานัน นักกิจกรรมประชาธิปไตยและผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกบังคับให้สูญหายไปจากบริเวณหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563

การยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้าในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการครบรอบ 1 ปี ที่สิตานันเดินทางไปให้ปากคำและยื่นเอกสารหลักฐานต่อศาลแขวงกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ไว้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 

ในหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการถึงความคืบหน้าของการดำเนินการในแต่ละหน่วยงานในการติดตามกรณีวันเฉลิม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สิตานันได้สอบถามความคืบหน้าว่าดำเนินคดีถึงขั้นตอนใด ได้รับกรณีนี้เป็นคดีพิเศษแล้วหรือไม่ และมีกำหนดจะยื่นฟ้องผู้กระทำความผิดดังกล่าวเมื่อใด

อัยการสูงสุด สิตานันได้สอบถามถึงอำนาจสอบสวนเกี่ยวกับคดีอาญานอกราชอาณาจักรเกี่ยวกับกรณีความผิดต่อร่างกายและเสรีภาพของวันเฉลิม ซึ่งเป็นคนไทยที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ เพื่อติดตามความคืบหน้าจากอัยการสูงสุดว่าขณะนี้ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนใด และพิจารณาอะไรไปแล้วบ้าง รวมถึงผลของการพิจารณาเป็นอย่างไร 

ในส่วนของกรมการกงสุล ในหนังสือได้สอบถามถึงการดำเนินการล่าสุดและข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้รับการประสานจากประเทศกัมพูชาหลังจากที่สิตานันได้เดินทางไปให้ปากคำในชั้นสอบสวนกับศาลกัมพูชาไว้เมื่อปีที่แล้ว 

หนังสือทั้งสามฉบับ ได้ระบุถึงการนำส่งคำให้การและพยานหลักฐานตามที่เคยยื่นต่อศาลแขวงกรุงพนมเปญ ซึ่งได้รวบรวมพยานหลักฐานจำนวนมาก ที่ยืนยันว่านายวันเฉลิมได้อยู่อาศัยที่ประเทศกัมพูชาและถูกบังคับให้สูญหายไปขณะอยู่ในประเทศกัมพูชาจริง โดยสิตานันได้ส่งเอกสารเหล่านั้นให้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 และต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2564 และหนังสือได้ระบุถึงการยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้าต่อกรมการกงสุลเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 ด้วย

การสืบสวนที่กัมพูชาเป็นไปด้วยความล่าช้ากับชะตากรรมที่คลุมเครือของวันเฉลิม  

นับตั้งแต่วันที่นายวันเฉลิมถูกบังคับสูญหายไป สิตานันเริ่มดำเนินการเรียกร้องและติดตามน้องชายของเธอผ่านช่องทางการร้องเรียนต่อทางการไทย เข้าร่วมในกระบวนการทางอาญาของกัมพูชา รวมถึงการส่งเรื่องร้องเรียนต่อกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง 

>>> วันผู้ลี้ภัยโลก: ภาวะคลุมเครือการตามหา “ต้าร์-วันเฉลิม” ถึงเวลาเดินหน้ากระบวนการยุติธรรมฝั่งไทย-กัมพูชา

หลังจากผ่านมาหนึ่งปี ที่สิตานันเดินทางไปกัมพูชาระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ปากคำและยื่นเอกสารหลักฐานต่อศาลแขวงกรุงพนมเปญ เมื่อ 8 ธ.ค. 2563 

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ทนายความของสิตานันที่กัมพูชาให้ข้อมูลเบื้องต้นกับเธอว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ทางผู้พิพากษาไต่สวนยังไม่ได้สรุปความเห็นของตนออกมาว่าใครคือผู้กระทำความผิด 

ผู้พิพากษาไต่สวนได้เพียงทำการตรวจสอบคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่เกิดเหตุ แต่ได้ข้อสรุปว่าคลิปวิดีโอนั้นไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการสอบสวนได้ เนื่องจากตัวคลิปวิดีโอหมดอายุลงแล้ว ส่วนพยานบุคคลที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่พักของนายวันเฉลิมที่ออกหมายเรียกมาแล้วก็ไม่ได้ให้ปากคำที่ทำให้ระบุตัวผู้ต้องสงสัยได้  

ขณะนี้ทางผู้พิพากษาไต่สวนจึงอยู่ระหว่างตรวจสอบเลขทะเบียนรถที่ต้องสงสัยอยู่ต่อไป และทางผู้พิพากษาไต่สวนให้การยืนยันว่าคดีของนายวันเฉลิมยังคงอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของศาลแขวงกรุงพนมเปญต่อไป  

คดี #Saveวันเฉลิม ข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 2 คดีสิ้นสุด 2 คดียังรอสืบพยาน – พ.ร.บ. ความสะอาด ฯ สิ้นสุด 4 คดี 

ส่วนคดีเกี่ยวกับการรณรงค์ หรือการทำกิจกรรม หรือการไปยื่นข้อเรียกร้องให้ทางการติดตามการหายตัวไปของนายวันเฉลิมที่เกิดขึ้นในช่วงมิถุนายนปี 2563 และปี 2564 ในประเทศไทยนั้น ถูกกล่าวหาในข้อหาหลัก คือ ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอีกหลายคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

ในแต่ละคดีมีความคืบหน้าในกระบวนการยุติธรรทางอาญาที่ดูเหมือนจะสวนทาง กับชะตากรรมของวันเฉลิมที่ยังคงอยู่ในความคลุมเครือ ไม่ต่างกับการดำเนินการเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการตั้งเรื่องก่อนการพิจารณาคดี เพื่อสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปทั้งของทางการไทยและทางการกัมพูชา ดังนี้ 

คดีหน้าสถานทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 อัยการสั่งไม่ฟ้องทั้ง 2 คดีเป็นที่สิ้นสุด

เมื่อเดือน มิ.ย. 64 พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี 2 คดีของกลุ่มนักกิจกรรม 10 คนที่ไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตกัมพูชาในช่วงเช้าและเย็นของวันที่ 8 มิ.ย. 2563 ให้เหตุผลโดยสรุปไว้ในหนังสือคำสั่งไม่ฟ้องว่าผู้ต้องหาไม่ได้มั่วสุมในสถานที่แออัดและไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง โดยผู้ต้องหามีวัตถุประสงค์เพียงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสถานทูตกัมพูชาขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการหายตัวไปของนายวันเฉลิมเท่านั้น และระยะเวลาที่ผู้ต้องหาอยู่ในที่สถานที่นั้นรวมระยะเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงเศษเท่านั้น

ผู้ต้องหา กลุ่มแรก คือกลุ่มที่ไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อสถานทูตในช่วงเช้า โดยเป็นนักกิจกรรมจากเครือข่าย People Go และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) รวม 4 คน ประกอบไปด้วย ณัฐวุฒิ อุปปะ, แสงศิริ ตรีมรรคา, วศิน พงษ์เก่า และ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์

ขณะที่กลุ่มที่ไปทำกิจกรรมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาในช่วงเย็นมาจากหลายกลุ่ม ถูกดำเนินคดีอีก 6 ราย ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข, โชติศักดิ์ อ่อนสูง, นภัสสร บุญรีย์, มัทนา อัจจิมา, ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี และ “แชมป์ 1984” (นามแฝง)

ทั้งสองคดีนี้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.วังทองหลาง เมื่อเดือนก.ค. 2563 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีให้กับอัยการในช่วงเดือน ส.ค. 2563 ก่อนที่เวลาล่วงเลยเข้าเกือบ 1 ปี จนถึงช่วงเดือนมิ.ย. 2564 ทางพนักงานอัยการจึงได้แจ้งผู้ถูกกล่าวหาว่ามีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีทั้งสองคดีแล้ว

.

.

คดีผูกโบว์ขาวหน้าค่ายทหารและรอบกรุง 5 คดี ปรับสูงสุดคนละ 2,000 บาท คดีสิ้นสุด   

กลางเดือน มิ.ย. 2563  กลุ่มนักศึกษาในนามสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ทำกิจกรรมผูกโบว์ขาวเรียกร้องให้ความเป็นธรรมกับการหายตัวไปของวันเฉลิม ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ ลานพระบรมรูปทรงม้า, กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1, ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหน้ากระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 และ 17 มิ.ย. 2563

ต่อมาตำรวจได้ออกหมายเรียกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ พ.ศ. 2535 มาตรา 39 “ร่วมกันติดตั้ง ลากวาง หรือแขวนสิ่งของใดๆ ในที่สาธารณะ” โทษปรับสูงสุดไว้ไม่เกิน 2,000 บาท  รวมทั้งหมด 5 คดี แยกไปตาม สน. ที่ผูกโบว์ ทั้งหมดได้ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ ทำให้คดีสิ้นสุดลง

คดีหน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 นัดสืบพยานหลักฐานกลางปี 2565  

ในคดีจากการจัดกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ทวงความเป็นธรรมให้กับการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 ซึ่งมีจำเลย คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์, จุฑาทิพย์ สิริขันธ์​ และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงปทุมวัน โดยศาลนัดสืบพยานวันที่ 11-12 พ.ค. และวันที่ 1-2 มิ.ย. 2565

>>> อ่านคำฟ้อง ให้ประกัน “เพนกวิน-อั๋ว” ไม่ต้องวางหลักประกัน หลังอัยการยื่นฟ้อง 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุม #Saveวันเฉลิม – #24มิถุนา ปีที่แล้ว

.

.

คดีใคร สั่ง อุ้ม? วันเฉลิม ที่ระยอง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2563 นัดตรวจพยานหลักฐานเดือนกันยายน 2565  

กิจกรรม “ใคร สั่ง อุ้ม? วันเฉลิม” ที่บริเวณหน้าอาคารศูนย์เยาวชน สวนสาธารณะสวนศรีเมือง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2563 กิจกรรมมีการผูกโบว์ข้อมือซ้าย และเดินถือป้ายแห่รอบสวนศรีเมืองเป็นเวลา 40 นาทีในช่วงเย็น โดยกิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบและมีการป้องกันสวมหน้ากากระหว่างทำกิจกรรม เพื่อจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทวงถามใครคือผู้กระทำให้วันเฉลิมหายตัวไปที่ประเทศกัมพูชา 

คดีนี้พนักงานอัยการได้ส่งฟ้อง “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก เพียงคนเดียว โดยในคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำเลยไว้ เหตุเพราะจำเลยนอกจากจะเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายแล้ว ยังส่งผลให้มาตรการที่รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ศาลแขวงระยองกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 21 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น. 

>>> อัยการยื่นฟ้อง “ไมค์” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมขอให้ลงโทษสถานหนัก เหตุเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับวันเฉลิมที่ระยอง

.

คดีรำลึกผู้ถูกบังคับให้สูญหาย วาระครบ 1 ปี 1 เดือน การหายตัวไปของวันเฉลิม เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564  4 รายคดีสิ้นสุดเปรียบเทียบปรับ อีก 2 รายยังสู้คดีต่อ

นอกจากกลุ่มคดีเกี่ยวกับกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม เมื่อกลางปี 2563 แล้ว วาระครบรอบ 1 ปี การหายตัวไปของวันเฉลิมเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ บริเวณตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งข้อหาต่อผู้ร่วมวงเสวนารวม 6 คน ได้แก่ ภัทรนิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) ประเทศไทย, พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” จากกลุ่มราษฎรมูเตลู, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม,ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, วรชาติ อหันทริก และ ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ “ปูน” โดยในวันนั้นเป็นกิจกรรมนี้เพื่อทวงถามความคืบหน้า กรณี “กลุ่มโมกหลวง” ได้ยื่นจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งผ่านไปแล้ว 1 เดือน ยังไม่ได้รับคําตอบจากภาครัฐเกี่ยวกับกรณีของวันเฉลิม และการเชิงสัญลักษณ์รําลึกถึงผู้สูญหายจากการแสดงออกทางการเมือง

พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “ร่วมกระทําการใด ๆ ใน ลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร” ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, “ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนพื้นถนน” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, และ “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

ผู้ต้องหา 4 ราย ให้การรับสารภาพ และถูกปรับในชั้นสอบสวนเป็นเงินคนละ 700 บาท จึงทำให้คดีนี้สิ้นสุดลง ยกเว้นพรเพ็ญและวรชาติยืนยันที่สู้คดีต่อ โดยมีการกำหนดนัดฟังคำสั่งอัยการในเดือนมีนาคม 2565 ทั้งนี้ 2 รายนี้เป็นคดีที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม   

>>> ผู้ร่วมรำลึกอุ้มหาย ‘วันเฉลิม’ และร่วมกินอาหารร้องเยียวยาโควิด หน้าทำเนียบฯ ถูกปรับคนละ 700 บาท ตร.อ้างฝ่าฝืน 3 ข้อหา

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

พี่สาววันเฉลิมลุ้น พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ เข้ารัฐสภาพิจารณาทัน 8 ก.ย. นี้ ด้านกัมพูชาไม่ตอบยูเอ็นเรื่องวันเฉลิม อัยการ-ดีเอสไอไทยเกี่ยงกันไม่สรุปใครเป็นเจ้าของสำนวน

ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเผย “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ในอาเซียน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐ พร้อมเรียกร้องให้ชี้แจงการหายไป-การจับกุมคุมขังไม่ชอบนักกิจกรรม นักข่าว นักธุรกิจ

วันผู้ลี้ภัยโลก: ภาวะคลุมเครือการตามหา “ต้าร์-วันเฉลิม” ถึงเวลาเดินหน้ากระบวนการยุติธรรมฝั่งไทย-กัมพูชา

.

X