พี่สาววันเฉลิมลุ้น พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ เข้ารัฐสภาพิจารณาทัน 8 ก.ย. นี้ ด้านกัมพูชาไม่ตอบยูเอ็นเรื่องวันเฉลิม อัยการ-ดีเอสไอไทยเกี่ยงกันไม่สรุปใครเป็นเจ้าของสำนวน

ร่าง พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายฯ ฉบับกระทรวงยุติธรรม เข้าสภาเป็นวาระเร่งด่วน ประชุมวันที่ 8 ก.ย. 64   

ตามที่ปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ) เป็นเรื่องด่วน โดยทางสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุวาระเป็นวาระเร่งด่วน ลำดับที่ 9 ในการประชุมวันที่ 8 กันยายน ทั้งนี้ตามการเสนอเรื่องเร่งรัดให้พิจารณาร่างกฎหมายนี้ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 64  

ส.ส.ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ ที่ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วันที่ 8 ก.ย. นี้ คือ ร่างฉบับกระทรวงยุติธรรม แต่กระนั้นก็ยังมีข้อสงสัยว่า ลำดับการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะดำเนินการได้ทันภายในวันเดียวกันนั้นหรือไม่ หากฉบับกระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาก็จะมีการนำฉบับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกสามฉบับมาประกอบและพิจารณาไปในวาระเดียวกันนี้ 

ด้าน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยที่หายไปในกัมพูชาเมื่อปีที่แล้ว กล่าวว่า “ได้รับทราบว่าร่าง พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายเป็นวาระเร่งด่วนก็ดีใจ ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่เห็นความสำคัญ โดยหวังว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 กันยายนนี้จะมีการเอาร่าง พ.ร.บ. ชื่อเดียวกันฉบับของกรรมาธิการและฉบับของพรรคการเมืองทั้งสามฉบับ มาพิจารณาเป็นหลักด้วยในคราวเดียวกัน เพราะเป็นต้นร่างจากภาคประชาชน”

“ดิฉันอยากให้สภาผู้แทนราษฎรในสมัยนี้พิจารณาผ่านให้เป็นกฎหมายโดยเร็ว ภาระการพิสูจน์และการค้นหาความจริงจะได้ไม่ตกและเป็นภาระที่ต้องแบกรับแก่ผู้เสียหายอย่างดิฉันอีก และหน่วยงานรัฐจะไม่มีการผลักภาระการสืบสวนสอบสวนกันได้อีกไม่ว่าเหตุจะเกิดในประเทศไทยหรือนอกประเทศไทย เหมือนกรณีของน้องชายดิฉัน นายวันเฉลิม”

.  

ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา (UN Special Rapporteur on the situation of human rights in Cambodia) ย้ำให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีวันเฉลิมต่อ ด้านกัมพูชาไม่กล่าวถึงวันเฉลิมเลย

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 องค์กรสหประชาชาติ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนได้มีการเผยแพร่รายงานที่จัดทำโดยผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา (A/HRC/48/79, https://undocs.org/A/HRC/48/79) รายงานนี้จะนำไปใช้ทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 48 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2564 โดยในหัวข้อที่เกี่ยวกับภาคประชาสังคม ย่อหน้าที่ 74 กล่าวถึงกรณีการบังคับบุคคลสูญหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ระบุว่า

 “74. ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวไทย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีรายงานว่าถูกลักพาตัวที่บริเวณหน้าคอนโดในกรุงพนมเปญในปี 2563 ประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ จึงควรจัดให้มีการสืบสวนและให้คำตอบเกี่ยวกับสถานการณ์การบังคับบุคคลสูญหายกรณีนี้ รวมถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง”

 “74. There also remains the question of a Thai pro-democracy activist, Wanchalearm Satsaksit, allegedly abducted in front of his apartment in Phnom Penh in 2020. Given the fact that Cambodia is a party to the International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance, the case deserves an effective investigation and response concerning the circumstances surrounding the enforced disappearance and the persons responsible.”

ขณะเดียวกัน ในรายงานที่ทางกัมพูชาส่งกลับลงวันที่ 11 ส.ค.  64 กลับไม่มีเนื้อหาใดที่กล่าวถึงกรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์เลย  (A/HRC/48/79/Add.1, https://undocs.org/A/HRC/48/79/Add.1)

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นของการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศกัมพูชาจะมีการพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยด้วยในระบบยูพีอาร์ (UPR- Universal Periodical Review) ที่การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 48 โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบ webcast ของทางองค์การสหประชาชาติที่สามารถรับชมการพิจารณารายงานได้ทางออนไลน์เป็นภาษาขององค์การสหประชาชาติทั้งห้าภาษา

.

1 ปี 3 เดือน กรณีวันเฉลิม ศาลแขวงกรุงพนมเปญยังไม่เปิดพิจารณาคดีอาญาอย่างเป็นทางการ อัยการ-ดีเอสไอไทยยังไม่สรุปใครเป็นเจ้าของสำนวน  

ที่ผ่านมาเครือข่ายญาติและองค์กรภาคประชาสังคมติดตามกรณีการสูญหายของนายวันเฉลิมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม พ.ศ. 2563 สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม ได้เดินทางไปยังประเทศกัมพูชาเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้พิพากษาไต่สวนประจำศาลแขวงกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนสืบสวนก่อนการพิจารณาคดี ขณะนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 9 เดือนเต็ม แม้ทางพี่สาวได้พยายามแสวงหาพยานหลักฐานที่สำคัญ เช่น หนังสือเดินทางของประเทศกัมพูชาที่นายวันเฉลิมใช้ในการเดินทางหลายปี  ภาพและชื่อของกลุ่มบุคคลที่กัมพูชาที่เป็นพยานที่เชื่อว่ารู้เห็นเหตุการณ์การอุ้มนายวันเฉลิมที่หน้าคอนโดที่พัก และเอกสารอื่นที่สนับสนุนภาพกล้องวงจรปิดที่ยืนยันว่านายวันเฉลิมอยู่ที่กรุงพนมเปญในวันเกิดเหตุและถูกกลุ่มบุคคลอุ้มเข้าไปในรถยนต์ ที่พี่สาวได้ยินทางเสียงโทรศัพท์ ว่าขาดอากาศหายใจ  เป็นต้น แต่ทางศาลแขวงกรุงพนมเปญก็ไม่มีท่าทีที่จะมีคำสั่งศาลเพื่อให้เปิดการพิจารณาคดีอาญาอย่างเป็นทางการ ที่ทำความเห็นส่งกลับมายังอัยการกัมพูชาเพื่อออกหมายจับกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธและจับกุมกักขังหน่วงเหนี่ยวนายวันเฉลิมฯ ไปในวันที่ 4 มิ.ย. 63 และปัจจุบันก็ยังไม่ทราบชะตากรรมของนายวันเฉลิม

ภาพ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม

เมื่อกระบวนการยุติธรรมทางฝั่งกัมพูชาแทบจะปิดประตูไปแล้วนั้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ในวันครบรอบหนึ่งปีของการบังคับให้สูญหายของนายวันเฉลิม พี่สาวได้เข้ายื่นหนังสือและพยานหลักฐานชุดเดียวกับที่แสดงต่อศาลแขวงกรุงพนมเปญไปแล้วให้ทั้งพนักงานสืบสวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI กระทรวงยุติธรรม และให้พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีนี้ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อติดตามความคืบหน้าทางคดี แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจนถึงปัจจุบัน พี่สาวเพียงได้รับการบอกกล่าวว่าจะต้องสรุปสำนวนภายในเวลา 6 เดือนนับแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับสำนวนมา  จึงเห็นได้ชัดว่าทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุดหน่วยงานใดจะรับคดีนี้เป็นคดีอาญาเพื่อการสืบสวนค้นหาความจริงว่านายวันเฉลิมถูกบังคับให้หายไปจากประเทศกัมพูชาจริง  

ทั้งทางการไทยและกัมพูชาล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายที่จะต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเหมาะสมต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: 

เมื่อ พ.ร.บ.อุ้มต้องไม่หาย แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรในสังคมที่การบังคับสูญหายไม่เป็นความผิดทางอาญา

วันผู้ลี้ภัยโลก: ภาวะคลุมเครือการตามหา “ต้า-วันเฉลิม” ถึงเวลาเดินหน้ากระบวนการยุติธรรมฝั่งไทย-กัมพูชา

ดีเอสไอยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ: 1 ปี บังคับสูญหาย “วันเฉลิม” – 2 ปี “สยาม”  

.

X