กรุงเทพมหานคร, กรุงปารีส, กรุงพนมเปญ, 4 มิถุนายน 2564: เนื่องในวันครบรอบหนึ่งปีของเหตุการณ์การบังคับให้สูญหายของนักกิจกรรมชาวไทย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ องค์กรของเราขอย้ำข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลกัมพูชาอีกครั้งให้สืบหาชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิมเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของเขา และเราขอเรียกร้องถึงทางการไทยให้ร่วมมือกับทางการกัมพูชาอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อค้นหาวันเฉลิมและช่วยเหลือครอบครัวของเขาอย่างเต็มที่ในการทวงคืนความยุติธรรมนี้
เหตุการณ์การบังคับให้สูญหายของวันเฉลิมได้ผ่านไปหนึ่งปี แต่ชะตากรรมและที่อยู่ของเขายังคงไม่ปรากฏ หน่วยงานที่ดูแลด้านสิทธิมนุษยชนหลายฝ่ายของสหประชาชาติ (United Nations; UN) ได้ย้ำข้อเรียกร้องมาหลายครั้งให้รัฐบาลกัมพูชาตามหาและระบุที่อยู่ของวันเฉลิม และถึงแม้จะมีคำมั่นสัญญาว่าจะสืบหาความจริงกรณี “ข้อกล่าวหาเรื่องการลักพาตัว” ของวันเฉลิม แต่รัฐบาลกัมพูชาก็ยังคงล้มเหลวในการดำเนินการสืบสวนกรณีการหายตัวไปของเขาอย่างรวดเร็ว รอบด้านและเป็นกลาง
นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังคงปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ในเรื่องการหายไปของวันเฉลิมอย่างต่อเนื่อง และมิได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขคดีนี้ด้วยความจริงใจใดๆ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ในหนังสือตอบกลับจดหมายเรียกร้องให้มีการดำเนินงานโดยเร่งด่วนจากคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ (UN Committee on Enforced Disappearances; CED) ทางรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า เจ้าหน้าที่กัมพูชา “ไม่ทราบเรื่องหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการลักพาตัวใดๆ” และในหนังสือตอบกลับฉบับต่อมา ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2563 รัฐบาลกัมพูชายังคงไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอและชัดเจนเกี่ยวกับคดี ทั้งยังกล่าวว่า ทางการจะพยายามค้นหาว่า “เหตุการณ์การลักพาตัวเป็นเรื่องจริงและเกิดขึ้นจริงในกัมพูชา”
ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ได้เดินทางไปยังประเทศกัมพูชาเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้พิพากษาไต่สวนประจำศาลแขวงกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนสืบสวนก่อนการพิจารณาคดี ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 สิตานันท์ได้รับหมายเรียกให้ปรากฏตัวต่อหน้าศาลแขวงพนมเปญเพื่อสอบสวนเรื่อง “การควบคุมตัวและการกักขังที่มิชอบด้วยกฎหมาย” ของน้องชายของเธอที่กรุงพนมเปญ
ขณะเดียวกันทางฝั่งของประเทศไทย เจ้าหน้าที่ก็ล้มเหลวในการให้ความช่วยเหลืออย่างเพียงพอแก่ครอบครัววันเฉลิมเพื่อทวงคืนความยุติธรรมต่อการหายตัวไปของเขา ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงว่า ทางหน่วยงานไม่ถือว่าคดีวันเฉลิมเป็น “คดีพิเศษ” ที่จะนำไปสู่กระบวนการสืบสวนในขอบเขตอำนาจขององค์กร ดังนั้น คดีจะต้องถูกส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 อัยการสูงสุดแห่งประเทศไทยได้ส่งคดีกลับมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่พบหลักฐานว่าวันเฉลิมพำนักอยู่ในกัมพูชาตอนช่วงเวลาที่หายไป หรือว่าถูกลักพาตัวในกัมพูชาจริง
องค์กรของเรากังวลใจเป็นอย่างยิ่งต่อความล้มเหลวของรัฐบาลกัมพูชาในการดำเนินกระบวนการสืบสวนที่เชื่อถือได้ต่อการบังคับให้หายของวันเฉลิม เราขอเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาสืบสวนคดีวันเฉลิมอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ชี้ตัวผู้กระทำผิดและนำมาลงโทษตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และรับรองสิทธิการได้รับการเยียวยาแก่ครอบครัวของวันเฉลิม อันเป็นไปตามบทบัญญัติในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการสูญหายโดยบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance; ICPPED) ซึ่งกัมพูชาเป็นรัฐภาคี
และเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันแก่อนุสัญญา ICPPED ทำบทบัญญัติให้เป็นกฎหมายในประเทศและบังคับกฎหมายเหล่านั้นอย่างแท้จริง
ที่มา
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้วิจารณ์คณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2562 อย่างเปิดเผย เขาถูกรายงานว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ซึ่งทางตำรวจไทยได้ออกหมายจับ เขาหลบหนีไปกัมพูชาจากประเทศไทยหลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557
วันเฉลิมถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้ายในบ่ายวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จากคำให้การของประจักษ์พยานระบุว่า วันเฉลิมถูกลักพาตัวไปจากหน้าคอนโดมิเนียมของเขาในพนมเปญโดยกลุ่มชายไม่ทราบชื่อสวมเสื้อผ้าชุดดำ วันเฉลิมถูกอุ้มขึ้นไปในรถสีดำหรือน้ำเงินเข้มประเภทเอ็สยูวี รุ่นโตโยต้าไฮแลนเดอร์ ป้ายทะเบียน 2X2307
ICPPED ให้คำนิยามการบังคับให้บุคคลสูญหายไว้ว่าคือ “การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพรูปแบบใดๆ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยปริยายจากรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือด้วยการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่สูญหาย” การบังคับให้บุคคลสูญหายละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายข้อ ซึ่งรวมถึงสิทธิในบูรณภาพส่วนบุคคลและสิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงปลอดภัยของบุคคล โดยสิทธิเหล่านี้ได้ถูกรับรองโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights; ICCPR) ซึ่งทั้งประเทศกัมพูชาและประเทศไทยเป็นรัฐภาคีด้วย
ลงนามโดย:
FIDH – International Federation for Human Rights
Cambodia Human Rights and Development Association (ADHOC)
Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights (LICADHO)
Internet Law Reform Dialogue (iLaw)
Manushya Foundation
Thai Lawyers for Human Rights (TLHR)
Union for Civil Liberty (UCL)
ขอบคุณภาพจาก: International Federation for Human Rights