ไม่ให้ประกันครั้งที่ 2!! “อานนท์” คดี 112 #ม็อบแฮร์รี่2 พร้อม 8 นักกิจกรรม คดี #ม็อบ2สิงหา ศาลชี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

วันนี้ (18 ส.ค. 64) เวลา 10.00 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 9 นักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในชั้นสอบสวน โดยในคดีแรก ทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขอประกันตัว “อานนท์ นำภา” ในคดี ม.112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 

นอกจากนี้ ทนายความยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อขอประกันตัวแกนนำราษฎร 8 ราย ซึ่งทั้งหมดถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 64  ในคดี #ม็อบ2สิงหา และมี 3 ราย ติดโควิดในขณะนี้ 

การยื่นคำร้องต่อทั้งสองศาลในวันนี้เป็นการยื่นประกันครั้งที่ 2 ซึ่งต่อมาทั้งสองศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทุกราย โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

++ ศาลธัญบุรีไม่ให้ประกัน 8 นักกิจกรรม เหตุ #ม็อบ2สิงหา ชี้ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ++ 

คดี #ม็อบ2สิงหา หน้า บก.ตชด.ภาค 1 มีผู้ต้องหาทั้งหมด 9 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหา มั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ บางคนถูกแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และทำให้เสียทรัพย์ด้วย ซึ่งทั้งหมดมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

ก่อนหน้านี้ ทนายได้เคยยื่นคำร้องขอประกันตัวไปแล้ว หลังพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังระหว่างสอบสวนเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 แต่ศาลไม่ให้ประกัน ให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย หากปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 64 ซึ่งต่อมาศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาเพียง 1 ราย คือ “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล)

> ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน “ปูน ธนพัฒน์” ชี้เพิ่งพ้นวัยเยาวชน-เข้ามอบตัวเอง ส่วนอีก 8 นักกิจกรรมศาลยกร้องคำร้อง ด้าน “ไผ่ จตุภัทร์” นัดไต่สวนประกัน 16 ส.ค.

ในวันนี้ทนายความจึงได้เดินทางเข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวนักกิจกรรมที่เหลืออีก 8 ราย ได้แก่ แซม ซาแมท, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “นิว” สิริชัย นาถึง, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, ณัฐชนน ไพโรจน์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “บอย” ชาติชาย แกดำ และปนัดดา ศิริมาศกูล หรือ “ต๋ง ทะลุฟ้า” ทั้งยังขอให้ศาลไต่สวนเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ในประเด็นการแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำ

โดยทนายได้ระบุเหตุผลไว้ในคำร้องขอประกันทั้ง 8 ราย ดังนี้

1. ก่อนหน้าจะถูกคุมขังตามหมายศาลเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 ผู้ต้องหาทั้ง 8 มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่ระหว่างถูกคุมขังได้ตรวจพบว่า พริษฐ์, สิริชัย และพรหมศร ติดเชื้อโรคโควิด-19 หลังเข้ารับการตรวจเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 64 อีกทั้งยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์หลายคนมีผลตรวจว่าติดเชื้อโรคโควิดเช่นกัน การขังผู้ต้องหาไว้จึงเกินกว่าเหตุจำเป็น และทำให้ผู้ต้องหาเสี่ยงติดเชื้อโรคดังกล่าว โดยไม่อาจป้องกันดูแลชีวิตของตนเองได้

2. ก่อนถูกดำเนินคดีในคดีนี้ แม้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีในคดีอื่นที่มีลักษณะข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ก็เป็นการกล่าวหาโดยพนักงานสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว ยังไม่ได้ถูกพิจารณาจากศาลว่าผู้ต้องหากระทำความผิดดังกล่าวจริง ฉะนั้นจึงไม่อาจด่วนสรุปได้ว่าผู้ต้องหาไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย รวมถึงที่อ้างว่า “หากปล่อยตัวชั่วคราวไปจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นอีก” ก็รับฟังไม่ได้ด้วยเช่นกัน

และที่กล่าวอ้างว่าผู้ต้องหา ซึ่งได้แก่ พริษฐ์และภาณุพงศ์ ได้กระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวของศาลอื่น จึงไม่สมควรที่จะได้รับการปล่อยตัวในคดีนี้นั้น ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรับฟังได้ เนื่องจากศาลไม่ได้เรียกให้ผู้ต้องหาไปไต่สวนเพื่อรับฟังข้อเท็จจริง ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้โต้แย้งหรือแสดงหลักฐานต่อศาล

3. ตามที่พนักงานสอบสวนได้อ้างว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะมีส่วนให้เกิดการระบาดของโควิด-19 มากขึ้นจากการชุมนุม เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย เนื่องจากผู้ชุมนุมต่างปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโดยสมควรแล้ว รวมถึงมีการคาดการณ์จากนักวิชาการว่าจะมีการแพร่ระบาดมากขึ้นเป็นทวีคูณอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของผู้ต้องหาแต่อย่างใด

4. สถานที่ควบคุมของหน่วยงานราชทัณฑ์ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอที่จะรักษาชีวิตผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 ตรงกันข้ามในสถานที่ดังกล่าวกลับมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีความแออัดสูง อากาศถ่ายเทไม่สะดวก จึงทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกๆ วัน

5. สิริชัย, พริษฐ์, พรหมศร, ณัฐชนน และภาณุพงศ์ แม้เคยถูกกล่าวหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ก็เป็นเพียงการกล่าวหาของพนักงานสอบสวนในคดีนั้นๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถูกกล่าวหาในคดีนี้แต่อย่างใด จึงไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลในการคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาได้ และไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์การพิจารณาปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 แต่อย่างใด 

6. กิจกรรมการชุมนุมตามวันและเวลาดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับรองไว้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ย่อมได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในภายหลัง ต้องถือว่าเป็นเจตนาของผู้กระทำผิดแต่ละคน แต่ละกลุ่ม จะกล่าวหาว่าเป็นเจตนาร่วมกันของผู้ชุมนุมทุกคนไม่ได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5573/2554

7. ผู้ต้องหาไม่ได้ต่อสู้ขัดขวาง หรือมีพฤติการณ์หลบหนีใดๆ อีกทั้งมีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามตัวได้โดยง่าย ไม่ได้มีความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งไม่เคยต้องโทษคดีอาญาใดๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้

8. ตามคำร้องขอฝากฝังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวน ไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแม้แต่น้อย

9. การใช้เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งเจตจำนงเสรีของพลเมือง เป็นเครื่องมือสะท้อนและกระตุ้นเตือน “รัฐบาล” ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด 

10. ผู้ต้องหาเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และหลักสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารของรัฐบาลทุกหย่อมหญ้า ก็คงมีเพียงอำนาจศาลเท่านั้นที่จะช่วยถ่วงดุล ตรวจสอบ คานอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

11. มีผู้ต้องหาซึ่งปัจจุบันมีสถานภาพเป็น “นักศึกษา” ได้แก่ สิริชัย, พริษฐ์, ปนัดดา และณัฐชนน ซึ่งมีภาระหน้าที่จะต้องเข้าเรียน ทำรายงานและเข้าสอบตามที่คณะและมหาวิทยาลัยกำหนด หากผู้ต้องหาถูกคุมขังต่อไป จะทำให้ผู้ต้องหาต้องสูญเสียโอกาสทางการศึกษาอย่างร้ายแรง  

ต่อมาเวลาประมาณ 12.30 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งว่า พิเคราะห์คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและขอให้ศาลไต่สวนเจ้าพนักงานราชทัณฑ์แล้ว เห็นว่ากรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้งดไต่สวน ยกคำร้อง

จากคำสั่งของศาลดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย จะยังคงถูกควบคุมตัวต่อไป โดยปนัดดา หรือ “ต๋ง ทะลุฟ้า” ถูกกักตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงคลองห้า ด้านผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 ราย ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์, “นิว” สิริชัย และ “ฟ้า” พรหมศร ทำการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และอีก 4 รายที่เหลือถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต 

หากทั้งหมดยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงนี้ เมื่อครบกำหนด 21 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม ทั้งหมดจะถูกย้ายไปคุมขังในเรือนจำอำเภอธัญบุรีต่อไป  

++ เปิดคำร้องขอประกัน “ทนายอานนท์” หวั่นติดโควิดในเรือนจำซ้ำอีก ย้ำไม่มีเหตุที่จะไม่ให้ปล่อยตัว ศาลยกคำร้องระบุ “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”++

ในวันนี้ทนายความยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขอประกันตัว “อานนท์ นำภา” ในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 2 ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องขอประกันครั้งที่ 2 หลังศาลไม่ให้ประกันตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 โดยระบุเหตุผลไว้ว่า 

“คดีมีอัตราโทษสูงและพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก และมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลอาญาด้วย” 

> อธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ ไม่ให้ประกัน “อานนท์ นำภา” คดี 112 ปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 หลังเข้ามอบตัว

ในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์เป็นครั้งที่ 2 นี้ ไว้วางหลักทรัพย์ประกันมูลค่า 200,000 บาท และระบุเหตุผลดังนี้

1. ตามที่ศาลได้มีสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง แต่ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยหลายคดีในฐานความผิดเดียวกัน อาทิ สิรภพ พึ่งพุ่มพุทธ และชูเกียรติ แสงวงค์ ในคดี #ม็อบ18 พ.ย., พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 5 คน ในคดีแต่งชุดครอปท็อปเดินสยามพารากอน, ภัสราวลี ธนกิจวิบูรณ์ผล กับพวกรวม 12 คน ในคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน จึงขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย

2. ตามที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จากเหตุที่พนักงานสอบสวนคัดค้านว่าผู้ต้องหาจะไปข่มขู่หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานที่เป็นบุคคลภายนอกนั้น ผู้ต้องหาประกอบอาชีพทนายความ เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา ไม่เคยมีประวัติหรือพฤติการณ์ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน อีกทั้งหลักฐานในคดีนี้ก็อยู่ในครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้ว อีกทั้งผู้ต้องหาไม่มีทางรู้ได้ว่าพยานบุคคลในคดีนี้เป็นบุคคลใดบ้าง 

3. ตามที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จากเหตุที่อ้างว่า ผู้ต้องหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญานั้น คำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่แนบท้ายมากับคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนเป็นเพียงการกล่าวอ้างของโจทก์ฝ่ายเดียว โดยที่ศาลได้นัดหมายไต่สวนการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวในวันที่ 7 ก.ย. 64 ซึ่งในระหว่างนี้ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งว่าผู้ต้องหาได้ทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขแต่อย่างใด

4. ผู้ต้องหามีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งแน่นอน โดยปกติผู้ต้องหาจะเดินทางมาศาลเป็นประจำ เนื่องจากผู้ต้องหาประกอบอาชีพทนายความ จึงสามารถติดต่อได้โดยง่าย อีกทั้งผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล หรือความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษคดีอาญาใดๆ มาก่อน 

5. ผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Right) ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่ชาวเมืองกวางจูมอบให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ 

6. ตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย

7. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ยังพบอีกว่า “เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” เป็นสถานที่การระบาดดังกล่าวมากที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีลักษณะแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งขณะนี้ผู้ต้องหาได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลา 8 วัน อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตจากการเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผู้ต้องหาเคยติดเชื้อโรคดังกล่าวนี้จากการถูกคุมขังในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว การป่วยครั้งนั้นทำให้ปอดของผู้ต้องหามีความผิดปกติ พบว่ามีอาการเหนื่อยหอบง่าย มีภาวะที่เสี่ยงต่อโรค “ลองโควิด” (LONG COVID) ซึ่งเป็นอาการเรื้อรังของโรคโควิด-19 อีกทั้งในตอนนี้มีผู้ต้องหาทางการเมืองที่ศาลจังหวัดธัญบุรีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นได้ติดเชื้อโควิดแล้วจำนวน 3 ราย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, พรหมศร วีระธรรมจารี และสิริชัย นาถึง 

เวลา 15.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ โดยให้เหตุผลว่า ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 เหตุตามคำร้องที่อ้างเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณียังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง

จากคำสั่งของศาลในวันนี้ ทำให้อานนท์จะยังคงถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางต่อไป ตามมาตรการกักตัวป้องกันโควิดของเรือนจำ หากยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงนี้ เขาจะถูกย้ายไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังกักตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางครบ 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 64

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

 กรณี 8 นักกิจกรรม เหตุ #ม็อบ2สิงหา

> ไม่ให้ประกัน! 9 นักกิจกรรม เหตุชุมนุม #ม็อบ2สิงหา หน้า ตชด. เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า ศาลธัญบุรีระบุไม่เกรงกลัวกม.บ้านเมือง

> ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน “ปูน ธนพัฒน์” ชี้เพิ่งพ้นวัยเยาวชน-เข้ามอบตัวเอง ส่วนอีก 8 นักกิจกรรมศาลยกร้องคำร้อง ด้าน “ไผ่ จตุภัทร์” นัดไต่สวนประกัน 16 ส.ค.

กรณีทนายอานนท์ นำภา

> ‘อานนท์ นำภา’ เข้ามอบตัวคดี ม.112 เหตุปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ชุมนุมครบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์

> ตร.เข้าแจ้งข้อหา ‘อานนท์’ คดีชุมนุม 24 มิ.ย. แม้ถูกคุมตัว กล่าวหาร่วมอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร’

> อธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ ไม่ให้ประกัน “อานนท์ นำภา” คดี 112 ปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 หลังเข้ามอบตัว

X