23 เม.ย. 2568 เวลา 14.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ อ.537/2564 ของ “สมณะดาวดิน” หรือดาวดิน ชาวหินฟ้า นักบวชสันติอโศก กรณีถูกกล่าวหาว่า “แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายว่าเป็นภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาโดยมิชอบ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ขณะเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรม หมู่บ้านทะลุฟ้า V.2 ที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อปี 2564
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์การแต่งกายของจำเลยทำให้วิญญูชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่าเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา
สำหรับสมณะดาวดินถูกดำเนินคดี “แต่งกายเลียนแบบสงฆ์” ทั้งสิ้น 3 คดี ได้แก่ กรณีถูกจับกุมหลังนั่งอดอาหารหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564, กรณีถูกจับกุมหลังนั่งอดอาหารหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 และกรณีถูกกล่าวหาว่าแต่งกายเลียนแบบพระขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีหมู่บ้านทะลุฟ้าที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 (คดีนี้)
.
เหตุในคดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 สมณะดาวดินได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.นางเลิ้ง จากการเข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้านทะลุฟ้า V.2 ที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ก่อนจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา “แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายว่าเป็นภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาโดยมิชอบ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 เพิ่มเป็นอีกคดีหนึ่ง
ต่อมาวันที่ 31 พ.ค. 2564 พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิต โดยบรรยายฟ้องว่า “จำเลยซึ่งมิใช่พระสงฆ์หรือสามเณรในพระพุทธศาสนา ได้แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าจำเลยเป็นพระภิกษุหรือสามเณรในพระพุทธศาสนาโดยนุ่งห่มสบงและจีวร ซึ่งเป็นการแต่งกายของพระภิกษุหรือสามเณรในพระพุทธศาสนาโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นที่พบเห็นเชื่อว่าจำเลยเป็นพระภิกษุหรือสามเณรในพระพุทธศาสนา”
สำหรับข้อต่อสู้สำคัญในคดีแต่งกายเลียนสงฆ์ของสมณะดาวดินที่ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คดี คือ ยืนยันว่าจำเลยไม่เคยแสดงตัวเป็นภิกษุโดยมิชอบ และไม่ได้มีการแต่งกายเป็นสมณะเพื่อไปเรียกผลประโยชน์ เรี่ยไร หรือประกอบพิธีให้บุคคลใด จำเลยเพียงแต่แต่งกายและถือวัตรปฏิบัติของสมณะหรือนักบวชในสันติอโศกเท่านั้น โดยจำเลยบวชเป็นสมณะมาเกือบ 20 ปี ไม่เคยหลบซ่อนหรือถูกดำเนินคดี จนมาอดอาหารร่วมเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมืองจึงถูกจับกุม อีกทั้งการดำรงสมณเพศดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการถือศาสนาตามรัฐธรรมนูญ
.
ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค. 2566 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาลงโทษปรับ 10,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าจำเลยไม่ใช่พระภิกษุในมหาเถรสมาคม จำเลยไม่เคยเข้าพิธีการบวชตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จึงไม่มีสิทธิแต่งกายตามแบบสงฆ์
จากนั้นฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์จึงมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 เม.ย. 2568 เวลา 09.00 น.
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่ามีความผิดฐานแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ แม้อีกสองคดีในข้อหาเดียวกันจะพิพากษายกฟ้อง และให้เสรีภาพในการนับถือและปฏิบัติตามลัทธิ
วันนี้ (23 เม.ย. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 409 เวลา 09.00 น. ทนายเดินทางมาศาล และได้แถลงว่าจำเลยกำลังเดินทางกลับจากต่างประเทศและสามารถเดินทางมาถึงศาลได้ในช่วงบ่ายของวันนี้ ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 14.00 น.
ช่วงบ่ายสมณะดาวดินเดินทางมาถึงศาลและนั่งรอในห้องพิจารณาคดีโดยแต่งกายนุ่งห่มด้วยจีวรแบบสันติอโศกเช่นเคย จากนั้นศาลได้ออกนั่งพิจารณาคดี โดยก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลได้สอบถามถึงสาเหตุการเดินทางไปต่างประเทศของจำเลย จำเลยแถลงว่าตนได้รับนิมนต์ไปร่วมงานศาสนาที่ไต้หวัน
จากนั้นในเวลา 14.10 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุปเป็นใจความสำคัญได้ดังนี้
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การแต่งกายของจำเลยโดยห่มผ้าลักษณะจีวรคล้ายสงฆ์ แม้จำเลยแจ้งว่าไม่ใช่ภิกษุและไม่มีใบสุทธิ แต่การที่จำเลยนุ่งห่มจีวรอ้างว่าเป็นแบบสมณะสันติอโศก พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้วิญญูชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่าจำเลยเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา การแต่งกายดังกล่าวจึงเป็นการแต่งกายที่แสดงเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาโดยมิชอบ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นชอบด้วย
พิพากษายืนว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ลงโทษปรับ 10,000 บาท
หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น สมณะดาวดินจึงเดินทางกลับบ้าน และไม่ต้องจ่ายค่าปรับเพิ่ม เนื่องจากได้จ่ายค่าปรับไปแล้วในวันฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
.
อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ทั้ง 3 คดีที่สมณะดาวดินถูกกล่าวหา ศาลได้มีคำพิพากษาออกมาทั้งหมดแล้ว โดยมีทั้งคำพิพากษายกฟ้องและลงโทษ ซึ่งมีบางคดีที่สิ้นสุดแล้ว และบางคดีที่ยังไม่สิ้นสุด ดังนี้
คดีที่ 1 เหตุวันที่ 21 เม.ย. 2564 – ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าจำเลยแต่งกายและมีข้อปฏิบัติแตกต่างกับพระภิกษุสงฆ์ ประชาชนสามารถแยกความแตกต่างได้ จำเลยสามารถปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตนได้ ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์
คดีที่ 2 เหตุวันที่ 22 เม.ย. 2564 – ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้อง เห็นว่าจำเลยเพียงแต่งกายตามลัทธิที่ตนนับถือ ใช้ชีวิตโดยเปิดเผย และไม่ได้หลอกลวงผู้อื่น อีกทั้งประชาชนโดยทั่วไปสามารถแยกแยะได้ว่าแตกต่างจากคณะสงฆ์ทั่วไป คดีสิ้นสุดแล้ว
คดีที่ 3 (หรือคดีนี้) เหตุวันที่ 29 เม.ย. 2564 – ศาลแขวงดุสิตลงโทษปรับ 10,000 บาท เห็นว่าไม่มีสิทธิแต่งกายตามแบบสงฆ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยเห็นว่าการแต่งกายทำให้วิญญูชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่าเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง