วันที่ 31 ต.ค. 2566 ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาในคดีแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ของ “สมณะดาวดิน” หรือดาวดิน ชาวหินฟ้า อดีตนักบวชสันติอโศก วัย 61 ปี กรณีจากเหตุปักหลักอดอาหารหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564
ศาลพิพากษายกฟ้อง เห็นว่าการกระทำจะเป็นความผิดได้จะต้องมีเจตนาพิเศษคือเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น แต่ในทางนำสืบพยานพบว่าการแต่งกายของจำเลยแตกต่างกันกับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งประชาชนสามารถแยกความแตกต่างดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกัน จำเลยจึงสามารถปฏิบัติตนตามความเชื่อทางศาสนาของตนได้
.
ย้อนไปในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 11.40 น. ขณะที่สมณะดาวดิน กำลังนั่งอดอาหารเพื่อร่วมเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองมาเป็นวันที่ 8 ได้ถูกตำรวจ สน.พหลโยธิน สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพุทธศาสนา จับกุมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 “แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุ สามเณร โดยมิชอบ” โดยสมณะดาวดินถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ก่อนได้รับการอนุญาตประกันตัวด้วยเงินสด 9,000 บาท
ในวันที่ 20 พ.ค. 2564 ภูมิกิจ กวีพันธ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ก่อนมีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 25 – 26 ม.ค. 2565
หลังจากสืบพยานเสร็จสิ้น ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.อ. มาตรา 208 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เรื่องการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ และรอการพิพากษาไว้ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ก่อนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว
วันนี้ (31 ต.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้
เห็นว่า การกระทำจะเป็นความผิดตามมาตรา 208 ได้จะต้องมีเจตนาพิเศษ (เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น) แต่ในทางนำสืบพยานจำเลยแต่งกายด้วยผ้าสามสี ตามภาพถ่ายขณะถูกจับกุม แม้จะมีสีแก่นขนุน แต่ก็มีสีแตกต่างกับสีจีวร และมีวิธีห่มคลุมผ้าแตกต่างกันกับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งประชาชนสามารถแยกความแตกต่างดังกล่าวได้
อีกทั้งยังมีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันคือ ไม่โกนคิ้ว ไม่ประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ ไม่พรมน้ำมนต์ ไม่จุดธูปเทียนบูชา ไม่มีบัญชีเงินฝาก ดำรงชีพเพียงแค่การบิณฑบาตซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดยิ่งกว่าพระภิกษุสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นแนวปฏิบัติในลักษณะเดียวกับกลุ่มนักบวชสันติอโศก จำเลยจึงสามารถปฏิบัติตนตามความเชื่อทางศาสนาของตนได้
จำเลยมีบาตรใช้สำหรับบิณฑบาตและถูกยึดไว้ขณะถูกจับกุม แม้บาตรจะเป็นเครื่องอัฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์ แต่ก็มิได้มีกฎหมายห้ามมิให้บุคคลดำรงชีพโดยการใช้บาตร จึงไม่อาจฟังได้ว่าการใช้บาตรของจำเลยเป็นการใช้เครื่องหมายที่แสดงออกว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์โดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย
พิพากษายกฟ้องและให้คืนของกลางแก่จำเลย
นอกจากคดีนี้ สมณะดาวดินยังถูกฟ้องในคดีแต่งกายเลียนแบบพระอีกสองคดี โดยคดีหนึ่งฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือและมีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566
ส่วนอีกคดีหนึ่งที่ศาลแขวงดุสิต ก็มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 เห็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 208 ลงโทษปรับ 10,000 บาท โดยคดีนี้ฝ่ายจำเลยยังมีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา