ศาลอาญาเริ่มสั่งห้ามนำเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีเผยแพร่สู่สาธารณะ ในคดี ม.112 – คดีประชาชนให้ความสนใจ

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในการพิจารณาคดีของศาลอาญา ได้เริ่มมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาในรายคดี โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 และคดีจากการแสดงออกทางการเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจ โดยระบุห้ามมิให้บุคคลใดนำเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีและในศาลอาญาถ่ายทอดเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพบว่ามีอย่างน้อย 4 คดีแล้ว ที่ศาลมีคำสั่งในลักษณะเดียวกันนี้ แม้จะไม่ใช่องค์คณะเดียวกัน

.

ศาลอาญาสั่งห้ามเผยแพร่เหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี ในอย่างน้อย 4 คดี

สำหรับคดีที่พบว่าศาลอาญามีการดำเนินการสั่งห้ามเผยแพร่เหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี จนถึงวันที่ 23 เม.ย. 2568 พบแล้วอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่

1. วันที่ 28 มี.ค. 2568 ในการนัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลของ อานนท์ นำภา นอกจากศาลจะให้นำตัวอานนท์ไปอ่านคำสั่งในห้องเวรชี้ ซึ่งประชาชนหรือผู้สังเกตการณ์คดีที่เดินทางไปติดตามคดีไม่สามารถเข้าฟังได้แล้ว รวมทั้งอานนท์ยังพยายามแสดงออกประท้วงการอ่านคำสั่งในลักษณะที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนดังกล่าว โดยการถอดเสื้อประท้วง และเตะขาซึ่งสวมโซ่กุญแจข้อเท้าสลับซ้ายขวาไปเรื่อย ๆ ระหว่างศาลอ่านคำสั่ง 

หลังอ่านคำสั่ง ต่อมาพบว่าศาลยังมีการบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาคดีระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้บุคคลใดนำเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีและในศาลอาญาถ่ายทอดเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต มิฉะนั้น ศาลจะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลต่อไป“

2. ต่อมาพบว่าเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 ในการสืบพยานคดีมาตรา 112 ของ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถูกกล่าวหาจากกรณีไลฟ์ก่อนมีเสด็จ ที่ห้องพิจารณาคดี 903 ศาลที่พิจารณาคดีก็ได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนการพิจารณาในลักษณะเดียวกันนี้ทุกตัวอักษร

3. วันที่ 18 เม.ย. 2568 ในการสืบพยานคดีมาตรา 112 ของ อานนท์ นำภา กรณีปราศรัยในการชุมนุมที่หน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ที่ห้องพิจารณาคดี 806 ศาลก็ได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนการพิจารณาในลักษณะเดียวกันนี้ทุกตัวอักษร

4. ล่าสุดวันที่ 22-23 เม.ย. 2568 ในการสืบพยานคดีมาตรา 112 ของ “นรินทร์” กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กในเพจชื่อ “กูKult” ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลก็ได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนการพิจารณาในลักษณะเดียวกันนี้ทุกตัวอักษรเช่นกัน โดยสั่งในทั้งสองวันที่มีการสืบพยาน

.

แม้ก่อนหน้านี้ พบว่าอาจมีบางคดีที่ศาลเจ้าของสำนวนมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องการเผยแพร่กระบวนพิจารณาคดี เช่น ในคดีของอานนท์ นำภา กรณีปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเมื่อช่วงปลายปี 2567 ศาลทั้งสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ และสั่งห้ามเผยแพร่กระบวนพิจารณาคดี โดยอ้างว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง แต่การสั่งดังกล่าว ยังเป็นการดำเนินการในลักษณะเป็นรายคดี และการใช้ดุลยพินิจของศาลที่พิจารณาคดี ไม่ได้มีลักษณะเป็นนโยบายที่มีการสั่งอย่างต่อเนื่องกันในลักษณะที่กำลังเกิดขึ้นในรอบเดือนนี้

ควรบันทึกไว้ด้วยว่า ในคดีมาตรา 112 และคดีทางการเมืองในช่วงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้มีการดำเนินคดีในศาลทหาร ในบางคดี ก็มีความพยายามของศาลทหารในการสั่งห้ามการจดบันทึก และเผยแพร่เนื้อหาคดี แต่พบว่าโดยมากเป็นการกล่าวเป็นคำพูดต่อผู้สังเกตการณ์คดี ไม่ได้บันทึกในรายงานกระบวนการพิจารณาคดี

แนวโน้มการออกคำสั่งห้ามเผยแพร่ในหลายคดี โดยมีเนื้อหาเหมือนกันทุกตัวอักษรและออกโดยองค์คณะต่างกัน อาจสะท้อนว่าไม่ได้เกิดจากดุลยพินิจเฉพาะกรณีของผู้พิพากษาแต่ละราย แต่เป็นผลจากนโยบายจากผู้บริหารศาล หากเป็นเช่นนี้จริง ย่อมขัดต่อหลักการอิสระของตุลาการ (Judicial Independence) เพราะอำนาจในการออกคำสั่งจำกัดสิทธิควรอยู่ภายใต้การพิจารณาในคดีอย่างเฉพาะเจาะจง มิใช่แนวนโยบายแบบเหมารวม

.


ความสงบเรียบร้อยในศาล vs สิทธิของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจ

ในกระบวนการยุติธรรมที่ยึดหลักนิติธรรม (Rule of Law) การเปิดเผยกระบวนการพิจารณาคดีต่อสาธารณะมิใช่เพียงหลักปฏิบัติเพื่อความโปร่งใส หากแต่เป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุล (Check and balance) อำนาจตุลาการ และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ดี คำสั่งห้ามเผยแพร่เหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีของศาลอาญา ซึ่งปรากฏในหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือคดีเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 ได้ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญ

โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลัก “การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย” (Public Trial) และสิทธิของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งจะนำไปสู่สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to Fair Trial) ซึ่งจะรับรองว่าหากมีการใช้กฎหมาย หรือกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม จะต้องปรากฏต่อสาธารณะ นำไปสู่การถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

ทั้งนี้ แม้ว่าศาลจะมีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดระเบียบหรือข้อจำกัดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นไปเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและเที่ยงธรรม แต่อำนาจดังกล่าวก็จำเป็นต้องถูกใช้ภายใต้กรอบของความเหมาะสม ความได้สัดส่วน (Proportionality) และต้องไม่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยไม่จำเป็น

.

กระบวนการยุติธรรมในที่ลับ: ความเสี่ยงของคำสั่งศาลต่อการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ

ปัญหาสำคัญอีกประการที่ตามมาจากคำสั่งห้ามเผยแพร่ คือ ความไม่ชัดเจนของขอบเขตคำสั่ง โดยใช้ข้อความคลุมเครือ เช่น “ห้ามเผยแพร่เหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี” ซึ่งอาจครอบคลุมการถ่ายทอดถ้อยคำจากการอ่านคำพิพากษา การบรรยายภาพบรรยากาศ หรือแม้แต่การอธิบายปฏิกิริยาของผู้พิพากษาหรือคู่ความในห้องพิจารณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจธรรมชาติของกระบวนการ

เมื่อไม่มีคำจำกัดความหรือแนวทางการตีความที่ชัดเจน การบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวจึงอาจกลายเป็นเครื่องมือทางอำนาจที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ ผู้ใดฝ่าฝืนอาจถูกดำเนินคดีฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” ซึ่งมีโทษจำคุก และที่สำคัญคือ เป็นคดีที่ศาลสามารถดำเนินการเองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกล่าวหาแบบปกติ กล่าวคือ ศาลเป็นทั้ง “ผู้กล่าวหา ผู้ไต่สวน และผู้พิพากษา” ในคดีเดียวกัน อันขัดต่อหลักศุภนิติกระบวน (Due Process) และหลักการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)

ความเสี่ยงที่ตามมาคือ การสร้างวัฒนธรรมแห่ง “ความกลัว” ในห้องพิจารณาคดี ผู้สื่อข่าวไม่กล้ารายงานข้อเท็จจริง นักวิชาการไม่สามารถนำคดีมาใช้ในชั้นเรียนหรือการศึกษาวิจัย และประชาชนขาดข้อมูลสำคัญในการประเมินความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรม ก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “ความยุติธรรมในที่มืด” 

สิ่งนี้ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นพื้นที่ปิด ที่หลุดพ้นจากการตรวจสอบโดยสาธารณะ อันเป็นลักษณะที่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีโดย “เปิดเผย” พื้นฐานของการพิจารณาคดีอาญา และพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) 

ดังนั้น หากกระบวนการพิจารณาของศาลสามารถเปิดเผยได้อย่างโปร่งใส มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเปิดช่องให้มีการโต้แย้งหรือรับฟังความเห็นจากสาธารณะ ก็จะช่วยเสริมสร้างความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม เป็นไปตามหลักนิติธรรมและยึดโยงกับประชาชนได้อย่างแท้จริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสถาบันตุลาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปพร้อมกัน

.

X