วันที่ 4 เม.ย. 2568 ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านและเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ พร้อมทั้งหนังสือสอบถามและอนุเคราะห์ข้อมูล ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา สำเนาถึงประธานศาลฎีกา หลังเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้อ่านคำสั่งในคดีละเมิดอำนาจศาลของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน ที่ห้องเวรชี้ โดยไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าฟัง จึงเป็นการอ่านคำสั่งโดยไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เหตุในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากในนัดสืบพยานคดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 อานนท์ ในฐานะจำเลย ได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่ 2 หลังเคยถอดเสื้อประท้วงมาแล้วครั้งหนึ่งในนัดสืบพยานก่อนหน้า (4 มิ.ย. 2567) เนื่องจาก เรืองฤทธิ์ บัวลอย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อ โดยไม่มีเอกสารดังกล่าว
หลังเหตุการณ์ถอดเสื้อประท้วงดังกล่าว ศาลได้ตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลกับอานนท์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาเป็นผู้กล่าวหา และมีการเบิกตัวอานนท์ไปไต่สวนในวันที่ 23 ม.ค. 2568 โดยอานนท์ไม่ทราบนัดล่วงหน้ามาก่อน และยังไม่มีทนายความ แต่อานนท์ยืนยันขอเลื่อนคดี ศาลจึงเลื่อนการไต่สวนไปเป็นวันที่ 5 มี.ค. 2568
อย่างไรก็ตาม ในนัดไต่สวนวันที่ 5 มี.ค. 2568 มีเพียงพยานผู้กล่าวหาเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ สุธิศา อินทปัญสกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหา และ จ่าสิบเอกประพันธุ์ สุระหลวง ตำรวจศาล โดยศาลสั่งตัดพยานผู้กล่าวหาปากสำคัญคือ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในวันเกิดเหตุ เนื่องจากติดสืบพยานคดีอื่นอยู่ และเมื่ออานนท์ยืนยันให้รอพยานปากดังกล่าวมาเบิกความก่อน อานนท์และพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นนักวิชาการอีก 3 ปาก จึงจะเบิกความตามลำดับต่อไป ศาลก็ให้งดสืบพยานผู้ถูกกล่าวหาด้วย
ต่อมา วันที่ 28 มี.ค. 2568 ศาลนัดอ่านคำสั่งในคดีนี้ แต่ไม่ได้มีการเบิกตัวอานนท์ขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 809 โดย ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้สั่งให้เบิกตัวอานนท์และตามตัวทนายความลงไปที่ห้องเวรชี้ 2 โดยประชาชนไม่สามารถเข้าฟังได้ และอ่านคำสั่งในคดีนี้
ภายหลังทราบจากอานนท์ว่า ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 6 เดือน เนื่องจากเป็นทนายความที่รู้กฎหมายเป็นอย่างดี เห็นควรต้องลงโทษให้เข็ดหลาบ จึงลงโทษขั้นสูงสุด
ต่อมา ในวันที่ 4 เม.ย. 2568 อานนท์ให้ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านและเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบต่อศาลอาญา พร้อมทั้งส่งหนังสือสอบถามและขออนุเคราะห์ข้อมูล ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา สำเนาถึงประธานศาลฎีกา ระบุถึงเหตุการณ์ที่ศาลยืนยันจะอ่านคำสั่งในคดีนี้ โดยไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์หรือประชาชนเข้าฟัง ไม่ว่าอานนท์และทนายความผู้ถูกกล่าวหาจะแถลงโต้แย้งอย่างไร ทำให้อานนท์ถอดเสื้อประท้วงเป็นครั้งที่ 4 และเตะขาซึ่งสวมโซ่กุญแจข้อเท้าสลับซ้ายขวาไปเรื่อย ๆ ระหว่างศาลอ่านคำสั่ง
.
อานนท์เขียนคำร้องคัดค้านและขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ ระบุ การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต้องเปิดเผยกับสื่อและคนทั่วไป การปิดกั้นประชาชนเข้าร่วมจึงเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ ขอศาลเพิกถอนและอ่านคำสั่งโดยเปิดเผย ให้ประชาชนเข้าฟังได้
คำร้องคัดค้านและขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ ลงวันที่ 4 เม.ย. 2568 ที่เขียนโดยอานนท์ ผู้ถูกกล่าวหา ระบุว่า ในวันที่ 28 มี.ค. 2568 ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้แจ้งแก่ทนายความว่า ให้ทนายความหลักเพียง 1 คน ลงไปที่ห้องเวรชี้ โดยขณะนั้นมีทนายความ ประชาชน ตัวแทนจากสถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศมาสังเกตการณ์และมารอฟังคำสั่งศาลที่ห้องพิจารณาคดีที่ 809 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำตัวผู้ถูกกล่าวหามาที่ห้องพิจารณาคดีแต่อย่างใด
เมื่อทนายความได้ลงไปที่ห้องเวรชี้ เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าศาลอนุญาตให้ทนายความเข้าในห้องเวรชี้ได้เพียง 1 คน แต่ทนายความโต้แย้งว่า วันนี้มีทนายความมา 2 คน และยืนยันว่าจะเข้าห้องเวรชี้ทั้ง 2 คน ต่อมา เจ้าหน้าที่จึงนำทนายความผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเข้าไปที่เข้าห้องเวรชี้ 2 ซึ่งเป็นห้องที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าฟังการอ่านคำสั่งของศาลได้ เนื่องจากเป็นห้องที่มีระบบล็อกทั้งหมดและต้องให้เจ้าหน้าที่ศาลนำเข้าไปเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตทนายความเข้าฟังได้เพียง 2 คนเท่านั้น และไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้า
ผู้ถูกกล่าวหาถูกนำตัวมาที่ห้องเวรชี้ 2 และได้พบกับทนายความทั้งสองคน ต่อมา ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ผู้พิพากษาเพียงคนเดียว ปรากฏตัวผ่านจอภาพเพื่ออ่านคำสั่ง ผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงผ่านไมโครโฟนว่า การอ่านคำสั่งศาลต้องกระทำโดยเปิดเผยในห้องพิจารณาคดีต่อหน้าประชาชนและผู้สังเกตการณ์คดี ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งคดีนี้ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับแต่อย่างใด และขอศาลอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีตามปกติ
ผู้ถูกกล่าวหาแถลงอีกว่า การอ่านคำสั่งของศาลในห้องเวรชี้ 2 โดยอนุญาตให้เฉพาะทนายความของผู้ถูกกล่าวหาเข้าเท่านั้น เป็นการอ่านคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยหลักการกฎหมายและวิธีพิจารณาคดี และไม่ต่างอะไรกับการพิจารณาคดีลับ ขอให้ศาลอ่านคำสั่งในห้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผยให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ศาลยืนยันจะอ่านคำสั่งทันที โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและทนายความไม่ยินยอม
ผู้ถูกกล่าวหาจึงถอดเสื้อประท้วงการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหาและทนายความขอไม่เข้าร่วมกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอออกไปจากห้องเวรชี้ 2 แต่ศาลไม่ให้ออกและให้เจ้าหน้าที่ขวางประตูเอาไว้
ผู้ถูกกล่าวหาได้ขอให้ศาลทบทวนคำสั่งอีกครั้ง แต่ศาลกล่าวว่า ศาลไม่ใช่โรงละครหรือโรงงิ้วที่จะให้ประชาชนเข้ามาดู และได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลปิดไมโครโฟนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะใช้ในการพูดแถลงต่อศาล จากนั้นจึงเริ่มอ่านคำสั่งโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหลายนายยืนล้อม จับบังคับ และล็อคตัวผู้ถูกกล่าวหาให้อยู่บริเวณหน้าจอภาพ
ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถแถลงข้อโต้แย้งใด ๆ ต่อศาลได้อีก เนื่องจากถูกปิดไมโครโฟน จึงได้เตะขาสลับซ้ายขวาไปเรื่อย ๆ โดยที่ข้อเท้าถูกสวมโซ่กุญแจเท้าตามระเบียบเรือนจำอยู่ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ถูกกล่าวหาจึงโต้แย้งคัดค้านการอ่านคำสั่งศาลในวันดังกล่าวด้วยเหตุผลตามหลักการและกฎหมาย ดังนี้
ประการแรก ป.วิ.อาญา ระบุให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผย สอดคล้องกับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ซึ่งต้องเปิดเผยให้กับทั้งสื่อและคนทั่วไป ไม่ใช่กับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผย อันเป็นไปตามหลักการสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย (Right to public trial) เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to Fair Trial) ซึ่งหมายความว่า ระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าในข้อหาใดก็ตาม ครอบครัว ญาติ เพื่อน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน หรือประชาชนคนทั่วไปที่สนใจอยากทราบรายละเอียดในการพิจารณาคดี ต้องสามารถเข้าไปร่วมรับฟังกระบวนการพิจารณาคดีในศาลได้
การพิจารณาโดยเปิดเผยนี้จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสร้างความโปร่งใสของการใช้อำนาจตุลาการ และเพื่อรับประกันว่าจำเลยจะได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียม ศาลจึงมีหน้าที่ในการแจ้งวันเวลาการพิจารณาคดีให้กับสาธารณชนรับทราบโดยเปิดเผย รวมถึงจัดการสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ประชาชนสามารถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้อย่างราบรื่นและเหมาะสม สิทธิในการเข้าฟังการพิจารณาคดี เป็นสิทธิที่ได้รับการยอมรับในทางสากล รับรองในกติกาข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ข้อ 10 ได้ให้การรับรองว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม
และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 14 ระบุไว้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม
นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยนั้นต้องเป็นการเปิดเผยให้กับทั้งสื่อและคนทั่วไป ไม่ใช่การเปิดเผยให้กับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น การพิจารณาคดีจะเป็นธรรมก็ต่อเมื่อไม่มีอิทธิพลจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามีส่วนในการตัดสินใจของศาล
ดังนั้น การกีดกันประชาชนหรือสาธารณชนออกไปไม่ให้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีหรือคำพิพากษาจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยได้ คดีละเมิดอำนาจศาลกล่าวกันว่าเป็นคดีผงเข้าตาศาล ต้องพิจารณาคดีอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาต่อศาล ด้วยเหตุดังกล่าวการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนจึงเป็นกระบวนการที่โปร่งใส ถูกต้อง และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายรวมถึงศาลด้วย
ประการที่สอง การอ่านคำสั่งผ่านจอภาพเป็นกรณีระหว่างศาลกับเรือนจำและต้องได้รับความยินยอม แต่อานนท์ถูกเบิกตัวมาศาลแล้วและไม่ยินยอมให้อ่านคำสั่งโดยไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าฟัง ทั้งศาลไม่ได้แจ้งวิธีการอ่านล่วงหน้า และไม่ปรากฏว่ามีองค์คณะผู้พิพากษาอยู่ร่วมในการอ่านคำสัง
ตามระเบียบการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้อง การอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาผ่านจอภาพ จะเป็นกรณีการอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาผ่านจอภาพระหว่างศาลและเรือนจำ ไม่ใช่กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกเบิกตัวมาศาลแล้ว และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกกล่าวหาด้วย
คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาแถลงต่อศาลอย่างชัดแจ้งว่า ไม่ยินยอมให้ศาลอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟัง เนื่องจากขัดกับหลักกฎหมายที่บัญญัติให้การอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาต้องทำโดยเปิดเผย
นอกจากนี้ การอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีนี้ มีผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีผ่านจอภาพเพียงนายเดียว และไม่ปรากฏว่ามีองค์คณะผู้พิพากษานั่งเป็นองค์คณะร่วมอยู่ด้วยแต่อย่างใด
การที่ศาลอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาที่ห้องเวรชี้ 2 โดยไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟัง จึงเป็นการอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยไม่เปิดเผย โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอม ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย เป็นการพิจารณาคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ อันเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ทั้งนี้ การอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาในห้องเวรชี้ 2 ศาลไม่ได้แจ้งต่อผู้ถูกกล่าวหาและทนายความผู้ถูกกล่าวหาถึงวิธีการในการอ่านคำสั่งดังกล่าวมาก่อนล่วงหน้า ผู้ถูกกล่าวหาเพิ่งทราบในวันที่ 28 มี.ค. 2568 ว่าศาลจะอ่านคำสั่งในห้องเวรชี้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเพิ่งได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลเหตุแห่งการคัดค้านกระบวนพิจารณาคดีโดยมิชอบ และผู้ถูกกล่าวหามิได้ดำเนินการอื่นใดหรือให้สัตยาบันภายหลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบดังกล่าว
.
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาจึงขอโต้แย้งคัดค้านการอ่านคำสั่งของศาลในวันที่ 28 มี.ค. 2568 เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีในวันดังกล่าว และขอศาลอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยเปิดเผยในห้องพิจารณาคดี และให้ผู้สังเกตการณ์และประชาชนเข้าร่วมฟังการอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาได้ โดยหมายแจ้งกำหนดนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกกล่าวหาและทนายความทราบล่วงหน้า เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย
.
อานนท์เขียนหนังสือสอบถามและขออนุเคราะห์ข้อมูล ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา พร้อมสำเนาถึงประธานศาลฎีกา ระบุ หากผู้พิพากษากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขออธิบดีฯ ดำเนินการตามกฎหมายและวินัยผู้พิพากษาในฐานะผู้บังคับบัญชา
หนังสือสอบถามและขออนุเคราะห์ข้อมูล ซึ่งอานนท์เขียนถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา พร้อมสำเนาถึงประธานศาลฎีกา ลงวันที่ 4 เม.ย. 2568 ระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเวรชี้ 2 และข้อมูลที่อานนท์ต้องการสอบถามและขออนุเคราะห์จากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อันเกี่ยวข้องกับการกระทำของ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน สามารถสรุปได้ดังนี้
ขณะอยู่ในห้องเวรชี้ 2 เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ผู้ถูกกล่าวหาได้สอบถามผู้พิพากษาว่า เหตุใดจึงอ่านคำสั่งในห้องเวรชี้ 2 รวมทั้งได้โต้แย้งว่าการอ่านคำสั่งต้องอ่านโดยเปิดเผยตามหลักกฎหมาย
ผู้พิพากษาอ้างว่า ในห้องพิจารณาคดีมีความวุ่นวาย ทนายความผู้ถูกกล่าวหาจึงโต้แย้งว่า ทนายความอยู่ในห้องพิจารณาตั้งแต่เช้า ไม่ปรากฏเหตุวุ่นวายใด ๆ และสอบถามทำนองว่า ใครวุ่นวายและวุ่นวายตอนไหน อย่างไร ให้ท่านระบุให้ชัดเจน แต่ผู้พิพากษาไม่สามารถระบุหรือชี้แจงได้ จึงอ้างว่าตนเป็นเวรชี้ต้องสั่งคดีจำนวนมาก
ทนายความผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งว่า หากศาลอ่านคำสั่งตามวิธีพิจารณาคดีปกติในห้องพิจารณาตามที่นัดเอาไว้ คดีนี้จะเสร็จไปนานแล้ว รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาได้โต้แย้งว่า แม้แต่คดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ อันเป็นที่มาของคดีละเมิดอำนาจศาลนี้ แม้ผู้พิพากษาสั่งพิจารณาคดีลับ แต่การอ่านคำพิพากษาก็ยังอ่านโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนตามปกติ
ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า การที่คดีนี้ไม่ได้สั่งพิจารณาคดีลับ แต่ผู้พิพากษาอ่านคำสั่งในห้องเวรชี้ 2 ซึ่งบุคคลที่จะเข้าไปได้ต้องได้รับอนุญาตก่อนเพราะมีระบบล็อคประตูหลายชั้นนั้น เป็นการอ่านคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยหลักการกฎหมายและวิธีพิจารณาคดี และไม่ต่างอะไรกับการพิจารณาคดีลับ ขอให้ทบทวนคำสั่ง แต่ผู้พิพากษาแจ้งว่า ได้ปรึกษากับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแล้วและยืนยันว่าสามารถทำได้ การอ่านคำสั่งต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาและทนายความถือว่าเป็นการอ่านคำสั่งโดยเปิดเผยแล้ว ตนทำมาหลายคดีแล้ว
ผู้ถูกกล่าวหาพยายามอธิบายและโต้แย้งอยู่เป็นเวลานานว่า ผู้พิพากษากำลังดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือหากจะอ่านในห้องนี้ก็ได้ แต่ขอให้ประชาชนที่มารอได้เข้าร่วมฟังคำสั่งด้วยตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย แต่ผู้พิพากษาไม่รับฟังและยืนยันจะอ่านคำสั่งทันที โดยผู้ถูกกล่าวหาและทนายความไม่ยินยอม และไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอออกไปจากห้องเวรชี้ แต่ผู้พิพากษาไม่ให้ออกและให้เจ้าหน้าที่ขวางประตูเอาไว้
ผู้ถูกกล่าวหาจึงถอดเสื้อประท้วงการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ผู้พิพากษาทบทวนคำสั่งอีกครั้ง แต่ผู้พิพากษาไม่รับฟังและสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลปิดไมโครโฟน นำตัวผู้ถูกกล่าวหาไปยืนอยู่หน้าจอภาพ เจ้าหน้าที่ศาลจึงจับล็อคตัวผู้ถูกกล่าวหาไปยืนอยู่หน้าจอภาพ จากนั้นผู้พิพากษาเริ่มอ่านคำสั่ง ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถพูดอะไรได้แล้ว เนื่องจากพูดไปผู้พิพากษาก็ไม่ได้ยินเสียง ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้เตะขาสลับซ้ายขวาไปเรื่อย ๆ โดยที่ข้อเท้าถูกสวมกุญแจเท้าอยู่ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับผู้พิพากษาที่ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จากพฤติการณ์ดังกล่าวของ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อานนท์จึงสอบถามและขออนุเคราะห์ข้อมูลมายังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ดังนี้
1. ตามที่ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ อ้างว่าได้ปรึกษาท่านแล้วและท่านอนุญาตให้อ่านคำสั่งในห้องเวรชี้ 2 ได้นั้น เป็นความจริงหรือไม่
หากเป็นความจริง ข้าฯ ขอสอบถามท่านว่า อาศัยอำนาจตามกฎหมายใดในการอ่านคำสั่งโดยไม่เปิดเผยในห้องเวรชี้ 2 ซึ่งไม่ต่างจากการพิจารณาคดีลับ
หากไม่เป็นความจริง โดย ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ แอบอ้างท่านเพื่อกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้าฯ ขอให้ท่านดำเนินการตามกฎหมายและวินัยผู้พิพากษาในฐานะที่ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของศาลอาญา
2. คดีนี้ไม่ใช่คดีศาลแขวงที่ผู้พิพากษานายเดียวนั่งพิจารณาคดี การอ่านคำสั่งในวันดังกล่าว มีเพียง ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ นั่งพิจารณาเพียงคนเดียว ไม่ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาอื่นนั่งเป็นองค์คณะร่วมอ่านคำสั่งด้วยแต่อย่างใด ข้าฯ ขอสอบถามว่า ท่านทราบข้อเท็จจริงนี้หรือไม่ และการกระทำดังกล่าว ท่านเห็นว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด
3. ตามที่ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ อ้างว่าการอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาในห้องเวรชี้นั้น ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายและทำมาหลายคดีแล้ว เป็นความจริงหรือไม่ และสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การกระทำนั้นอยู่ภายใต้การอนุญาตของท่านหรือไม่ อย่างไร
ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ รวมถึงผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาและนิติกรชำนาญการพิเศษผู้รับมอบอำนาจผู้อำนวยการฯ ในคดีละเมิดอำนาจศาล เข้าใจและตีความหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยว่า เป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อประชาชนที่มารอฟังการพิจารณา
ข้าฯ ขอสอบถามท่านว่า เข้าใจ ตีความ และบังคับใช้หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยไปในลักษณะเดียวกันกับ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ หรือไม่ อย่างไร และท่านเห็นว่าการอ่านคำสั่งของ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ที่ไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการอ่านคำสั่งศาลถือเป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยหรือไม่ อย่างไร
4. ตามระเบียบการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาผ่านจอภาพ ข้าฯ ทราบดีว่าทำได้ในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งระเบียบดังกล่าวใช้เฉพาะในช่วงที่ยังมีวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเป็นการอ่านผ่านจอภาพระหว่างศาลและเรือนจำ ไม่ใช่กรณีที่ข้าฯ ถูกเบิกตัวมาศาลแล้ว อีกทั้งกรณีตามระเบียบดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากข้าฯ ก่อนด้วย
นอกจากนี้ ข้าฯ ไม่พบว่ามีระเบียบอื่นใดที่ให้อำนาจ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ กระทำการดังกล่าวได้ การอ่านคำสั่งคดีนี้ ข้าฯ ถูกเบิกตัวมาศาลแล้วและการนำตัวข้าฯ ขึ้นมาฟังคำสั่งในห้องพิจารณาคดี 809 ตามกระบวนวิธีพิจารณาคดีปกติ เป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
ข้าฯ จึงเห็นว่าการอ่านคำสั่งของ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักการที่สากลยอมรับ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อศาลอาญาอย่างมาก
หากท่านไม่ได้เป็นผู้อนุญาตให้ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ กระทำการดังกล่าว ข้าฯ ขอให้ท่านสอบสวนหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำเช่นนี้อีก รวมทั้งดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่ของท่านต่อไป และขอให้ท่านตรวจสอบว่านอกจากข้าฯ แล้ว ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ได้กระทำการในลักษณะเช่นนี้ในคดีอื่นอีกหรือไม่ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาของท่าน
5. ข้าฯ เห็นว่าการอ่านคำสั่งในห้องเวรชี้ 2 โดย ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลจับล็อคตัวข้าฯ ไปยืนหน้าจอภาพเพื่อฟังคำสั่ง ถือเป็นวิธีการที่ป่าเถื่อน ไร้อารยะ ทั้งที่ข้าฯ โต้แย้งศาลด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายว่าเป็นการอ่านคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้าฯ ไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการ
ข้าฯ จึงขอสอบถามท่านว่า ท่านได้ทราบถึงการกระทำของนายธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ดังกล่าวข้างต้นแล้วหรือไม่ และท่านเห็นว่าพฤติกรรมการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด
6. ในคดีละเมิดอำนาจศาลคดีนี้ ศาลมีคำสั่งในคำกล่าวหาว่า “นัดไต่สวน หมายเบิกผู้ถูกกล่าวหาพร้อมสำเนาคำกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหา” แต่ปรากฏว่าข้าฯ ไม่ได้รับสำเนาคำกล่าวหาล่วงหน้าก่อนวันนัดไต่สวนแต่อย่างใด ในฐานะที่ท่านเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ข้าฯ ขอให้ท่านกำชับผู้พิพากษาในความดูแลของท่านให้ดำเนินการส่งสำเนาคำกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบล่วงหน้า เพื่อจัดหาทนายความและยื่นคำให้การแก้คำกล่าวหาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนในการใช้ดุลพินิจของศาล
แม้คดีละเมิดอำนาจศาลจะใช้วิธีไต่สวน แต่เป็นคดีที่ผู้พิพากษาแต่โบราณกล่าวกันว่าเป็นคดีผงเข้าตาศาล ต้องพิจารณาคดีอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาต่อศาล ไม่ว่าคดีของข้าฯ หรือคดีอื่นใด ข้าฯ ขอให้ท่านกำหนดแนวทางแก่ผู้พิพากษาในความดูแลของท่านเกี่ยวกับการดำเนินการในคดีละเมิดอำนาจศาลให้ไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกันโดยคำนึงถึงหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาเป็นสำคัญ
7. ข้อเท็จจริงต่างๆ ในหนังสือฉบับนี้ มาจากความจำของข้าฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจมีรายละเอียดบางส่วนคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่สาระสำคัญเป็นไปตามหนังสือฉบับนี้ ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ข้าฯ ขอให้ท่านเก็บไฟล์ข้อมูลเหตุการณ์วันที่ 28 มี.ค. 2568 ในห้องพิจารณาคดีที่ 809 จากกล้องวงจรปิดและทุกช่องทางที่มีการบันทึกภาพและเสียง ที่ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ได้อ้างว่ามีความวุ่นวายในห้องดังกล่าวจึงต้องอ่านผ่านจอภาพในห้องเวรชี้ 2 แทน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าในห้องพิจารณาคดีที่ 809 ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นตามที่ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ กล่าวอ้าง
รวมทั้งไฟล์ข้อมูลเหตุการณ์ในห้องเวรชี้ 2 จากกล้องวงจรปิดและทุกช่องทางที่มีการบันทึกภาพและเสียง เพื่อเป็นพยานหลักฐานในกรณีที่เกิดข้อโต้แย้งในการพิจารณาต่อไป รวมทั้งเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินการและใช้สิทธิตามกฎหมายของข้าฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดรวมทั้งกล้องบันทึกภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งในห้องพิจารณาคดีและห้องเวรชี้ เป็นข้อมูลในความครอบครองของท่านและท่านสามารถสั่งการให้เก็บรวมรวมไว้ได้โดยง่าย จึงขอให้ท่านดำเนินการ ไม่เช่นนั้น กรณีจะเป็นดั่งคดีละเมิดอำนาจศาล ที่เจ้าหน้าที่ศาลที่เกี่ยวข้องอ้างว่าไม่สามารถหาภาพวิดีโอเหตุการณ์มาประกอบการไต่สวนได้
ข้าฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์หรือข้ออ้างจากเจ้าหน้าที่ศาลในลักษณะเช่นเดียวกันอีก เพราะจะสะท้อนความด้อยประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาลและในห้องพิจารณาคดีเป็นอย่างมาก และอาจทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงว่ามีความพยายามในการปกปิดข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของท่านหรือไม่
.
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการและอนุเคราะห์ข้อมูล เพื่อที่ข้าฯ จะดำเนินการตามกฎหมายและประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการตามสิทธิของข้าฯ ต่อไป
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลและ รปภ.ศาล ที่เข้ามาล็อคตัวหรือกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของข้าฯ ข้าฯ ไม่ได้โกรธเคืองใดๆ เพราะข้าฯ เข้าใจดีว่า เขาเหล่านั้นดำเนินการไปตามคำสั่งของ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ และผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา