พรุ่งนี้ (5 มี.ค. 2568) เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ร่วมสังเกตการณ์นัดหมายไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลของ “อานนท์ นำภา” เหตุถอดเสื้อประท้วงศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญในคดีมาตรา 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 เพื่อยืนยันสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567
เหตุในคดีนี้ สืบเนื่องจากนัดสืบพยานคดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 อานนท์ ในฐานะจำเลย ได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่สอง หลังเคยถอดเสื้อประท้วงมาแล้วครั้งหนึ่งในนัดสืบพยานก่อนหน้า (4 มิ.ย. 2567) เนื่องจาก เรืองฤทธิ์ บัวลอย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายความถามค้านพยานโจทก์ต่อโดยไม่มีพยานเอกสารดังกล่าว
ทันทีที่อานนท์ถอดเสื้อออก ศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับ ทั้งสั่งห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่ อ้างว่าเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง อีกทั้งศาลได้ตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลกับอานนท์กรณีถอดเสื้อในห้องพิจารณาคดี โดยระบุว่า ศาลเคยได้ปรามจำเลยในการถอดเสื้อในการถอดเสื้อในครั้งก่อนแล้ว ครั้งนี้จำเลยยังทำการถอดเสื้อ เห็นว่าเป็นการก่อความวุ่นวายและแสดงตนไม่เรียบร้อยในศาล ไม่เคารพการพิจารณาคดี
.
ศาลอาญาเบิกตัวอานนท์มาไต่สวนโดยไม่มีทนายความ – คำกล่าวหาระบุการถอดเสื้อเป็นการแสดงตนไม่เรียบร้อยในศาลและไม่เคารพการพิจารณาคดี
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีการนำตัวอานนท์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ศาลอาญา ห้องพิจารณาที่ 809 เพื่อไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่ทราบนัดล่วงหน้ามาก่อน และยังไม่มีทนายความ
เอกสารคำกล่าวหา ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2567 มี สุธิศา อินทปัญสกุล ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา รับมอบอำนาจ เป็นผู้กล่าวหา ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 เวลากลางวัน อานนท์ นำภา ผู้ถูกกล่าวหา ได้มาศาลเพื่อสืบพยานโจทก์และจำเลย ศาลได้เรียกคู่ความในบัลลังก์ คู่ความทุกฝ่ายมาศาล และศาลให้พยานสาบานตน แต่จำเลยแถลงคัดค้านว่าเอกสารที่จำเลยขอให้ศาลเรียก ยังไม่ได้มาประกอบในการถามค้านและยังไม่ได้เอกสารอื่นตามหลักฐาน ศาลแจ้งว่า กรณีเอกสารดังกล่าวเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ฝ่ายจำเลยยืนยันว่าเอกสารไม่ขัดตามรัฐธรรมนูญและขอให้ศาลเรียกเอกสารดังกล่าวมา ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต
เมื่อศาลได้มีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในห้องพิจารณาคดี กล่าวคือ ผู้ถูกกล่าวหาได้ถอดเสื้อ ซึ่งการกระทำลักษณะดังกล่าว ศาลเคยได้ปรามจำเลยในการถอดเสื้อครั้งก่อนแล้ว แต่ครั้งนี้ยังกระทำอีก พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการใช้กริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญหรือกระทำในลักษณะที่เป็นการยั่งยุ จูงใจ สนับสนุนใด ๆ ในการกระทำดังกล่าวในห้องพิจารณาคดี ซึ่งก่อความวุ่นวายเป็นการแสดงตนไม่เรียบร้อยในศาลและไม่เคารพในการพิจารณาคดี
ในวันดังกล่าว อานนท์ได้โต้แย้งกับ ธีรเดช กิ่งแก้วจิรกุล และ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ องค์คณะผู้พิพากษาที่ไต่สวน ถึงกระบวนการพิจารณาที่เร่งรีบและไม่เป็นไปตามขั้นตอน และได้มีการโทรศัพท์ปรึกษาหารือกับทนายความ ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนนัดไต่สวนไปเป็นวันที่ 5 มี.ค. 2568
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2568 ทนายความได้ยื่นคำให้การแก้คำกล่าวหา, บัญชีพยานผู้ถูกกล่าวหา, คำร้องขอออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานวัตถุ และคำร้องขอให้ศาลใช้ระบบบันทึกคำพยานด้วยภาพและเสียง (e-Hearing) ต่อศาลอาญา
.
คำแก้ข้อกล่าวหาระบุถอดเสื้อประท้วงความไม่เป็นธรรมของศาล ไม่ผิดละเมิดอำนาจศาล – ขอศาลไม่พิจารณาคดีอย่างเร่งรัดจนเสียความยุติธรรม
คำให้การแก้คำกล่าวหาเพื่อประกอบการไต่สวนของศาล สามารถสรุปใจความได้เป็น 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก ขอศาลไต่สวนคดีนี้โดยคำนึงถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ไม่พิจารณาคดีอย่างเร่งรัดจนเสียความยุติธรรม และให้สืบพยานอย่างเต็มที่ตามบัญชีพยาน
ผู้ถูกกล่าวหาหวังว่า ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาในการไต่สวนโดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ไม่พิจารณาโดยรวบรัดหรือเร่งรัดคดีจนกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหานำเสนอพยานหลักฐานประกอบการไต่สวนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปและเหตุผลความจำเป็นของการถอดเสื้อเพื่อประท้วงศาล เพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายจากการใช้อำนาจของศาลซึ่งละเมิดหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีลงวันที่ 23 ม.ค. 2568 ผู้ถูกกล่าวหายืนยันต่อศาลว่ายังไม่มีทนายความและยังไม่ได้ปรึกษาทนายความ รวมทั้งเพิ่งได้รับสำเนาคำกล่าวหาในวันดังกล่าว แต่ศาลยังโทรศัพท์หาทนายความที่ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้แต่งตั้งเพื่อถามจำนวนพยานที่จะนำเข้าไต่สวน โดยทนายความยืนยันว่ายังไม่สามารถแจ้งได้ว่าจะนำพยานเข้าไต่สวนกี่ปาก เนื่องจากยังไม่เห็นคำกล่าวหา แต่ศาลก็บันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะสืบพยาน 3 ปาก
ความจริงแล้ว เมื่อทนายความได้พิจารณารายละเอียดและประเด็นสำคัญแห่งคดีร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ประสงค์จะสืบพยานตามที่ได้ระบุไว้ในบัญชีพยานฉบับลงวันที่ 25 ก.พ. 2568 จึงขอให้ศาลคำนึงถึงสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของผู้ถูกกล่าวหาและไม่พิจารณาคดีอย่างเร่งรัดเกินสมควรจนเสียความยุติธรรมไป
ประการที่สอง การถอดเสื้อประท้วงศาลไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบหรือความวุ่นวาย – รายงานกระบวนฯ ไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาออกข้อกำหนดหรือปราม
การถอดเสื้อประท้วงคำสั่งศาลและการพิจารณาคดีของศาลที่ดำเนินไปภายใต้อคติและไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ไม่เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาล แต่เป็นการแสดงออกเพื่อประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งมีสิทธิแสดงออกเพื่อคัดค้าน ไม่เห็นด้วย เพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายจากการใช้อำนาจของศาล ซึ่งละเมิดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยการถอดเสื้อของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุกับความยุติธรรมที่เกิดขึ้น
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 มุ่งคุ้มครอง “เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว” เป็นหลักการสำคัญ ส่วนบริบทเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลและการสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญ หรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควรนั้น ย่อมต้องเป็นไปเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วเช่นกัน การถอดเสื้อของผู้กล่าวหาจึงไม่ได้กระทบต่อความมุ่งหมายดังกล่าวเลย
ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพฤติกรรมใช้กริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญ หรือกระทำในลักษณะที่เป็นการยั่วยุ จูงใจ สนับสนุนใด ๆ ในการกระทำดังกล่าวในห้องพิจารณาคดี หรือก่อความวุ่นวาย หรือเป็นการแสดงตนไม่เรียบร้อยในศาลและไม่เคารพในการพิจารณาคดี ตามที่ผู้อำนวยการฯ ซึ่งไม่อยู่ในห้องพิจารณาคดีและไม่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวหาแต่อย่างใด
หลังจากผู้ถูกกล่าวหาถอดเสื้อเพื่อประท้วงศาล ก็ไม่ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายใด ๆ ขึ้น จนกระทั่งผู้พิพากษาสั่งพิจารณาลับ สั่งให้ตำรวจศาลเข้ามาในห้องพิจารณา และสั่งให้ประชาชนที่เข้ามาร่วมฟังการพิจารณาคดีออกไปจากห้องทุกคน ถ้าไม่ออกภายใน 5 นาทีจะจับขังให้หมด
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 หลังจากผู้ถูกกล่าวหาได้ถอดเสื้อเพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรมที่ผู้พิพากษาไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ การพิจารณาคดีก็ยังสามารถดำเนินไปได้จนเสร็จสิ้นโดยเรียบร้อย ประชาชนที่มาร่วมฟังการพิจารณาคดีก็รับฟังโดยเรียบร้อย ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ใดขึ้น การถอดเสื้อของผู้ถูกกล่าวหาในวันเกิดเหตุก็ไม่ได้แตกต่างไปจากวันดังกล่าวแต่อย่างใด
ในคดีของศาลนี้ที่ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง เป็นจำเลย ในนัดฟังคำพิพากษาเมื่อ 29 ต.ค. 2567 จำเลยได้ถอดเสื้อผู้ต้องขังออกเพื่อให้เห็นรอยกรีดที่หน้าอกเป็นตัวเลข 112 เพื่อประท้วงต่อความไม่เป็นธรรม โดยคดีดังกล่าวไม่มีการดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ที่ผู้อำนวยการฯ กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่า “ผู้ถูกกล่าวหาได้ถอดเสื้อ ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าว ศาลเคยได้ปรามจำเลยในการถอดเสื้อครั้งก่อนแล้ว แต่ครั้งนี้ยังกระทำอีก” นั้น ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาได้ออกข้อกำหนดหรือปรามจำเลยแต่อย่างใด
ประการที่สาม ผู้พิพากษากล่าวคำพูดที่แสดงถึงการพิพากษาผู้ถูกกล่าวหาไปแล้ว ก่อนจะมีคำพิพากษา – คำสั่งที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารโดยอ้างว่าขัด รธน. ม.6 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในวันเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาถอดเสื้อประท้วงต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนพิจารณาคดี เนื่องจากผู้พิพากษาพูดกับผู้ถูกกล่าวหาว่า “เพราะท่านก้าวล่วง เลยต้องมาอยู่ตรงนี้” การพูดเช่นนั้น ทำให้เข้าใจได้ว่า เพราะผู้ถูกกล่าวหาก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์ ทำให้ต้องติดคุกอยู่ ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรมไม่ควรพูดเช่นนี้ เพราะเป็นคำพูดที่แสดงถึงการพิพากษาผู้ถูกกล่าวหาไปแล้ว ก่อนจะมีคำพิพากษา
ผู้พิพากษายังมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ใช้ประกอบการสืบพยาน โดยอ้างว่าการออกใหม่เรียกพยานเอกสารขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ได้ อีกทั้งการออกหมายเรียกพยานเอกสารเป็นอำนาจของศาลและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 แต่อย่างใด โดยศาลมีอำนาจหน้าที่ในการออกหมายเรียกพยานเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก มาให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้ต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา
ผู้พิพากษาองค์คณะก่อนหน้า ที่นั่งพิจารณาคดีเดียวกันนี้ ต่างเห็นถึงความสำคัญในการเข้าถึงสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของจำเลย และเห็นว่าเอกสารที่จำเลยขอออกหมายเรียกมาประกอบการสืบพยานเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี ศาลให้สืบพยานโจทก์โดยให้ตอบโจทก์ซักถามไปก่อนจนกว่าจะได้หมายเรียกพยานเอกสารมาประกอบการถามค้าน
คำสั่งของผู้พิพากษาที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ผู้ถูกกล่าวหาโดยอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมและเสียเปรียบในทางคดีอย่างมาก
.
ทนายยื่นคำร้องขอศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานวัตถุมาไต่สวน – ขอศาลบันทึกคำพยานด้วยระบบ e – Hearing เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ทนายความได้ยื่นคำร้องขอออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานวัตถุ โดยบัญชีพยานผู้ถูกกล่าวหาระบุพยานไว้รวม 16 อันดับ โดยพยานที่สำคัญได้แก่ อานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาอ้างตนเป็นพยาน, พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ, พยานผู้เชี่ยวชาญความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล, ประจักษ์พยานที่อยู่ในห้องพิจารณาในวันเกิดเหตุ, โสภณ ผู้ที่ถอดเสื้อในห้องพิจารณาเพื่อแสดงออกประท้วงศาล และไม่เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาล และ เรืองฤทธิ์ บัวลอย และองค์คณะ
รวมถึงพยานวัตถุซึ่งเป็นวิดีโอบันทึกภาพและเสียงจากกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาคดีที่ 711 และวิดีโอจากระบบการบันทึกปากคำพยานด้วยภาพและเสียงในห้องพิจารณาคดี (e – Hearing) ที่แสดงให้เห็นเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นพยานวัตถุในความครอบครองของศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถนำมาแสดงต่อศาลได้ด้วยตัวเองและเป็นพยานหลักฐานสำคัญเพื่อใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา
นอกจากนี้ ทนายความยังยื่นคำร้องขอให้ศาลใช้ระบบบันทึกคำพยานด้วยภาพและเสียง (e-Hearing) ในการพิจารณาไต่สวนคำกล่าวหาคดีนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาคดีของศาลและเพิ่มประสิทธิภาพในการรับฟังพยานหลักฐานในคดี และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จัดทำสรุปคำเบิกความพยานทุกปากโดยละเอียด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง