พรุ่งนี้ (28 มี.ค. 2568) ศาลอาญานัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน จากเหตุถอดเสื้อประท้วงศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญในคดีมาตรา 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 เพื่อยืนยันสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567
เหตุในคดีนี้ สืบเนื่องจากนัดสืบพยานคดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 อานนท์ ในฐานะจำเลย ได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่ 2 หลังเคยถอดเสื้อประท้วงมาแล้วครั้งหนึ่งในนัดสืบพยานก่อนหน้า (4 มิ.ย. 2567) เนื่องจาก เรืองฤทธิ์ บัวลอย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อ โดยไม่มีพยานเอกสารดังกล่าว
คดีนี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2568 อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อไต่สวนโดยอานนท์ไม่ทราบนัดล่วงหน้ามาก่อน และยังไม่มีทนายความ โดยศาลระบุว่า ให้สิทธิอานนท์ถามความและไต่สวนเอง หรือให้ศาลตั้งทนายขอแรงในวันนั้นเลยก็ได้ แต่อานนท์ยืนยันขอเลื่อนคดี เนื่องจากต้องการใช้ทนายความที่เขากำหนดเอง อีกทั้งยังต้องการเวลาในการเตรียมพยานฝั่งตนเข้าเบิกความด้วย ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนนัดไต่สวนไปเป็นวันที่ 5 มี.ค. 2568
ในนัดไต่สวนวันที่ 5 มี.ค. 2568 ก่อนการไต่สวน อานนท์ถอดเสื้อประท้วงเป็นครั้งที่ 3 หลัง ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนสั่งพิจารณาคดีลับ ต่อมา ศาลจึงอนุญาตให้ประชาชนนั่งฟังการพิจารณาคดีโดยสงบเรียบร้อย
ในวันดังกล่าว มีพยานผู้กล่าวหาเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ สุธิศา อินทปัญสกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหา และ จ่าสิบเอกประพันธุ์ สุระหลวง ตำรวจศาล
หลังศาลไต่สวนพยานผู้กล่าวหาทั้งสองปากเสร็จสิ้น ศาลได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ซึ่งเป็นประจักษ์พยานคนเดียว นอกจากผู้พิพากษาองค์คณะ ที่อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบการพิจารณาคดี กำลังติดสืบพยานอยู่ที่อีกบัลลังก์ ศาลจึงกล่าวว่า ศาลจะใช้ดุลพินิจตัดพยานปากดังกล่าว
ทนายความและอานนท์จึงพยายามโต้แย้งเพื่อให้ศาลเห็นความสำคัญของพยานปากนี้ เนื่องจากไม่มีวัตถุพยานคือ กล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาคดีที่ 711 โดยในระหว่างนี้ ศาลได้พยายามให้อานนท์เข้าเบิกความในทันทีหลายครั้ง แต่อานนท์ยืนยันว่าจะยังไม่เบิกความ และขอให้ศาลเลื่อนคดีเพื่อรอวิดีโอกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นพยานวัตถุ และให้พยานปากเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ รวมถึงพยานปากอื่น ๆ ของผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าเบิกความตามลำดับ อย่าได้เร่งรัดคดีจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม หลังขึ้นไปปรึกษาอธิบดี ผู้พิพากษาเจ้าของสํานวนกลับมาออกนั่งพิจารณาคดี พร้อมบันทึกรายงานกระบวนพิจารณา มีใจความโดยสรุปว่า ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้ว จึงตัดพยานปากเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ทำให้ไต่สวนพยานผู้กล่าวหาเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนผู้ถูกกล่าวหาแถลงยืนยันว่าจะนำพยานเข้าเบิกความหลังนำพยานปากหน้าบัลลังก์เข้าไต่สวน ศาลให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหานำพยานเข้าไต่สวนแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ทำ เห็นว่าทำให้คดีล่าช้า จึงให้งดการไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหา และนัดฟังคำสั่งในวันที่ 28 มี.ค. 2568 เวลา 09.30 น.
ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ รศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานผู้เชี่ยวชาญความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ได้เดินทางมาศาลด้วย เพื่อเตรียมเข้าเบิกความเป็นพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้ง ยังมีพยานปาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ที่ศาลออกหมายเรียกให้แล้ว แต่ไม่สะดวกมาในวันนั้น และจะขอเลื่อนมาเบิกความในวันอื่น แต่ทั้งหมดไม่มีโอกาสเข้าเบิกความ
อานนท์จึงได้เขียนคำร้องคัดค้านและประท้วงศาล ลงวันที่ 5 มี.ค. 2568 มีใจความระบุว่า ระหว่างไต่สวน ศาลตัดพยานผู้กล่าวหาซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวในคดี ไม่เรียกวิดีโอวงจรปิดในสถานที่เกิดเหตุ อันทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ มีลักษณะเช่นเดียวกับคดีอาญามาตรา 112 ที่ผู้ถูกกล่าวหา ถูกตัดสิทธิในการเรียกพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดี
.
นิติกรชำนาญการพิเศษ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้กล่าวหา ระบุไม่มีคลิปวิดีโอก่อนอานนท์ถอดเสื้อ เหตุกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาไม่มีสัญญาณภาพ – ยืนยันการถอดเสื้อ แม้จะประท้วงความไม่เป็นธรรมก็ไม่เหมาะสม เป็นการประพฤติไม่เรียบร้อย
สุธิศา อินทปัญสกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหา เข้าเบิกความเป็นพยานผู้กล่าวหา
พยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุซึ่งเป็นนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่บัลลังก์ของผู้พิพากษาเรืองฤทธิ์ บัวลอย ผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงขอออกหมายเรียกพยานเอกสารการเดินทางของรัชกาลที่ 10 เมื่อศาลไม่อนุญาต ผู้ถูกกล่าวหาได้ถอดเสื้อ ถือเป็นการก่อความวุ่นวาย แสดงตนไม่เรียบร้อย ไม่เคารพศาล ดังนั้น ศาลจึงตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล
ผู้อยู่ในเหตุการณ์ คือ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ และตำรวจศาล 2 คน โดยคนหนึ่งย้ายไปจากศาลอาญาแล้ว และผู้กล่าวหามีวีดีโอจากกล้องวงจรปิดศาล ศาลจึงสอบถามว่าไฟล์วีดีโออยู่ที่ใด พยานเบิกความตอบว่า กำลังให้เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์รวบรวมอยู่
ต่อมา เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้เปิดคลิปวิดีโอจากกล้องติดเสื้อของตำรวจศาล ซึ่งแสดงให้เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ (27 พ.ย. 2567) หลังจากอานนท์ถอดเสื้อประท้วงแล้ว
ในคลิปปรากฏเหตุการณ์โต้แย้งกันระหว่าง เรืองฤทธิ์ บัวลอย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดีแฮร์รี่ พอตเตอร์ 1 ทนายความจำเลย และอานนท์ เกี่ยวกับการไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารที่จะต้องใช้ถามค้านพยานโจทก์ โดยศาลอ้างว่าการออกหมายเรียกขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ในระหว่างที่ตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกำลังลำเลียงประชาชนออกไปจากห้องพิจารณาคดี
ช่วงทนายความผู้ถูกกล่าวหาถามค้าน
หลังจบคลิปวีดีโอ ทนายความแถลงโต้แย้งว่า คลิปวีดีโอดังกล่าวไม่ใช่กล้องวงจรปิดของศาลที่จะเห็นมูลเหตุของการถอดเสื้อ ศาลกล่าวว่า ข้อเท็จจริงมันเป็นไปตามนี้
ทนายความสอบถามพยานว่า มีภาพจากกล้องวงจรปิดของศาลในที่เกิดเหตุหรือไม่ พยานตอบว่า มีในระบบ E-Hearing ทนายความจึงแถลงต่อศาลว่า อานนท์ถอดเสื้อเพราะศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารและอคติของศาลด้วย จึงอยากได้คลิปวีดีโอเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเพื่อให้เห็นว่าการพิจารณาคดีเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยอย่างไร ก่อนศาลจะมีคำสั่งพิจารณาคดีลับ
ศาลสอบถามพยานว่า ไฟล์วีดีโอกล้องวงจรปิดอยู่ที่ใด พยานตอบว่า ต้องตามจากเจ้าหน้าที่ก่อน ศาลจึงกล่าวว่า ให้ถามค้านเลย แต่ทนายความยืนยันว่า จะถามค้านได้เพียงบางส่วน เนื่องจากถ้าไม่มีพยานหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอ พยานก็จะเบิกความอย่างไรก็ได้ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพยานหลักฐานในมือ แต่ถ้ามีภาพชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องโต้แย้งกันอีก เนื่องจากจะเห็นว่าประชาชนทุกคนนั่งด้วยความเรียบร้อย แม้จะเป็นหลังจากที่อานนท์ถอดเสื้อแล้ว
อานนท์แถลงว่า คลิปวีดีโอที่นำมาเป็นเหตุการณ์หลังถอดเสื้อ แต่เหตุการณ์ก่อนถอดเสื้อเป็นสาระสำคัญ เช่น ถ้าศาลเป็นผู้สั่งให้ถอดก็ไม่มีความผิด อย่างไรก็ต้องนำมา
ทนายความจึงเสริมว่า พยานวัตถุเป็นพยานที่มีคุณค่ามากกว่าพยานบุคคลด้วยซ้ำ เหตุการณ์สำคัญก่อนหน้าจะทำให้เห็นว่าทำไมอานนท์จึงไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
ศาลกล่าวว่า คดีละเมิดอำนาจศาลใช้ระบบไต่สวน ไม่ต้องอลังการขนาดนั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้ว ส่วนที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ให้ผู้ถูกกล่าวหาที่รู้อยู่แก่ใจมาเรียนศาล และศาลได้พยายามถามมูลเหตุจูงใจจากอานนท์ แต่อานนท์ไม่ตอบ
ทนายความยืนยันว่า จะต้องใช้พยานวัตถุในการถามค้านเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ด้วย ศาลถามว่า แล้วถ้าหาไม่ได้ ทนายความตอบว่า คลิปวีดีโอจะต้องถูกจัดเก็บไว้อยู่แล้ว พยานเองก็บอกว่ามีในระบบ E-Hearing
ศาลกล่าวว่า มันก็เหมือนเล่นฟุตบอล เราจะไปชกหน้ากรรมการได้อย่างไร ทนายความแถลงว่า อานนท์ถอดเสื้อประท้วง ไม่ได้ชกหน้าผู้พิพากษา
ศาลถามพยานว่า มีไฟล์ในระบบ E-Hearing ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า มี ศาลถามต่อว่า จะนานหรือไม่ พยานตอบว่า เดี๋ยวแจ้งน้องเจ้าหน้าที่ให้
ทนายความกล่าวเสริมว่า ผู้ถูกกล่าวหาเองก็ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานวัตถุดังกล่าวซึ่งอยู่ในการครอบครองของศาลอาญาแล้ว ศาลจึงอนุญาตให้พักการพิจารณาคดี และให้พยานตามไฟล์วิดีโอกล้องวงจรปิดมาจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
หลังจากพักการพิจารณาคดีไปประมาณ 30 นาที พยานกลับเข้ามาเบิกความว่า ตรวจสอบบัลลังก์ 711 แล้ว พบว่าใช้ระบบ E-Court ไม่ใช่ระบบ E-Hearing จึงไม่มีวิดีโอ ขอให้ใช้ประจักษ์พยานมาแทนพยานวัตถุดังกล่าว
ทนายความถามว่า หลังจากได้รับมอบหมายให้ไปนำคลิปวีดีโอกล้องวงจรปิดมา พยานได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง พยานตอบว่า ได้ไปตรวจสอบที่บัลลังก์ 711 ว่ามีบันทึกวีดีโอหรือไม่ แล้วพบว่าบัลลังก์ดังกล่าวใช้ระบบ E-Court ซึ่งไม่ได้บันทึกวีดีโอ
ทนายความถามว่า แล้วกล้องวงจรปิดของศาลที่เห็นในทุกห้องพิจารณาคดีคืออะไร และห้องพิจารณาคดีที่ 711 มีกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงทั้งภาพและเสียงหรือไม่ พยานตอบว่า กล้องวงจรปิดที่ใช้รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง มีเพียงบริเวณรอบนอกห้องพิจารณาคดีเท่านั้น ส่วนกล้องที่เห็นในห้องไม่มีสัญญาณภาพ
ทนายความถามต่อไปว่า ก่อนหน้านี้พยานได้ตรวจดูวีดีโอกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาคดีที่ 711 แล้วใช่หรือไม่ พยานเบิกความตอบว่า ไม่สามารถตรวจสอบกล้องวงจรปิดในทุกห้องพิจารณาคดีได้ และรับว่า ในห้องพิจารณาคดีมีกล้องวงจรปิด แต่ก่อนหน้านี้พยานไม่ได้ตรวจสอบภาพและเสียงที่บันทึกไว้ในห้องพิจารณาคดีที่ 711
ทนายความถามว่า วีดีโอจึงมีแค่คลิปดังกล่าวที่เปิดในห้องพิจารณาคดี ส่วนเหตุการณ์ก่อนหน้าเป็นอย่างไรพยานก็ไม่ทราบใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
ทนายความถามว่า การกล่าวหาบุคคลอื่นจะต้องมีพยานหลักฐานชัดเจนโดยเฉพาะพยานหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของศาลอาญาเอง พยานได้รายงานเรื่องนี้ต่อ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา หรือไม่ พยานตอบว่า พยานไม่ได้รายงาน โดยพยานทราบตามที่ ผอ. มอบหมายมา ส่วน ผอ.จะทราบว่าพยานหลักฐานมีเท่านี้หรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ
พยานทราบว่า เหตุผลที่อานนท์ถอดเสื้อประท้วงเพราะศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ เพราะได้เรียกเอาสำนวนของคดีต้นเรื่องมาดูแล้ว และรับว่า หลังวันเกิดเหตุอานนท์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567
ทนายความถามว่า ก่อนวันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 อานนท์เคยถอดเสื้อครั้งแรกใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ครั้งอื่น ๆ ซึ่งเป็นการถอดเสื้อก่อนหน้านี้ พยานทราบเพียงว่า ศาลตักเตือน และรับว่า หลังการถอดเสื้อก่อนหน้านี้ ศาลสามารถพิจารณาคดีต่อไปได้จนเสร็จสิ้น
ทนายความถามว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 หลังอานนท์ถอดเสื้อ อานนท์ก็นั่งปกติ ประชาชนเองก็นั่งกันอย่างปกติใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ตรวจสอบกล้อง
ทนายความถามว่า ในวันเกิดเหตุ หากศาลไม่ได้สั่งพิจารณาคดีลับหลังอานนท์ถอดเสื้อ การพิจารณาคดีก็เป็นไปโดยปกติใช่หรือไม่ และก่อนถอดเสื้อ อานนท์ก็ได้ขออนุญาตศาลแล้ว และหลังจากนั้นศาลก็ไม่ได้สั่งให้อานนท์ใส่เสื้อกลับไปเหมือนเดิม หากเห็นว่าเป็นการก่อกวนการพิจารณาคดี ซึ่งในประเด็นนี้หากได้คลิปวีดีโอมาก็จะไม่ต้องเถียงกัน พยานเห็นด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า เห็นว่ามีประจักษ์พยานอยู่แล้ว
ทนายความถามว่า หากผู้ถูกกล่าวหาพูดอย่างหนึ่ง และเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์พูดอีกอย่างหนึ่ง การมีพยานวัตถุมาพิสูจน์ก็น่าเชื่อถือกว่าพยานบอกเล่าใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ผู้พิพากษาเห็นอยู่แล้ว เป็นประจักษ์พยาน ทนายความแย้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ขอออกหมายเรียกผู้พิพากษาแล้ว แต่ศาลไม่อนุญาตให้มาเบิกความ สรุปพยานจะเบิกความอย่างไร พยานตอบว่า สำคัญเท่ากัน หากพยานบุคคลเบิกความขัดต่อพยานวัตถุก็ขึ้นกับการชั่งน้ำหนักของผู้พิพากษา
ทนายความถามว่า ผู้ถูกกล่าวหาขออนุญาตก่อนถอดเสื้อและต่อมาก็นั่งลงใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ ไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ
ทนายความถามต่อไปว่า ถ้าอานนท์ไม่เคารพศาลก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตศาลที่เป็นผู้ควบคุมการพิจารณาคดี หากขออนุญาตก่อนทำอะไร แสดงว่ายังเคารพผู้ที่พูดด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
ทนายความถามว่า ความมุ่งหมายในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลคือ เพื่อคุ้มครองการพิจารณาคดีของศาลให้ดำเนินไปได้โดยเที่ยงธรรมและรวดเร็วใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ถูกต้อง และเพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลด้วย
พยานไม่ทราบว่า การถอดเสื้อประท้วงของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้เกิดความเป็นธรรมหรือไม่ แต่พยานเห็นว่าเป็นการประพฤติไม่เรียบร้อย ขัดต่อข้อกำหนดศาลฯ ทนายความถามต่อว่า การที่อานนท์ถอดเสื้อเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลหรือ พยานตอบว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องของความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาล
พยานรับว่า จากคลิปวีดีโอ หลังอานนท์ถอดเสื้อก็นั่งอยู่เฉย ๆ ทนายความจึงถามว่า เหตุการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้นหลังศาลสั่งพิจารณาคดีลับและให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาคดี ไม่เช่นนั้นจะจับขังให้หมดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เห็นแค่อานนท์ถอดเสื้อซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่สงบเรียบร้อย
ทนายความถามย้ำว่า ความไม่สงบเรียบร้อยเกิดหลังศาลสั่งพิจารณาคดีลับและให้คนออกจากห้องหรือเกิดทันทีที่อานนท์ถอดเสื้อ พยานตอบว่า การถอดเสื้อไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เป็นการรบกวนการพิจารณาคดี ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
ทนายความถามว่า การออกหมายเรียกพยานเอกสารมาต่อสู้คดีว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นหน้าที่ของศาล จำเลยไม่สามารถออกหมายเรียกเองได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ค่ะ ทนายความจึงพยายามถามว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า การออกหมายเรียกพยานเป็นอำนาจศาลตามกฎหมาย ขึ้นอยู่กับว่าพยานเอกสารที่จะออกหมายเรียกเป็นเรื่องอะไร
ทนายความหันไปแถลงศาลว่า ศาลไม่ได้บันทึกคำเบิกความของพยานใน 2 – 3 คำถามหลังของทนายความ ศาลกล่าวว่า ศาลดูแล้วไม่เห็นมีอะไร เป็นอำนาจศาลอยู่แล้วที่จะออกหรือไม่ออกหมายเรียกพยาน เป็นคำถามทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องนำสืบ
ทนายความพยายามถามว่า แล้วการไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารโดยอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 พยานเห็นว่าอย่างไร ศาลแย้งว่า พยานแค่รับมอบอำนาจมา ทนายความแถลงว่า พยานเป็นนิติกรชำนาญการพิเศษ คำถามนี้จะให้ถามหน้าบัลลังก์หรือ ศาลตอบว่า เอาให้อยู่ในกรอบ ต่อมา ศาลได้บันทึกคำเบิกความของพยานใน 2 – 3 คำถามหลังให้
ทนายความถามว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคนก่อนหน้าในคดีต้นเรื่องคือ บุญจวน พาณิช ก็เคยออกหมายเรียกพยานเอกสารเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาก่อน เช่น งบประมาณโครงการจัดแสดงสินค้าแนวใหม่ในต่างประเทศสำหรับแบรนด์ SIRIVANNAVARI และรายชื่อผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ใช่หรือไม่ พยานรับว่า เคยเห็นหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าว ศาลกล่าวว่า อย่าลงรายละเอียดมาก และเตือนพยานว่าบางเรื่องไม่รู้ก็ตอบว่าไม่รู้
ทนายความถามว่า พยานเห็นว่าการออกหมายเรียกพยานเอกสารเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 หรือไม่ พยานตอบว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 แต่ศาลไม่ได้บันทึกคำเบิกความในช่วงนี้แต่อย่างใด
ต่อมา ทนายความพยายามถามคำถามว่า ผู้แทนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เคยระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ เว้นแต่มีหมายเรียกจากศาล ดังนั้น การตัดสินใจว่าจะส่งเอกสารตามหมายเรียกหรือไม่เป็นเรื่องของหน่วยงานดังกล่าว แต่ศาลมีหน้าที่ออกหมายเรียกพยานเอกสารใช่หรือไม่ แต่ศาลกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับคดี
พยานเบิกความว่า ในคดีละเมิดอำนาจศาล จะมอบหมายให้กับนิติกรชำนาญพิเศษหลายคนแล้วแต่คดี โดยเมื่อได้รับมอบหมายมา พยานก็ทำตามนั้น พยานไม่ได้มีอำนาจพิจารณากลั่นกรองว่าเข้าหรือไม่เข้าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ศาลกล่าวเสริมว่า คดีละเมิดอำนาจศาลกลั่นกรองโดยส่งสำนวนให้ผู้พิพากษาคนอื่นไต่สวน ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญาแค่ทำเรื่องธุรการ โดยมีอำนาจตั้งเรื่อง แต่จะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เป็นอำนาจศาลในการพิจารณา
ทนายความถามเพิ่มเติมว่า คดีละเมิดอำนาจศาลมีหลักเกณฑ์การจ่ายสำนวนคดีหรือไม่ ศาลตอบว่า เป็นอำนาจของผู้บริหารศาล
ทนายความให้พยานดูเอกสารพร้อมถามว่า ในคำกล่าวหาระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ถอดเสื้อ ซึ่งการกระทำลักษณะดังกล่าว ศาลเคยได้ปรามจำเลยในการถอดเสื้อครั้งก่อนแล้ว แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกเรื่องการถอดเสื้อหรือปรามอานนท์แต่อย่างใดใช่หรือไม่ พยานรับว่า ใช่
ต่อมา ทนายความและอานนท์ได้พยายามทวงถามถึงคลิปจากกล้องวงจรปิดอีกครั้ง โดยทนายความให้พยานดูเอกสารและถามว่า หลังวันเกิดเหตุ ในวันรุ่งขึ้นทนายความได้มีการยื่นคำร้องขอให้เก็บคลิปวีดีโอจากกล้องวงจรปิดทันทีใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พยานเพิ่งเห็นเอกสารในวันนี้ ส่วน ผอ.สำนักฯ จะทราบและเก็บบันทึกวีดีโอไว้หรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ
พยานไม่ทราบว่า นอกจากคดีนี้ เคยมี “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ถอดเสื้อประท้วงและกรีดหน้าอกเป็นเลข 112 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 707 และไม่มีการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด และพยานไม่เคยได้รับมอบอำนาจเพื่อดำเนินคดีกับโสภณ
ทนายความพยายามถามว่า ในคลิปวีดีโอมีถ้อยคำที่ผู้พิพากษาเรืองฤทธิ์พูดกับอานนท์ทำนองว่า เพราะท่านก้าวล่วง เลยมาอยู่ตรงนี้ ซึ่งในความเห็นพยานเป็นการพิพากษาไปก่อนหน้าหรือไม่ พยานตอบว่า ได้ยินไม่ชัดเจน ในขณะที่ศาลแย้งว่า คำถามของทนายเป็นการให้พยานไปพิพากษา
ทนายความจึงถามใหม่ว่า หลังจากนั้น มีการตั้งข้อรังเกียจศาลเพราะผู้พิพากษาใช้ถ้อยคำที่ไม่ควรพูดซึ่งเป็นการแสดงอคติต่ออานนท์ใช่หรือไม่ พร้อมให้พยานดูเอกสาร พยานเบิกความว่า ไม่เคยเห็น
พยานเห็นว่า ที่อานนท์ถอดเสื้อเพราะไม่ยอมรับคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของศาลนั้น เป็นเรื่องไม่ปกติ แต่รับว่า คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถแสดงออกเพื่อประท้วงได้ โดยเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนทำกัน
.
ตำรวจศาลระบุ มาถึงห้องพิจารณาคดีหลังอานนท์ถอดเสื้อแล้ว – การพิจารณาคดีดำเนินต่อไปจนจบโดยอานนท์ยังถอดเสื้ออยู่ ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยใด ๆ
จ่าสิบเอกประพันธุ์ สุระหลวง ตำรวจศาล เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ขณะพยานปฏิบัติงานอยู่ที่ศาลอาญา ชั้น 8 ได้รับแจ้งจาก วสิษฐ พลเพชร ตำรวจศาลที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 711 ว่าขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ทราบว่าเหตุใด โดยแจ้งในไลน์ว่า “ว.7 711” ซึ่งเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ
พยานรีบมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 711 ปรากฏว่าสวนทางกับมวลชนที่ทยอยออกจากห้องพิจารณาคดี เมื่อเข้าห้องไปพบกับอานนท์ยืนถอดเสื้อ หลังจากนั้น ตำรวจศาลได้ดูแลความสงบเรียบร้อยตลอดการพิจารณาจนเสร็จสิ้น และกันไม่ให้คนภายนอกเข้ามา
ในขณะนั้น พยานไม่ได้ถามผู้ถูกกล่าวหาว่ามีเหตุอะไรและทำไมจึงต้องถอดเสื้อ อานนท์ใส่เสื้อหลังจากที่ศาลออกจากห้องพิจารณาไปแล้ว ก่อนลงชื่อในรายงานกระบวน และถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปห้องขังด้านล่าง
ช่วงทนายความผู้ถูกกล่าวหาถามค้าน
พยานย้ายมาประจำที่ศาลอาญาเมื่อเดือนเมษายน 2565 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต
ทนายความถามว่า ในห้องพิจารณาคดีของศาลอาญามีกล้องบันทึกภาพและเสียงเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยใช่หรือไม่ พร้อมชี้ไปที่กล้องวงจรปิดที่ติดอยู่บริเวณหน้าและหลังห้อง พยานตอบว่า มี โดยกล้องสามารถบันทึกภาพและเสียงและส่งต่อไปที่ห้องเซิฟเวอร์ แต่พยานไม่ทราบว่าห้องอยู่ที่ใด
ทนายความถามว่า พยานเคยเห็นศูนย์รักษาความปลอดภัยที่อาคารจอดรถของศาลยุติธรรมหรือไม่ พยานตอบว่า พยานเคยประจำที่นั่นก่อนมาศาลอาญา แต่ศูนย์รักษาความปลอดภัยดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับศาลอาญา พยานไม่ทราบว่า ระบบกล้องวงจรปิดจะเชื่อมโยงกับศาลอาญาหรือไม่ โดยขณะนั้นพยานมีหน้าที่จับกุมตามหมายจับ
ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้ถามเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่าเกิดเหตุการณ์อะไร พยานสอบถามตำรวจศาลที่ขอความช่วยเหลือเท่านั้น แต่ไม่ได้ถามถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าที่จะขอความช่วยเหลือ พยานจึงไม่ทราบมูลเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาประท้วง
พยานรับว่า จำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และการให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานเข้ามาในคดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
พยานไม่ทราบว่า เอกสารในความครอบครองของหน่วยงานราชการหรือบุคคลภายนอก จำเลยไม่สามารถขอมาใช้ต่อสู้คดีได้ ต้องขอให้ศาลออกหมายเรียกจึงจะนำเอกสารมาต่อสู้คดีได้
ขณะพยานเข้ามาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 711 พบตำรวจศาล 1 นาย คือ วสิษฐ ผู้ขอความช่วยเหลือ แต่ไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลอาญาอยู่ด้วยหรือไม่
ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้นำกล้องติดหน้าอกไปด้วย แต่วสิษฐมี โดยพยานได้ดูวิดีโอบันทึกเหตุการณ์จากกล้องของวสิษฐ แต่พยานไม่ทราบมูลเหตุของการถอดเสื้อ โดยพยานเห็นเหตุการณ์ที่ทนายแถลงต่อศาลแต่จำไม่ได้ว่าแถลงว่าอะไร
พยานเบิกความว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตั้งแต่ศาลนั่งพิจารณาคดีจนลงจากบัลลังก์ ห้องพิจารณาคดีที่ 711 ไม่ได้มีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยใด ๆ เกิดขึ้น ในเรื่องนี้พยานไม่ได้ทำรายงานต่อผู้บังคับบัญชา เพราะไม่ได้มีเหตุการณ์ความไม่สงบจึงไม่จำเป็นต้องรายงาน
พยานเคยพบผู้ถูกกล่าวหาตามห้องพิจารณาคดี โดยตำรวจศาลจะสลับสับเปลี่ยนไปตามหน้าที่ พยานเจออานนท์ประมาณเดือนละครั้ง ซึ่งจากที่เคยพบอานนท์เป็นคนพูดจาสุภาพเรียบร้อยดี เคารพและให้เกียรติบุคคลอื่นโดยเฉพาะศาล
ทนายความขอให้เปิดคลิปวีดีโอให้พยานดู พยานเบิกความว่า ในวีดีโอยังไม่ปรากฏตัวพยาน เนื่องจากพยานยังไม่มาถึง เจ้าหน้าที่ที่ถือวิทยุสื่อสารในคลิปไม่ใช่พยานแต่เป็นวสิษฐ
พยานไม่แน่ใจว่า ในคลิปวีดีโอมีเสียงศาลบอกว่าพิจารณาคดีลับ ถ้าไม่ออกจะจับขังให้หมดหรือไม่ พยานไม่รู้ว่ามีการคุยอะไรกัน แต่รับว่าตามคลิปวีดีโอ เมื่อตำรวจศาลไปเชิญประชาชนออก ประชาชนจึงใส่รองเท้าและเริ่มมีเสียงอื้ออึง และมีเสียงทนายความและผู้ถูกกล่าวหาแถลงต่อศาลด้วยท่าทีสุภาพ
พยานรับว่า เมื่อประชาชนออกไปจากห้อง การพิจารณาคดีของศาลก็ดำเนินต่อไปได้ ไม่มีความวุ่นวาย และหากการพิจารณาคดีเป็นไปโดยเปิดเผย ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้
ศาลทักท้วงว่า ทนายความได้ประโยชน์อะไรจากคำถาม ทนายความชี้แจงว่า เพื่อให้เห็นว่าการพิจารณาคดีก่อนหน้าเป็นไปโดยเปิดเผย ประชาชนสามารถเข้าฟังได้ ต่อมาเมื่อศาลสั่งพิจารณาคดีลับและให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาคดี ตำรวจศาลจึงเชิญประชาชนออกและเริ่มมีความวุ่นวาย โดยทนายความขอให้ศาลบันทึกคำเบิกความดังกล่าว แต่ศาลกล่าวว่า ปรากฏตามคลิปวีดีโอแล้ว
พยานกล่าวว่า เป็นการเชิญออกเฉย ๆ วันนั้นมีตำรวจศาลคนเดียว วันนี้ (5 มี.ค. 2568) พวกผมตั้งหลายคนก็ไม่เห็นออก และรับว่าในวันเกิดเหตุ หลังศาลสั่งพิจารณาคดีลับ ประชาชนก็ปฏิบัติตามคำสั่งโดยการออกจากห้อง และเสียงบ่นหรือเสียงอื้ออึงของประชาชนก็ไม่ถึงขนาดก่อให้เกิดความวุ่นวาย
พยานรับว่า การที่ประชาชนยกมือขอแถลงต่อศาลก็เป็นไปตามระเบียบของศาล แต่ตามคลิปวีดีโอ พยานไม่เห็นว่ามีประชาชนยกมือขอพูด แต่ศาลไม่ให้พูด ประชาชนจึงไม่พูด
ศาลกล่าวว่า ไม่ต้องให้พยานเบิกความถึงเหตุการณ์ในคลิปวีดีโอที่อ้างส่ง เนื่องจากศาลต้องเปิดดูอยู่แล้ว
พยานเบิกความว่า พยานอยู่ดูจนจบการพิจารณาคดี คดีดำเนินไปจนเสร็จสิ้นโดยที่อานนท์ก็ยังคงถอดเสื้ออยู่
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง