เมื่อการเยียวยาเป็นเรื่องยากเย็น “จินนี่” ผู้ต้องขังคดี ม.112 กับการเรียกร้องเพื่อสิทธิรักษาทุกชีวิตในเรือนจำ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2568 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทนายความเข้าเยี่ยม “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง วัย 57 ปี ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกจำคุก 2 ปี และถูกพรากอิสรภาพไปแล้วกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

ก่อนหน้านี้จินนี่ทำธุรกิจเกี่ยวกับห้องเช่าและค้าขาย เธอเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดง ในฐานะประชาชนทั่วไป ไม่ได้สังกัดกลุ่มใด และยังออกมาร่วมกิจกรรมในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจทางการเมือง ชีวิตของจินนี่พลิกผันเมื่อเธอถูกดำเนินคดีจากการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างเดินทางไปร่วมชุมนุม #ม็อบ25กรกฎาคมแห่เทียนไล่นายกฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อปี 2565 จากนั้นศาลอาญาพิพากษาจำคุกเธอ 2 ปี โดยไม่ได้รับการประกันตัวมานับแต่นั้น

ในการพบกับทนายความครั้งนี้ จินนี่ได้เล่าประสบการณ์หลายเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาชีวิตในเรือนจำ โดยเฉพาะช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวซึ่งเธออยู่ในอาคารเยี่ยมญาติพอดี ส่วนเรื่องสำคัญคือปัญหาการรักษาพยาบาลในเรือนจำที่ล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งกับภาพความทนทุกข์ของเพื่อนผู้ต้องขังที่รอคอยการรักษาโรคยิ่งทำให้จินนี่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าว 

แม้ครอบครัวจะไม่อยากให้เธอลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ในเรือนจำ แต่จินนี่ยังคงยืนยันในแนวทางของตน “อดไม่ได้จริง ๆ เหมือนมันอยู่ในสายเลือด พอเห็นอะไรที่มันไม่ถูกต้อง เราต้องเรียกร้อง ต้องเข้าไปจัดการ” 

____________________________________________

“สามีจะมาเยี่ยมตอนบ่าย ถ้าทนายจะมาเยี่ยม แนะนำให้มาช่วงเช้าจะดีกว่า” จินนี่ตอบคำถามแรกด้วยน้ำเสียงที่ผสมผสานระหว่างความอบอุ่นและความแข็งแกร่ง 

หลังไม่ได้กันเกือบสองสัปดาห์ จินนี่บอกว่ามีเรื่องอยากเล่า “เยอะมาก” ก่อนที่เรื่องราวต่าง ๆ จะไหลทะลักออกมาราวกับสายน้ำที่ถูกกักเก็บ “ตอนแผ่นดินไหว อยู่ที่อาคารเยี่ยมญาติพอดี” จินนี่ย้อนนึกถึงภาพเหตุการณ์ “ทุกคนตกใจกันหมด แต่แทนที่เจ้าหน้าที่จะให้เราออกไปอยู่ที่โล่งแจ้ง กลับสั่งให้อยู่ในอาคารเพื่อไม่ให้วุ่นวาย ทั้ง ๆ ที่เพดานฝ้าในอาคารก็แตกร้าวและหล่นลงมาจากแรงสั่นสะเทือนแล้ว” 

ก่อนเธอพูดถึงแผนรับมือภัยพิบัติของเรือนจำ “ผู้อำนวยการบอกว่า ‘ถ้ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีก ให้ถือซะว่าสักครู่นี้คือแผนรับมือแผ่นดินไหว หากผู้ต้องขังอยู่ในเรือนนอนให้ค่อย ๆ คลานออกมาภายนอกอาคารนะ’” ท่าทางของเธอเคร่งเครียดขึ้นเมื่อกล่าวเพิ่มเติม “เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัย ถูกลิดรอนสิทธิมากขึ้นไปอีกเมื่ออยู่ในนี้”

เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิ ท่าทีเธอจริงจังขึ้น ก่อนเล่าถึงปัญหาการรักษาพยาบาลที่ทัณฑสถานด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความกังวล “ช่วงนี้คนป่วยกันเยอะมาก ทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและความแออัดในเรือนจำ ทำให้เกิดการติดต่อของโรคอย่างรวดเร็ว” 

จินนี่อธิบายขั้นตอนการขอรับยาที่แทบจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ผู้ต้องขังต้องต่อแถวรอการซักถามอาการเบื้องต้น บางครั้งต้องรอหลายชั่วโมง จนบางคนพลาดเวลาอาหารกลางวันหรือไม่ได้พบญาติที่มาเยี่ยม “และถ้าลุกไปไหน เราก็ต้องมาต่อแถวใหม่ตั้งแต่แรก” เธอเล่าอย่างเหนื่อยหน่าย 

“หลังจากผ่านการคัดกรองโดยอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อจสร.) ก็จะมีการแยกว่าใครควรพบหมอหรือแค่รับยาจากพยาบาล ซึ่งการวินิจฉัยโรคและจ่ายยาก็ทำโดยพยาบาล ไม่ใช่หมอ นี่ทำให้เราไม่มั่นใจว่ายาที่ได้รับจะตรงกับอาการที่เป็นหรือไม่ และเราจะได้พบหมอก็ต่อเมื่ออาการเข้าขั้นฉุกเฉินแล้วเท่านั้น” 

เธอยังเล่าถึงผู้ป่วยโรคตาบางรายที่ต้องรอพบหมอจนกระทั่งอาการลุกลามจนตาบอด ก่อนจะเล่าประสบการณ์ของตัวเองที่เคยป่วยเป็นไข้และต้องรอยาตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนถึงสิบเอ็ดโมง โดยที่พยาบาลยังไม่มาจ่ายยา “ผู้ต้องขังที่ป่วยต่างทนไม่ไหวกันแล้ว บางคนนอนนิ่งกับพื้น บางคนนอนครวญคราง เราทนไม่ไหวกับสภาพที่เห็น จึงลุกไปโวยวายกับเจ้าหน้าที่เรือนนอน” 

ก่อนจะเล่าด้วยเหตุผลหนักแน่นว่า “ก่อนเข้ามาในเรือนจำเรามีสิทธิบัตร 30 บาท ต่อให้อยู่ในที่ห่างไกลก็ยังได้รับการรักษา แล้วนี่อะไร โรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็อยู่ใกล้ ๆ ตรงนี้ ทำไมเราถึงเข้าไม่ถึงการรักษา”

หลังจากการเรียกร้องของเธอ วันต่อมาก็มีการปรับปรุงระบบเล็กน้อย มีการย้ายสถานพยาบาลไปยังพื้นที่ที่ไม่แออัด มีพยาบาลประจำการ และผู้อำนวยการมาควบคุมการจ่ายยา “แต่นั่นเปลี่ยนแปลงได้แค่วันเดียว” 

ขณะเดียวกับที่ “ทั้งสามีทั้งลูกห้ามแม่ ไม่ให้แม่พยายามเรียกร้องหรือทำอะไร” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่ผสมระหว่างความอ่อนโยนและความมุ่งมั่น “แต่แม่อดไม่ได้จริง ๆ เหมือนมันอยู่ในสายเลือด พอเห็นอะไรที่มันไม่ถูกต้อง เราต้องเรียกร้อง ต้องเข้าไปจัดการ” 

จินนี่เล่าต่อถึงช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อมีองค์กรกฎหมายเข้ามาอบรมเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องขัง กฎหมายการฟอกเงิน และแนวทางการต่อสู้คดี หลังจากการบรรยายผ่านไปสักพัก เมื่อถึงช่วงถาม-ตอบ เธอได้ลุกขึ้นแนะนำตัวว่าเป็นผู้ต้องขังคดี 112 

“แม่ถามว่าส่วนใหญ่ผู้ต้องขังคดีฟอกเงินที่เข้ามาในนี้เป็นผู้สูงอายุ ไม่รู้หนังสือ บางทีโดนหลอกนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีม้า คนลักษณะแบบนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำเรื่องฟอกเงิน แต่กลับถูกจับเข้ามาเยอะมาก ทำไมไม่มีกระบวนการตรวจสอบให้ดีตั้งแต่ชั้นตำรวจ จะได้ลดผู้ต้องขังในเรือนจำลง ไม่ต้องให้พวกเขามาต่อสู้ในเรือนจำหรือในชั้นศาล”

แต่คำตอบที่ได้รับกลับทำให้เธอรู้สึกถูกตอกย้ำและแบ่งแยก ผู้บรรยายถามย้อนกลับด้วยน้ำเสียงที่แฝงการตัดสิน “คุณโดนคดี 112 นี่ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ใช่ไหม ไปทำอะไร ทำไมถึงโดนคดี” 

ก่อนจะตอบคำถามของเธอในลักษณะไร้ความหวังว่า “ถือซะว่าเป็นเคราะห์กรรมของคนที่โดนคดีฟอกเงิน เปรียบเสมือนปลาเล็กปลาน้อยที่ไม่สามารถว่ายหนีออกจากแหอวนไปได้ ฉะนั้นให้รับสารภาพไปเลย ไม่ว่าเราจะทำผิดหรือไม่ก็ตาม” ทำให้เธอผิดหวังกับคำตอบดังกล่าวมาก

ก่อนจากกัน ทนายอัพเดตข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรมและสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำอื่น ๆ ให้เธอฟัง เห็นได้ชัดว่าข่าวสารจากโลกภายนอกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ถูกจำกัดอิสรภาพ

.

จนถึงปัจจุบัน (23 เม.ย. 2568) จินนี่ถูกคุมขังมาแล้ว 99 วัน  ตั้งแต่การชุมนุมของคนรุ่นใหม่และประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา เธอถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 7 คดี โดยแบ่งเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 1 คดี คดีดูหมิ่นศาล 2 คดี และคดีเกี่ยวกับการชุมนุมอีก 4 คดี

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

วงกรงสีฟ้า: ชีวิตที่สู้แล้วสู้อีก ของ “จินนี่” ผู้ต้องขังคดี ม.112 

X