วันที่ 3 เม.ย. 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือ “แอมป์” อดีตนักศึกษานิเทศศาสตร์ และผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังระหว่างฎีกามาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 1 ปี 7 เดือน คดีจากการปราศรัยในการชุมนุม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564
ชีวิตในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผ่านไป 123 วัน การพบกันครั้งนี้เห็นได้ชัดถึงชีวิตที่เปราะบาง ทั้งการต่อสู้กับโรคความดันที่กำลังแย่ลง การบริหารการกินยาต้านไวรัสเอชไอวีภายใต้ตารางเวลาที่จำกัด และประสบการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ที่แอมป์และผู้ต้องขังอื่น ๆ ไม่สามารถหนีไปไหนได้
การพบกันครั้งนี้มีเรื่องสำคัญที่แอมป์แสดงความห่วงใยต่อ “สถาพร” ผู้ต้องขัง LGBTQ+ ที่ถูกคุกคามทางเพศหลังย้ายไปเรือนจำกลางบางขวาง พร้อมเสนอทางออกจากประสบการณ์ของตนเองว่า การจัดห้อง LGBTQ+ โดยเฉพาะอาจลดปัญหาได้มากถึง 70-90%
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคม 2568 แอมป์เองเคยร้องเรียนการถูกคุกคามทางเพศในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาก่อนแล้ว โดยหลังมีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ทางเรือนจำจึงได้ย้ายแอมป์จากแดน 6 ไปอยู่ร่วมกับเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองที่แดน 4
__________________________
ห้องเยี่ยมสำหรับทนายวันนี้คนเยอะผิดปกติ จึงต้องเยี่ยมผ่านจอภาพ ซึ่งฝั่งทนายความมองไม่เห็นผู้ต้องขังที่อยู่อีกฟากเหมือนทุกครั้ง เป็นปัญหาเรื้อรังที่แดน 4 ที่ดูเหมือนจะไม่มีใครรับผิดชอบแก้ไข เมื่อถามผู้ช่วยงานข้างในนั้น คำตอบที่ทนายได้กลับมาคือมันขึ้นอยู่กับแดน สะท้อนถึงระบบความรับผิดชอบที่คลุมเครือวนเวียนไปมาภายในหน่วยงาน
ก่อนเริ่มบทสนทนาด้วยการแจ้งให้แอมป์ทราบว่าแม้จะมองไม่เห็นเขา แต่ก็ยังฟังเสียงเขาได้ชัดเจน แอมป์หัวเราะเบา ๆ ก่อนตอบรับด้วยความเข้าใจ น้ำเสียงสดใสของเขาเป็นสัญญาณว่าวันนี้สภาพจิตใจของเขายังคงเข้มแข็ง แม้ร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณของความเจ็บป่วย “ผมต้องออกไปสถานพยาบาลบ่อยครั้งเพราะเรื่องความดัน” แอมป์เล่าด้วยน้ำเสียงที่พยายามกลบเกลื่อนความกังวล “จากแค่ภาวะความดันสูง ตอนนี้น่าจะกลายเป็นโรคความดันไปแล้ว เพราะวัดทุกครั้งก็สูงทุกครั้ง”
มาถึงจุดนี้ ชีวิตของแอมป์ถูกล้อมกรอบด้วยตารางการกินยาที่เคร่งครัด เขากลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพายา 2 ชนิด คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ต้องกินตรงเวลาทุกวันในช่วงก่อนสวดมนต์เย็น และยาความดันหลังอาหารเช้า การมีกำหนดเวลาสำหรับกินยาที่แน่นอนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ แต่ในสถานที่ที่เวลาถูกกำหนดด้วยตารางกิจวัตรประจำวันของเรือนจำ อำนาจในการควบคุมชีวิตของตัวเองกลายเป็นสิ่งหายาก
ยาภูมิหรือยาต้านไวรัสเอชไอวีที่แอมป์ต้องกินทุกวัน เป็นตัวแทนของการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบกับเชื้อไวรัสที่อยู่ในร่างกาย และการต่อสู้กับระบบที่อาจไม่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ส่วนยาความดันคือภาพสะท้อนของความเครียดและความกดดันที่ค่อย ๆ สะสมในตัวเขา ความดันสูงของแอมป์อาจเป็นมากกว่าแค่ความผิดปกติทางกายภาพ แต่อาจเป็นร่องรอยของความกดดันทางจิตใจที่สะสมจากการใช้ชีวิตในพื้นที่จำกัด ห่างไกลจากอิสรภาพและครอบครัว
เรื่องเล่าของแอมป์เปลี่ยนไปสู่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น ประสบการณ์ที่แม้แต่คนทั่วไปก็ยังหวาดกลัว คำถามสำคัญคือแล้วจะเป็นอย่างไรสำหรับผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่ไม่สามารถวิ่งหนีไปไหนได้อย่างอิสระ
“ตอนเกิดเหตุ พวกเรากำลังนั่งกินข้าวกันที่บ้านการเมืองชั้นล่าง” แอมป์เริ่มเล่าด้วยน้ำเสียงที่มีรอยยิ้มแม้จะเล่าเรื่องวิกฤต “ผมรู้สึกโคลง ๆ แต่แรกคิดว่าเป็นอาการความดันของตัวเอง หรือบ้านหมุน เพราะเรามีเรื่องความดันอยู่แล้ว จนกระทั่งเห็นพี่อานนท์หลบใต้โต๊ะ” เขาเล่าต่ออีกว่า “พอทุกคนรู้ตัว ก็วิ่งออกไปที่โล่ง ปล่อยพี่อานนท์อยู่ใต้โต๊ะคนเดียว”
ภาพของผู้ต้องขังทางการเมืองที่กำลังวิ่งหนีออกจากอาคาร ทิ้งเพื่อนร่วมชะตากรรมไว้ใต้โต๊ะ กลายเป็นเรื่องขบขันท่ามกลางความตื่นตระหนก แสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งความกลัวและอารมณ์ขันแม้ในยามวิกฤต
แอมป์เล่ารายละเอียดอีกว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงพอสมควร “น้ำในโคกหนองนาที่มีอยู่หน่อยเดียวยังกระเพื่อมจนทะลักออกมา” ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีเสียงสัญญาณเตือนภัยแต่อย่างใด มีเพียงเสียงประกาศให้ผู้ต้องขังออกจากอาคารมาอยู่ที่โล่งแจ้ง โดยไม่ได้ระบุว่าเกิดอะไรขึ้น บอกเพียงว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น
สำหรับแอมป์เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น แม้เป็นภัยธรรมชาติที่ทุกคนต้องเผชิญเหมือนกัน แต่สำหรับชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีความเปราะบางมากกว่าคนทั่วไป การสื่อสารและการจัดการแม้ในยามวิกฤตก็ยังคงเป็นไปอย่างจำกัด ไม่ต่างจากการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาที่ถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบและกำแพงสูง
เมื่อการสนทนาเปลี่ยนไปสู่เรื่องของจอย สถาพร ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุกคามทางเพศ น้ำเสียงของแอมป์เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน “เป็นเรื่องใหญ่” เขาพูดสั้น ๆ ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ก่อนจะเล่าเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตัวเอง “ก่อนจะถูกย้ายมาแดน 4 ที่เกิดเรื่องคุกคาม พอมีหนังสือร้องเรียน ทางเรือนจำได้จัดให้ผมอยู่ห้อง LGBTQ+” แอมป์เล่า “ถ้าที่บางขวางมีห้องแบบนี้ จะตัดปัญหาเรื่องคุกคามไปได้ถึง 70-90% เลย”
คำพูดของแอมป์สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการป้องกันที่แตกต่างกันในแต่ละเรือนจำ และความเข้าใจของเขาต่อโครงสร้างที่อาจช่วยป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศในเรือนจำได้ การมีห้อง LGBTQ+ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นมาตรการที่แอมป์มองว่าควรมีในทุกเรือนจำ โดยเฉพาะที่บางขวาง ซึ่งมีการรายงานเหตุคุกคามทางเพศ
ช่วงท้ายของการสนทนา แอมป์แสดงความสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ภายนอกเรือนจำ การที่มีกลุ่มโมกหลวง กลุ่ม 24 มิถุนา และกลุ่มทะลุแก๊ช ไปยื่นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการย้ายเรือนจำและการทำร้ายผู้ต้องขังการเมือง แม้จะเกิดเหตุแผ่นดินไหว แต่ยังคงดำเนินการต่อ เป็นความหวังเล็ก ๆ สำหรับผู้ต้องขังทางการเมืองว่ายังมีคนข้างนอกที่เห็นและต่อสู้เพื่อพวกเขา
สุดท้ายเมื่อถูกถามถึงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง แอมป์ตอบอย่างเรียบ ๆ ว่า “นิ่ง ๆ เลย ไม่เห็นมีอะไร” แต่เขาก็ยังมีความหวังเล็ก ๆ “แต่ไม่แน่สัปดาห์หน้าอาจมีกิจกรรมให้เตรียมก็ได้”
คำตอบนี้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตในเรือนจำ ที่แม้แต่เทศกาลสำคัญของไทยอย่างสงกรานต์ ก็อาจไม่ได้รับการเฉลิมฉลองหรือจัดกิจกรรมพิเศษเสมอไป แต่ด้วยความหวังที่ยังมีอยู่ แอมป์จึงยังมองว่าอาจมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นได้ในนาทีสุดท้าย เทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นใหม่ อาจมีความหมายเป็นพิเศษสำหรับผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างแอมป์ ที่หวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะได้รับอิสรภาพและกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
จนถึงปัจจุบัน (10 เม.ย. 2568) แอมป์ ณวรรษ ถูกคุมขังระหว่างฎีกามาแล้ว 123 วัน จากบทบาทเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ แอมป์ถูกดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 20 คดี โดยปัจจุบันคดีที่สิ้นสุดลงแล้วมี 7 คดี ส่วนที่เหลือเขายังคงต้องต่อสู้คดีต่อไป
.
📩 สามารถเขียนจดหมายถึงแอมป์ได้ที่ “ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เลขที่ 33 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900”
📩 หรือเขียนจดหมายออนไลน์ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่ลแนล
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ภาพยนตร์ของ “แอมป์”: บทเรียนแห่งความรัก พื้นที่แห่งเสรีภาพ และความฝันของนักเรียนนิเทศศาสตร์