ภาพยนตร์ของ “แอมป์”: บทเรียนแห่งความรัก พื้นที่แห่งเสรีภาพ และความฝันของนักเรียนนิเทศศาสตร์

วันที่ 24 มี.ค. 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือ “แอมป์” บัณฑิตศิลปากร นักกิจกรรมวัย 30 ปี และผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังระหว่างฎีกามาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 1 ปี 7 เดือน คดีจากการปราศรัยในการชุมนุม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564  

แอมป์บอกเล่าถึงชีวิตประจำวันในเรือนจำ โดยเฉพาะการติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แอมป์ระบายถึงเหตุการณ์ถูกย้ายเรือนจำอย่างกระทันหันของเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองในแดน 4 ที่สร้างความกังวลใจให้กับแอมป์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “สถาพร” ที่กำลังรักษาตัวในความป่วยไข้หลายอาการถึงขนาดนั่งรถเข็น ก็ถูกกระทำรุนแรงระหว่างเหตุอารยะขัดขืนปฏิเสธย้ายเรือนจำ กระทั่งมีการพาตัวไปเรือนจำกลางบางขวาง ยิ่งทำให้ความห่วงใยและความสงสารยังคงวนเวียนอยู่ในใจ

สำหรับบทสนทนาสำคัญครั้งนี้ เป็นเรื่องของแอมป์กับภาพยนตร์ สิ่งที่ติดตัวเขามาเนิ่นนาน เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นความฝันโดยเฉพาะการได้เป็นผู้กำกำกับหนัง  

ยิ่งบทสนทนาเจาะลึงลงไป จะเห็นว่าภาพยนตร์สำหรับแอมป์ คือพื้นที่ทางปัญญาที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าการบันเทิง เป็นเครื่องมือวิพากษ์สังคมที่ทรงพลัง ในฐานะนักเรียนนิเทศศาสตร์ที่สนใจประเด็นทางสังคม แอมป์เข้าใจว่าภาพยนตร์ไม่เพียงเล่าเรื่องเป็นภาพเท่านั้น  แต่สามารถเปิดเผยโครงสร้างอำนาจที่ซ่อนเร้นในสังคมอีกด้วย 

_______________________

ความหลงใหลในภาพยนตร์ของแอมป์เริ่มต้นขึ้นในช่วงมัธยมปลาย ท่ามกลางโลกของหนังนอกกระแสที่เขาค้นพบกับเพื่อน ๆ The Perks of being a Wallflower (2012) ในชื่อภาษาไทย “ขอให้วัยเยาว์ของเราเป็นนิรันดร์” กลายเป็นจุดประกายแรกของความสนใจ หนังแนว Coming of Age ที่ไม่เพียงแค่เล่าเรื่อง แต่สะท้อนการเติบโตของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง 

แอมป์หลงใหลในภาพยนตร์ที่บอกเล่าการเดินทางของชีวิต โดยเฉพาะ Boyhood (2014) ภาพยนตร์ที่ติดตามชีวิตของตัวละครตั้งแต่อายุ 6 ปี ถึง 18 ปี ที่ไม่ใช่หนังที่หวือหวาด้วยการกระทำ แต่ทรงพลังด้วยการเปลี่ยนแปลงภายใน การเติบโตทางความคิด และมุมมองต่อชีวิต

สำหรับแอมป์ความชื่นชอบในภาพยนตร์นอกกระแสไม่เพียงเป็นเรื่องของความบันเทิง แต่เป็นการค้นพบความงดงามของศิลปะภาพยนตร์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล หากแต่เน้นที่เนื้อหาและความสุนทรียะทางภาพ ภาพยนตร์แนวนี้มักคว้ารางวัลใหญ่ระดับออสการ์และเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้อย่างภาคภูมิ

ความสนใจดังกล่าวเป็นที่มาของการอยากอยู่ในแวดวงวิชาชีพนี้ แม้เขาเคยสอบติดวิศวกรรมศาสตร์ แต่รู้สึกว่าไม่ใช่ทางของตน กระทั่งตัดสินใจซิ่ว จากวิศวะ เพื่อมุ่งหน้าสู่การเรียนด้านนิเทศศาสตร์  ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร การเดินทางครั้งสำคัญที่จะนำพาเขาใกล้ความฝันในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

หนังสองเรื่องที่กลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับแอมป์ คือ “Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ” (2012) ผลงาน  ‘มะเดี่ยว’ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล สำหรับแอมป์ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้จับประเด็นการดำเนินชีวิตผ่านตัวละคร 3 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน แต่ความไม่แน่นอนนั้นกลับเป็นส่วนหนึ่งของความงดงาม การนำเสนอแนวคิดเรื่อง ‘บ้าน’ ในฐานะแกนกลางความอบอุ่นแห่งชีวิต ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงสถานที่ แต่เป็นความรู้สึกอบอุ่นทางใจ 

ในขณะที่ Call Me by Your Name (2017) นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ชายรักชาย แต่สิ่งที่แอมป์ประทับใจคือการเล่าเรื่องอย่างละเมียดละไม  “ผมมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ละเมียดละไมทางอารมณ์ มี สยมภู มุกดีพร้อม ที่เป็นคนไทย เป็นผู้กำกับภาพ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ซึ่งภาพมันสวย ผมมองว่าสิ่งที่เขานำเสนอเป็นการนำเสนอในรูปแบบภาษาภาพ ซึ่งมันน่าสนใจมาก”  

แอมป์อธิบายสิ่งที่เขาหลงใหลว่า บางทีเราอาจจะจำบทสนทนาในภาพยนตร์ไม่ได้ แต่ภาพที่มันสื่อถึงอารมณ์นั้น มันทำให้เราจำความรู้สึกได้จริง ๆ ภาพยนตร์ไม่เพียงแต่เล่าเรื่องราวความรัก แต่ยังสะท้อนกระบวนการเติบโตทางความคิด การเรียนรู้ชีวิต และการค้นพบตัวตน  

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากทำภาพยนตร์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศ หนังทั้งสองเรื่องนี้ สอนให้แอมป์เห็นว่า การเล่าเรื่องที่ดีไม่ได้อยู่ที่เหตุการณ์ใหญ่โต แต่อยู่ที่รายละเอียดเล็ก ๆ ที่สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรัก ครอบครัว หรือการค้นพบตัวเอง 

โปรเจกต์จบของแอมป์ที่ศิลปากร จึงกลายเป็นภาพยนตร์สั้นที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างประสบการณ์ส่วนตัว การศึกษาค้นคว้า และความปรารถนาที่จะสื่อสารประเด็นทางสังคม เขาเลือกสำรวจสองประเด็นหลักที่มีความหมายต่อตนเอง ได้แก่ ประเด็นชายรักชาย และการอยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองส่วนตัว แต่ยังเป็นความพยายามในการสร้างความเข้าใจและลดอคติทางสังคม 

สิ่งสำคัญที่แอมป์ให้ความสนใจคือการใช้คำศัพท์ที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะการใช้คำว่า ‘ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV’ แทนคำว่า ‘ผู้ป่วย’ ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจต่อประเด็นทางการแพทย์และสังคม 

ความสำเร็จของโปรเจกต์นี้ สะท้อนผ่านคำชมจากอาจารย์ที่ชื่นชอบวิธีการสื่อสารประเด็นเรื่องเพศที่น่าสนใจและลึกซึ้ง ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นผลงานจบการศึกษา แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการสำรวจความเข้าใจต่อมนุษย์

ยิ่งในโลกของภาพยนตร์ บางครั้งเรื่องราวเพียงหนึ่งเรื่องก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจและเปลี่ยนมุมมองชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง สำหรับแอมป์มีภาพยนตร์อีก 3 เรื่อง ที่กลายเป็นแนวทางสำคัญในการสำรวจตัวตนและความเข้าใจต่อสังคม และยิ่งอยากให้เขาทำหนังมากขึ้น หากไม่สะดุดกับวังวนของการถูกดำเนินคดีการเมือง

เริ่มจาก Bohemian Rhapsody (2018) ภาพยนตร์ชีวประวัติของเฟรดดี เมอร์คูรี นักร้องนำวง ‘Queen’ ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับแอมป์ โดยเฉพาะในมิติของการต่อสู้กับตัวตนภายในจิตใจ เพลง Bohemian Rhapsody กลายเป็นสัญญะแห่งการต่อสู้และการยอมรับ ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนความรู้สึกลึกซึ้งของการไม่ยอมรับตนเอง และค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะยอมรับ โดยเฉพาะฉากที่เฟรดดีประกาศว่าเป็นผู้ติดเชื้อ HIV กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนความกล้าหาญในการประกาศตัวตนท่ามกลางสังคมที่มักด่วนตัดสิน 

ต่อมา Dallas Buyers Club (2013) เปรียบดั่งพลังแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิ ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของการต่อสู้เพื่อสิทธิในการรักษาของผู้ติดเชื้อ HIV ในอดีต เรื่องราวของการดิ้นรนเพื่อเข้าถึงยา การต่อสู้กับอคติของภาครัฐ และความพยายามในการช่วยเหลือผู้ป่วย สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยอมแพ้ของมนุษย์ แอมป์เห็นพลังของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และความสำคัญของการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสื่อสารประเด็นทางสังคม 

และ Rocketman (2019) ถือเป็นเส้นทางชีวิตแห่งการเยียวยา ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของเอลตัน จอห์น นำเสนอเรื่องราวการเติบโต การต่อสู้ และการก้าวข้ามอุปสรรคในชีวิต เพลง Your Song กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเยียวยาและการค้นพบตัวตน การนำเสนอชีวิตของศิลปินระดับโลกที่ต้องเผชิญกับการหักหลัง ความเจ็บปวด และการต่อสู้กับตัวเอง สะท้อนให้เห็นว่าแม้บุคคลที่ดูประสบความสำเร็จเพียงใด ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในชีวิต  

ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องราวของบุคคลที่มีชื่อเสียงในหนังทั้งสามเรื่องได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แอมป์กล้าที่จะ Call Out ในประเด็นเรื่องเพศ และการติดเชื้อ HIV ด้วยความหวังที่จะสร้างพื้นที่แห่งการยอมรับในสังคม

จากคำกล่าวที่ว่า “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” ปรัชญาจากหอภาพยนตร์ แอมป์เชื่อว่าภาพยนตร์เป็นมากกว่าแค่ความบันเทิง แต่คือแหล่งของปัญญาและการเติบโตทางปัญญา ยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ผ่านการดูหนังอย่างเข้มข้น เขาได้เรียนรู้ที่จะสำรวจเรื่องราวต่าง ๆ และนำข้อคิดจากมันมาปรับใช้กับชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ 

เขาค้นพบว่าภาพยนตร์สามารถจุดประกายการอภิปรายทางทฤษฎีและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ภาพยนตร์คือสื่อนำเสนอมุมมองที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ไตร่ตรองทางปรัชญา ช่วยให้ผู้ชมพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา สะท้อนประสบการณ์ทางสังคมและมนุษย์ที่ซับซ้อน

เมื่อถูกถามให้เปรียบเทียบชีวิตกับภาพยนตร์ แอมป์เล่าถึงสิ่งที่เผชิญอยู่ในฐานะผู้ต้องขังทางการเมือง ว่าตนไม่ได้กระทำผิด แต่มองว่าการเดินทางของเขาคือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตย สถานการณ์ปัจจุบันของเขาเป็นเพียงบทหนึ่งในเรื่องราวการต่อต้านที่ใหญ่กว่า

ทั้งการถูกคุมขังกลับนำมาซึ่งการเชื่อมต่อที่ไม่คาดคิด หากให้ระบุตัวละครแอมป์รู้สึกใกล้ชิดกับ ‘โจ๊กเกอร์’ ไม่เพียงแต่สำหรับตัวเขาเอง แต่สำหรับนักกิจกรรมหลายคน แอมป์มองตัวละครนี้เป็นสัญลักษณ์ของการท้าทายโครงสร้างระบบ การเป็นเสียงบุกเบิกของการต่อต้าน การสวมบทบาทแห่งการเผชิญหน้ากับบรรทัดฐานที่สถาปนาขึ้น และเสียดเย้ยกับอำนาจดังกล่าวอย่างไม่ยอมจำนวน

กระทั่งบทพูดจากภาพยนตร์สองเรื่องที่สะท้อนใจแอมป์เป็นพิเศษ จากซีรีส์ “ทิชา” (2024)  ที่กล่าวถึงสิทธิในการได้รับอิสรภาพ การเข้าถึงอาหาร การเข้าถึงการรักษาพยาบาล และความสามารถในการใช้ชีวิตตามที่ตนเองปรารถนา ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

สุดท้ายเรื่อง The Fault in Our Stars (2014) เป็นหนังเกี่ยวกับนางเอกและพระเอกที่เป็นมะเร็ง แต่เหมือนนางเอกเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายได้ไปเข้ากลุ่มเยียวยาจิตใจกับผู้ป่วยซึ่งในเรื่องพูดถึงความรักของคนที่กำลังจะตาย 2 คน  ประโยคที่เขาจำไม่ลืมคือ “มีจำนวนตั้งมากมายระหว่างเลข 0 กับเลข 1 แต่ก็มีจำนวนอีกมากมายเหมือนกัน ที่อยู่ระหว่างเลข 0 กับเลข 2”  

ประโยคดังกล่าวกำลังจะบอกว่า แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ให้เห็นคุณค่าของช่วงเวลานั้น ๆ เช่นเดียวกับช่วงเวลาแห่งความสุขในชีวิตข้างนอกเรือนจำที่แอมป์ยังคงเฝ้าฝันถึงอยู่เสมอ 

จนถึงปัจจุบัน (31 มี.ค. 2568) แอมป์ ณวรรษ ถูกคุมขังระหว่างชั้นฎีกามาแล้ว 113 วัน จากบทบาทเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ แอมป์ถูกดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 20 คดี โดยปัจจุบันคดีที่สิ้นสุดลงแล้วมี 8 คดี ส่วนที่เหลือเขายังคงต้องต่อสู้ต่อไป

.

📩 สามารถเขียนจดหมายถึงแอมป์ได้ที่ “ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เลขที่ 33 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900”

📩 หรือเขียนจดหมายออนไลน์ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่ลแนล

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

“แอมป์” กังวลสถานการณ์ย้ายเรือนจำ เล่าผู้ต้องขังทางการเมืองร่วมสะท้อนปัญหาต่อ รมต.ยุติธรรม-ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน

“ผมเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและเป็นผู้ติดเชื้อ HIV” การเมือง ชีวิต ความหลากหลายทางเพศ และภาพสะท้อนการต่อสู้ในสายตาของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา

X