“อนุชา” เป็นประชาชนอีกคนหนึ่งที่ถูกคุมขังในคดีตามมาตรา 112 อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา
เขาเป็นสามัญชนจากจังหวัดอุดรธานี ที่ปัจจุบันอายุย่างเข้าวัย 50 ปี เขาใช้ชีวิตดิ้นรนผ่านทั้งการงานในไร่นา ทำงานก่อสร้างในเมือง ไปขายแรงงานในต่างประเทศ จนมาประกอบอาชีพเป็นช่างประจำโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เขาสนใจติดตามทางการเมืองเรื่อยมาโดยเฉพาะตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 แต่เพิ่งได้ร่วมชุมนุมจริงจังในการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปี 2563
อนุชาไม่ได้สังกัดกลุ่มทางการเมืองใด แต่ออกแบบวิธีการแสดงออกของตนเอง จนทำให้ถูกดำเนินคดีจากกรณีชูแผ่นป้ายไวนิลใน #ม็อบตำรวจล้มช้าง หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 คดีของเขาถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาลงโทษในข้อหาตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี แต่เมื่อให้การรับสารภาพ ทำให้ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน หลังจากนั้นคดีไม่ได้อุทธรณ์ต่อ ทำให้เขาถูกนำตัวไปคุมขังรับโทษตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567
ภายใต้การถูกจองจำ กำลังใจของเขายังเข้มแข็ง อนุชาบอกว่าตัวเองไม่เสียใจกับการออกมาร่วมเรียกร้องในการชุมนุมช่วงปี 2563-64 อย่างน้อยเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้ของทุก ๆ คน และยังตั้งมั่นร่วมสวดมนต์ภาวนาให้พี่น้องที่ร่วมต่อสู้มีความเข้มแข็งด้วยเช่นกัน
ชวนทำความรู้กับอนุชา อีกหนึ่งผู้ต้องขังทางการเมือง ให้มากขึ้น
.
ชีวิตลูกอีสาน ใช้แรงงานในกรุงฯ จนพัดเพถึงไต้หวัน
อนุชาพื้นเพเป็นคนจังหวัดอุดรธานี ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เดิมที่บ้านก็คาดหวังให้เขาได้เรียนสูง ๆ ได้ทำงานข้าราชการที่มั่นคง แต่ด้วยความที่ฐานะของครอบครัวไม่ดีนัก เขาจึงเรียนได้สูงสุดในระดับชั้น ป.6 ก่อนต้องออกมาดิ้นรนช่วยที่บ้านทำงานในไร่นาตั้งแต่เด็ก
จนอายุประมาณ 18 ปี ชีวิตพัดพาเขาให้ออกจากอีสาน เข้ามาทำงานเป็นพนักงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ อนุชาจำได้ว่าขวบปีนั้นเป็น พ.ศ. 2535 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด” พอดี จำได้ว่าตอนที่เขานั่งรถไปไซต์งานก่อสร้าง ยังเคยต้องผ่านทางที่มีสถานการณ์ชุมนุมขับไล่เผด็จการในช่วงนั้นพอดี
“ตอนนั้นผมยังเด็ก และต้องทำงาน ก็ไม่ได้สนใจการเมืองมาก แต่ก็ทำให้รับรู้ว่าประเทศเรามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น” อนุชาเล่า
หลังทำงานใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ได้ 2-3 ปี อนุชาสนใจที่จะไปทำงานต่างประเทศ เพราะเห็นญาติบางคนไปทำงานที่ไต้หวัน และมีรายได้ค่อนข้างดีกลับมา แต่ทางครอบครัวเขาคิดว่าให้รอผ่านช่วงเกณฑ์ทหารให้เรียบร้อยเสียก่อน จนต่อมาเขาจับได้ ‘ใบดำ’ ทำให้ไม่ต้องรับการเกณฑ์ทหาร จึงได้เริ่มวางแผนไปทำงานต่างประเทศได้
อนุชาเล่าว่า เขาเดินทางไปทำงานด้านช่างที่ไต้หวัน ในปี 2540 จำได้ว่าเป็นปีที่อังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนพอดี พอได้ไปเริ่มใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ทำให้เขาสนใจติดตามสถานการณ์การเมืองในระดับระหว่างประเทศมากขึ้น เขาบอกว่าพยายามดูช่องโทรทัศน์ภาษาจีนด้วย จากตอนแรกยังฟังภาษาไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็ค่อย ๆ พอรู้เรื่องขึ้น
อนุชาบอกว่า ในตอนแรกเขาได้รับใบอนุญาตทำงานที่นั่น มีอายุ 2 ปี แต่พอครบกำหนด เขากลายสถานะเป็น ‘ผีน้อย’ เพื่อให้ยังพยายามทำงานเก็บเงินต่อได้ จนต่อมาถึงประมาณต้นทวรรษ 2550 เขาถูกจับแล้วส่งตัวกลับมาไทยในที่สุด
“ช่วงเกิดรัฐประหารปี 2549 ตอนนั้นผมยังอยู่ที่ไต้หวัน ยังไม่ได้กลับไทย แต่ก็ทำให้ผมตามข่าวการเมืองตลอด เริ่มเห็นความไม่ปกติในสังคมแล้วว่า ทำไมทหารต้องเขามายุ่งกับการเมือง ทำไมไม่ให้มันเป็นไปตามกติกาการเมือง ทำไมต้องรัฐประหาร ตอนนั้นทางบ้านที่อุดรฯ ก็เริ่มเข้าร่วมชุมนุมคนเสื้อแดงเยอะ ญาติผมก็ไปม็อบกันหมด” อนุชาเล่า
.
ภาพการชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มข้าง หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 23 ก.พ. 2564 (ภาพจาก Mob Data Thailand)
.
รัฐประหาร 2 ครั้ง คำถามต่อการเมืองไทย สู่การชุมนุม 2563
หลังจากถูกส่งกลับประเทศไทย อนุชาบอกว่าเขาหางานทำอยู่ในกรุงเทพฯ โดยรับงานด้านช่างเป็นหลัก ช่วงนั้น แม้เขาติดตามข่าวสารการเมือง แต่ก็ไม่ถึงขั้นไปร่วมชุมนุมใด จนมาเกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ทำให้ความสงสัยในการเมืองไทยยังวนเวียนกลับมาอีก
“ความสงสัยเรื่องการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 ก็กลับมาอีกครั้ง ผมก็ขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวเอง พบว่าประเทศไทยมีรัฐประหารเกือบเยอะที่สุดในโลกเลย ตกใจมาก แล้วก็เริ่มตั้งคำถามต่อถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย” อนุชาย้อนเล่า
จุดปะทุจริง ๆ สำหรับชายจากอุดรธานีคนนี้ คือในการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 แรก ๆ เขายังไม่ได้ไปร่วม แต่พอเริ่มติดตามฟังข้อเรียกร้องต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เขาเห็นด้วยกับข้อเสนอชุดนี้ จึงเริ่มไปร่วมเป็นผู้ชุมนุม ในฐานะประชาชนที่ไม่มีกลุ่มก้อนใด
อนุชาเล่าว่าช่วงปีสองปีนั้น เขาไปร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่อง อยู่ในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำแรงดันสูงพร้อมสารเคมีครั้งแรกที่แยกปทุมวัน ในเดือนตุลาคม รวมทั้งที่หน้ารัฐสภา ในเดือนพฤศจิกายน แห่งปี 2563
“วันที่มีการฉีดน้ำสลายการชุมนุมครั้งแรกผมก็ไป ตอนนั้นถ้าดูในข่าวจะมีคนที่โพกผ้า โบกธง UN อยู่ในภาพข่าว นั่นแหละผมเอง ที่ผมทำไปแบบนั้นเพราะคิดมาตั้งแต่แรกแล้วว่าการชุมนุมข้อเรียกร้องนี้เป็นไปได้ยากในสังคมไทยแน่ ๆ หากนานาชาติไม่รับรู้ ผมก็เลยจะเอาธง UN ไปด้วยตลอดในหลายที่ชุมนุม เหตุการณ์ฉีดน้ำที่หน้ารัฐสภา ผมก็เอาธง UN ไปโบกอีก ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน ตอนนั้นก็ไปร่วมด้วย”
อนุชาเล่าว่า ในการไปชุมนุม เขาเตรียมธง เขียนข้อความ หรือป้ายต่าง ๆ ไปเอง โดยเดินทางไปคนเดียว จนในการชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มช้าง ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อันเป็นที่มาทำให้เขาถูกดำเนินคดี
วันนั้น ภายหลังรังสิมันต์ โรม สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา กล่าวถึงการเลื่อนขั้นภายในองค์กรตำรวจอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เรียกว่า “ตั๋วช้าง” จนมีการชุมนุมเดินขบวนจากแยกราชประสงค์ ไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อนุชาได้ไปร่วมเดินขบวนโดยถือแผ่นป้ายไวนิลที่มีภาพรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความหลากหลายภาษา ทั้งไทย จีน อังกฤษ และเยอรมัน ก่อนป้ายดังกล่าว ทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามในการชุมนุม ตำรวจบันทึกในเอกสารการจับกุมว่า ฝ่ายสืบสวนได้ติดตามอนุชาในที่ชุมนุม โดยเขาชูป้ายอยู่ราว 10 นาที ก่อนเดินออกไปที่ริมกำแพงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และออกไปจากที่ชุมนุม ตำรวจจึงได้ติดตามไป จนถึงหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าหน้าที่ที่ติดตามจึงได้เข้าแสดงตัวเป็นตำรวจ ขอทำการตรวจค้น พร้อมจับกุมตัว
อนุชาถูกนำตัวไปที่ สน.ปทุมวัน พร้อมแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้อหาหลัก โดยการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วย เขาให้การรับทั้งหมดว่าเป็นเจ้าของป้ายข้อความดังกล่าวเอง วันถัดมาอนุชาถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยไม่มีใครทราบเรื่อง หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง เขาจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยยังไม่ได้ยื่นประกันตัว
ต่อมาราวหนึ่งอาทิตย์กว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ถูกคุมขังอยู่ จึงได้มีทนายความเข้าเยี่ยมอนุชา และต่อมาเขาได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน หลังถูกคุมขังไป 24 วัน
“อุดมการณ์ตอนนั้น ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ไทยจะได้ต้องได้รับการชำระล้างได้แล้ว ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา จนถึงรัฐประหาร 2557 เลย ยุคนี้จะมาปกครองกันแบบป่าเถื่อน เอาปืนมาบังคับคนไม่ได้แล้ว ประเทศเขาเป็นอารยะกันหมด เหลือไทยนี่แหละที่ยังไม่หลุดพ้นจากวังวนสักที ผู้ปกครองต้องเคารพประชาชน และรับผิดกับสิ่งที่ทำไปได้แล้ว” อนุชาระบุถึงความคิดในการการออกมาแสดงออกของเขา
.
ภาพการชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มข้าง หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 23 ก.พ. 2564 (ภาพจาก Mob Data Thailand)
.
ชีวิตยังเข้มแข็งใต้การจองจำ
ในการต้องเข้าเรือนจำรอบที่สองนี้ อนุชาระบุว่าเขาไม่ได้กังวลมากนัก เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้ว มีแต่เรื่องสุขภาพ ที่เดิมเขามีอาการภูมิแพ้และไอเรื้อรังมานานแล้ว และพบว่าในเรือนจำฝุ่นค่อนข้างเยอะ บวกกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทำให้เขาทั้งไอและมีเสมหะในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่อาการดีขึ้นแล้วในช่วงหลังจากนั้น
หลังอยู่ที่แดนแรกรับในตอนแรก อนุชาถูกย้ายไปอยู่ที่แดน 3 ทำให้ได้เจอผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่น ๆ ที่อยู่ในแดนนี้ประมาณ 4-5 คน จึงได้โอกาสให้กำลังใจกัน และได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองกัน โดยเขายังมีความหวังกับการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ที่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย
อนุชาเล่าว่า กิจกรรมในเรือนจำของเขา คือการเข้าไปห้องสมุด เพราะเขาค่อนข้างชอบอ่านหนังสือ โดยพบว่ามีหนังสือ National Geographic ที่พอให้อ่านสารคดีต่าง ๆ ได้เพลิดเพลินไปบ้าง แต่อนุชาเห็นว่าแดน 3 ยังมีหนังสือค่อนข้างน้อย นอกจากนั้นเขาเห็นหนุ่ม ๆ ไปเตะบอล เตะตระกร้อกัน แต่ร่างกายเขาตอนนี้ก็ออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่ค่อยไหวแล้ว
อนุชายังบอกว่า เขายังสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน ภาวนาให้เพื่อนพี่น้องนักต่อสู้ทุกคนยังเข้มแข็ง โดยเมื่อเทียบกับคดีของคนอื่น ๆ โทษของเขายังไม่เยอะมาก
“ผมรักทุกคนที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันนี้ ผมสวดมนต์ภาวนาทุกวัน ขอให้พวกเขาทุกคนประสบความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง และมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะเราทุกคนคือเพื่อนกันหมด
“ผมไม่อยากให้ทุกคนคิดมาก ผมอยากให้ทุกคนยินดีที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ อย่างไรมันจะเปลี่ยนแปลง และเป็นเวลาของพวกเรา” อนุชาบอกเล่าถึงความหวังของเขา
.
จากลูกถึงแม่
อีกเรื่องหนึ่งที่อนุชาประสบปัญหา คือการพยายามแจ้งข่าวสารการถูกจองจำกับแม่ของเขาที่จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากเขาจำเบอร์โทรติดต่อไม่ได้ เขาจึงพยายามส่งจดหมายออกจากเรือนจำไปหาแม่ดูแล้วถึงสองฉบับ แต่ยังไม่รู้ว่าไปถึงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการตอบกลับ
อนุชาย้อนเล่าถึงครอบครัวของเขาว่า พ่อของเขาเป็นอัมพาต ไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ และมีแม่ที่อายุมากแล้วเช่นกันคอยดูแลอยู่ที่บ้านจังหวัดอุดรธานี ส่วนน้องสาวคนเดียวไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด อนุชาจึงหวังว่าหลังได้รับการปล่อยตัวเที่ยวนี้ จะกลับไปตั้งหลักที่บ้านก่อน
“ผมรักแม่มาก แกเลี้ยงดูผมมา เขาไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็เลี้ยงผมจนเติบโตมาได้ด้วยอาชีพทำไร่ทำนาและค้าขาย เราสำนึกลึกซึ้งที่เขาดูแลเราอย่างดีไม่ขาด ผมอยากตอบแทนแกตลอด ก็เลยอยากรีบทำงานหาเงิน ก่อนถูกจับกุมผมก็คุยกับเขาประจำ เรื่องคดี ผมบอกเขาว่าไม่ต้องห่วง เขาเองก็คอยปลอบและให้กำลังใจ เข้าใจในสิ่งที่เราเลือกทำ เราจะเป็นอย่างไร เขาก็ดูแลเราอย่างดีเสมอมา ผมบอกเขาว่าเสร็จคดีนี้จะพาไปวัดไปทำบุญด้วยกัน เพราะแม่ชอบไปวัดทำบุญ
“ตอนนี้ผมทำได้ คือสวดมนต์ภาวนาให้แม่ผมเสมอ ขอให้แม่เข้มแข็งและแข็งแรง อดใจรอลูกพ้นโทษ ขอให้ผลบุญทั้งอดีตและปัจจุบันช่วยให้แม่สบายดี ผมเชื่อว่าถ้าผมทำดี ก็จะช่วยให้ส่งไปถึงแม่ผมด้วย ไม่ใช่แค่กับแม่ แต่ให้กับพี่น้องมวลชนทุกคน ผมสวดมนต์ให้กับทุกคนด้วย”
อนุชายังฝากข้อความถึงแม่ กับทนายความไว้ด้วย เผื่อจดหมายยังเดินทางไปไม่ถึง
“ฝากความคิดถึงแม่
ขอให้แม่ไม่ต้องเป็นห่วง และคิดอะไรมาก ผมรักและคิดถึงแม่มาก
ขอให้แม่แข้มแข็ง ไม่นานเดี๋ยวจะออกมาเจอกัน
ยังคิดถึง ห่วงแม่ และรักแม่เสมอ
อนุชา”
——————————————
* มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2568 อนุชาถูกย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ตามนโยบายการย้ายผู้ต้องขังของเรือนจำ ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
.