“เหมือนเพิ่งติดคุกครั้งแรกเลย”: เสียง “ทีปกร” ผู้ต้องขัง ม.112 หลังถูกย้ายไปเรือนจำอยุธยากะทันหัน

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2568 จากการเข้าเยี่ยม “ทีปกร” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกย้ายมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปที่เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยาอย่างกะทันหัน เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568   

ทีปกร ปัจจุบันอายุ 40 ปี ก่อนเข้าเรือนจำเคยประกอบอาชีพหมอนวดแผนไทยอิสระ และเตรียมจะเปิดร้านตัดผมของตนเอง เขาถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความและแชร์คลิปจากยูทูปตั้งคำถามและวิจารณ์กษัตริย์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 โดยเขาต่อสู้คดีว่าตนเองเพียงแชร์คลิปและโพสต์ตั้งคำถามเท่านั้น  ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในชั้นอุทธรณ์เรื่อยมา ทำให้ตัดสินใจถอนอุทธรณ์ไม่ต่อสู้คดีต่อ

หลังถูกคุมขังมา 1 ปี 8 เดือนเศษ ทีปกร หรือ “กิ๊ฟ” ยังคงใช้ชีวิตในนั้นเพื่อรอคอยอิสรภาพ วันเวลาที่ผ่านมาเขาดำรงชีวิตประจำวันด้วยการปรับตัวและแสวงหาความหมาย ทีปกรตัดสินใจเลือกที่จะสงวนท่าทีทางการเมือง ไม่แสดงออกมากนัก 

การย้ายเรือนจำครั้งนี้ ทำให้ทีปกรต้องออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาคุ้นเคยและเคยมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้คุม มายังเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีสภาพแวดล้อมและระบบการควบคุมที่แตกต่างออกไป เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของเขา

___________________

ช่วงเช้าของวันที่ 28 ก.พ. 2568 ถนนริมกำแพงเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา ใกล้กับตลาดหัวรอสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านในตัวเมือง  รถยนต์จอดเรียงรายริมไหล่ทาง ภาพที่แปลกตาสำหรับเรือนจำแห่งนี้ คือผู้มาเยี่ยมไม่สามารถนำรถเข้าไปจอดในบริเวณเรือนจำได้ ต้องหาที่จอดริมถนนแล้วเดินเข้าไป พร้อมแวะลงชื่อที่ป้อมยามก่อนเข้าพื้นที่ติดต่อ ซึ่งมีขนาดเล็กจนสามารถเดินไม่กี่ก้าวก็ถึงทั่วทั้งบริเวณ

การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำแห่งนี้มีความซับซ้อนไม่น้อย ผู้มาเยี่ยมต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ 10 คนที่ผู้ต้องขังระบุไว้เท่านั้น การขอเพิ่มชื่อเป็นเรื่องยากหากไม่มีช่องทางสื่อสารกับผู้ต้องขัง แม้แต่ทนายความที่ต้องการเข้าเยี่ยมก็ต้องใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมงในการยืนยันสิทธิ์ โดยในตอนแรกเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้ทนายเยี่ยม เนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องปรึกษากับทนายความอีก แต่จากการยืนยันตามคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งวินิจฉัยว่าแม้สถานะคดีของผู้ต้องขังจะถึงที่สุดแล้ว ก็ยังต้องได้รับสิทธิในการพบทนายความอยู่ ทำให้ในที่สุดเจ้าหน้าที่ยินยอมให้เยี่ยม

วันนั้นเมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม เวลาที่ได้พบกับผู้ต้องขังก็ถูกจำกัดอย่างเคร่งครัด การเริ่มเข้าเยี่ยมในเวลา 11.20 น. ก็ต้องสิ้นสุดลงในเวลา 11.45 น. เมื่อถึงเวลาพักเที่ยง ด้วยการปิดไฟและปิดพัดลม บอกว่า “หมดเวลาแล้ว”

เมื่อพบหน้ากัน ทีปกร เล่าถึงการเดินทางอันแออัดและเร่งรีบเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568 วันที่เขาถูกย้ายเรือนจำมา ว่า “ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว” เมื่อรับแจ้งว่าจะถูกย้ายในเวลา 09.00 น. เขาและผู้ต้องขังคนอื่นอีกประมาณ 50 คน ต้องขึ้นรถบัสของเรือนจำที่มีเบาะที่นั่งเพียงสี่ที่ต่อหนึ่งแถว พร้อมที่นั่งเสริมตรงกลางอีกหนึ่งที่ บางคนไม่มีที่นั่ง ต้องยืนโหนที่จับเหมือนในรถไฟฟ้าที่แน่นขนัด การเดินทางใช้เวลาราวสองชั่วโมงกว่าจะถึงเรือนจำแห่งใหม่

“เหมือนเพิ่งติดคุกครั้งแรกเลย” ทีปกรกล่าว เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกที่ต้องย้ายมาอยู่ที่เรือนจำแห่งใหม่ เขาไม่ได้อยากย้ายมาที่นี่ เพราะคุ้นชินกับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว อีกทั้งยังเคยมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้คุม การย้ายครั้งนี้จึงเหมือนทำให้ต้องกลับมาเริ่มต้นปรับตัวใหม่ทั้งหมด

ในด้านสภาพความเป็นอยู่ ทีปกรเล่าว่าที่เรือนจำแห่งใหม่ผู้ต้องขังอยู่รวมกันประมาณ 1,300 คน โดยไม่มีการแบ่งแดนชัดเจนเหมือนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีเพียงการแบ่งห้องเท่านั้น และมีผู้ต้องขังที่ถูกย้ายมาจากเรือนจำเดิมพร้อมกันราว 200 คน ทำให้ทีปกรยังพอมีเพื่อนจากแดนเดียวกันบ้าง ไม่ถึงกับต้องเริ่มต้นสร้างมิตรภาพใหม่ทั้งหมด  “ความแออัดที่นี่ดูจะน้อยกว่า ไม่ต้องนอนเบียดกัน มีฟูกรองนอนและผ้าห่มถึงสามผืน” แต่ทีปกรก็ยังไม่แน่ใจว่าหากการโยกย้ายเสร็จสิ้น จะมีผู้ต้องขังถูกย้ายเข้ามาอีกเท่าไร

เรื่องอาหารการกิน อาหารที่นี่มีรสชาติมากกว่าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ “ยังได้เห็นเนื้อหนังบ้าง” เขากล่าว แต่ปริมาณที่ได้รับนั้นน้อยมาก การจะไปต่อคิวเติมรอบที่สองก็เป็นเรื่องยาก เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนมาก ทำให้เขาค่อนข้างหิวอยู่ตลอดวัน เพราะกินไม่อิ่ม  ระบบการรับประทานอาหารที่นี่แตกต่างไปจากเดิม เมื่อถึงเวลาอาหาร จะมีการจัดวางอาหารเรียงบนโต๊ะ ผู้ต้องขังเพียงเดินมานั่งประจำที่ และมีการขัดฉาก ก่อนเริ่มรับประทานอาหาร

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดคิด ทีปกรยังคงพยายามปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ การมีเพื่อนจากเรือนจำเดิมบ้างช่วยให้เขา ไม่ถึงกับเหงาเสียทีเดียว คงต้องใช้เวลาสักพัก กว่าจะสามารถสร้างความคุ้นชินกับที่คุมขังแห่งใหม่ ที่แม้จะมีสภาพบางอย่างดีกว่า แต่ความรู้สึกของการต้องเริ่มต้นใหม่ก็ไม่ต่างจากการถูกคุมขังครั้งแรก

ในสายตาของคนนอก การย้ายผู้ต้องขังอาจเป็นเพียงการบริหารจัดการทรัพยากรของระบบราชทัณฑ์ แต่สำหรับชีวิตของผู้ถูกคุมขัง มันคือการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด กับกฎระเบียบใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ ความยากลำบากของญาติในการเดินทางมาเยี่ยม และการต้องพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในสังคมเล็ก ๆ ภายในกำแพงเรือนจำ

จนถึงปัจจุบัน ทีปกรถูกคุมขังทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา มาตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566  รวม 627 วัน หรือ 1 ปี 8 เดือนเศษ เขาเข้าเกณฑ์ลดหย่อนโทษลงหลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ช่วงกลางปี 2567 ทำให้โทษลดลงเล็กน้อย ทำให้มีกำหนดพ้นโทษในช่วงกลางเดือนกันยายน 2568 นี้ หรืออีกประมาณครึ่งปีข้างหน้า

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

จับตา สถานการณ์ย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปเรือนจำอื่น ย้ายแล้ว 5 ราย

“อุดมการณ์ผมไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนเดิม และอาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ” —  ชวนอ่านความคิดของ “ทีปกร” ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 จากการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์

X