“ก้อง” ยังรอติดตามการได้สอบ – กมธ.กฎหมาย เตรียมเชิญ ม.ราม มาชี้แจงอีกครั้งอาทิตย์หน้า

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม “ก้อง อุกฤษฏ์” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ยังคงรอคอยการสอบ 3 วิชาสุดท้าย เพื่อจะได้จบเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตตามความตั้งใจ โดยดูเหมือนขณะนี้จะรอเพียงการพิจารณาของมหาวิทยาลัยอีกครั้ง หลังจากเพื่อนของก้องได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุมัติให้สอบในครั้งแรก ขณะที่ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็พร้อมดำเนินการจัดสอบให้

ขณะเดียวกันทางคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เตรียมนำเรื่องของก้องเข้าพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 26 ก.พ. นี้ โดยจะเชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาให้ข้อมูลอีกครั้ง หลังจากการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ยังไม่ได้เดินทางมา และยังไม่มีการให้เหตุผลที่ชัดเจนถึงการไม่อนุมัติให้สอบว่าเป็นเพราะเหตุใด

ภายใต้การรอคอย ก้องยังยืนยันหนักแน่นถึงความมุ่งหมายครั้งนี้ว่า “ถึงผมจะเป็นผู้ต้องขังคดีการเมือง แต่ผมก็ยังเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน อยากให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นแสงเทียนที่ส่องนำทางให้กับผมอย่างที่เป็นมาเสมอด้วย” 

_____________________________

.

ภาพแรกที่ปรากฏตรงหน้าคือร่างของชายหนุ่มในชุดผู้ต้องขัง นั่งนิ่งอยู่บนม้านั่งริมผนังกระจก เขาคือ ก้อง ที่เคยเห็นผ่านห้องเยี่ยมทนายมาบ้างในครั้งก่อน ๆ แต่วันนี้คือการพบกันครั้งแรกที่ได้พูดคุยกันจริง ๆ หลังโบกมือทักและชี้ให้เขาหยิบโทรศัพท์สำหรับสนทนาขึ้นมา สีหน้าของก้องฉายแววประหลาดใจเล็กน้อยเมื่อทราบว่ามีทนายคนอื่นมาเยี่ยม แต่เมื่ออธิบายว่าต้องการพูดคุยเรื่องคดี และสอบถามความคืบหน้าเรื่องการสอบ รอยยิ้มบาง ๆ ก็ปรากฏบนใบหน้าของเขา

แม้น้ำเสียงจะสะท้อนความตะกุกตะกักอยู่บ้าง แต่ก้องพยายามเล่าทุกอย่างอย่างชัดถ้อยชัดคำ เขาเริ่มต้นด้วยข่าวดีว่าทางเรือนจำพร้อมจะจัดสถานที่สอบให้ แต่น้ำเสียงก็เปลี่ยนไป เมื่อเล่าถึงการติดต่อกับมหาวิทยาลัย “ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนจดหมายถึงอธิการบดี” ก้องเล่าว่าส่งออกไปจากเรือนจำโดยตรง แต่ไม่เคยได้รับการตอบกลับมาที่เรือนจำเลย กลับได้ยินผ่านเพื่อนว่า ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมีมติไม่อนุญาตให้สอบในเรือนจำ โดยไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน 

ในฐานะนักศึกษาก้องรู้ดีว่า แม้จะถูกคุมขัง แต่สถานภาพการเป็นนักศึกษาของเขายังคงอยู่ โดยทราบว่าในช่วงที่มหาวิทยาลัยขยายระยะเวลาการศึกษาจาก 8 ปีเป็น 10 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยังพอเป็นไปได้ที่เขาจะลงทะเบียนใหม่ และสอบจบการศึกษา แต่ก็ยังต้องตรวจเช็คสถานภาพอีกครั้ง

บทสนทนาย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ก้องเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ รามคำแหง รหัส 61 ด้วยความเชื่อที่ว่า “การเรียนในห้องเรียนอาจไม่ได้ตอบโจทย์การเข้าใจปัญหาของสังคมอย่างรอบด้าน” สำหรับเขา การเรียนนิติศาสตร์ไม่ควรจำกัดอยู่แค่การท่องจำตำรา “การเรียนนิติศาสตร์มันเป็นการเรียนรู้กฎเกณฑ์ของสังคม ไม่ควรจะเป็นการเรียนแค่ท่องจำแล้วไปสอบ แต่ต้องเข้าใจเจตนารมณ์ที่กฎหมายระบุไว้ด้วย เพื่อปกป้องอะไรในสังคม”

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2563 ขณะที่ก้องก้าวเข้าสู่การเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เขาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ “ที่บ้านก็ไม่ได้มีฐานะที่ดีอะไรมาก พ่อเลี้ยงกับแม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่าง แม่ผมก็มีอาการป่วยออด ๆ แอด ๆ ไม่แข็งแรง มีหลานที่คล้ายจะเป็นออทิสติกที่ต้องดูแล” ก้องพยายามหางานพาร์ทไทม์เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้โอกาสการหางานแทบเป็นไปไม่ได้

สถานการณ์ดังกล่าวผลักดันให้ก้องเริ่มตั้งคำถามกับอนาคต “ถ้าเราเรียนจบไป หรือนักศึกษาที่เรียนจบไปจะสามารถหางานที่อยากทำและได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงเราสามารถที่จะมีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ได้ไหม หรือคนจากชนชั้นกลาง ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เราอาจจะกลายเป็นชนชั้นล่างก็ได้”  

ยิ่งความคิดที่ว่า “ถ้าเราไม่ออกมาส่งเสียงเรียกร้อง ปล่อยไปตามยถากรรม ถ้าเราไม่เสนอปัญหา การที่ผู้มีอำนาจจะตื่นตัวหาทางแก้ปัญหามันก็ยาก” ก้องจึงตัดสินใจร่วมกับเพื่อนนักศึกษารามคำแหงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ระหว่างปี 2563-2565 ก้องเข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษารามคำแหงอย่างแข็งขัน จนนำมาซึ่งคดีความทั้งที่ศาลอาญาและศาลจังหวัดสมุทรปราการ ท่ามกลางความวุ่นวายในปี 2565 เขาตัดสินใจบวชเพื่อแสวงหาความสงบทางจิตใจ แต่เมื่อลาสิกขาบท กลับต้องเผชิญชะตากรรมถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ประสบการณ์อันเลวร้ายจากการถูกจับกุมไปที่ บก.ปอท. ในคดีมาตรา 112 และเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ติดต่อใคร แม้แต่ทนายความ ซึ่งควรเป็นสิทธิตามกฎหมาย ยิ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเรียนกฎหมายของเขา 

“ตอนนั้นผมกลัวมาก รอบตัวมีแต่เจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่ก็บอกกับผมว่า ถ้าคุณยอมรับตอนนี้โทษจะได้ลดน้อยนะ แต่ถ้าคุณไปสารภาพในชั้นศาลมันจะไม่น้อยเหมือนตรงนี้” ก้องเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “ด้วยตอนนั้นเราอยู่คนเดียว ไม่มีทนาย ทำให้เรากลัวมาก แล้วเราก็ทำอะไรไม่ถูก มันเป็นความกลัวที่อธิบายไม่ถูก” เหตุการณ์นั้นผลักดันให้ก้องอยากเป็นทนายความเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่ “ผมไม่อยากให้มีใครต้องรู้สึกเหมือนผมในวันนั้น”

ในภาพฝันที่จะเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตของก้องเหลือเพียงสามวิชาสุดท้าย: วิธีพิจารณาความแพ่ง 1, วิธีพิจารณาความแพ่ง 2 และคดีเมือง  “ถึงผมจะเป็นผู้ต้องขังคดีการเมือง แต่ผมก็ยังเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน” เขากล่าวพลางระลึกถึงคำขวัญของมหาวิทยาลัย “เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง” 

“ช่วงเวลานี้หนทางทางด้านศึกษาของผมอาจใกล้จะมืดลง อยากให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นแสงเทียนที่ส่องนำทางให้กับผมอย่างที่เป็นมาเสมอด้วย” 

ปัจจุบัน (21 ก.พ. 2568) ก้องถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 มาแล้ว 375 วัน โดยยังเหลือการสอบอีก 3 วิชาสุดท้ายที่รอโอกาสให้เขาเพื่อสำเร็จการศึกษา  

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2568 จากการยื่นประกันผู้ต้องขังทางการเมืองรวมทั้งสิ้น 16 คน รวมถึงตัวก้องด้วย  ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องกรณีก้อง ระบุ “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาตลอดมา เหตุที่ผู้ขอประกันอ้างตามคำร้องไม่ใช่เหตุเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง” 

ก่อนหน้านี้ก้อง ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 2 คดี และถูกคุมขังในระหว่างฎีกามาตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2567 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 5 ปี 30 เดือน กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความ 5 ข้อความ และศาลไม่ให้ประกันระหว่างชั้นฎีกาเรื่อยมา  

ก้องยังถูกศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีแชร์โพสต์ข่าวไปยังกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส’ โดยศาลสมุทรปราการให้ประกันระหว่างฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกาไม่ให้ประกันในคดีแรก อุกฤษฏ์จึงได้ถอนการประกันในคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการในเวลาต่อมา

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ขัง ‘ก้อง อุกฤษฏ์’ ครบ 1 ปี กับการต่อสู้ของ ‘เพื่อนราม’ เพื่อให้ก้องต้องได้สอบ

#ก้องต้องได้สอบ: 9 หน่วยกิตสุดท้าย ของ “อุกฤษฏ์” ที่รอวันสอบในรั้วเรือนจำ

X