5 ก.พ. 2568 – กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นำโดย อาภัสรา ตรวจนอก และ ศุกลวัฒน์ ธนาสิริกุลพงศ์ รักษาการประธานสภานักศึกษา เข้าร่วมประชุมกับ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือกรณี ก้อง อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ขอสอบ 3 วิชาสุดท้ายในเรือนจำ แต่ถูกคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก.บ.ม.ร.) ปฏิเสธ โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลประกอบ
การประชุมครั้งนี้ มีตัวแทนจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, กรมราชทัณฑ์ และสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุม โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจในพิธีซ้อมใหญ่งานพระราชทานปริญญาบัตร และไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดมาร่วมประชุมแทน
.
เส้นทางเรียกร้องสิทธิสอบของ ‘ก้อง อุกฤษฏ์’
‘ก้อง อุกฤษฏ์’ อายุ 24 ปี เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมกลุ่มทะลุราม ถูกคุมขังตั้งแต่ 13 ก.พ. 2567 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 5 ปี 30 เดือน ฐานความผิดมาตรา 112
ขณะที่ถูกคุมขัง ก้องเหลือการเรียนเพียง 3 วิชา (9 หน่วยกิต) ก็จะสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ทำให้ได้ดำเนินการยื่นขอสอบในเรือนจำ โดยเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ทำหนังสือถึงคณบดีคณะนิติศาสตร์เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ก้องสอบภายนอกมหาวิทยาลัย และวันที่ 24 ธ.ค. 2567 ก้องต้องยื่นคำร้องด้วยตนเองขอสอบซ่อมภายในเรือนจำ
อย่างไรก็ตามวันที่ 25 ธ.ค. 2567 คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก.บ.ม.ร.) ปฏิเสธคำขอดังกล่าว โดยไม่มีการให้เหตุผลประกอบ ทำให้กลุ่มเพื่อนนักศึกษาได้ยื่นเรื่องต่อ กมธ.กฎหมายฯ ของสภา เพื่อเรียกร้องให้ก้องได้รับสิทธิสอบในเรือนจำ
.
อธิการบดี ม.ราม ไม่เข้าร่วมประชุม กมธ. ยุติธรรม แม้ที่ประชุมเห็นพ้องต้องคุ้มครองสิทธิทางการศึกษา
วันที่ 5 ก.พ. 2568 ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จัดการประชุมเพื่อพิจารณานโยบายและมาตรการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาของผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ได้เข้าร่วมประชุมตามที่คณะกรรมาธิการได้เชิญไว้
ก่อนหน้าการประชุมเพียงหนึ่งวัน รองศาสตราจารย์จักรี ไชยพินิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี ได้ส่งหนังสือขอเลื่อนกำหนดการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจในการจัดพิธีซ้อมใหญ่พระราชทานปริญญาบัตรและฝึกซ้อมแก่ผู้สำเร็จการศึกษา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการตั้งข้อสังเกตว่าทางอธิการบดีสามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนเข้าร่วมประชุมแทนได้
แม้การประชุมดำเนินต่อไปโดยไม่มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ยืนยันถึงความพร้อมในการสนับสนุนสิทธิทางการศึกษาของผู้ต้องขัง โดยระบุว่าสามารถจัดสอบภายในเรือนจำทั่วประเทศได้ พร้อมหารือแนวทางแก้ไขเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการอีกครั้ง เพื่อชี้แจงแนวทางและมาตรการในการส่งเสริมสิทธิทางการศึกษาของผู้ต้องขังให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
.
ก้องตั้งคำถามถึง ม.ราม: ทำไมไม่อนุมัติสอบในเรือนจำ?
ก้องเพิ่งได้รับทราบคำสั่งของมหาวิทยาลัย ที่ไม่อนุมัติให้เขาสอบในเรือนจำ โดยมติดังกล่าวมาจากการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก.บ.ม.ร.) วาระที่ 5.12 ครั้งที่ 40/2567
คำสั่งนี้ถูกแจ้งโดย รศ.นพคุณ คุณาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน และกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการแทนคณบดีคณะนิติศาสตร์
สิ่งที่น่ากังวลคือ คำสั่งนี้ไม่มีการระบุเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่อนุมัติ ทำให้ก้องไม่สามารถทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณา ซึ่งอาจขัดต่อมาตรา 30 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่กำหนดให้คำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคล ต้องระบุเหตุผลอย่างชัดเจน
เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน ก้องจึงเตรียม อุทธรณ์คำสั่งต่อมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้มีการชี้แจงถึงเหตุผลในการปฏิเสธ รวมถึงเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยพิจารณาจัดสอบในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป
กรณีนี้สะท้อนถึงประเด็น สิทธิทางการศึกษาและความเป็นธรรมในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งยังคงเป็นที่จับตามองของสังคม และการที่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหงปฏิเสธไม่อนุมัติให้ก้องสอบโดยไม่ให้เหตุผลนั้น ว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ โดยมองว่า สิทธิทางการศึกษาควรได้รับการคุ้มครอง แม้บุคคลนั้นจะถูกคุมขังอยู่ก็ตาม
.