เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ ทนายความเดินทางไปเยี่ยม พรชัย วิมลศุภวงศ์ ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำคุก 12 ปี จากการถูกฟ้องว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ มาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2567 รวมเป็นระยะเวลาเกือบ 8 เดือนแล้ว โดยคดีของพรชัยสิ้นสุดลง หลังเขาตัดสินใจไม่ฎีกาอีก
พรชัยแจ้งว่าเขาได้รับจดหมายจากโครงการ Free Ratsadon โดยทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมรณรงค์ส่งจดหมายถึงผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง เขาได้รับแล้วประมาณ 20 ฉบับ เป็นกระดาษเอสี่ 10 แผ่น และการ์ดสีขาว 10 แผ่น แต่เขาเข้าใจว่ามีจำนวนที่ส่งมามากกว่านี้ แต่ทางผู้คุมแจ้งว่าส่งให้เขาเท่านี้ก่อน
พรชัยบอกว่าหลังจากไล่อ่านจดหมายแล้ว รู้สึกมีกำลังใจขึ้นมามาก และบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ในการเชิญชวนบุคคลทั่วไปให้เขียนจดหมายส่งกำลังใจให้คนในเรือนจำ เขารับรู้ถึงความห่วงใยจากคนข้างนอกที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
เขาเล่าว่าในจดหมายมีเนื้อหาหลากหลาย หลัก ๆ คือหลายคนอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยในทางที่ดีขึ้น หรือบางคนก็อยากรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ข้างในเรือนจำ
“คนที่กระตือรือร้น ต้องการทำอะไรอยู่ตลอด ถ้าต้องอยู่ในเรือนจำ เป็นเรื่องที่แย่มาก ๆ อาจป่วยเป็นโรคจิตเวชได้เลย เข้ามาใหม่ ๆ ผมเหมือนแกะดำ แต่เพื่อน ๆ ในแดน 4 และ 5 ในเรือนจำนี้ส่วนใหญ่รู้จักผมจากข่าว จาก TikTok พวกเขาไม่รังเกียจผม แต่รักและปกป้องผม กลายเป็นว่าผมอยู่กับพวกเขาได้ แสดงว่าความคิดคนในสังคม แม้แต่ในเรือนจำ ก็เปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ” พรชัยเล่า
พรชัยรู้สึกว่าการส่งกำลังใจต่อกันนี้ เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้นักโทษการเมืองมีความหวัง การต่อสู้ข้างในเรือนจำอาจไม่สามารถต่อสู้ได้แบบเมื่อก่อน แต่ตัวเขาจะอธิษฐานเพื่อให้รู้สึกว่าการอยู่ตรงนี้มีความหมาย และจะรำลึกอยู่เสมอว่ามีพี่น้องข้างนอกที่เป็นห่วงเรา
“มีน้อง ๆ สองคนเขียนมาบอกว่า พี่พรชัยไม่ต้องเสียใจนะ เรามาได้ครึ่งทางแล้ว ขออย่าท้อแท้ อย่าสิ้นหวัง ขอให้สู้ ๆ เราทุกคนก็พร้อมจะสู้ ๆ เหมือนกัน ผมอ่านแล้วรู้สึกดีใจมาก อยากให้มีจดหมายแบบนี้ส่งให้ผู้ต้องขังการเมืองทุกคน ทุก ๆ เดือนเลย”
.
พรชัยยังพูดคุยเรื่องนโยบายการเยี่ยมญาติผ่านไลน์ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ควรจัดให้มีเหมือนกันทุกเรือนจำ และไม่ควรจำกัดชั้นนักโทษที่จะมีสิทธิเยี่ยมผ่านไลน์ได้เฉพาะชั้นดีขึ้นไป อย่างในเรือนจำกลางเชียงใหม่มีการจำกัดเรื่องนี้
ยิ่งกว่านั้นแม้ว่าจะเป็นนักโทษชั้นดีหรือเยี่ยม ก็ไม่ได้เยี่ยมออนไลน์ได้ทุกคน เนื่องจากในแดนที่มีผู้ต้องขังประมาณ 1,500 คน แต่ได้เยี่ยมจริง ๆ สัก 200 คน เท่านั้น เนื่องจากวันหนึ่งจะให้เยี่ยม 4 ครั้ง ช่วงเช้า 2 ครั้ง และช่วงบ่าย 2 ครั้ง ครั้งละ 7 คน ทำให้ไม่สามารถจัดการการเยี่ยมให้นักโทษทุกคนได้อย่างเพียงพอ ยังไม่นับว่าผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาที่ยังไม่มีชั้น ก็ไม่มีสิทธินี้ไปด้วย
พรชัยยังถามถึงความคืบหน้าเรื่องนิรโทษกรรม เขาเห็นว่าการนิรโทษกรรมถึงอย่างไรก็ควรรวมคดีมาตรา 112 เรื่องนี้เป็นเหมือนความหวังเดียวของเขา การที่ถูกลงโทษจำคุกถึง 12 ปี ดูไม่มีทางเลือกอื่น แต่หากการผลักดันไม่สำเร็จ เกิดการนิรโทษกรรมคดีอื่น ๆ โดยยกเว้นมาตรา 112 เขาก็เห็นว่าอย่างน้อยก็ทำให้พี่น้องที่เคยออกมาชุมนุมเคลียร์คดีไปได้บางส่วน และอีกบางส่วนหากถูกคุมขังอยู่ ก็อาจจะได้กลับบ้าน
พรชัยยังมีความหวังว่าจะได้ออกจากเรือนจำไปโดยเร็ว การถูกคุมขังนั้นทรมาน จากคนที่เคยกระตือรือร้น อยากจะทำอะไรอยู่ตลอดเวลา แต่อยู่ในเรือนจำ เหมือนขังหัวใจตัวเองไว้ ขยับตัวก็ลำบาก
พรชัยฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจทางการเมืองว่า “ผมเชื่อเหลือเกินว่าในสมัยนี้ คนรุ่นใหม่จะไปได้ไกลและเร็วกว่าพวกผม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตอันใกล้นี้ ผมมองว่าคนรุ่นใหม่จะรู้มากขึ้น ภาคประชาชนจะมีบทบาทแข็งแรงไม่แพ้พรรคการเมืองเลย และสุดท้ายพรรคการเมืองก็จะต้องฟังเสียงประชาชน”
.
ย้อนอ่านเรื่องราวชีวิตของพรชัย การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112
.