จดหมายจาก ‘เก็ท โสภณ’ ถึง ‘นายกฯ แพทองธาร’: มีทางแก้ไขปัญหาคดี ม.112  อย่างไร

“ร่างกายอยู่ข้างใน แต่ตัวตนจิตใจยังหยัดยืนต่อสู้”  คงเป็นประโยคที่ไม่เกินเลยนัก หากจะนิยามชีวิตของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง บัณฑิตด้านรังสีเทคนิคและนักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ผู้ตกเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

ต้นเดือน พ.ย. 2567 เป็นอีกครั้งที่เก็ท สื่อสารเรื่องราวจากรั้วกำแพงสูง ส่งผ่านมาให้สาธารณชนรับทราบถึงความเป็นไปในแต่ละวันเวลาที่ถูกคุมขัง ในฐานะคนที่ยังคงเชื่อมั่น ฝันใฝ่ รวมถึงตั้งคำถามถึงสิทธิเสรีภาพที่ถูกพรากไปพร้อมกับคดีมาตรา 112 ผ่านใจความจดหมายจากเรือนจำ   “ผมอยากฝากจดหมายนี้ถึงนายกฯ ในสถานการณ์ที่คดีมาตรา 112 ถูกกล่าวว่าเป็นคดีเปราะบางทางการเมือง ท่านนายกรัฐมนตรีมีทางแก้ไขปัญหาอย่างไร

————————

วันที่ 7 พ.ย. 2567

จดหมายถึงนายกฯ “อุ๊งอิ๊ง”

ผมได้ทราบว่ารัฐบาลพรรคร่วมประกาศว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 แต่ด้วยเหตุที่ผมถูกขังด้วยมาตรา 112 ในเรือนจำ ซึ่งเรือนจำมีมาตรการในการจำกัดสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร ผมจึงส่งจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ถามความชัดเจนในจุดยืนของรัฐบาล และขอทราบคำตอบถึงแนวทางแก้ปัญหาวิกฤติมาตรา 112 จากคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ความดีงามของระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจในการปกครองเป็นของปวงชน ประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการร่วมกันออกแบบสังคม ในความเป็นประชาธิปไตยเราจะไม่ทำร้ายหรือละเมิดสิทธิใครเพียงเพราะเขาเห็นต่าง ความชอบธรรมขององค์กรและสถาบันของรัฐเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อองค์กรและสถาบันของรัฐนั้นยึดโยงกับฉันทามติของประชาชน 

ผมเชื่อว่าคุณแพทองธารในฐานะผู้นำรัฐบาลย่อมเข้าใจประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี ในขณะหาเสียงเลือกตั้งมาจนถึงเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีทั้งผู้ชื่นชอบคุณแพทองธารและคณะ และผู้แสดงความคิดเห็นแย้ง บางครั้งแสดงความคิดเห็นในเชิงถากถาง แต่คุณแพทองธารไม่ได้ฟ้องร้องปิดปากผู้เห็นต่างแต่อย่างใด ในทางกลับกันคุณแพทองธารกลับแสดงความวิริยะอุตสาหะพิสูจน์การทำงานของตนในรัฐบาล

ในขณะที่ประเทศไทยข้ามผ่านยุคสมัยของรัฐประหาร และดูเหมือนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้เริ่มเบ่งบานอีกครั้ง ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แต่กลับมีผู้คนส่วนหนึ่งพยายามฉุดรั้งความเจริญของสังคมไว้ด้วยการอ้างการปกป้องและการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ในขณะผู้คนในสังคมกำลังอภิปรายถึงกฎหมายมาตรา 112 ไปจนถึงแนวทางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สถาบันนิติบัญญัติ และตุลาการ กลับกระมิดกระเมี้ยนที่จะพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ผมเฝ้ามองดูผู้แทนของประชาชนทำงานอย่างคาดหวังว่าในฐานะของรัฐ จะทำงานอย่างจริงใจและยึดมั่นในอุดมการณ์ของประชาธิปไตย

แต่การถกเถียงของท่านผู้เจริญ ผู้ทรงเกียรติของอำนาจจากประชาชนไม่ได้อธิบายถึงแก่น สารัตถะของปัญหา ในทางกลับกันผู้ทรงอำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ ทำเพื่อจำแนกคนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มฝ่ายเดียวกับสถาบันกษัตริย์ และกลุ่มที่ไม่อยู่ฝ่ายเดียวกับสถาบันกษัตริย์ เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยมีท่าทีแสวงหาอำนาจ ดังแร้งแย่งศพผ่านการพิสูจน์ว่าใครภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มากกว่ากัน

เรียนนายกรัฐมนตรีด้วยความสัตย์ซื่อ จริงใจ สังคมประชาธิปไตยสมควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและปลอดภัย การฟ้องร้องคดีมาตรา 112 ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกฟ้องร้องโดยกษัตริย์ ราชินี องค์รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือสำนักพระราชวังแต่อย่างไร นี่อาจเป็นภาพสะท้อนว่าสำหรับคู่กรณีในคดีแล้ว ท่านทั้งหลายไม่ได้กระทบกระเทือนต่อพฤติการณ์ในคดีเลยด้วยซ้ำ ผู้ที่ร้องก็มีแต่ตาสีตาสาที่ตีโพยตีพายว่า คดีทั้งหลายจะไปทำร้ายท่าน ทั้งที่สถาบันกษัตริย์ก็แข็งแรงในตัวอยู่แล้ว 

การกระทำของผู้ที่อ้างผลว่าภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เหล่านั้นส่งผลกระทบให้สถาบันกษัตริย์ดูเปราะบางในเวทีโลก ผมได้อ่านสรุปของ กมธ.นิรโทษกรรม แล้ว คดีมาตรา 112 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ผมเห็นว่าตัวคดีหรือผู้ถูกกล่าวหานั้นไม่ได้เปราะบาง แต่ผู้กำหนดมันต่างหากที่อยู่ในสถานะเปราะบาง พวกเขาเปราะบางเกินจะเผชิญหน้าพูดคุยกับบรรทัดฐานของความจริง

ปัจจุบันมาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำร้ายผู้เห็นต่างภายใต้ความจงรักภักดี ผู้ที่อ้างความจงรักภักดีนั้นอ้างต่อไปว่าตนกระทำการฟ้องร้องไปเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ แล้วเขาทั้งหลายได้คำนึงถึงการปกป้องสวัสดิภาพของประชาชนหรือไม่

การสมานฉันท์ไม่อาจทำได้ด้วยการทำให้ทุกคนคิดเหมือนกัน หากแต่ทำได้โดยการเคารพความหลากหลายและสิทธิในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งคุณแพทองธารบอกว่ามาตรา 112 นั้นมีปัญหา ในเวลาต่อมาคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เมื่อผมได้ทราบข่าวว่าทางรัฐบาลประกาศจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 112 ผมจึงไม่ปักใจเชื่อ จึงได้เขียนจดหมายฉบับนี้มาถามท่านว่าข่าวที่ผมทราบนั้นจริงหรือไม่ จุดยืนของท่านนายกฯ ต่อมาตรา 112 ยังเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไป และในสถานการณ์ที่คดีมาตรา 112 ถูกกล่าวว่าเป็นคดีเปราะบางทางการเมือง ท่านนายกรัฐมนตรีมีทางแก้ไขปัญหาอย่างไร

เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง 

————————

ถึงวันนี้ (15 พ.ย. 2567) “เก็ท โสภณ” ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 450 วัน หรือ 1 ปี 2 เดือน 15 วัน จากคดีปราศรัยในเหตุชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว ที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี ต่อมาเก็ทยังถูกศาลอาญาธนบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกอีก 3 ปี ในคดีปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก”  และปลายเดือนต.ค. 2567 ศาลอาญายังพิพากษาให้จำคุกอีก 2 ปี จากคดีปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล #แจกน้ำยาให้หมามันกิน ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565  รวมทั้ง 3 คดี ทำให้รวมโทษจำคุกของเก็ทอยู่ที่ 8 ปี 6 เดือน

.

อ่านเรื่องราวของเก็ท  

บันทึกจากห้องพิจารณาคดีที่ 707 : รอยกรีด 112 บนหน้าอก “เก็ท” โสภณ ประท้วงกระบวนการยุติธรรมและปัญหาของมาตรา 112 

X