ปัจจุบัน (11 ต.ค. 2567) มีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั่วประเทศ อย่างน้อย 41 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 เกินครึ่งถึง 27 คน โดยมีผู้ถูกคุมขังคดีมาตรา 112 ได้รับการปล่อยตัว 1 รายในเดือนที่ผ่านมา หลังมี พ.ร.ฏ.อภัยโทษ
สถานการณ์เดือนที่ผ่านมา (11 ก.ย. – 11 ต.ค. 2567) ยังพบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 3 ราย ถูกคุมขังระหว่างรอประกันตัว ก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา โดยรายหนึ่งถูกคุมขังเพราะปัญหาที่ศาลเรียกเอกสารประกอบการติดกำไลอิเล็คทรอนิกส์ และอีก 2 ราย ถูกคุมขังระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์
ส่วนเรื่องน่าจับตามองของผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ยังเป็นเรื่องที่ผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งต้องรักษาสภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะปัญหาการไม่ได้รับยารักษาแบบเดียวกับที่เคยได้รับขณะใช้ชีวิตอยู่ภายนอก
.
นักกิจกรรม-ประชาชนรวม 3 ราย ถูกขังรอประกันตัว ก่อนได้ปล่อย
วันที่ 12 ก.ย. 2567 “กร” (นามสมมติ) ชาวจังหวัดชัยนาท ถูกขังระหว่างรอการประกันตัวในคดีมาตรา 112 หลังถูกอัยการสั่งฟ้องในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าคอมเมนต์ท้ายโพสต์ของเพจคนไทยยูเค
ศาลอาญากำหนดให้หลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 90,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว 6 ประการ หนึ่งในนั้นคือให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) แต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า แม้ทำสัญญาประกันแล้ว แต่เงื่อนไขในการติดกำไล EM นั้น จำเป็นต้องมีญาติที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน และอยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันมาลงลายมือชื่อในเอกสารการติดอุปกรณ์ แต่เนื่องจากกรมีภูมิลำเนาอยู่ชัยนาท และเขาเดินทางมารับฟังคำสั่งฟ้องเพียงลำพัง ทำให้ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) ได้สมบูรณ์ ต้องประสานงานญาติมาศาลต่อไป
ผลของปัญหาดังกล่าว กรได้ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และรอผ่านช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สุดท้ายต้องรอเอกสารให้เสร็จสมบูรณ์จนถึงวันที่ 16 ก.ย. 2567 รวมเวลากรถูกคุมขังอยู่ 5 วันระหว่างรอการดำเนินการทางเอกสารดังกล่าว
ขณะที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ช่วงวันที่ 13 ก.ย. 2567 ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ ถูกขังระหว่างรอประกันตัวชั้นอุทธรณ์ หลังศาลจังหวัดภูเขียวมีคำพิพากษาในคดี ม.112 ลงโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน และ 2 ปี ตามลำดับ กรณีปราศรัยในชุมนุมเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษจากการคุกคามนักเรียน กรณีจัดค่ายราษฎรออนทัวร์ โดยศาลชั้นต้นไม่สั่งเรื่องการประกันตัวเอง แต่ส่งไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นผู้สั่ง
ทั้งสองต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำอำเภอภูเขียว 1 วัน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ประกันตัวในวันถัดมา (14 ก.ย. 2567)
.
ผู้ต้องขังเด็ดขาด ได้รับการปล่อยตัว 1 ราย
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 “วัฒน์” (นามสมมติ) ช่างตัดผม ชาวจังหวัดราชบุรี ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีมาตรา 112 ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 หลังเข้าเกณฑ์การปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ ที่ออกมาเมื่อกลางเดือนสิงหาคม โดยเขาต้องเข้าอบรมในหลักสูตรโคกหนองนาของทางเรือนจำก่อน เป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนได้รับการปล่อยตัว
ทั้งนี้วัฒน์ถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในคดีที่เขาถูกประชาชนทั่วไปไปกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาชื่นชมในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่วิพากษ์วิจารณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยเขาไม่ได้อุทธรณ์คดีต่อ เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2566 ทำให้คดีสิ้นสุดลง
รวมระยะเวลาที่วัฒน์ถูกคุมขังคือราว 1 ปี 2 เดือนเศษ เขาถูกปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนดโทษเต็มประมาณ 3 เดือนเศษ
.
เรื่องน่าจับตาในเรือนจำ อาย-มานี ต้องได้รับยารักษาสภาวะซึมเศร้าต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ของผู้ต้องขังในเรือนจำที่น่าสนใจ พบว่าผู้ต้องขังหลายคนเผชิญกับปัญหาการรักษาโรคซึมเศร้าภายในเรือนจำ
‘อาย’ กันต์ฤทัย ผู้มีอาการป่วยซึมเศร้าตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ ช่วงปลายเดือน ก.ย. 2567 เธอเริ่มพูดถึงความกังวลเรื่องยา จากที่ทราบว่ามีการย้ายสิทธิบัตรทองของตนไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ที่โรงพยาบาลนี้ไม่มียาจิตเวชที่เธอเคยใช้รักษาต่อเนื่องมา 6-7 ปี ค่ายาดังกล่าวก็ค่อนข้างแพง และเป็นยาที่มีคุณสมบัติหลายอย่าง
ย้อนไปก่อนหน้านี้เวลาไปพบแพทย์ หมอจะบอกเธอว่ายานี้ช่วยเรื่องอะไร และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่ยาในราชทัณฑ์ไม่มี เธอไม่รู้ว่าเป็นยาอะไร ตอนนี้ยาเหลือทานได้อีกประมาณ 1-2 เดือน ยังไม่รู้ว่าจะได้ยาตัวเดิมจากที่เคยได้ภายนอกหรือไม่
ด้าน ‘มานี’ ยังคงต้องดูแลรักษาภาวะโรคซึมเศร้าที่เป็นมาตั้งแต่ก่อนถูกขังครั้งนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน เธอได้หยุดทานยาของทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะมีอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอาการซึมและเบลอที่มีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องตัดสินใจหยุดทานยาก่อน
ต่อมาญาติของเธอ ทำเรื่องส่งยาที่เคยใช้รักษามานีจากข้างนอกมาให้ และต้องได้รับการรับรองจากแพทย์จิตเวชที่จ่ายยาให้ผู้ต้องขัง กระทั่งต่อมาแพทย์ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่งยาต่อให้มานี เมื่อได้รับยาที่เคยรักษาความเครียดและความกังวลได้ลดลงไปบางส่วน
สถานการณ์การดูแลสุขภาพ และรักษาพยาบาล โดยเฉพาะทางด้านจิตใจของผู้ต้องขังของเรือนจำต่าง ๆ ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อไป
อ่านกรณีเรื่องการรับยารักษาสภาวะซึมเศร้า : “มานี – อาย” ทวงถามมาตรฐานการรับ-จ่ายยารักษาโรคซึมเศร้าจากทัณฑสถานหญิง