“ขอให้พูดความจริงกันต่อไป”: การต่อสู้ของ “เก็ท โสภณ” ใน 1 ปี การถูกคุมขังคดี ม.112

วันที่ 24 ส.ค. 2567 นับเป็นระยะเวลา 1 ปี แล้วที่ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรงค์ นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กลายเป็นผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นการถูกคุมขังเป็นครั้งที่ 3 และกลายเป็นครั้งที่ยาวนานออกมา  

ทั้งต่อมาเก็ทยังถูกศาลอาญาธนบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกอีก 3 ปี ในคดีปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 ทำให้รวมโทษจำคุกของเขาอยู่ที่ 6 ปี 6 เดือน  โดยเขากำลังรอคอยฟังพิพากษาของศาลอาญาในคดี ม.112 อีก 1 คดี ในวันที่ 29 ส.ค. 2567 นี้ จากกรณีปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนย้อนดูการต่อสู้ตลอด 365 วันที่ผ่านมาในห้องพิจารณาคดีของเก็ท และการขับเคลื่อนอุดมการณ์ประชาธิปไตยจากกรงขัง ที่ “ความจริง” ยังคงถูกขับเคลื่อนต่อไปแม้ในวันที่ไร้อิสระภาพ 

การเข้าเรือนจำครั้งที่ 3 และการตัดสินใจปฏิเสธอำนาจศาลยุติธรรม

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566  ภายหลังการถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือนในคดี ม.112 จากเหตุปราศรัยกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว คำพิพากษาคดีนี้ ยังเป็นการลงโทษที่ผิดพลาดของศาลอาญา เนื่องจากมีการลงโทษข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกถึง 6 เดือน ทั้งที่ตามกฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และต่อมาศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้เก็ทถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรื่อยมา จนทำให้เขาตัดสินใจปฏิเสธอำนาจศาลและกระบวนการยุติธรรม 

การประกาศครั้งแรกเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีที่ศาลอาญาธบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ในนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565

เก็ทถูกเบิกตัวไปที่ศาลอาญาธนบุรี โดยแถลงต่อศาลเพื่อขอถอนทนายความออกจากคดีดังกล่าว และประกาศปฏิเสธ “กระบวนการยุติธรรม” เพื่อประท้วงและเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด รวมถึงการยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์

“ข้าพเจ้านายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เวลาที่ผ่านมาทั้งตัวผมและประชาชนจำนวนมากถูกปิดปาก ถูกทำร้ายโดยมาตรา 112 ผมถูกคุมขังทั้งในเรือนจำ ทั้งในบ้านของตนเองนานกว่า 7 เดือน

“มีคนจำนวนมากที่ยังคงสู้เรื่องสิทธิประกันตัว ทั้งเวหาเอง วารุณีเอง ที่กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ให้สิทธินี้กับผู้ต้องขัง ผมขอน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่เคยตรัสเอาไว้ว่า ‘ไม่อยากให้นำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชน’ แต่สุดท้ายก็มีการเอามาใช้กับประชาชน ซึ่งตอนนี้มีคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก

“ดังนั้น ผมจึงขอ ‘ปฏิเสธอำนาจศาล’ ผมไม่ได้พูดถึงท่านเพียงคนเดียว แต่ผมพูดถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด จนกว่าศาลจะคืนสิทธิประกันตัวและยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องขัง 112 ทุกคน ขอบคุณครับ”

การแถลงขอถอนทนายความในคดีและปฏิเสธอำนาจศาลดังกล่าว โสภณมี 2 ข้อเรียกร้องด้วยกัน ได้แก่

1) ขอให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน
2) เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด

.

หันหลังประท้วงศาลตลอดการพิจารณาคดี และถอดเสื้อผู้ต้องขัง

ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2566 ระหว่างสืบพยานคดี ม.112 กรณีปราศรัยกิจกรรม #ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ที่ศาลอาญาธนบุรี หลังจากเก็ทได้ประกาศเจตจำนงปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม และถอนทนายความในคดีออกทั้งหมดแล้ว เก็ทได้แสดงออกอย่างสันติวิธีในศาลหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

วันที่ 18 ก.ย. 2566  เก็ทถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเข้าร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลเช่นเคย แต่เมื่อมาถึง เขาได้ ‘นั่งหันหลัง’ ให้กับผู้พิพากษาและปฏิเสธที่จะตอบคำถามใด ๆ ของศาลตลอดการพิจารณาคดี ตามเจตจำนงที่เคยได้แถลงไว้ว่าไม่ขอยอมรับอำนาจศาลและไม่ต้องการมีส่วนร่วมใด ๆ ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี 

“ผม โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วที่ผมปฏิเสธอำนาจศาล ประกาศถอนทนาย และไม่ขอมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาใด ๆ ของศาล ข้อเรียกร้องของผมยังคงชัดเจน คือ 

“‘หนึ่ง’ คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน
“และ ‘สอง’ ยุติการดำเนินคดี 112 ทั้งหมด

“ผมขอบคุณศาลอาญาธนบุรีที่ให้สิทธิในการประกันตัวกับผมและจำเลยคนอื่น ๆ แต่การประท้วงของผมเป็นการประท้วงต่ออำนาจศาลทั้งหมด ตอนนี้มีคนอยู่ในคุก 32 คน 2 คนกำลังอดอาหารประท้วง หลายคนอาการย่ำแย่ ทั้งเวหา วารุณี เอกชัย รวมถึงผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่น ๆ ที่ต้องถูกพรากสิทธิประกันตัวไป

“ในประวัติศาสตร์การปฏิเสธอำนาจศาลนั้น ล้วนเป็นการปฏิเสธอำนาจศาลในนามพระปรมาภิไธย ดังนั้นผมไม่รู้ว่าเราจะหาความเป็นธรรมได้ไหม เพราะศาลเป็น ‘ศาลในนามของกษัตริย์’

“ผมเคยแถลงไปแล้วว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทรงไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดี ม.112 กับประชาชน ท่านเคยทวงถามถึงเพื่อนอัยการ เพื่อนตุลาการของพวกท่านหรือไม่ว่า ‘สิ่งที่พวกท่านกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่’ การที่พวกท่านทำแบบนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับแค่ตัวผม แต่มันส่งผลเสียต่อประชาชนและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด แม้แต่ตัว ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ เองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

“ขอให้รู้ไว้ว่า การประท้วงของผมไม่ได้ประท้วงต่อท่านเพียงคนเดียว แต่ผมประท้วงต่ออำนาจในกระบวนการยุติธรรม ‘ทั้งหมด’ ทำไมพวกท่านไม่ช่วยกันแก้ปัญหา เวลามีคนถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ศาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย ท่านไม่รู้สึกอะไรกันบ้างเลยหรือที่มีคนโดนดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากมายขนาดนี้ พวกท่านทำอะไรกันอยู่

“สุดท้าย ผมขอฝากไปถึงตำรวจศาลด้วย ท่านไม่ให้พ่อแม่ของจำเลยเข้ามาฟังการพิจารณาคดี แต่สัปดาห์ที่แล้วท่านกลับปล่อยให้พยานโจทก์ปากที่ 2 เข้ามาฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ปากที่ 1 ได้ยังไง แล้วแบบนี้ความน่าเชื่อถือของพยานอยู่ตรงไหน”

เมื่อกล่าวคำแถลงเสร็จสิ้น ศาลไม่ได้กล่าวอะไร เพียงแต่ทำการบันทึกข้อเรียกร้องทั้งสองข้อเก็บไว้ในเอกสารรายงานกระบวนพิจารณาคดี

.

วันที่ 6 พ.ย. 2566 ในนัดสืบพยานคดีดังกล่าว เก็ทถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงเขาได้นั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษาและปฏิเสธที่จะตอบคำถามใด ๆ เหมือนในนัดสืบพยานครั้งก่อน ๆ 

ในระหว่างการสืบพยาน เก็ทได้ถอดเสื้อนักโทษของตนเองออกในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีและนั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษา จนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พยายามเข้ามาควบคุมตัว ให้เขากลับไปใส่เสื้อนักโทษตามเดิม จนมีการโต้เถียงกันเกิดขึ้น และสุดท้ายศาลกล่าวอนุญาตให้เขาสามารถทำตามสิ่งที่ตนเองต้องการได้ เก็ทได้แถลงต่อศาลในการสืบพยานครั้งนั้นว่า 

“บอกว่าผมถอดเสื้อแบบนี้ไม่ได้ มันผิดปกติ แล้วคุณว่ามันปกติหรือที่ผมถูกขังแบบนี้ การสืบพยานแบบนี้มันปกติไหม การใช้ 112 กับประชาชนจำนวนมาก การไม่ให้ประกันมันปกติไหม เห็น ๆ กันหมดว่ากระบวนการมันไม่ปกติ การประท้วงของผมมันสันติวิธีมาก ๆ แต่คุณกลับบอกว่ามันไม่ปกติ

“ผมขอประท้วงต่อศาล และต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด พวกคุณพูดแต่ว่ามันเป็นหน้าที่ ๆ แต่คุณไม่เคยทักท้วงต่อระบบที่เป็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่ว่ามันผิดปกติ

“หน้าที่ของพวกคุณคือการทำให้กระบวนการยุติธรรมมันดีขึ้น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกคนพร่ำบอกแต่ว่า ตัวเองทำตามหน้าที่ ๆ ซึ่งมันทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้กระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยว แทนที่เราทุกคนในระบบนี้จะช่วยกัน แต่เรากลับปล่อยให้มันแย่กว่าเดิม”

ต่อมาในเวลาช่วงบ่าย 15.00 น. เก็ทได้ลุกขึ้นไปยืนที่คอกพยาน ในลักษณะที่ยังคงเปลือยร่างกายท่อนบนของตัวเอง เขาแถลงต่อศาลเพื่อทวงถามถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาและเพื่อนผู้ต้องขังคดีการเมืองอีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่อีกครั้ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

“ก่อนอื่นผมต้องขอโทษศาล ขอโทษทุก ๆ คนด้วยที่ต้องมาเห็นผมอยู่ในสภาพแบบนี้ ต้องมาเห็นผมทำตัวเหมือนลิง ทำอะไรที่แปลกประหลาด ผิดปกติ ผมทราบดีว่าการที่ผมถอดเสื้อออกในวันนี้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะได้กระทำต่อศาลหรือไม่ได้กระทำต่อศาลก็ตาม แต่เหตุที่ผมต้องทำแบบนี้เพราะผมอยากให้ท่านทั้งหลายรู้สึกถึงความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมที่ผมและเพื่อน ๆ อีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่

“ตัวผมเองก็อยากเรียกร้องให้มันสันติที่สุด แต่ผมมีเพียงตัวเปล่า ผมก็ทำเท่าที่ผมจะทำได้ ผมอยากให้ท่านทั้งหลายรู้สึกถึงความผิดปกติที่มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมถามท่านหน่อยว่า ประชาชนที่ออกมาตั้งคำถาม ออกมาต่อสู้เรียกร้องถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม สมควรจะมีชะตากรรมแบบนี้หรือไม่ พวกเขาควรจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายตามสิทธิที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทย และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัว พวกเขาไม่ควรถูกล่ามโซ่ตรวนและทำกับเค้าเหมือนหมูเหมือนหมา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการพิพากษาด้วยซ้ำว่ามีความผิด นี่หรือคือประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

“ในหลวงทั้ง 2 พระองค์ ร.9 กับ ร.10 ท่านก็เคยตรัสไว้ว่า ไม่อยากให้มีการดำเนินคดี 112 กับประชาชน แต่การที่ 112 ถูกใช้แบบนี้ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมหรือที่ได้รับผลกระทบ

“ผมอยากให้ท่านได้รับรู้ถึงความผิดปกติเหล่านี้ เพราะท่านเป็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ท่านไม่อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมมันดีขึ้นกว่านี้หรือครับ ผมมันเป็นเพียงแค่คนนอก ลำพังแค่ตัวผมเพียงคนเดียวมันไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าหากพวกท่านช่วยกัน ผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไปได้ไกลกว่านี้ครับ

“ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนาย ตำรวจศาล และบุคลากรอื่น ๆ ผมอยากให้พวกท่านช่วยกันออกมาทวงถามถึงความไม่เป็นธรรมที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ อยากให้พวกท่านออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ เพื่อลูกหลานของพวกท่านเองในอนาคต เท่านี้แหละครับสิ่งที่ผมอยากจะพูด”

อย่างไรก็ตาม ทุกคำแถลงที่เก็ทได้กล่าวต่อศาลที่คอกพยาน ในทุกนัดสืบพยานที่เขาได้เบิกตัวมาข้างต้น ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาคดีไม่ได้ตอบรับใด ๆ แต่ได้บันทึกข้อเรียกร้องทั้งสองข้อของเขาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี

.

ประท้วงพยานโจทก์ที่เบิกความผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ถือรูป “บุ้ง เนติพร” ตลอดการพิจารณาคดี และ ขอใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวแทนชุดผู้ต้องขัง

ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย และ 2-3 ก.ค. 2567 ที่ห้องพิจารณาคดี 707 ศาลอาญานัดสืบพยานคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง กรณีเก็ทปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-2019 และการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์

วันที่ 26 มิ.ย. 2567 เก็ทถูกนำตัวเดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดี โดยก่อนเริ่มการพิจารณาคดี เก็ทได้แถลงต่อศาลว่าขอถือรูปของ “บุ้ง เนติพร” นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ที่เพิ่งเสียชีวิตจากการประท้วงอดอาหารในเรือนจำ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 พร้อมกับมวลชนที่ติดตามเข้าร่วมการพิจารณาคดีของเขาในวันดังกล่าว 

การสืบพยานเริ่มต้นขึ้น และหนึ่งในพยานโจทก์วันนั้น คือ พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากมีภูมิลำเนาอยู่ราชบุรี 

เก็ทคัดค้านการขึ้นเบิกความของพยานโจทก์คนดังกล่าว โดยมีเหตุผลซึ่งเป็นใจความสำคัญระบุไว้ว่า “ผมขอความเมตตาและนิติธรรมจากท่าน ในฐานะตุลาการได้หรือไม่ คดีอย่างนี้ถ้าผมแพ้คดี ผมก็ต้องติดคุกหลายปี แต่พยานโจทก์กลับทำได้อย่างง่ายดายคือมาวิดีโอมาคอนเฟอเรนซ์ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ในคดีของคุณทานตะวันและคุณแบมเขาก็เพิ่งเดินทางมาจากราชบุรีมาให้การที่ศาลแห่งนี้

“ผมอยากให้รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาลแห่งนี้ไว้ว่า ถ้าหากผมแพ้คดี ผมก็ต้องติดคุกหลายปี ส่วนพยานโจทก์ผมก็อยากจะให้ท่านให้เกียรติศาลแห่งนี้ และก็เห็นใจผมด้วยว่าสิ่งที่ท่านกำลังจะเอื้อนเอ่ยอะไรออกไป อาจจะทำให้ชีวิตของคน ๆ หนึ่งติดคุกหลายปี อาจจะส่งผลเป็นประวัติศาสตร์ต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นท่านช่วยมาที่ศาลยุติธรรมแห่งนี้ได้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นใคร ๆ ก็อ้างได้ว่าผมขอคอนเฟอเรนซ์ได้ไหมครับ บางคนก็แจ้ง 112 คนนู้นจากต่างจังหวัด และก็ให้การจากต่างจังหวัด ขณะที่จำเลยที่ถูกกล่าวหาต้องมาขึ้นศาลที่นี่อย่างนี้หรือ อย่างนี้มันก็ไม่ชอบธรรม

“ผมติดใจว่าในเมื่อเบิกพยานโจทก์-พยานจำเลยคนอื่นมาได้ เบิกตัวจำเลยก็เบิกมาได้ ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วเนี่ย ถ้าอ้างเรื่องสุขภาพหรือความสูงอายุ ผมเชื่อว่าคนในห้องนี้ไม่ใช่คนหนุ่มสาว แต่ก็ยังบากบั่นมาศาลได้ และฝั่งที่เห็นต่างกับผม ก็ยังมาที่ศาลได้ ผมมองว่าการที่พยานโจทก์มาคอนเฟอเรนซ์นั้น ไม่ได้ให้เกียรติ ให้ศักดิ์ศรีกับศาลยุติธรรมแห่งนี้เลยครับ”

ภายหลังจากสืบพยานไปสักระยะ ปรากฏว่าทนายจำเลยไม่สามารถถามค้านได้โดยสะดวก เพราะมีเอกสารหลายอย่างที่ต้องการให้พยานโจทก์อ่านรายละเอียด การสืบพยานเต็มไปด้วยความติดขัดและมีข้อผิดพลาดของการสื่อสารหลายอย่าง 

สุดท้ายศาลจึงต้องยอมให้เรียกพยานโจทก์ปากนี้มาเบิกความที่ศาลเพิ่มเติมในวันที่ 2 ก.ค. 2567 ตามคำร้องของจำเลย

.

วันที่ 3 ก.ค. 2567 เก็ทเดินทางจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลย ก่อนเริ่มการพิจารณาเขาได้แถลงต่อศาลขอให้เขาสามารถเปลี่ยนการแต่งกายของเขาในห้องพิจารณาคดีได้ จากชุดนักโทษเป็นเสื้อเชิ้ตธรรมดาแทน อย่างน้อยเขาก็ควรได้รับอิสรภาพในการแต่งกายอยู่บ้าง ซึ่งผู้พิพากษาก็ได้อนุญาตตามคำขอโดยไม่ต้องเสียเวลาให้จำเลยยื่นคำร้อง

เก็ทเริ่มถอดชุดนักโทษสีน้ำตาลออก แล้วสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวที่คุณพ่อได้เตรียมไว้ให้ลูก “สายน้ำ” เพื่อนของเก็ทที่มาเฝ้าดูการพิจารณาคดีในวันนี้ถอดรองเท้าคัตชูหนังสีดำเงาให้เก็ทได้สวมใส่ ทำให้เขาได้ขึ้นเบิกความด้วยชุดขาวสะอาดเอี่ยมราวกับไม่ใช่ผู้ถูกจองจำ 

เมื่อขึ้นเบิกความต่อศาล เก็ทได้ชูแขนขวาขึ้นทำมือเป็นรูปสามนิ้ว พร้อมกล่าวคำสาบานต่อนักสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายอย่างหนักแน่นว่าหากตนพูดความเท็จขอให้มีอันเป็นไป

และภายหลังการเบิกความเสร็จสิ้นลง ประชาชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีและมาให้กำลังใจเก็ท ได้ร่วมกันร้องเพลง “ด้วยรักและผูกพัน” ในห้องพิจารณาคดี ก่อนเก็ทจะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวกลับเรือนจำ เขาได้เขียนข้อความลงบนกระดาษเนื้อเพลงว่า “ขอให้พูดความจริงต่อไป”  

คดีปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากลดังกล่าว ศาลกำลังจะมีคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. โดยคดีนี้ถือว่าเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ของเก็ทที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาแล้ว

ทั้งนี้เก็ทถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 รวมทั้งหมด 4 คดี นอกจากนั้นยังมีคดีจากการชุมนุมอื่น ๆ ในช่วงปี 2564-65 อีก 11 คดี ในจำนวนนี้ คดีสิ้นสุดไปแล้ว 6 คดี 

X