ถูกขังคดีโพสต์ภาพพระแก้วมรกตครบปีแล้ว วารุณีเปรียบ 112 เป็นเสมือน ‘มะเร็ง’ ลุกลาม บานปลาย ขยายขอบเขตไม่รู้จบสิ้น

คนที่โพสต์รูปพระแก้วสวมกระโปรงถูกขังครบ 1 ปี 

ในคดีมาตรา 112 โดยไม่เคยได้รับสิทธิประกันตัว ระหว่างสู้คดี 

28 มิ.ย. 2566 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “น้ำ” วารุณี 3 ปี ลดโทษให้เหลือ 1 ปี 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา หลังให้การรับสารภาพ กรณีโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตที่สวมชุดกระโปรง มีความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้เธอไม่ได้เป็นผู้ตัดต่อภาพดังกล่าวก็ตาม 

วารุณี ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และถูกปฏิเสธให้กันประตัว โดยคำสั่งครั้งแรกมีขึ้นหลังศาลอ่านคำพิพากษา 3 วัน และแม้ทนายความจะยื่นประกันตัว พร้อมกับฎีกาคำสั่งอีกหลายครั้ง คำสั่งก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการประกันตัวยากต่อการได้มา ทั้งที่ศาลเองก็รับรู้เหตุผลความจำเป็นหลายอย่างที่วารุณีสมควรได้รับอิสรภาพ ไม่ว่าจะเป็นเหตุที่เธอป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือเหตุที่เธอเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องคอยดูแลอีก 3 ชีวิต เหตุที่เธอไม่เคยคิดหลบหนี และเดินทางตามนัดหมายของศาลโดยตลอด ฯลฯ 

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่วารุณี ‘ผิดหวัง’ กับกระบวนการยุติธรรม จากคำสั่งไม่ให้ประกันตัวที่ศาลมักจะอ้างว่า “อัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี” ฟางเส้นสุดท้ายนี้ ทำให้เธอตัดสินใจ ‘อดอาหารประท้วง’ ในเรือนจำเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวนาน 46 วัน โดยมีช่วงหนึ่งที่เธอจำกัดการดื่มร่วมด้วย สุดท้ายเธอยุติการประท้วงลงในวันที่ 46 และยังคงไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเรื่อยมาจนถึงตอนนี้

เวลาหลังกรงขังล่วงเลยมาถึง 2 ใน 3 ของโทษจำคุกทั้งหมดแล้ว ต่อจากนี้เหลืออีกเพียง 6 เดือน วารุณีจะเป็นอิสระ คำถามสำคัญไม่ใช่ ‘เหลือเวลาอีกนานเท่าไร’ เธอถึงจะพ้นโทษ แต่คือ ‘ทำไมเธอถึงไม่ได้รับสิทธิประกันตัว’ ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดด้วยซ้ำไป โดยความจริงแล้วคดีนี้ยังสู้ต่อด้วยการอุทธรณ์ และฎีกาคำพิพากษาตามลำดับถัดไป อย่างไรก็ตามไม่นานมานี้ วารุณีตัดสินใจขอถอนอุทธรณ์คำพิพากษา เพราะต้องการรับโทษให้คดีถึงที่สุด ซึ่งอย่างน้อยยังมีจุดหมายปลายทางมากกว่าการรอคอยสิทธิประกันตัว

ในวาระครบรอบ 1 ปี การถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 วารุณีในวัย 32 ปี  ได้ฝากข้อเขียนบรรยายถึงชีวิต และความยากลำบากในเรือนจำ แม้เธอตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่เสียน้ำตาให้มาตรา 112 แต่จนแล้วจนรอดสารพัดความหนักหนาที่ถาถมก็ทำให้เธอสารภาพว่ามีน้ำตาให้มันไปแล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่ง พร้อมกันนี้เธอได้ให้มุมมองต่อมาตรา 112 เพื่อย้ำเตือนกับสังคมอีกครั้งว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นคดีการเมือง สมควรได้รับการแก้ไข และควรถูกนับรวมเมื่อเกิดการนิรโทษกรรม

“อย่าให้ 112 ได้น้ำตาของเราไป” : เรื่องเล่าชีวิตในเรือนจำจากวารุณี

28 มิ.ย. 2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เรามีความผิดในมาตรา 112 ต้องรับโทษจําคุก 3 ปี แต่เพราะรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา 

การประกันตัว คือความหวังเดียวที่เรามี เป็นความหวังที่เราจะได้กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้ง และสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ได้อย่างอิสระ แต่ความหวังของเรากลับถูกศาลพรากไปในทุกครั้ง เราไม่เคยคิดจะปรับตัวให้อยู่ในเรือนจําอย่างเข้าใจเเละเป็นสุข เราคิดถึงแต่ชีวิตข้างนอกเรือนจําเท่านั้น 

ย้อนกลับไปในวันแรกที่เราเข้าเรือนจำ วันที่ฝนตกหนักเหมือนฟ้ารั่วนั้น เรานั่งรถมาถึงเรือนจำประมาณ 3 ทุ่ม พร้อมเพื่อนผู้ต้องขังใหม่อีกประมาณ 10 คน เราถูกตรวจร่างกาย โยนเสื้อผ้าทิ้ง เปลี่ยนชุดเป็นชุดนักโทษ เข้ากระบวนการซักประวัติ ถ่ายรูป ติดบัตร 

เราคิดในใจ ไม่เป็นไรรออีก 3 วันเดี๋ยวก็ประกันตัวได้ … 

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแรกรับผู้ต้องขังใหม่ เราและเพื่อน ๆ ก็ถึงเวลาเข้าห้องกักโรค (ห้องขังสำหรับผู้ต้องขังใหม่ก่อนลงแดน) เราระลึกได้ว่าชีวิตจริงคงเริ่มจากตรงนี้ เราต้องผลัดกันอาบน้ำให้เสร็จก่อนเที่ยงคืน เพราะน้ำจะหยุดไหล เราต้องอาบน้ำในบล็อกที่มีโถส้วมและพื้นที่อันเล็กน้อยพอให้นั่งอาบได้ อาบด้วยความฝืนอาย เพราะมันเป็นเพียงบล็อกที่มีความสูงของกำแพงแค่ระดับหน้าแข้ง ไม่ใช่ห้องน้ำแบบที่เราใช้กันอยู่แบบปกติ 

เราจำครั้งแรกของการดื่มน้ำได้ ในห้องจะมีท่อน้ำให้ดื่มจากท่อโดยตรง 

รสชาติแรกที่เราสัมผัส คือ ‘รสชาติเฝื่อนคอ’ และความรุนแรงของกลิ่นคลอรีนที่พุ่งออกมาจนเราต้องบ้วนทิ้ง 

เราตัดสินใจนอนลงบนพื้นปูนที่ปูกระเบื้องไว้เป็นพื้นปกติที่พวกเราคงจะคุ้นตากันดี แต่ในเรือนจำมันคือพื้นที่สำหรับไว้นั่ง ยืน เดิน และนอน เราปูผ้าสีน้ำเงินที่ได้รับมา 3 ผืน เราเลือกจะปู 1 ผืน หนุนหัว 1 ผืน และห่มอีก 1 ผืน และแน่นอนว่าผ้าแค่ผืนเดียวไม่สามารถทำให้พื้นปูนซีเมนต์แข็ง ๆ นุ่มขึ้นมาได้ 

เราเอนตัวนอนโดยที่ในสมองของเราว่างเปล่า คงเป็นอาการช็อกจากเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น ส่วนเพื่อน ๆ คนอื่นกลับนอน ‘ร้องไห้’ บ้างก็นอนคุยกัน แล้วก็พากันร้องไห้ ส่วนเราเองร้องไม่ออก เราบอกตัวเองเสมอว่า “อย่าให้ 112 ได้น้ำตาของเราไป” 

คืนแรกผ่านไปเรานอนน้อยมาก เพราะไม่ได้กินยานอนหลับที่เคยกินประจำ จากสมองที่ว่างเปล่าเราเริ่มคิดถึงอิสรภาพข้างนอกที่เราได้อยู่กับคนที่เรารัก ได้ท่องโลกอินเทอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย เสียงหัวเราะ เรานอนคิดถึงทุกอย่างที่เรามีนอกกำแพง 

อีกด้านหนึ่งของความคิดก็คิดแค่ว่า “อีก 3 วันก็ออกแล้ว แค่แป๊บเดียวเท่านั้น, ขอแค่เราอดทนอีกไม่นาน” 

เช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราตื่นตั้งแต่ตี 4 ตี 5 จริง ๆ แล้วพวกเราแทบจะไม่ได้นอนกันเลยมากกว่า เวลาของอาหารเช้ามาถึงแล้ว ผู้ช่วยงานนำอาหารจากกล่องเลี้ยงมาให้พร้อมแจกช้อนคนละ 1 คัน เป็นช้อนพลาสติกซึ่งต้องเก็บรักษาอย่างดี เพราะมีให้แค่อันเดียว และจะไม่แจกอีก อาหารเช้ามื้อแรกในคุกของเราคือข้าวผัดที่มีแต่ข้าวแฉะ ๆ กับผักสีเขียว เรากินได้แค่ 3 คำก็หยุดกิน เพราะรสชาติไม่ถูกปาก ไม่อยากจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘อาหารของคน’ ด้วยซ้ำ 

บรรยากาศของห้องกักผู้ต้องขังใหม่คงจะไม่พ้นการจับกลุ่มคุยกันเรื่องคดีของแต่ละคน เราทำความรู้จักกันมากขึ้น พวกเราต้องกักตัว 10 วันก่อนลงแดน ในช่วง 10 วันนี้บางคนจะได้รับจดหมาย เมื่อจดหมายมาถึง เพื่อนก็จะขออ่าน หลายคนต่างพากันร้องไห้ไปกับจดหมายของคนอื่น เพราะพวกเรานั้นต่างเข้าใจความรู้สึกของกันและกันอย่างถ่องแท้ 

เราเองบอกตามตรงว่าไม่ได้ร่วมร้องไห้เพราะกลั้นน้ำตาไว้ บอกตัวเองอย่าเสียน้ำตาให้ 112 เราเตือนสติตัวเองว่าอีกแค่ 3 วันเท่านั้น เราก็จะออกจากที่แห่งนี้ 

3 วันผ่านไป ทนายเยี่ยมไลน์มาหาเรา แล้วแจ้งข่าวร้ายว่าศาลไม่ให้ประกันตัว และจะลองยื่นอุทธรณ์ใหม่อีกครั้ง ประมาณอีก 3 วันจากนั้นจึงจะรู้ผล เราเริ่มรู้สึกหวั่นใจอย่างบอกไม่ถูก แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่เสียน้ำตาอยู่ดี 

เมื่อเราอยู่ห้องกักครบ 10 วันเราต้องลงมาใช้ชีวิตในแดน ตรงนี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘นรกบนดิน’ ของจริง ซึ่งเราเองยังไม่รู้ตัวว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ก่อนลงจากห้อง พวกเราที่ได้สร้างมิตรภาพมากกว่า 10 วัน จะต้องถูกแยกออกจากกันไปอยู่ต่างเรือนนอน เนื่องจากเราป่วยเป็นไบโพลาร์จึงต้องไปอยู่ ‘เรือนนอนทับทิม’ ส่วนแม่อีกคนที่เราสนิทพูดคุยเฮฮาด้วยนั้นต้องไปอยู่ ‘เรือนนอนเพชร’ 

แม่คนนั้นถึงกับเสียน้ำตาที่ต้องแยกจากเรา เพราะในช่วง 10 วันที่ผ่านมา พวกเราแชร์ประสบการณ์ แชร์เรื่องคดีความ แชร์เรื่องราวในชีวิต ไม่ได้เพียงแต่ร้องไห้ แต่มีเสียงหัวเราะปนอยู่ในนั้นด้วย น่าเสียดายที่ต้องถูกแยกออกจากกัน เราลงแดนมาวันแรกด้วยความสดใส เพราะยังไม่รู้ว่าข้างหน้าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง 

แฟนเรามาเยี่ยมทันทีหลังจากลงแดน บอกกับเราว่าเขาโล่ง และดีใจที่ยังเห็นเรายิ้มได้ เขาสบายใจขึ้นมาก แต่หลังจากนั้นชีวิตที่แสนยากลำบากก็เริ่มต้นขึ้น เราต้องแย่งกันเปิดล็อกเกอร์ เอาของไปอาบน้ำให้ไวที่สุด ล็อกเกอร์ที่แสนเล็กถูกบรรจุด้วยของใช้และของกินทุกอย่างที่จำเป็น ชนิดว่าแปรงสีฟันต้องเบียดอยู่กับรองเท้าเรา

‘อาบน้ำ 10 ขัน’ ตามจังหวะที่ผู้ช่วยงานนับไปว่าจะแปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ สระผมทั้งหมดรวมอยู่ใน 10 ขัน ถ้าเราได้อาบน้ำเร็วก็จะได้กินข้าว มีเวลาเข้าร้านค้าเร็ว ถ้าอาบน้ำช้าก็จะกินข้าวช้า บางครั้งถ้าช้ามากก็ต้องล้างถาดเอง 

ชีวิตในแดนเร่งรีบมาก ที่นอนก็เบียดเสียดกัน เราต้องนอน 2 กระเบื้อง นอนตะแคงขาสลับขา กระดิกตัวแทบไม่ได้ ตื่นเช้าตี 5 พับผ้าห่ม 3 ผืนให้เสมอกัน ฟังมงคลชีวิตเปิดขังตอน 6 โมงเช้า เปิดขังแล้วรีบไปที่ล็อกเกอร์เตรียมตัวอาบน้ำกินข้าวให้เสร็จก่อน 07.25 น. กินข้าวเสร็จเข้าหน่วยงานทับทิม รอจน 8 โมงเช้า ร้องเพลงชาติ สวดมนต์ และก็นั่งรอซื้อของเริ่มตั้งแต่ 10 โมงเช้า 

ที่นั่งเป็นพื้นกระเบื้องนั่งอัดกัน มีพัดลมติดเสาทางด้านหน้า ถ้าต้องนั่งข้างหลังความเย็นของพัดลมจะมาไม่ถึง บางครั้งพัดลมให้ทางด้านหลัง แต่ก็ไม่สามารถคลายร้อนได้เพราะหลังคามีทั้งแบบทึบและโปร่งแสงทำให้แดดสองเข้ามาได้จากหลายทิศทาง พวกเราถูกสั่ง ให้นั่งเฉย ๆ ‘ห้ามคุยกัน’ ใครอยากนอนก็ได้ แต่ห้ามส่งเสียงดัง 

เมื่อไรที่เสียงดัง พัดลมจะถูกปิดทันที 

เป็นแบบนี้อยู่เกือบ 2 เดือน ทนายพยายามอยู่หลายครั้งในการยื่นประกันตัว แต่ไม่สำเร็จจนถึงเดือนสิงหาคม เชือกฟางของความอดทนได้ขาดลง เราประท้วงต่อศาลด้วย ‘การอดอาหาร’ ความคิดที่ผ่านเข้ามาที่ว่าถึงจะต้องตายก็ยอม เพราะทนต่อการกลั่นแกล้งแบบนี้ไม่ไหวแล้ว แต่ก็ยุติไปเพราะเห็นแก่ครอบครัว และแน่นอนว่าทุกครั้งที่ประกันตัวไม่ได้ 

เราที่เคยบอกว่าจะไม่ร้องไห้กับร้องยิ่งกว่าคนเสียสติ เรามาไตร่ตรองในวันนี้ว่าเราเสียน้ำตาให้ 112 หรือให้ความอยุติธรรมของศาลกันแน่ และแน่นอนว่าคำตอบคืออย่างหลัง 112 เป็นเพียงข้ออ้างของคนบางกลุ่มที่พยายามจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามยอมถูกกดหัว และเจ็บปวดทรมานด้วยกฎหมายที่คิดขึ้นมาเพื่อกำจัดอิสรภาพทางความคิด เรียกได้ว่าเป็น ‘เครื่องมือชั้นดี’ ที่ไว้ใช้กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม

นิรโทษกรรมสำคัญกับคนอย่างป้าอัญชัญ และอีกหลายคน

สำหรับวารุณี เธอมองว่าการนิรโทษกรรมอาจดูเป็นเรื่องห่างไกลจากตัวเอง เพราะเหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะได้รับการปล่อยตัวแล้ว ซึ่งคงเกิดขึ้นก่อนที่ร่างกฎหมายนี้จะผ่านด้วยซ้ำไป แต่เธอเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการนิรโทษกรรม จะสำคัญกับคนอย่างอานนท์ ป้าอัญชัญ แม็กกี้ หรือใครก็ตามที่กำลังถูกคุมขังอยู่ และยังไม่มีวี่แววจะได้ออกจากเรือนจำในเร็ววันนี้

แก้ไขขอบเขต ม.112 ให้ชัดเจน อย่าให้เป็น ‘มะเร็ง’ ในสังคมไทย

กับข้อถกเถียงเรื่องคดีมาตรา 112 ไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมืองนั้น วารุณีบอกว่าเธอไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น เพราะถ้าหากดูสถิติคนที่แจ้งความดำเนินคดีข้อหา 112 ส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งตรงข้ามทางการเมืองทั้งนั้น ให้ลองตรวจดูชื่อคนแจ้งความ ดูปฏิกิริยาทางการเมืองของเขา

“ถ้าไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองจะเรียกว่าคดีความมั่นคงได้อย่างไร” วารุณีถาม พร้อมกับตั้งคำถามซ้ำ ๆ ว่าพระแก้วมรกตใส่ชุดราตรีเป็นความมั่นคงอย่างไร?

สุดท้าย วารุณีย้ำว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีการเมืองอย่างแน่นอน เพราะไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน เป็นคดีที่เป็นเหมือน ‘มะเร็ง’ คือเรื่องใหญ่ ไปไกล ลุกลามไปเรื่อย ๆ จากฐานความผิดหมิ่นกษัตริย์ ราชินี สู่การตีความรวมถึงอดีตกษัตริย์อย่างพระนเรศวร เรื่อยมาจนถึงกรณีพระแก้วมรกตใส่ชุดราตรีของวารุณี 

“คดี 112 ก้อนเนื้อร้ายที่ควรตัดทิ้งออกจากสังคมไทย ถ้าจะแก้ไขก็ควรให้ 112 มีขอบเขต” วารุณีกล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

‘วารุณี’ คือใคร ในสายตาของครอบครัว

‘วารุณี’ เขียนแถลงการณ์แจงเหตุผล ยุติอดอาหารประท้วง รวม 46 วัน เหตุศาลไม่ให้ประกัน – สุขภาพถดถอย

แถลงการณ์จากวารุณี : ฟางเส้นสุดท้าย ก่อนตัดสินใจอดอาหารประท้วง ย้ำภายใน 3 วันหากยังไม่ได้ประกันจะยกระดับ ‘อดน้ำ’ ด้วย

ศาลพิพากษาคดี ม.112 จำคุก 3 ปี ลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน “วารุณี” เหตุโพสต์ภาพ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ เป็นชุดราตรี ก่อนศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว

X