“ทำใจไว้แค่ไหน เอาจริง ๆ ไม่อยากคาดหวัง ครั้งหนึ่งผมเคยติดในเรือนจำ มันสอนผมว่า อย่าไปคาดหวังอะไรกับเรื่องพวกนี้ ก็เตรียมตัวและใช้ชีวิตแต่ละวันให้เหมือนวันสุดท้าย”
‘มิกกี้’ หรือ ‘มิกกี้ บัง’ บอกถึงความคาดหวังต่อคำพิพากษา ที่กำลังจะมาถึง จากคดีที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติและป้อมจราจร บริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม ในระหว่างเข้าร่วมชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ก่อนจะถูกฟ้องตามมาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศาลอาญาสืบพยานไปในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567
.
.
กับชีวิตที่ผ่านประสบการณ์อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ตั้งแต่เกิด ด้วยพ่อแม่แท้ ๆ ไม่ได้เลี้ยงดูมา ทำให้คนในวัยอายุ 25 ปี อย่างมิกกี้ต้องรับรู้และแบกรับอะไรหลายอย่างเกินกว่าเด็กวัยเดียวกัน การต้องช่วยที่บ้านทำงานตั้งแต่เด็ก ๆ การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาระบบรางรถไฟ เพราะมองเห็นอนาคตระบบคมนาคมแบบราง ก่อนเข้าสู่แวดวงเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะไม่เห็นด้วยกับอำนาจเผด็จการ ที่ขณะนั้นไม่สามารถขจัดปัญหาการจัดสรรวัคซีนโควิดได้
ภายหลังช่วงเวลาหยุดพักจากฤดูกาลชุมนุม มิกกี้และเพื่อน ๆ กำลังค่อย ๆ ตั้งตัวจากการทำธุรกิจไอศกรีมที่ภาคตะวันออก กระทั่งการมาถึงของวันพิพากษา วันที่ 30 พ.ค. 2567
“แต่เธอไม่ได้เดียวดายใต้ฟ้ากว้าง
และฟ้าไม่ได้อ้างว้างอย่างเธอเห็น
หากเธอเลือกเส้นทางอย่างที่เป็น
เธอจะเห็นว่าผองเพื่อนก็เคลื่อนพล”
“กวีบทนี้มันยังเป็นคอนเซ็ปต์ที่ผมรู้สึกว่า โอเค ถึงแม้เราจะต้องกลับเข้าไปในการคุมขัง
แต่ว่าเราก็ไม่ได้เดียวดายอยู่เพียงคนเดียว” มิกกี้เล่าถึงบทกวี ‘ไม่เดียวดาย’ ที่ถูกผลิตซ้ำหลายครั้งในระหว่างขบวนการชุมนุมเมื่อปี 2563-2564 โดยเปรียบกับสิ่งที่เขากำลังจะเผชิญหน้าภายใต้คำพิพากษาครั้งนี้
.
ในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็อยากมีชีวิตที่ดี
มิกกี้เล่าถึงชีวิตในอดีตพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ อยู่เขตคลองสาน ใช้ชีวิตท่ามกลางบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาตลอด เติบโตมากับแม่บุญธรรม ที่ทำอาชีพขายขนมไทย พ่อแม่แท้ ๆ นั้นไม่มี
“ด้วยคำบอกเล่าว่าตอนที่แม่แท้ ๆ เขามีผมนั้น เป็นการตั้งครรภ์แบบไม่พร้อม ก็มีการพยายามจะเอาผมออกด้วยการทำแท้ง แต่ไม่สำเร็จ และสุดท้ายผมก็คลอดออกมาได้ ก่อนจะถูกนำไปขายให้แก่ร้านค้าของเก่าข้างบ้าน”
ลูกสาวของแม่บุญธรรม ในขณะนั้น มาเห็นเข้าแล้วรู้สึกสงสาร และถามว่า “พี่จะขายลูกพี่จริง ๆ เหรอ ถ้าอย่างนั้นเอามาให้หนูเลี้ยงดีกว่า” จึงขอรับมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน โดยมีผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ที่ภายหลังเป็นแม่บุญธรรมรับอุปการะดูแลต่อเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
“ผมถูกเลี้ยงดูมาอย่างดีเสมือนลูกคนหนึ่ง เราอยากทำอะไร อยากได้อะไร แม่บุญธรรมคนนี้ก็พร้อมสนับสนุนตลอด แม้สถานะจะไม่ได้ถึงขั้นว่าดีมากก็ตาม” ก่อนมิกกี้มารับรู้ความจริง ว่าไม่ใช่ลูกแท้ ๆ ตอนอายุ 7 ขวบ ที่ต้องทำบัตรประชาชน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ได้เจอหน้าแม่แท้ ๆ เพราะต้องมาทำเอกสารยินยอมในเรื่องการเป็นบุตรบุญธรรม
.
.
ตลอดการเลี้ยงดูโดยแม่บุญธรรมนั้น สิ่งที่มิกกี้ได้รับการสอนตลอดคือ‘อยากรู้ก็ไปลองทำดูเลย ถ้าชอบก็ทำต่อไป ถ้าไม่ชอบก็ว่ากันใหม่ มันไม่ได้ยาก “น่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ช่วงวัยเรียนผมกลายเป็นเด็กกิจกรรม” เขากล่าวไว้อีกตอนหนึ่ง
หลังจบ ม.ปลาย มิกกี้ตัดสินใจเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สาขาเทคโนโลยีซ่อมบำรุงระบบราง
“ผมแค่รู้สึกว่า งานด้านระบบราง พวกรถไฟ รถไฟฟ้า มันจะขยายแน่ ๆ ในอนาคต เลยเริ่มศึกษาว่า มหาลัยไหนบ้างที่เปิดภาควิชาเกี่ยวกับด้านนี้ ก็ไปได้โควตาที่ตรงกับสาขาวิชาที่เราอยากเรียนพอดี”
ภาพฝันสำคัญของการมาศึกษาด้านนี้ของมิกกี้ เป็นเรื่องของระบบรางแบบญี่ปุ่น ที่มักจะถูกพัฒนาอยู่เสมอทั้ง เรื่องการใช้งาน พลังงาน ขนาด ซึ่งพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ประกอบกับเทคโนโลยีที่กำลังจะมาในอนาคตอย่างไฮเปอร์ลูป “ผมรู้สึกว่าชอบอะไรประมาณนี้”
แต่หลังจากเข้าไปเรียนก็เป็นสิ่งที่มิกกี้ไม่สมหวังนัก “ในมุมมอง ผมเห็นว่าด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเพียงบางคณะบางสาขา เช่นที่นี่จะเน้นสายแพทย์ จะมีคณะเด่น คณะด้อย ซึ่งคณะที่เราเรียนมันเป็นเหมือนคณะวิศวะ เป็นเหมือนเด็กช่างในมหาวิทยาลัย แล้วมีจำนวนนักศึกษาน้อยเพราะเป็นภาควิชาเปิดใหม่ จึงมีความไม่พร้อมหลาย ๆ ด้าน แต่ผมก็พัฒนาศักยภาพตัวเองเท่าที่ทำได้ ”
.
ที่โมกหลวงฯ-ทะลุฟ้า เมื่อนักศึกษาส่งเสียงแทนผู้เดือดร้อน
ชีวิตในมหาวิทยาลัย มิกกี้ ได้รู้จักกับเก็ท โสภณ นักกิจกรรมคนสำคัญของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ “เขาเรียนรังสีวิทยา ผมเรียนเทคโนโลยีระบบรางเป็นหัวหน้าสโมสรนักศึกษา ก็ชวนผมเข้ามาเคลื่อนไหวการเมือง ตอนนั้นเขาอยากจะขอยืมเครื่องเสียงที่คณะ เราก็สงสัยว่าเขายืมไปทำไม เก็ทเล่าว่ายืมเพราะจะไปพูดเรื่องสิทธิให้กับเพื่อน เป็นเรื่องเรียกร้องผ้าอนามัยฟรีให้กับนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัย เพราะเป็นสัดส่วนที่เยอะกว่าเพศอื่น”
‘ให้มันฟรี ไม่ต้องซื้อ จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน’ สิ่งนี้คือข้อเรียกร้องด้านสังคมแรก ๆ ที่มิกกี้เห็น จากที่ไม่ได้สนใจประเด็นเหล่านี้มาก่อน ซึ่งพอเรียกร้องแล้วได้รับผล ก็เริ่มทำกิจกรรมร่วมกันกับเก็ทเรื่อยมา
มิกกี้เล่าถึงเก็ทว่า “ถูกชะตากันด้วยจากความที่เชื่อใจในความเป็นเพื่อนของกันและกัน เก็ทจะเชื่อใจเพื่อนมากชนิดที่ว่า ขาดเหลืออะไรก็พร้อมจัดหาและสนับสนุน เริ่มจากอยากทำกลุ่มเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ก็พูดคุยกันว่าจะทำอะไร เรียกร้องเรื่องอะไร ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ไปตอบอีท่าไหน ก็ตกลงมาอยู่กับกลุ่มนี้”
.
.
การจัดวันรำลึกครบรอบอุ้มหาย ‘ต้าร์’ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกบังคับสูญหายไปในช่วงกลางปี 2563 เป็นเรื่องแรก ๆ ที่มิกกี้ร่วมทำกับกลุ่มโมกหลวงฯ “เราก็จัดหาโปรเจคเตอร์ ขึ้นฉายภาพ ตอนนั้นทางกลุ่มทะลุฟ้า เข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย งานเลยผ่านมาได้ด้วยดี ซึ่งเป็นงานนั้นเองที่ทำให้ผมได้รู้จักกับกลุ่มทะลุฟ้า”
กับช่วงปี 2564 ที่มีกิจกรรมเรียกร้องทางการเมืองทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ การพบกับกลุ่มสมาชิกทะลุฟ้า ทำให้มิกกี้สนุกกับการทำงานเบื้องหลังชุมนุมมากขึ้น
“ช่วงนั้นที่มีโปรเจ็คจะทำห้องน้ำเคลื่อนที่ตามที่ชุมนุม แล้วเรามีความสามารถด้านนี้ เราก็มีศักยภาพในด้านนี้ด้วยว่าเรียนมา ขอแค่มีเครื่องมือและมีคนช่วยก็ทำได้แล้ว ก็ไปอยู่กับทะลุฟ้า” ตั้งแต่นั้นหากมีการชุมนุม ก็จะถูกชวนไป “ไปดูม็อบชาวนา ม็อบชาวบ้านว่าเขาเรียกร้องอะไร ช่วงนั้นเรียนออนไลน์ซะส่วนใหญ่ด้วย เลยไม่ต้องไปมหาวิทยาลัย ก็เลยอยู่กับทะลุฟ้ามายาว ๆ”
สิ่งที่เห็นจากทะลุฟ้าและตัวตนระหว่างนั้น “อย่างแรก ผมคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง อย่างที่สองคือ ผมทำอะไรได้บ้าง ซึ่งทะลุฟ้ามีการวางแผน ออกแบบกิจกรรม จัดการชุมนุมยังไง ประเมินสถานการณ์ จำนวนคนยังไง เพื่อให้การชุมนุมออกมาอย่างราบรื่นที่สุด”
ขณะเดียวกับกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่มิกกี้ยังเป็นสมาชิกที่ค่อย ๆ ห่างไป ขณะนั้นมิกกี้สังเกตว่าทางกลุ่มเคลื่อนไหวประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น “ผมได้คุยกับเก็ทด้วยความห่วงใยว่า ให้ระมัดระวังมาตรา 112 นะเพื่อน”
กระทั่งการเรียนการสอนเริ่มกลับมาเป็นแบบปกติ “ผมก็ไปที่กลุ่มทะลุฟ้า เหมือนเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายแล้ว จะไปลากับเพื่อน ๆ ว่า จะได้กลับไปเรียนต่อแล้ว ไว้เรียนจบแล้วค่อยจะกลับมาสู้ใหม่ ก็ทอดไก่ ทำกับข้าวกินกันพี่น้องทะลุฟ้าในวันนั้น เสร็จงานวันนั้น แม่โทรมาบอกว่ามีหมายเรียกคดี 112 มาที่บ้าน”
.
เมื่อคำพิพากษาจะมาถึง กังวลถึงการเสียโอกาสชีวิตครั้งที่สอง
กับการต่อสู้คดี มิกกี้ยืนยันว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงเผาทรัพย์ กับข้อหาอื่น ๆ ทั้งสิทธิในการชุมนุมการมาแสดงออกควรเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ประชาชนย่อมทำได้
“ช่วงที่เกิดโควิดหนัก ๆ มีญาติพี่น้องผมที่ที่ป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษาจนเขาเสียชีวิตไป ผมรู้สึกว่ามันเจ็บปวด ยิ่งการที่ผู้มีอำนาจขณะนั้นออกมาบอกว่าโควิด มันก็แค่ไข้หวัด ทำให้ผมรู้สึกว่า มันเจ็บแค้น แต่ไม่ใช่ว่าเราอยากไปต่อยเขา แต่เราอยากออกไปชุมนุมเพื่อตอบสนองกับคำพูดแบบนั้น อย่างน้อยก็เพื่อได้ระบายความแค้นนี้ออกมา ผ่านการเรียกร้องบนหลักการ”
บทบาทในการชุมนุม ทั้งเป็นการ์ด คอยทำหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุม เคยขึ้นเวทีเล็ก ๆ ไปร่วมร้องเพลงบ้างบางครั้ง มิกกี้เล่าถึงช่วงนั้นว่า “เราแค่คิดว่าเรียกร้องสิทธิของตัวเอง และเราก็แค่เป็นช่องทางอีกทางหนึ่งให้คนได้เข้ามาเรียกร้องสิทธิของเขา อย่างชาวบ้านต่างจังหวัดที่เข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ อย่าง P-move ที่ทีมทะลุฟ้าเคยไปร่วมกิจกรรม ทุกคนมีวาระที่จะเรียกร้องด้วยกันทั้งหมดว่า เขาต้องการอะไร หรือ ไม่ต้องการอะไร เขามีสิทธิที่จะเรียกร้อง ไม่ควรที่จะถูกกีดกัน ซึ่งเรายืนยันเสมอว่าเราแสดงออกอย่างสันติวิธี ไม่ได้ทำร้ายใคร”
กับแบบอย่างทางการเมืองนั้น มิกกี้บอกว่า “จริง ๆ มีหลายคนมากที่มีส่วนที่ทำให้ผมเป็นผมได้ มาจากการไปอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เขาเหล่านั้นก็สอนเราหลาย ๆ อย่าง ทำให้เราพัฒนาตัวเองจนเป็นเราในวันนี้ ผมเลยรู้สึกว่า ผมชอบทุกคน”
ย้อนกลับไป ปี 2563-2564 กับโอกาสในการชุมนุม “ตอนนั้นผมยอมรับว่า เราเองไม่ได้มีความรู้ ประสบการณ์ขนาดนั้น เราเดาไม่ได้ว่าอนาคตมันจะเป็นยังไง และไม่รู้ว่าจะจัดการยังไง ด้วยการทำให้คนตื่นรู้
“ผมคิดว่าตอนนี้ใครหลายคนอย่างเพื่อนนักกิจกรรมด้วยกันก็คงรู้แล้วว่า เหลี่ยมคมของนักการเมืองและรัฐบาลในตอนนั้นเป็นยังไง เราจะไม่ยอมและอ่อนข้อเด็ดขาด ถ้าเรามีการตั้งรับดี ๆ เรารู้ล่วงหน้าก่อน เราอาจจะไปได้ไกลมากกว่านี้ ข้อเรียกร้องอาจจะได้มากกว่านี้”
ในสิ่งที่สูญเสียไประหว่างถูกดำเนินคดีทางการเมือง คือทำให้เขามีอุปสรรคในการจัดการเรียนต่อ จนต้องพ้นสถานภาพนักศึกษา “ที่ผมเศร้าสุด ๆ ก็สถานภาพนักศึกษา หลังจากเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 50 วัน เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในนัดส่งฟ้อง ตอนนั้นผมก็ปี 4 แล้วกำลังทำโปรเจ็ค ทำเรื่องเตรียมจะจบการศึกษาแล้ว การอยู่ในนั้นชีวิตเลยยุ่งยากต่อการจัดการเรื่องเรียน เลยไม่สามารถจัดหารให้จบได้”
.
.
ส่วนสถานการณ์ผู้ต้องหาทางการเมือง มิกกี้เล่าว่า ยังติดตามอยู่เสมอ เพราะในนั้นก็มีเพื่อนอยู่ มองถึงในการตัดสินครั้งนี้ “ถ้ามันทำให้ผมต้องกลับเข้าไปในนั้น ยังไงผมก็ต้องเข้าไปเจอพวกเขา คงจะได้พูดคุยอะไรกันในหลาย ๆ เรื่อง แต่ถ้าตัดสินออกมาว่าไม่ผิด และไม่ต้องกลับเข้าไปในเรือนจำ ผมคิดว่าจะทำในส่วนช่วยผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อไปจนถึงที่สุด”
มิกกี้ยังพูดถึง ‘Have a nice day’ ธุรกิจไอศกรีมที่เขาทำร่วมกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ เพราะหลังจากออกมาจากเรือนจำคราวก่อน “ผมก็พยายามทำแบรนด์ไอศกรีม เปิดตลาด วางแผนในอนาคตอยากทำร้านขนมปังปิ้งช่วยกันกับแฟน เป็นภาพที่ผมวางไว้ในอนาคต มีคาเฟ่ เป็นของตัวเองในการเลี้ยงชีพ”
ในร้านไอศกรีมกับรุ่นพี่ที่เป็นหุ้นส่วนมีคนทำเกี่ยวกับสื่อโซเชียล อีกคนทำอาร์ตเวิร์ก “ส่วนผมมีหน้าที่ขาย ก็ประชุมกัน เปลี่ยนรูปแบบกันไปถ้าเกิดมีร้านขายของย่านบางแสน อยากเอาไอศกรีมไปลง ก็ติดต่อผมมาได้
“เราก็จะมีเซทโปรโมชั่น ไอศกรีมของ Have a Nice Day ทั้งแบบ Take Away แบบเป็นถาด หรือขายเป็นลูก เรามีหมดเลย ซึ่งพอทีมผมเข้ามา มันก็ขยายตัวขึ้น ตามที่ผมพยายามเร่ง เพราะคิดว่าตัวเองอาจเหลือเวลาข้างนอกไม่มากนัก”
กับเรื่องใหญ่ที่สุดหากต้องไร้อิสรภาพในคราวนี้ “ผมคิดว่ามันจะทำให้ผมเสียโอกาสในชีวิตอีกครั้ง เลยใช้ชีวิตแต่ละวันให้เหมือนวันสุดท้าย”
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง