“อานนท์” ยื่นอุทธรณ์คดี 112 ปราศรัย #ม็อบ14ตุลา ยืนยันเจตนาป้องปราม ตร. ไม่ให้อ้างขบวนเสด็จมาสลายชุมนุม ขณะศาลอุทธรณ์ยังคงไม่ให้ประกัน-เชื่อว่าจะหลบหนี

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอประกัน อานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายความสิทธิมนุษยชน ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 อีกครั้ง หลังเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอาญา ที่พิพากษาจำคุก 4 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยคำร้องขอประกันขอให้ศาลพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์ระหว่างอุทธรณ์ โดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

สำหรับคดีนี้ อานนท์ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์หลังศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 เรื่อยมา แม้จะมีการยื่นประกันมาแล้ว 6 ครั้ง ทำให้อานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน (26 มี.ค. 2567) เป็นเวลา 183 วันแล้ว

.

เปิดอุทธรณ์ของอานนท์ระบุ มีเจตนาเพื่อป้องปรามเจ้าหน้าที่ไม่ให้หยิบยกเรื่องขบวนเสด็จมาสลายการชุมนุม ทั้งเป็นประโยคเงื่อนไข ไม่ได้ใส่ความ – ด้อยค่า ร.10   

ในอุทธรณ์ของอานนท์ที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง หรือลดโทษแก่จำเลย เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีเหตุผลโดยสรุปดังต่อไปนี้ 

มูลเหตุในคดีนี้เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองของประชาชนซึ่งเรียกว่า “กลุ่มคณะราษฎร 2563” เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องทางการเมือง 3 ประการ คือ 1. ให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภา 2. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ซึ่งข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557 ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ที่มีสาระสำคัญขัดต่อระบอบประชาธิปไตยหลายส่วน ทั้งยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หลังผ่านการทำประชามติแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมาย 2 – 3 ฉบับ ที่เป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจำเลยเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการชุมนุมในวันเกิดเหตุ ได้มีการแถลงข่าวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า จะจัดการชุมนุมโดยเดินขบวนจากถนนราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาลก่อนที่จะมีขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ส่วนการปราศรัยจะเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหลัก

คำกล่าวปราศรัยของจำเลยในวันเกิดเหตุตามฟ้องนั้น จำเลยไม่ได้มีเจตนาจะหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมีข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ 1 วัน ได้มีผู้ชุมนุมบางส่วนประมาณ 100 – 200 คน ซึ่งนำโดยจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้เดินทางล่วงหน้ามาจากจังหวัดขอนแก่น และพักรอที่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแม็คโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 แต่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมหลายราย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีจะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน เพื่อไปบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดพระแก้ว ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 หากปล่อยให้ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าวจะเป็นภาพไม่เหมาะสม

ต่อมาในวันเกิดเหตุ เมื่อจำเลยและผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำเลยได้ประสานงานกับตำรวจที่ดูแลการจราจร และแจ้งกับผู้ชุมนุมให้ใช้พื้นที่ชุมนุมไม่เกิน 6 ช่องการจราจรในฝั่งขาเข้า เพื่อไม่ให้กีดขวางเส้นทางขบวนเสด็จ แต่พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีท่าทีที่จะสลายการชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว โดยมีการระดมตำรวจนอกเครื่องแบบ และตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามาในบริเวณที่เกิดเหตุแล้วตั้งแต่ช่วงสายของวันดังกล่าว 

จำเลยเห็นว่าวันเกิดเหตุมีผู้ร่วมชุมนุมหลายพันคน หากมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม อาจทำให้เกิดความเสียหายหรือบาดเจ็บล้มตาย จนเป็นเหตุลุกลามบานปลายอันไม่อาจควบคุมได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จำเลยจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องหาทางระงับยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น 

การที่จำเลยได้ปราศรัยด้วยถ้อยคำตามฟ้องก็มีเจตนาเพื่อป้องปรามเจ้าหน้าที่ไม่ให้หยิบยกเอาเหตุในเรื่องเส้นทางขบวนเสด็จมาเป็นข้ออ้างในการสลายการชุมนุม ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตระหนักว่า การกระทำเช่นนั้นอาจจะทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ถูกเข้าใจผิด อันเป็นทางให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ 

เมื่อในวันดังกล่าวเหตุการณ์เป็นไปอย่างสงบ ไม่มีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม การที่ประชาชนจะเข้าใจในหลวงรัชกาลที่ 10 ไปในทางที่ผิดย่อมไม่เกิดขึ้น และไม่มีเหตุให้ต้องถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และเสื่อมเสียพระเกียรติแต่อย่างใด

นอกจากนี้ การที่จำเลยปราศรัยว่า “ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมี 3 ข้อเท่านั้น วันนี้จะไม่เหมือนเมื่อวาน เพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อย ๆ และนิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อย ๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด”

“อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10”

และ “อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ให้รู้ไว้เช่นนั้น”

ข้อความข้างต้นมีลักษณะเป็นประโยคเงื่อนไข คือ “ถ้ามีการสลายการชุมนุม…” อันเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น และไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วในอดีต หรือเกิดขึ้นในปัจจุบัน อันจะสามารถพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือความเท็จได้ ข้อความที่จำเลยปราศรัยจึงไม่อาจถือเป็นการใส่ความในหลวงรัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สาม ทั้งข้อความดังกล่าวก็ไม่มีถ้อยคำใดที่มีความหมายในทางด่าทอ หยาบคาย หรือลดคุณค่า อันจะถือเป็นการดูหมิ่นต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 

ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกล่าวบิดเบือน ให้ร้ายรัชกาลที่ 10 โดยมีเจตนามุ่งประสงค์ให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจผิดว่ารัชกาลที่ 10 ทรงมีกระแสรับสั่งให้มีการสลายการชุมนุม อันเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยพิพากษายกฟ้องด้วย

อุทธรณ์ของอานนท์ยังระบุด้วยว่า คดีนี้จำเลยได้ต่อสู้คดีโดยถือเอาความสุจริตเป็นที่ตั้ง โดยได้ยอมรับพยานหลักฐานของโจทก์ และได้แถลงรับข้อเท็จจริงในหลายประเด็น ตลอดจนเบิกความรับว่าจำเลยได้กล่าวปราศรัยด้วยข้อความตามฟ้องจริง อันถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยรวดเร็ว แม้หากศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วยังคงเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอยู่ ก็ขอให้พิจารณาลดโทษให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

.

ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่ให้ประกัน “อานนท์” เป็นครั้งที่ 6 ระบุ เชื่อว่าจะหลบหนี – ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม   

หลังการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอประกันอานนท์ในคดีนี้อีกเป็นครั้งที่ 6 ระบุเหตุผลสำคัญว่า จำเลยขอยืนยันความประสงค์ที่จะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อศาลอย่างถึงที่สุด โดยก่อนการยื่นขอประกันในครั้งนี้ จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว จึงขอให้ศาลพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยประกอบการพิจารณาคำร้องขอประกันนี้ด้วย 

นอกจากนี้ คำร้องขอประกันครั้งนี้ ยังหยิบยกเหตุผลอื่น ๆ มาแสดงต่อศาล อาทิ  อานนท์ไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขประกันที่ศาลกำหนด และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ที่ศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา, ศาลนี้เคยให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ในคดี 112 คดีอื่นที่มีอัตราโทษที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ คดีของ “รักชนก ศรีนอก” ซึ่งศาลนี้มีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี

อีกทั้งคดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ก่อนมีคำพิพากษาจำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่

ประกอบกับอานนท์ประกอบวิชาชีพเป็นทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนถึง 38 คดี ในหลายศาล ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันจะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความในแต่ละคดี กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมต่อไป

.

อย่างไรก็ตาม หลังรับคำร้องขอประกัน ศาลอาญาได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์ โดยระบุในคำสั่งว่า 

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

ศาลอุทธรณ์ใช้เวลา 5 วัน สั่งไม่ให้ประกันตัว “อานนท์” แม้คำร้องยันไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี-ปฏิบัติตามเงื่อนไขศาล-มีภาระว่าความกว่า 39 คดี 
ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่ให้ประกัน ‘อานนท์’ คดี ม.112 ในการยื่นครั้งที่ 5 ระบุพฤติการณ์ร้ายแรง แม้ยืนยันไม่เคยหลบหนี-ต่อสู้คดีจนถึงที่สุด 
X