จดหมายจาก ‘เก็ท โสภณ’: การนิรโทษกรรมทุกสีทุกฝั่งต้องมาคุยกัน ไม่งั้นทุกครั้งที่มีการแสดงออกทางการเมือง จะต้องมีผู้เคราะห์ร้ายอยู่เสมอ

“เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากคดีมาตรา 112 สื่อสารเรื่องราวชีวิตข้างในนั้นอีกครั้ง ผ่านบันทึกเยี่ยมจากทนายความในระหว่างวันที่ 12-13 ก.พ. 2567 พร้อมกับจดหมายถึงกิจกรรมนิรโทษกรรมประชาชน ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 1-14 ก.พ. 2567 ซึ่งสรุปยอดผู้ลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จำนวน 35,905 รายชื่อ 

สิ่งที่อดีตนักศึกษาด้านเทคนิครังสีย้ำเตือนจากจดหมายครั้งนี้คือต้องชดเชยให้ในหลายสิ่งที่ประชาชนสูญเสียไปจากการออกมาเรียกร้องทางการเมือง 

โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ควรสูญเสียที่ไม่ใช่เพียงทุนทรัพย์ “บางคนบาดเจ็บ ล้มตาย บางคนติดคุก บางคนถูกจั่วหัวเป็นอาชญากร บางคนถูกผลกระทบจากข้อมูลอันเป็นเท็จทำให้สังคมเข้าใจเขาผิด” และพูดถึงว่าทุกฝ่ายควรได้พูดคุยตกลงร่วมกันเพื่อจะได้ไม่มีผู้สูญเสียจากเหตุแสดงออกทางการเมืองอีก 

ระหว่างนี้เก็ทอัปเดตเพิ่มเติมว่าได้ทำกิจกรรมยืนหยุดขังในเรือนจำ เป็นสัญลักษณ์เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง วันละ 1 ชั่วโมง 12 นาที อีกด้วย

จนถึงปัจจุบัน (15 ก.พ. 2567) เก็ทถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 177 วัน หลังศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดีจากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และจำคุก 6 เดือน ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่ข้อหานี้กฎหมายกำหนดเพียงโทษปรับ โดยล่าสุดคดีนี้ ศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันที่ 5 มี.ค. 2567 นี้

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาจำคุกเก็ทอีก 3 ปี ตามมาตรา 112 จากกรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่

สู้มาก็หวังเห็นสังคมเท่าเทียม สถาบันกษัตริย์ฯ ก็เป็นคน เราก็อยากอยู่ร่วมกันอย่างสงบ 

12 ก.พ. 2567 ทนายความเล่าเรื่องการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ให้เก็ททราบ ก่อนเก็ทเล่าว่า ช่วงนี้เขากับเพื่อนในแดนอื่น ๆ ทำกิจกรรรมยืนหยุดขังตั้งแต่ 08.00 – 09.12 น. เพราะจากเดิมตั้งเป้ายืน 112 นาทีนั้นนานเกินไป จึงเปลี่ยนไปยืน 1 ชั่วโมง 12 นาทีแทน ด้านสุขภาพเก็ทมีอาการไอนิดหน่อย ยังคงมีน้ำมูกอยู่ เพราะอากาศเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว 

วันต่อมา 13 ก.พ. 2567 หลังจากทนายเข้าเยี่ยม จากกระแสข้อกล่าวหาเรื่องบีบแตรใส่ขบวนเสด็จเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เก็ทพูดถึงว่า เห็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,นายกรัฐมนตรี, กลุ่มศิษย์เก่าจุฬาฯ และบุคคลมีชื่อเสียง  ออกมาปกป้องพระเทพฯ และสถาบันกษัตริย์ โดยอ้างว่าประเทศไทยปกครองโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข เก็ทเห็นว่า แต่ผู้มีอำนาจก็ต้องอย่าลืมว่า ระบบการปกครองชื่อเต็มของระบอบนี้คือการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหมายความว่าประชาชนมีสิทธิ์หน้าที่ในการออกแบบและขับเคลื่อนสังคมด้วยกัน  

ปัญหาของสังคมไทยคือเพดานการพูดคุยต่ำและแคบเกินไป เราอาจเห็นว่าพระเทพฯ มีการปรับตัวเข้าหาประชาชน แต่หากพูดถึงราชวงศ์คนอื่น เรายังไม่สามารถวิจารณ์ได้อยู่ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ ทั้งในไทยและต่างประเทศที่สามารถปรับตัวได้ ก็จะสามารถคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของสถาบันนั้น

แน่นอนว่าข้อเรียกร้องไม่ใช่การล้มล้าง แต่เป็นการปฏิรูปให้อยู่ร่วมกับประชาชนได้ หากพระเทพฯ และราชวงศ์คนอื่นทำ ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม เก็ทตั้งคำถามว่า ส่วนพระองค์ที่ไม่ปรับตัวและกระทำการขัดฉันทามติของประชาชน เราสามารถวิจารณ์และเรียกร้องการปรับตัวจากพระองค์นั้นได้มากแค่ไหนกัน  

หากคนที่รักปกป้องสถาบัน มองว่าสิ่งที่สถาบันกษัตริย์ฯ ทำคือดีและเหมาะสมกับยุคสมัย จะปิดหูปิดตาทำไม่เห็นหรือ “ทั้งผมประชาชนที่สู้กันมา ก็หวังสู้ให้สังคมเท่าเทียม สถาบันกษัตริย์ฯ ก็เป็นคน เราก็อยากอยู่ร่วมกันอย่างสงบ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้เราต้องพูดคุยปรับตัวเข้าหากัน”

จดหมายจากเก็ท ถึงงานนิรโทษกรรมประชาชน

ในทุก ๆ ครั้งของการต่อสู้มันมีการสูญเสียเสมอ ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยออกมาเรียกร้องสิทธิ จะพบกับความสูญเสียเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นของเสื้อสีอะไรก็ตาม 

ทั้งที่จริง ๆ ตามขบวนการประชาธิปไตยและตามหลักสิทธิมนุษยชน รัฐควรให้สวัสดิภาพกับประชาชน ถ้าประชาชนพูดหรือแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะตามหลักการที่กล่าวไป ควรได้รับความปลอดภัยไม่ว่าเขาจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม 

แต่ปัญหาคือสมดุลระหว่างประชาชนกับรัฐไม่เท่ากัน อำนาจของรัฐมากกว่า ความสูญเสียของประชาชนที่ออกมาขับเคลื่อนสังคมจึงเกิดขึ้น ทีนี้การชดเชยความเสียหายในสิ่งที่ไม่ควรเสียหายเหล่านั้นจะทำยังไง ใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ แน่นอนว่าการจ่ายเงินชดเชยอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะบางคนที่ออกมาขับเคลื่อน ไม่ได้เสียหายแค่ทุนทรัพย์ บางคนบาดเจ็บ ล้มตาย บางคนติดคุก บางคนถูกจั่วหัวเป็นอาชญากร บางคนถูกผลกระทบจากข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำให้สังคมเข้าใจเขาผิด 

ทีนี้เราจะชดเชยให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์และมีเจตนาดีต่อสังคมเหล่านี้อย่างไร จะสานต่อเจตนารมณ์เหล่านี้อย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะอนุรักษ์นิยมหรือหัวก้าวหน้า เสื้อทุกสีทุกฝั่งต้องมานั่งคุยกันอย่างจริงจังด้วยเหตุผล ปราศจากอคติ หากไม่เช่นนั้นก็จะมีคนต้องเคราะห์ร้ายจากการแสดงออกต่อไปเรื่อย ๆ 

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (14 ก.พ. 2567)

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

จดหมายจาก “เก็ท” โสภณ: ขอให้มิตรสหายที่ต้องกระจัดกระจาย ได้รู้ว่าคุณไม่ได้อยู่เดียวดาย

X