เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 ช่วงเช้าทนายความได้เข้าเยี่ยม “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ซึ่งอดน้ำ อดอาหาร เข้าวันที่ 17 ระหว่างถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ รวมทั้งคดีละเมิดอำนาจศาล และถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567
บุ้งถูกคุมขังครั้งนี้หลังศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันในคดี 112 ดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 รวมทั้งมีคำสั่งลงโทษจำคุก 1 เดือน ในวันเดียวกัน ในคดีละเมิดอำนาจศาล หลังจากฟังคำสั่งในทั้งสองคดี บุ้งตัดสินใจว่าจะไม่ยื่นประกันตัว ทำให้บุ้งถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานหญิงกลางในเย็นวันที่ 26 ม.ค. เป็นต้นมา ก่อนที่เธอตัดสินใจอดน้ำอดอาหาร (Dry Hunger Strike) ตั้งแต่เย็นวันที่ 27 ม.ค. เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และจะต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก
จากการเข้าเยี่ยมของทนายความครั้งล่าสุดนี้ บุ้งตัวเหลือง ตาเหลือง มีเลือดออกตามไรฟัน อ่อนแรงมาก อาเจียนตลอดเวลาขณะทนายเยี่ยม และปัสสาวะครั้งละ 1-2 หยด เท่านั้น
บุ้งดูเหนื่อยล้ามาก ตัวเหลือง ตาเหลือง จากภาวะตับอักเสบ แต่แววตายังคงสู้อยู่ และได้ถามถึงผลประกันตัวผู้ต้องขังการเมืองทั้ง 15 คน เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งศาลมีคำสั่งแล้ว 3 คน แต่เป็นคำสั่งไม่ให้ประกัน
.
อดอาหารวันที่ 13: บุ้งเหนื่อยง่าย ร่างกายเจ็บปวด ยืนยันปฏิเสธการตรวจ-รักษา
วันที่ 8 ก.พ. 2567 เพื่อน ๆ ที่สนิทกับบุ้งได้เข้ามาเยี่ยมบุ้งพร้อมกับทนาย บุ้งได้สรุปอาการตัวเองว่า นอนไม่หลับเลย ปัสสะวะสีแดงส้ม ร่างกายเจ็บปวด เหนื่อย เพลีย ร้อนจากข้างในร่างกาย อาการหนักขึ้นเหนื่อยง่ายขึ้น แต่ส่วนตัวบุ้งไม่สนใจอาการเท่าไหร่แล้ว บุ้งรู้แค่ว่าจะอดอาหารต่อไปเรื่อย ๆ
หมอบอกว่า บุ้งมีอาการอื่นซึ่งอาจจะเป็นอาการที่แทรกซ้อนมาจากปัญหาสุขภาพอย่างอื่นที่บุ้งเป็นอยู่แล้ว และหมออยากเจาะเลือดตรวจ ไม่ได้เพื่อรักษาแต่เพื่อตรวจว่าตกลงเป็นอะไรกันแน่ แต่บุ้งปฏิเสธ เนื่องจากบุ้งคิดว่าถ้าอย่างไรจะไม่รับการรักษาอยู่แล้ว ตรวจหรือไม่ตรวจว่าเป็นอะไรก็ไม่ต่างกัน
บุ้งยังคงยืนยันว่า ที่ต้องทำแบบนี้เพราะตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมจากศาลอาญากรุงเทพใต้ และสอบถามทนายความว่า สามารถคัดวัตถุพยานซึ่งเป็นวีดีโอของศาล ซึ่งจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบุ้งว่าตำรวจศาลทำบุ้งก่อนและทำเกินไปออกมาให้สาธารณชนดูได้ไหม แต่ทนายความแจ้งกับบุ้งว่าวัตถุพยานโจทก์ชิ้นนั้นศาลไม่อนุญาตให้คัดถ่าย
บุ้งบอกว่าศาลอาจจะคิดว่าถ้าบุ้งช็อกไปแล้ว หมอจะรักษาและบุ้งจะหายดี แต่บุ้งไม่ได้สนใจเรื่องนั้นเพราะบุ้งต้องการที่จะตายเพื่อเอาความตายมาประจานศาล เป็นเรื่องที่บุ้งเตรียมใจมาแล้ว แค่ความตายของบุ้งศาลก็ย่อมฟอกขาวได้ เหมือนที่ศาลฟอกตำรวจคนนั้นให้ขาวสะอาด ไม่ยอมให้พวกเราก๊อปปี้เอาวิดีโอของศาลมาดู ไม่จดคำถามที่ทนายถามตอนถามค้านตำรวจที่เป็นคู่กรณี
ศาลฟอกขาวได้ทุกอย่าง บุ้งตายหรือไม่ตายศาลก็คงฟอกขาวเรื่องบุ้งได้อยู่แล้ว บุ้งเห็นมาตลอด ตามข่าวอื่น ตามสื่อศาล บุ้งเคยฟังโฆษกศาลพูดมาแล้ว บุ้งขอทำแบบนี้เพราะไม่อยากเห็นความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมอีก
ระหว่างสอบถามอาการป่วย บุ้งแสดงความกังวลว่า มีการปั๊มลายนิ้วมือในช่วงที่เธอเหนื่อยจนผลอยหลับ แต่เธอไม่รู้ว่าปั๊มไปทำอะไร และขอให้ทนายเตรียมเอกสารที่เธอเคยสั่งไว้มาให้เซ็น
สุดท้ายบุ้งแจ้งความจำนงว่า ขอปฏิเสธการรักษา และหลังจากเสียชีวิตขอมอบร่างกายให้คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้นำไปใช้ศึกษาวิจัยเรื่องร่างกายของคนที่อดอาหาร เผื่อว่าจะมีประโยชน์ในการรักษาคนที่ต้องอดอาหารคนอื่นอีกในอนาคต
.
อดอาหารวันที่ 14: อาการบุ้งคงตัว ยังปฏิเสธตรวจเลือด ขอดูผลประกันเพื่อน ๆ ก่อน
วันที่ 9 ก.พ. 2567 ทนายและหยกเข้าพบบุ้ง พบว่าบุ้งมีท่าทางสดใส บุ้งบอกว่า วันนี้อยากเจอหยก และหยกมาเยี่ยมพอดี จึงดีใจมาก
หลังจากที่ได้รู้ว่า หยกไปยืนหยุดขังให้บุ้ง บุ้งก็บอกว่ารู้สึกชื่นใจ แต่โกรธมากที่ “ชิษณุพงษ์ เพชรคอน” ตำรวจศาลที่ตีบุ้ง เป็นคนจับหยกด้วย บุ้งสอบถามว่า อธิบดีศาลนี้เป็นใคร ชื่ออะไร ทำไมยอมให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น จับหยกโดยศาลมีอำนาจหรือเปล่า เพราะไม่ใช่กระบวนการของศาลเยาวชน
บุ้งบอกว่า ตำรวจศาลไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไรกับการกระทำเลย เคยมีตำรวจมาถ่ายรูปตะวัน บุ้ง และใบปอ หน้าบัลลังก์ศาลในคดีหนึ่ง ทนายได้ร้องเรียนไป แต่เจ้าหน้าที่ศาลและตำรวจศาลกลับช่วยเหลือไม่ยอมบอกชื่อคนทำ สรุปผู้พิพากษาคนที่ถอนประกันบุ้งก็ไม่ลงโทษ ไม่ตั้งเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล แต่กับพวกเรา คนถ่ายรูปในศาลโดนลงโทษจำคุก 15 วัน ส่วนบุ้งโดน 1 เดือน
บุ้งอยากให้มีการปฏิรูปคนของศาลบ้าง ไม่อยากให้มากดขี่ข่มเหงประชาชน คิดว่าตัวเองดีกว่าคนไทยคนอื่น ต้องตัดสินคนอย่างเป็นธรรม เป็นอิสระ ถ้าทุจริต มีใบสั่ง ต้องได้รับโทษ
สุดท้ายบุ้งเล่าว่า ที่ดูสบายขึ้นเพราะวันนี้โรงพยาบาลให้อาบน้ำ และมีหมอเข้ามาคุยขอตรวจเลือดอีก แต่บุ้งยังปฏิเสธ โดยบอกว่า ขอรอดูผลการประกันเพื่อน ๆ วันนี้ก่อน แล้วจะพิจารณา
.
อดอาหารวันที่ 17: บุ้งตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะไม่ออก ยืนยันสู้กับกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว
วันที่ 12 ก.พ. 2567 หลังจากที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์งดให้เข้าเยี่ยมในวันเสาร์อาทิตย์ (10-11 ก.พ.) ทนายความได้กลับมาเยี่ยมบุ้งอีกครั้ง
เจ้าหน้าที่เบิกตัวบุ้งออกมาพบทนายที่ห้องพบทนาย บุ้งมีท่าทางที่เหนื่อยมาก ตัวเหลือง ตาเหลือง จากภาวะตับอักเสบ แต่แววตายังคงสู้อยู่ และถามถึงผลประกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
อาการที่พบตอนนี้ อยากอาเจียนตลอดเวลา ระหว่างที่บุ้งพูดคุยมีท่าทางจะอาเจียนและสะอึกอยู่บ่อยครั้ง ปวดท้องและวิงเวียนอยู่ตลอด เหนื่อยและต้องฟุบลงกับโต๊ะหรือพิงไปที่พนักพิง อีกทั้งยังรู้สึกปวดท้องเหมือนปวดปัสสาวะแทบจะตลอดเวลา แต่ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ออกมาทีละ 1-2 หยด และแสบมาก
นอกจากนี้ยังพบว่า ผิวหนังแห้ง ปากมีเลือดออกตามไรฟัน และมีกลิ่นคาวเลือดตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ต้องเอาน้ำยาบ้วนปากมาให้บ้วน
บุ้งได้แจ้งเจ้าหน้าที่แล้วว่า ลงมาพบทนายไม่ไหวอยากขอให้เยี่ยมทาง LINE แทน เขาก็บอกว่า ออกมาเยี่ยมเถอะแล้วก็ตบบ่าบุ้งสองที เค้าบังคับให้บุ้งลงมา
มีหมอผู้หญิงคนหนึ่งพูดกับบุ้งว่า “ตอนตะวันกับแบมยังมีคนเข้าใจ กระแสยังดีกว่า แต่ตอนนี้มวลชนไม่ได้เอาด้วยนะ” บุ้งจึงตอบกลับไปว่า “บุ้งสู้กับกระบวนการยุติธรรมอยู่”
ขณะนั่งเยี่ยม บุ้งก็อาเจียนออกมา อาเจียนอยู่นานจนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินมาเห็น ทนายและญาติพยายามให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ช่วยเหลือบุ้งในเบื้องต้น แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่ากำลังแจ้งอาสาพยาบาลให้มาอยู่ รอประมาณ 5 -10 นาที เจ้าหน้าที่อาสาพยาบาลจึงมา
อาสาพยาบาล 2 คน เอายาดมให้บุ้งดมและช่วยกันอุ้มบุ้งออกไปจากห้องเยี่ยม โดยให้บุ้งใช้แขนทั้งสองข้างคล้องคออาสาพยาบาล และอาสาพยาบาลทั้งสองก็อุ้มขาบุ้งขึ้น
บุ้งยังคงยืนยันไม่ตรวจเลือด ไม่รักษา ยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว และยืนยันว่า “ถ้าหากศาลไม่ใช่ที่ยุติของความเป็นธรรม คนไทยก็ไม่สามารถเชื่อถือได้ว่าตัวเองจะมีหลักประกันความเป็นธรรม”
.
.
ย้อนอ่านการอดอาหารของบุ้ง: เข้าสู่วันที่ 12 การประท้วงอดน้ำ-อาหารของ “บุ้ง” ยืนยันตายเพื่อ “ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม”