ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “บุ้ง เนติพร” กรณีกระทบกระทั่งกับ ตร.ศาลอาญากรุงเทพใต้ ก่อนถูกดิ้วเหล็กฟาดที่แขน ศาลนัดฟังคำสั่ง 26 ม.ค.

วันที่ 22 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลของ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง จากกรณีที่เดินทางไปศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจ “โฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า ที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 โดยปรากฎว่าในวันดังกล่าว “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) ได้มีเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล เป็นเหตุให้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลของศาลอาญากรุงเทพใต้ทำร้ายร่างกายด้วยการใช้ดิ้ว หรือกระบองเหล็กยืดหด ตีเข้าที่บริเวณข้อศอกจนเกิดอาการบาดเจ็บ แพทย์ต้องทำการรักษาและเย็บ 4 เข็ม

ทราบต่อมาจากสำนวนคดีว่า เดิมคดีนี้มีเพียง “บุ้ง” เป็นผู้ถูกกล่าวหารายเดียว แต่ต่อมาศาลได้มีคำสั่งรวมสำนวนคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีเข้ามาด้วย เนื่องจากเป็นคดีจากเหตุการณ์เดียวกันและมีความเกี่ยวพันกัน โดยผู้ถูกกล่าวหาในคดีหลัง ซึ่งถือเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ทราบภายหลังว่าคือ “หยก” เยาวชนอายุ 15 ปี  ซึ่งในวันนัดไต่สวนนี้หยกไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงบุ้งที่มาเข้าร่วมการพิจารณาคดี และได้เข้าเบิกความเล่าเรื่องในฝ่ายของตนในฐานะผู้ถูกกล่าวหา

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นขณะที่โฟล์ค อดีตสามเณร ถูกควบคุมตัวระหว่างรอฟังคำสั่งประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ หลังศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุม ‘บ๊ายบายไดโนเสาร์’ ของกลุ่มนักเรียนเลว ที่สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563

ในวันนี้ศาลได้ไต่สวนพยานฝ่ายผู้กล่าวหา 2 ปาก ได้แก่ ตร.ศาลที่ใช้ดิ้วเหล็กฟาดบุ้ง และ รปภ.ศาลที่อยู่ในเหตุการณ์ ด้านผู้ถูกกล่าวหามีพยานเข้าเบิกความตอบศาล 1 ปาก คือ ตัวของบุ้งเอง

ในทางการไต่สวนเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลและ รปภ.ของศาล รวมทั้งบุ้ง ได้ความว่า หยกเข้าไปยืนเกาะกำแพงเพื่อพยายามพูดคุยกับโฟล์ค อดีตสามเณร เพื่อพูดคุยสอบถามว่าโฟล์คต้องการรับประทานอาหารอะไรในระหว่างรอฟังคำสั่งประกันตัวหรือไม่ และสอบถามเรื่องรายชื่อที่เขาต้องการให้เข้าเยี่ยมในเรือนจำ ในกรณีที่เขาอาจไม่ได้รับการประกันตัว โดยที่ขณะนั้นบุ้งยืนเกาะกำแพงอยู่ด้านนอกศาลฝั่งซอยเจริญกรุง 63 และต่อมาตำรวจศาลได้ใช้มือผลักดันไปที่ร่างกายของหยก โดยมีเจตนาจะให้หยกออกจากบริเวณนั้น ซึ่งบุ้งได้ร้องตะโกนให้เลิกจับหยก เพราะเห็นว่าการจับที่ช้อนขึ้นในลักษณะดังกล่าวอาจถูกเข้าที่หน้าอกของหยก

เหตุดังกล่าวทำให้มีการทะเลาะวิวาทระหว่างบุ้งและตำรวจศาลคนดังกล่าว ที่บริเวณหน้าทางออกของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งตำรวจศาล รปภ. และบุ้ง เบิกความให้การตรงกันว่า บุ้งได้ตะโกนถามชื่อของตำรวจศาลคนที่ทำการจับหยก และถามว่า “แตะทำไม” และ “จับหน้าอกเด็กทำไม” ซึ่งเหตุกระทบกระทั่งกันดังกล่าว ในท้ายที่สุดแล้วทำให้ตำรวจศาลผลักเข้าที่เหนืออกบริเวณไหล่ซ้ายของบุ้ง 2 ครั้ง ปรากฏตามภาพวิดิโอกล้องวงจรปิดของงานเก็บสำนวนดำของศาลอาญากรุงเทพใต้ และต่อมาบุ้งได้พยายามยืดขาเตะเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวแต่ปรากฏว่าเตะไม่ถึง และเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลคนดังกล่าวได้หยิบกระบองยืดหดหรือดิ้วเหล็กประจำตัวขึ้นมา และใช้ตีเข้าที่บริเวณแขนซ้ายของบุ้งจนมีเลือดไหล

อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวศาลได้เรียกไต่สวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่บุ้งไม่สามารถขึ้นไปพบผู้พิพากษาได้ในทันที เนื่องจากต้องการไปโรงพยาบาลเพื่อทำแผลที่แขนก่อน  ซึ่งต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลในวันที่ 22 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมานี้

ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลได้นัดหมายฟังคำสั่งในวันที่ 26 ม.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่บุ้งและตะวันต้องมาฟังคำสั่งต่อคำร้องขอถอนประกันของพนักงานสอบสวน ในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลขบวนเสด็จที่ห้างสยามพารากอนเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565  โดยพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนประกัน โดยอ้างเหตุว่าการที่ทั้งสองคนเข้าร่วมการรวมตัวแสดงออกหน้ากระทรวงวัฒนธรรมเพื่อเรียกร้องให้ถอดเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สว. ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 นั้น เป็นสิ่งที่ผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวของทั้งสองคน 

จึงเท่ากับว่าบุ้งจะต้องเข้าฟังคำสั่งศาลรวม 2 คดี ในวันเดียวกัน โดยต้องจับตาต่อไปว่า บุ้งจะถูกถอนประกันหรือไม่ และในคดีละเมิดอำนาจศาลกรณีนี้ ศาลจะมีคำสั่งอย่างไร 

ตำรวจศาลที่ใช้ดิ้วตีแขนบุ้งชี้ ทำตามมาตรการป้องกันตัวที่ฝึกมาตอนเป็นตำรวจ 

พยานเบิกความชื่อ ส.ต.อ.ชิษณุพงศ์ เพชรคอน รับราชการในตำแหน่งตำรวจศาล ประจำการศาลอาญากรุงเทพใต้ ในวันเกิดเหตุ 19 ต.ค. 2566 เวลา 11.00 น. ขณะพยานปฏิบัติงาน ได้รับแจ้งว่า มีบุคคลปีนรั้ว บริเวณห้องขังใต้ถุนศาล พยานจึงได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมกับรปภ.อีก 1 นาย 

เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พยานได้พบกับหยก เยาวชนหญิง 1 คน ซึ่งในขณะนั้นไม่ทราบชื่อ พิงตัวอยู่ที่กำแพงตึกของศาลฝั่งบริเวณซอยเจริญกรุง 63 เพื่อพูดคุยกับผู้ต้องขังที่อยู่ในห้องควบคุมตัวในตึก และพบกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ซึ่งในขณะนั้นพยานไม่ทราบชื่ออีก 1 คน อยู่บริเวณนอกรั้วเหล็กของศาล

หลังจากนั้น พยานได้แสดงตัวว่าเป็นตำรวจศาล และแจ้งให้หยกทราบว่า การกระทำของเธอเป็นการประพฤติที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อความสงบเรียบร้อยบริเวณศาล จึงได้เชิญตัวออกจากบริเวณดังกล่าว แต่หยกไม่ปฏิบัติตามและยังอยู่ที่เดิม พยานจึงได้เข้าไปจับแขนของหยกให้ลงมาจากบริเวณรั้วศาล 

ในขณะเดียวกัน พยานก็ถูกบุ้งที่อยู่นอกรั้วศาลคว้าคอเสื้อจนศีรษะให้ศีรษะติดกับรั้วของศาล ทำให้ต้องปล่อยมือจากแขนของหยกที่อยู่บนรั้ว และแยกตัวออกมาโทรแจ้ง 191 เรียกกำลังเสริมจาก สน.ยานนาวา เพื่อขอความช่วยเหลือให้เข้าควบคุมความเรียบร้อยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ต่อมา พยานได้พบกับบุ้งและหยกอีกครั้งที่บริเวณทางออกของศาล และได้มีปากเสียงกัน เนื่องจากบุ้งมีท่าทีต้องการจะหาเรื่องกับพยาน คือต้องการทราบว่าพยานชื่ออะไร พยานจึงได้ผลักเข้าที่ไหล่ซ้ายของบุ้งไป 1 ครั้ง และบอกให้บุ้งถอยห่างจากตัวเอง

แต่บุ้งยังคงเดินเข้ามาหาพยานอยู่อย่างต่อเนื่อง พยานจึงได้ผลักที่ไหล่ซ้ายของบุ้งอีกครั้ง และถอยห่างออกมา แต่บุ้งได้มีท่าทีทำร้ายพยานด้วยการเตะเข้าที่บริเวณขา ทำให้พยานจับกระบองยืดหดประจำกายมาถือไว้และตีเข้าที่แขนของบุ้ง 1 ครั้ง เพื่อระงับเหตุและป้องกันตัวเอง ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ยานนาวา ได้เข้ามาถึงศาล เหตุการณ์ทุกอย่างก็ยุติลงไปแล้ว 

พยานมีหลักฐานในขณะเกิดเหตุเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดในบริเวณศาล และภาพจากกล้องที่ติดตัวของพยานในขณะที่ปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งทั้งหมดได้อ้างส่งต่อศาลแล้ว 

ส.ต.อ.ชิษณุพงศ์ แถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่า การกระทำของพยานในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นไปตามหลักปฏิบัติของตำรวจ ซึ่งพยานได้ผ่านการเข้าอบรมหลักสูตรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้อ้างส่งใบประกาศนียบัตรเป็นหลักฐานไว้ด้วย 

พยานตอบศาลว่าเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน 

ทนายผู้ถูกกล่าวหาถามค้าน

ส.ต.อ.ชิษณุพงศ์ ตอบทนายผู้ถูกกล่าวหาว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ พยานเคยรับราชการเป็นตำรวจประจำการอยู่ที่จังหวัดราชบุรีมาก่อนบรรจุเป็นตำรวจศาลที่ศาลอาญากรุงเทพใต้

ส.ต.อ.ชิษณุพงศ์ ยืนยันว่า เหตุการณ์นี้เริ่มต้นด้วยการมีเยาวชนหญิงหรือหยกปีนเข้าไปในรั้วของศาลเพื่อพูดคุยกับโฟล์ค จำเลยคดี 112 ที่กำลังรอคำสั่งประกันตัวอยู่ที่ห้องใต้ถุนศาล และผู้ถูกกล่าวหายืนอยู่บริเวณนอกรั้วศาล โดยเจตนาของหยกที่ปีนรั้ว เพื่อพูดคุยกับโฟล์คเท่านั้น ไม่ได้ต้องการสร้างความวุ่นวายหรือสร้างความไม่สงบแต่อย่างใด 

พยานขออธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากจะปีนรั้วแล้ว ได้รับแจ้งว่าหยกยังได้พยายามถ่ายภาพของโฟล์คที่อยู่ในห้องขังใต้ถุนศาลด้วย แต่ในขณะไปถึงตน ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ขณะที่หยกถ่ายภาพแต่อย่างใด

ทนายถามว่า ในขณะที่หยกมีการปีนรั้ว พยานได้พยายามที่จะให้หยกออกไปจากพื้นที่ แต่หยกไม่ปฏิบัติตาม จึงมีการใช้มือแตะเข้าไปที่บริเวณหน้าอกใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช้มือแตะไปที่แขนซ้าย ไม่ใช่หน้าอก เพื่อดันให้หยกออกไปจากบริเวณรั้วศาล และในขณะที่มีการดันให้หยกออกไป บุ้งก็ได้เข้ายื่นมือเข้ามากระชากคอเสื้อของพยาน ทำให้พยานต้องปล่อยมือออกจากแขนของหยก และเดินเลี่ยงไปโทรแจ้ง 191 

ทั้งนี้ พยานได้ยอมรับว่าหลังจากที่เดินไปประจำการที่บริเวณประตูทางออกของศาล บุ้งก็ได้มีการเข้ามาถามหาชื่อของพยานอีกรอบ แต่พยานไม่ได้บอกชื่อของตัวเองออกไป และปฏิเสธกับทนายว่า ไม่ได้มีการจับหน้าอกตามที่บุ้งกล่าวหา 

ทนายจึงถามต่อว่า ในเหตุการณ์ก่อนที่บุ้งจะเตะใส่ ตัวของพยานได้ทำการผลักบุ้งก่อนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เพราะบุ้งมีท่าทีหาเรื่องพยาน จึงได้ทำการผลักออกไปก่อนจริง และยอมรับว่ามีการข่มขู่เรื่องการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลกับบุ้ง แต่ตัวเองไม่ได้มีอำนาจในการสั่งดำเนินคดี

และยอมรับกับทนายว่าในวันเกิดเหตุ พยานได้แต่งชุดปฏิบัติหน้าที่และใส่เสื้อเกราะกับรองเท้าผ้าใบ และในที่บริเวณเกิดเหตุก็มีโต๊ะม้าหินอ่อนให้ประชาชนที่มาใช้บริการนั่งพักอยู่ด้วยเนื่องจากบริเวณที่เกิดเรื่องไม่ใช่บริเวณในศาล แต่เป็นด้านนอกใกล้จุดที่จัดที่นั่งบริการประชาชนตรงด้านหน้าทางออก

ทนายถามต่อว่า สิ่งของที่ใช้ตีแขนของผู้ถูกกล่าวหาเป็นดิ้วที่ทำมาจากเหล็ก และการใช้กระบองดังกล่าวฟาดไปที่แขนทำให้บุ้งได้รับบาดเจ็บใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ และการตีไปที่แขน ก็เนื่องจากถูกฝึกมาให้ป้องกันตัวจากผู้ที่จะเข้ามาทำร้าย โดยการตีทุกครั้งจะต้องตีลงไปที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่ก็คือบริเวณท่อนแขนของคน และยอมรับว่า บุ้งได้รับบาดเจ็บจริง มีเลือดไหลจำนวนมาก ก่อนที่เหตุการณ์จะยุติลง

และทนายถามต่อไปว่า ที่พยานตอบศาลว่าไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้มาก่อน แต่เสียงจากกล้องวงจรปิด ในตอนที่พยานโทรรายงานเหตุให้ตำรวจ สน.ยานนาวา ทราบ พยานเรียกกลุ่มของผู้ถูกกล่าวหาว่า พวกโดน ม.112 แสดงว่าพยานรู้จักกับกลุ่มของบุ้งมาก่อนใช่หรือไม่ 

พยานตอบว่า ที่พูดไปแบบนั้นเนื่องจากเป็นการแจ้งเหตุว่า มีผู้ที่มาติดต่อคดี ม.112 มาก่อความวุ่นวาย พยานไม่เคยรู้จักกับใครมาก่อน และพยานไม่ทราบว่าบุ้งจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับตนเองภายหลังหรือไม่ แต่ตัวของพยานได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.ยานนาวา 

.

รปภ. ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ยืนยัน ตำรวจศาลไม่ได้แตะตัวหยก – ใช้ดิ้วตีบุ้งเพื่อกันให้ออกห่าง

พยานเบิกความว่าตนปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ประจำการศาลอาญากรุงเทพใต้ 

ในวันเกิดเหตุ เวลา 10.00 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณชั้น 10 หน้าศูนย์ไกล่เกลี่ย พยานได้รับแจ้งจากทีม รปภ. ว่ามีบุคคลปีนรั้วศาลอยู่บริเวณข้างซอยเจริญกรุง 63 จึงได้ประสานกับตำรวจศาล ให้เข้าควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

พยานได้พบกับ ส.ต.อ.ชิษณุพงศ์ ที่บริเวณที่เกิดเหตุ พบเห็นกลุ่มของผู้ถูกกล่าวหาประมาณ 2 – 3 คน โดยผู้หญิง 2 คน คือ หยกและบุ้ง โดยบุ้งยืนอยู่นอกรั้ว ส่วนหยกได้พยายามปีนตึกข้างศาล แต่เหตุการณ์ไม่ยุติลง ตำรวจศาลจึงได้โทรแจ้ง 191 เพื่อขอความช่วยเหลือจากตำรวจ สน.ยานนาวา  โดยกลุ่มของผู้ถูกกล่าวหาได้เดินเข้ามาอีกครั้งที่บริเวณทางออกของศาล ตำรวจศาลได้เจรจาขอให้ออกจากบริเวณศาลไป แต่ไม่เป็นผล 

พยานได้เห็นว่า บุ้งใช้เท้าเตะตำรวจศาล แต่ว่าไม่โดน ตำรวจจึงได้ใช้กระบองตีเข้าที่แขนของบุ้ง ในขณะนั้นพยานได้ห้ามปรามให้บุ้งถอยห่างออกไปแล้ว ก่อนที่จะมีการทำร้ายกันเกิดขึ้น โดยพูดเป็นภาษาใต้ เนื่องจากพยานเป็นคนใต้ ซึ่งในขณะเกิดเหตุพยานได้ทำการบันทึกวีดิโอไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือทั้งหมด 

ทนายผู้ถูกกล่าวหาถามค้าน 

ทนายถามกับพยานเจ้าหน้าที่รปภ.ว่า ตำรวจศาลที่พยานทำงานด้วยมีตำรวจหญิงบ้างหรือไม่ พยานตอบว่า ตำรวจศาลไม่มีผู้หญิง มีแต่ผู้ชาย แต่ในส่วนของ รปภ. มี รปภ.หญิง อยู่บ้าง แต่ที่ไม่ได้มาอยู่ในเหตุการณ์เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่อยู่ในส่วนอื่น 

ทนายถามต่อไปว่า ตอนที่เกิดเหตุการณ์หยกปีนรั้ว ตำรวจศาลคนดังกล่าวมีการแตะเนื้อต้องตัวหยกหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวกับกรณีนี้พยาน รปภ.คนดังกล่าวกลับยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลไม่มีการแตะตัวของหยก และยืนยันว่าตัวเองอยู่ในเหตุการณ์โดยตลอด ซึ่งคำเบิกความของพยานไม่สอดคล้องกับตำรวจศาลที่ยอมรับว่าได้แตะตัวของหยกจริง

ทนายจึงถามต่อไปว่า พยานได้ยินหรือไม่ว่าบุ้งตะโกนใส่ตำรวจศาลว่าอย่างไรบ้าง พยานตอบว่าก็ในทำนองว่าจับเด็กทำไม จับนมเขาทำไม ซึ่งต่อมาในเหตุการณ์ที่บริเวณหน้าทางออกศาล พยานเห็นว่า มีการผลักกันจริง แต่เป็นการผลักที่ไหล่ และบุ้งก็ได้มีการเตะขาตำรวจศาลจริง แต่ไม่โดน ส่วนการใช้ดิ้วเหล็กตีก็เป็นการกันให้ถอยห่างออกจากเจ้าหน้าที่ และเมื่อมีการตีใส่ 1 ครั้ง บุ้งก็ไม่ได้เข้ามาทำร้ายตำรวจศาลต่อแต่อย่างใด ทุกอย่างยุติลง และไม่มีความวุ่นวายใด ๆ เกิดขึ้นอีก โดยบุ้งไม่ได้ทำอะไรต่อ มีเพียงแต่ร้องไห้เท่านั้น

บุ้ง – ผู้ถูกกล่าวหายืนยัน เจตนาต้องการคุยกับโฟล์คที่ถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างรอประกันเท่านั้น

บุ้งเบิกความต่อศาลว่า เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ตนได้มาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในเวลา 10.00 น. เพื่อเข้าร่วมฟังคำพิพากษาในคดีของ โฟล์ค สหรัฐ จำเลยในคดีมาตรา 112 พร้อมกับหยก และเพื่อน ๆ 

หลังศาลอ่านคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก โฟล์คได้ถูกควบคุมตัวไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อรอฟังคำสั่งประกัน กลุ่มของตนจึงเข้าไปที่บริเวณพื้นที่เยี่ยมผู้ต้องขัง แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้พวกตนเข้าเยี่ยมโฟล์คเหมือนเช่นที่ศาลอื่น ๆ ซึ่งตนเคยเข้าเยี่ยมได้ 

จึงทำให้ตนและหยกพยายามหาทางติดต่อพูดคุยกับโฟล์คที่บริเวณริมรั้วศาลในซอยเจริญกรุง 63 โดยมีเจตนาเพื่อจะสอบถามว่า หากเขาไม่ได้ประกันตัวในวันนี้ เขาต้องการความช่วยเหลือเรื่องอาหารหรือสิ่งของอะไรบ้างเท่านั้น แต่เนื่องจากที่บริเวณดังกล่าวไม่สามารถสื่อสารกันได้ชัดเจน ทำให้หยกตัดสินใจปีนรั้วขึ้นไปเพื่อเข้าใกล้หน้าต่างของห้องขังมากขึ้นและจะได้ฟังสิ่งที่โฟล์คพูดได้อย่างชัดเจน

หลังจากนั้นตำรวจศาลกับ รปภ. ก็ได้เข้ามาบอกว่า สิ่งที่พวกตนทำเป็นการบุกรุก และสั่งให้หยกออกจากบริเวณรั้วดังกล่าวไป แต่หยกไม่ยอมออก ตำรวจศาลจึงได้พยายามแตะตัวหยกและดันให้หยกออกมาจากบริเวณดังกล่าว แต่ในจังหวะที่มีการพยายามดึงตัวหยก ตำรวจศาลได้เข้าไปช้อนตัว ซึ่งจากมุมที่ตนเห็น ดูคล้ายจะเป็นการช้อนตรงหน้าอกของหยก จึงทำให้ตนตะโกนห้ามว่าอย่าแตะตัวหยก จึงทำให้ตนตะโกนห้ามว่าอย่าแตะตัวหยก โดยได้เอื้อมไปดึงคอเสื้อตำรวจศาลเพื่อให้หยุดแตะเนื้อต้องตัวหยก ตำรวจศาลคนดังกล่าวจึงปล่อยหยก และหลังจากนั้นหยกก็ได้ปีนรั้วออกมาจากศาลด้วยตนเอง

ผู้ถูกกล่าวหาเบิกความต่อว่า ตนเองรู้สึกโมโหกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล และต้องการทราบชื่อเพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป จึงได้ตะโกนถ้อยคำทั้งถามชื่อของตำรวจศาลคนดังกล่าว และถามหาเหตุผลที่จับหน้าอกของเยาวชนหญิงอายุ 15 ปี แต่ไม่มีคำตอบต่อคำถามทั้งสอง จึงทำให้มีปากเสียงกันตลอดบริเวณหน้าทางออกศาลอาญากรุงเทพใต้ 

บุ้งเบิกความอีกว่า ตนพยายามเข้าไปหาตำรวจศาลที่บริเวณทางออกศาลเพื่อสอบถามชื่ออีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแจ้งเพียงว่า จะดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล โดยจากการที่มีการผลักไหล่ครั้งแรกก็ทำให้เธอรู้สึกไม่พอใจ และเมื่อเธอได้เดินเข้าไปหาอีกครั้งก็ถูกผลักที่ไหล่อีก จึงทำให้รู้สึกโมโหและตอบโต้ด้วยการพยายามเตะเข้าที่ขาของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว แต่ปรากฎว่าเตะไปไม่ถึง คือไม่โดนตัวตำรวจศาลคนนี้แต่อย่างใด 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือตำรวจศาลคนดังกล่าว ได้ใช้ดิ้วฟาดเข้าที่แขนซ้ายของบุ้งทันทีหลังจากที่เธอพยายามเตะเขา จนทำให้เกิดบาดแผลและมีเลือดไหลไม่หยุดตลอดทาง และเมื่อมีตำรวจจาก สน.ยานนาวา มาถึง ทุกอย่างก็ยุติลง โดยบุ้งได้เดินทางออกจากศาลอาญากรุงเทพใต้ไปโรงพยาบาลเซนหลุยส์ เพื่อรับการรักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการกระทบกระทั่งกับตำรวจศาลคนดังกล่าว

ผลตรวจของแพทย์พบว่า บุ้งได้รับบาดเจ็บจนต้องเย็บแผล 4 เข็ม ซึ่งภายหลังออกจากโรงพยาบาลก็ได้เดินทางไปแจ้งความเอาผิดกับ ส.ต.อ.ชิษณุพงศ์ ทันทีที่ สน.ยานนาวา โดยตำรวจได้ส่งเรื่องไปให้แพทย์ทำรายงานลงความเห็นแล้ว และใช้เวลารักษารวมทั้งสิ้น 10 วัน 

ผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทะเลาะวิวาทกันของตนกับตำรวจศาลมากกว่าจะเป็นการบุกรุกพื้นที่ของศาล 

X