อัยการยังสั่งฟ้องอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คดี ม.112 ของ “ปูน-ฟ้า” กรณีปราศรัยในม็อบ #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ก่อนศาลให้ประกันตัว

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้นัดหมายส่งฟ้องคดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า และ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี นักกิจกรรมจากกลุ่มราษฎรมูเตลู ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีที่ทั้งคู่ปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564

คดีนี้เดิมมีการแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันจัดกิจกรรมและชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ต่อนักกิจกรรมที่ขึ้นเวทีปราศรัยรวม 13 คน รวมทั้งปูนและฟ้า โดยมี พ.ต.ท.ภราดร สุวรรณรัตน์ เป็นผู้กล่าวหา ต่อมา ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีพรหมศรและธนพัฒน์ในข้อหาตามมาตรา 112 ทำให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกทั้งสองคนมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก

คดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวทั้งคู่ต่อพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 และอัยการได้นัดฟังคำสั่งเรื่อยมาเป็นระยะเวลาราว 1 ปี จนมีคำสั่งฟ้องคดีในที่สุด

ในการฟ้องคดีมี พัชรา อิศราภรณ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นผู้เรียงฟ้อง โดยฟ้องปูนและฟ้าใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ มาตรา 112, ร่วมกันจัดกิจกรรม และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  โดยไม่ได้สั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ เนื่องจากขาดอายุความแล้ว

คำฟ้องโดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 จำเลยทั้งสองกับพวกหลายคนซึ่งแยกดำเนินคดีแล้ว ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชื่อว่า “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” ที่บริเวณถนนราชดำริ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 50 คน โดยมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมประมาณ 800 คน อันเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวที่มีความแออัดในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

จำเลยทั้งสองยังได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยการขึ้นกล่าวปราศรัยในกิจกรรมดังกล่าว ให้ประชาชนจำนวนหลายร้อยคนที่มาร่วมชุมนุมฟัง

คำฟ้องได้ยกคำปราศรัยของธนพัฒน์ ในฐานะจำเลยที่ 1 และพรหมศร จำเลยที่ 2 ซึ่งโดยภาพรวมกล่าวถึงความจำเป็นในยกเลิกมาตรา 112 เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยอัยการระบุว่า คำปราศรัยของทั้งสองเป็นความเท็จ และทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงนำทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นของพระองค์เองและมิได้ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ, ทรงขาดความเมตตาและใช้กฎหมายมาตรา 112 รังแกประชาขน 

อัยการบรรยายว่า คำปราศรัยดังกล่าวเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง

ในท้ายฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โดยระบุว่า หากจำเลยทั้งสองยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ต่อมา หลังศาลรับฟ้อง และนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ยื่นประกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวธนพัฒน์และพรหมศร โดยให้วางหลักประกันคนละ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 มี.ค. 2567 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ ฟ้าถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึง 5 คดี โดยศาลมีคำพิพากษาแล้ว 1 คดี คือ คดีจากการปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว สิริชัย นาถึง นักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2566 ลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ก่อนได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ส่วน ปูนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึง 3 คดี โดยศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม เป็นคดีแรกในวันที่ 26 มี.ค. 2567

สำหรับกิจกรรม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 นับเป็นการเปิดตัวการรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเตรียมยื่นต่อรัฐสภา

ดูรายละเอียดการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ใน Mob Data Thailand

ดูฐานข้อมูลคดี: คดี 112 “ฟ้า-ปูน” ปราศรัยในม็อบ #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112

X