ปรับ “ไผ่” 1 หมื่น ผิด “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – กีดขวางจราจรฯ” เหตุชุมนุม #ม็อบ25ตุลา63 ส่วน “ครูใหญ่- แอมป์-ธานี” ถูกปรับคนละ 5 พัน 

16 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​, กีดขวางทางสาธารณะและการจราจร ของ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (จำเลยที่ 1), “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ (จำเลยที่ 2), “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา (จำเลยที่ 3) และ ธานี สะสม (จำเลยที่ 4) จากกรณีชุมนุมปราศรัยเพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน #ม็อบ25ตุลา63 บริเวณสี่แยกราชประสงค์

ศาลพิพากษาว่า จตุภัทร์มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะและการจราจร ลงโทษปรับ 10,000 บาท ส่วน อรรถพล, ณวรรษ และธานี มีความผิดฐานกีดขวางทางสาธารณะและการจราจร ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท

ภาพการชุมนุม #ม็อบ25ตุลา63 จากประชาไท

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 มีการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ เป็นการชุมนุมหลังจากที่จตุภัทร์ ได้รับการประกันตัวจากคดีชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ในวันนั้นมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ แดร็กควีน คณะราษแดนซ์ และมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเปิดปราศรัยเป็นเวทีย่อยอย่างหลากหลาย

ในคดีนี้นักกิจกรรมทั้งสี่ถูกตำรวจแจ้งข้อหาถึง 3 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ทั้งสี่เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ลุมพินี ในข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อมา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ส่งหนังสือลงวันที่ 21 ก.ค. 2564 ให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาใหม่อีกครั้งในข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือจากสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ลงวันที่ 5 ก.ย. 2564 ให้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในข้อหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย, ร่วมกันกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางทางสาธารณะและการจราจรจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.จราจรฯ 

ทั้งนี้ การแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมใน 2 ครั้งหลัง ตำรวจได้เข้าไปแจ้งข้อหาแก่จตุภัทร์ถึง รพ.ราชทัณฑ์ และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

ต่อมาอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงปทุมวันเมื่อวันที่ 20 และ 25 ต.ค. 2564 ทั้งสี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและยืนยันที่จะสู้คดี ศาลได้นัดสืบพยานทั้งสิ้น 7 นัด ในระหว่างวันที่ 20, 27 ต.ค. 2565, 12 ม.ค., 15, 17 ก.พ., 26 มิ.ย. และ 27 ก.ค. 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 4 คนมีความผิดฐานกีดขวางทางสาธารณะและการจราจร ส่วน“ไผ่ จตุภัทร์” มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย

เวลาประมาณ 11.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 710 จำเลยทั้ง 4 คน เดินทางมาศาลพร้อมด้วยทนายความเพื่อฟังคำพิพากษา ด้านอรรถพลเดินทางมาจากจังหวัดขอนแก่น ซึ่งใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมง เมื่อจำเลยมาครบทั้งสี่คนแล้ว สิริมา วิริยะโพธิ์ชัย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจึงออกนั่งอ่านคำพิพากษา โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า

ก่อนเกิดเหตุ คือในวันที่ 24 ต.ค. 2563 จำเลยที่ 1 ไปร่วมชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และกล่าวเชิญชวนประชาชนให้มาชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ในวันที่ 25 ต.ค. 2563 ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุม ซึ่งต้องแจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่จากคำเบิกความของพยานโจทก์ ไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งการชุมนุม 

นอกจากนี้การชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันโรค แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัยก็ไม่ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด อีกทั้งเมื่อจำเลยที่ 1-4 ขึ้นปราศรัยก็ไม่ได้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย และการชุมนุมไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง จึงวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมและไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค 

ส่วนจำเลยที่ 2 – 4 ถึงแม้ว่าในวันที่ 24 ต.ค. 2563 จะไปชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และปรากฏตัวในที่ชุมนุมในวันที่ 25 ต.ค. 2563 ตามที่จำเลยที่ 1 นัดหมาย รวมถึงยังขึ้นปราศรัยด้วย แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2-4 พูดนัดหมายให้ไปชุมนุมในเวลาและสถานที่เช่นเดียวกับที่จำเลยที่ 1 กล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยที่ 2-4 เป็นผู้จัดการชุมนุม

ส่วนในข้อหากีดขวางทางสาธารณะและกีดขวางการจราจร เห็นว่า ในเมื่อการชุมนุมไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ที่กีดขวางการจราจร เป็นการกระทำโดยไม่จำเป็นและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร จำเลยที่ 1-4 ยังร่วมกันกระทำการที่เป็นการกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 5,000 บาท และฐานร่วมกันกระทำการกีดขวางทางสาธารณะและการจราจร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ซึ่งมีโทษหนักที่สุด ปรับ 5,000 บาท รวมปรับ 10,000 บาท

ส่วนจำเลยที่ 2-4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 385 ปรับคนละ 5,000 บาท

กล่าวโดยสรุป จตุภัทร์ จำเลยที่ 1 ถูกลงโทษปรับ 10,000 บาท ส่วนอรรถพล, ณวรรษ และธานี ถูกลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท รวมแล้วเป็นเงิน 25,000 บาท 

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จำเลยทั้งสี่คนได้ไปจ่ายค่าปรับด้วยตนเองทันที

เทียบคำพิพากษาคดี “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – กีดขวางทางสาธารณะ” สืบเนื่องจาก #ม็อบ25ตุลา63

อย่างไรก็ตาม สำหรับ #ม็อบ25ตุลา63 ยังมี “มีมี่” เยาวชนนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเดียวกันกับจตุภัทร์, อรรถพล, ณวรรษ และธานี ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้พิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากมีมี่ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบแจ้งการชุมนุมหรือจัดมาตรการป้องกันโรคตามที่กำหนด และในข้อหากีดขวางทางสาธารณะและการจราจร เห็นว่าจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมจึงไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบการชุมนุมใด ๆ 

ข้อหาที่ถูกดำเนินคดีคดีเด็กและเยาวชน 
‘มีมี่’
คดีผู้ใหญ่
‘ไผ่ – ครูใหญ่ – แอมป์ – ธานี’
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษา 22 ก.ย. 2565ศาลแขวงปทุมวันพิพากษา 16 ต.ค. 2566
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯยกฟ้องลงโทษปรับ ‘ไผ่’ 5,000 บาท อีกสามคนยกฟ้อง
พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ – กีดขวางการจราจรยกฟ้อง
มีความผิด ศาลลงโทษตาม ม.385 ปรับคนละ 5,000 บาท
ม.385 – กีดขวางทางสาธารณะยกฟ้อง
สรุปยกฟ้อง‘ไผ่’ มีความผิดทุกข้อกล่าวหาลงโทษปรับ 10,000 บาท ด้าน ‘ครูใหญ่ – แอมป์ – ธานี’ ลงโทษตาม ม.385 ปรับคนละ 5,000 บาท รวมแล้วในคดีนี้ถูกปรับทั้งสิ้น 25,000 บาท

คำพิพากษากรณีชุมนุมที่สืบเนื่องมาจาก #ม็อบ25ตุลา63 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคดีเด็กและเยาวชนที่พิพากษาไปเมื่อปี 2565 และคดีผู้ใหญ่ที่ฟ้องในข้อหาลักษณะเดียวกัน เห็นได้ว่าศาลพิพากษาลงโทษคดีผู้ใหญ่แตกต่างออกไป ทั้งจากที่ศาลพิเคราะห์แล้วว่า ครูใหญ่, แอมป์ และธานี มิได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ถึงแม้ว่าจะยกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็พิพากษาลงโทษปรับเงินฐานกีดขวางทางสาธารณะและการจราจรจากการร่วมชุมนุมและปราศรัย ในขณะที่กรณีมีมี่ ศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ซึ่งรวมไปถึงข้อหากีดขวางทางสาธารณะและการจราจรด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

#ม็อบ25ตุลา : ราชประสงค์ : Mob Data Thailand

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เหตุร่วม #ม็อบ25ตุลา สี่แยกราชประสงค์

X