ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี ในคดีของ ปิติพงศ์ ภู่ประเสริฐ ประชาชนวัย 31 ปี จากจังหวัดนนทบุรี ผู้ถูกตำรวจจับกุมและกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ทำร้ายร่างกายตำรวจโดยไม่ถึงกับอันตราย กรณีร่วมชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ท่าน้ำนนทบุรี
สำหรับเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนนทบุรี และได้มีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันขับไล่ในจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะที่บริเวณท่าน้ำปากเกร็ดและท่าน้ำนนทบุรี
สำหรับบริเวณที่หอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี ตำรวจได้นำรั้วเหล็กมากั้นไม่ให้ประชาชนเข้าไปบริเวณท่าน้ำ จนมีเหตุกระทบกระทั่ง และ ปิติพงศ์ หนึ่งในผู้ชุมนุม ถูกกล่าวหาว่าได้เข้าไปตบท้ายทอยของ พ.ต.อ.วนัสชัย ยิ่งยงสมสวัสดิ์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองนนทบุรี ที่ไปดูแลสถานการณ์ โดยเป็นการตบเบา ๆ ทำให้ภายหลังยุติการชุมนุม เขาถูกตำรวจควบคุมตัวไปที่ สภ.เมืองนนทบุรี และถูกแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 โดยเขาได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้นัดส่งตัวผู้ต้องหาให้กับอัยการไปเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 และอัยการใช้เวลาพิจารณาอีก 6 เดือนเศษ ล่าสุดได้มีหนังสือลงวันที่ 19 ก.ย. 2566 เห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ และแจ้งยุติการดำเนินคดีในที่สุด
.
ภาพการชุมนุมที่ท่าน้ำนนทบุรี (ภาพจาก Thaivoice.ORG2)
.
สำหรับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการนั้น ในข้อกล่าวหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษและมีอายุความไม่เกิน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความไปแล้ว ไม่สามารถสั่งฟ้องได้
ส่วนข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมในสถานที่แออัด หรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น อัยการเห็นว่าคำว่า “สถานที่แออัด” ตามข้อกำหนด หมายถึงสถานที่แคบและปิดที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี สถานที่ที่คนอยู่รวมกันหนาแน่นน้อยกว่าหนึ่งตารางเมตรต่อคน แต่คดีนี้เกิดที่บริเวณท่าน้ำหอนาฬิกานนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีลักษณะเป็นสถานที่ปิด หรือทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมาต้องถูกบังคับให้อยู่ในบริเวณที่จำกัด ไม่สามารถเดินเข้า-ออกได้ แต่กลับกัน ประชาชนสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยอิสระ และไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีผู้ชุมนุมหนาแน่นตลอดพื้นที่อันเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโรค จึงไม่มีสภาพเป็นสถานที่แออัด
การตีความความผิดตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องตีความภายใต้เจตนารมณ์ของการควบคุมมิให้เกิดโรคระบาดออกไปในวงกว้าง กรณีมีการรวมกลุ่มในพื้นที่บางส่วนของสถานที่ชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในสภาพคับแคบหรือหนาแน่นไปด้วยผู้คน ยังไม่เข้าข่ายสถานที่แออัดที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ หรือไม่ได้เว้นระยะห่างทางสังคมตามหลักปฏิบัติเบื้องต้น เพื่อป้องกันโรคอย่างไร คดีจึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา
ในส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการจัดการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสที่สามารถแพร่เชื้อโรค ทางอัยการเห็นว่าทางการสอบสวน ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นผู้จัดกิจกรรม เป็นผู้ร่วมจัด หรือเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้การชุมนุมนี้เกิดขึ้น หรือยืนยันว่าอุปกรณ์ในการชุมนุมเป็นของหรือเกี่ยวโยงกับผู้ต้องหา ปรากฏเพียงว่าผู้ต้องหาอยู่ร่วมในกิจกรรมดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตในการชุมนุม ทางคดีจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้จัดกิจกรรมที่มีหน้าที่ต้องขออนุญาต
ในประเด็นเรื่องการชุมนุมเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทางอัยการเห็นว่าไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาขึ้นปราศรัย หรือเป็นผู้นำในลักษณะยุยงให้ก่อความรุนแรง ทั้งไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในครอบครองในที่ชุมนุม เพียงแต่จับกุมตัวผู้ต้องหาได้ในที่ชุมนุม การกระทำของผู้ต้องหาจึงยังไม่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบหรือก่อให้เกิดเหตุรุนแรง แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจสืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ผู้เสียหายนำกำลังตำรวจเข้าควบคุมการชุมนุม จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าจับกุมตัวเท่านั้น ยังไม่ถึงขนาดเป็นการยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
พนักงานอัยการที่ทำความเห็นไม่ฟ้องคดี ได้แก่ ชิสา ฉัตรงามอภิชาติ อัยการจังหวัดผู้ช่วย ปฏิบัติราชการแทนอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรี
.
นอกจากคดีของปิติพงศ์แล้ว ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรีได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของประชาชนอีกหนึ่งราย ซึ่งถูกตำรวจจับกุมในวันเดียวกัน แต่เป็นกรณีซึ่งไปถือป้ายมีเนื้อหาขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่บริเวณท่าน้ำปากเกร็ด โดยอัยการเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์จะก่อความเดือดร้อนรำคาญ ป้ายที่ถูกยึดยังอยู่ในกระเป๋า ยังไม่ได้มีการแสดงออก และตำรวจยังจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย
ในส่วนการชุมนุมที่ท่าน้ำนนทบุรีนั้น ยังมีคดีส่วนของประชาชนอีก 20 ราย ที่ถูกออกหมายเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองนนทบุรี ในภายหลัง และได้ถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงนนทบุรีไปแล้ว คดียังอยู่ระหว่างการสืบพยานในศาล
.