ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 9 นักกิจกรรม ร่วมชุมนุม #ปล่อยเพื่อนเรา ใน #ม็อบ9กุมภา64 ชี้ใช้เสรีภาพตามรธน.-ไม่แออัด

วันที่ 3 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาในคดี #ม็อบ9กุมภา ที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมในกิจกรรม #ปล่อยเพื่อนเรา บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 

คดีนี้มีจำเลยจำนวน 9 คนได้แก่ 1. “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 2. วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล 3. “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4. “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ 5. “บอย” ชาติชาย แกดำ 6. ทวีชัย มีมุ่งธรรม 7. “เบนจา” เบญจา อะปัญ 8. “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล  9. “แรปเตอร์”สิรภพ อัตโตหิ 

เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 เพจ “ราษฎร” ได้นัดหมายชุมนุม #ปล่อยเพื่อนเรา ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน เนื่องจากในวันดังกล่าว ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว 4 นักกิจกรรมที่ถูกสั่งฟ้องในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทำให้มีการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนนักกิจกรรม

ต่อมาตำรวจ สน.ปทุมวันได้มีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่เข้าร่วมชุมนุมรวม 9 คน ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 (จำเลย 7 คน) และ 9 มี.ค. 2565 ตามลำดับ เนื่องจากทั้งสองคดีมีพฤติการณ์และประเด็นแห่งคดีอย่างเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ศาลจึงอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองคดีเข้าด้วยกันได้

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า ทั้งเก้าได้นำเข้าข้อมูลสู่คอมพิวเตอร์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ชักชวนให้มวลชนเข้าร่วมในการชุมนุมที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน ทั้งหมดได้ร่วมกันชุมนุมมากกว่า 5 คนขึ้นไป มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลผ่านทางเครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และตำหนิศาลเรื่องการใช้ดุลยพินิจไม่ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ ทั้งหมดยังได้ขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ให้ยุติการชุมนุม ซึ่งในการชุมนุมไม่ได้มีมาตราการป้องกันโรคติดต่อ เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด 19

จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และมีการสืบพยานต่อสู้คดีไปทั้งหมด เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566 รวม 4 นัด

การอ่านคำพิพากษาเกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 โดยจำเลยทั้งเก้าเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับเพื่อน และผู้ไว้วางใจจำนวนหนึ่ง 

เวลา 10.18 น. ศาลออกนั่งพิจารณาและเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปดังนี้ คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรก จำเลยทั้งเก้ามีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือไม่ 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมที่จะผิดข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น จะต้องเป็นการชุมนุมที่มีความแออัด มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และเป็นสถานที่ปิด โดยจากการเบิกความ ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความว่า จำเลยเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมดังกล่าว อีกทั้งยังไม่ทราบว่าจำเลยทั้งเก้าเดินทางมาอย่างไร อ้างเพียงแค่เห็นจำเลยอยู่ในที่ชุมนุม และสลับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย ทำให้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะรับฟังได้ การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 16) ข้อ 2 

ประการที่สอง ประเด็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือการกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น 

เห็นว่า แม้จำเลยทั้งเก้าจะได้ร่วมกันทำกิจกรรมบริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวันจริง แต่สถานที่ในการทำกิจกรรมก็มีลักษณะเป็นที่โล่งและเป็นลานกว้าง ไม่ใช่พื้นที่ปิด จึงมีพื้นที่มากเพียงพอให้สามารถเว้นระยะห่างได้ นอกจากนี้ ในบริเวณนัันยังไม่ได้มีเพียงแค่ผู้เข้าร่วมชุมนุม แต่มีพื้นที่ว่างเหลือสำหรับให้ประชาชนทั่วไปสัญจรผ่านด้วย การทำกิจกรรมของจำเลยทั้งเก้าจึงไม่ได้เป็นการทำกิจกรรมในสถานที่แออัด

และแม้จำเลยจะมีการพูดปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการตำหนิการใช้ดุลยพินิจของศาลและให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำและกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกจับกุมจริง แต่พยานโจทก์ทุกปากก็เบิกความตรงกันว่า ในการปราศรัยนั้นไม่มีถ้อยคำที่เป็นการยุยง ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง และไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ 

อีกทั้งผู้ชุมนุมก็ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเป็นเวลาไม่นาน เมื่อเสร็จจากกิจกรรมก็แยกย้ายกันเดินทางกลับ มากไปกว่านั้น การทำกิจกรรมของจำเลยทั้งเก้ายังเป็นการชุมนุมเรียกร้องที่คนทุกคนสามารถทำได้ ตามสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องได้ 

เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งเก้าไม่อาจเป็นการกระทำที่ผิดตามข้อกำหนดข้อที่ 2 และ 3 ที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกคนในข้อหานี้

ประการสุดท้าย เรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-7 ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดจริงตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 จึงลงโทษปรับคนละ 200 บาท 

เนื่องจากศาลลงโทษปรับสถานเดียว จึงไม่สามารถนับโทษต่อจากคดีอื่นตามที่พนักงานอัยการร้องขอได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก ส่วนจำเลยที่ 8 และ 9 (ปนัสยา และแรปเตอร์) ศาลพิพากษายกฟ้อง

X