ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องคำวินิจฉัยของ คกก. ไม่จ่ายค่าทดแทน กรณี“เสาร์” ผู้ป่วยจิตเวช ถูกขังฟรี 84 วัน ในคดี ม.112 ที่ยกฟ้อง 

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ กรณี “เสาร์” ชาวไทยลื้อ อายุ 58 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวช เรียกร้องค่าทดแทน กรณีถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุที่เขาไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2558 มีเนื้อหาขอเป็นคู่ความร่วมในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เขาเชื่อว่า รัชกาลที่ 9 ทรงจัดสรรให้เขารับผิดชอบ โดยเขาหลงไปว่าตัวเองสามารถติดต่อสื่อสารกับรัชกาลที่ 9 ผ่านทางโทรทัศน์ได้

คดีนี้เคยถูกพิจารณาในศาลทหาร ก่อนมีก่อนโอนย้ายมาที่ศาลพลเรือนหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง 

ย้อนอ่าน อยุติธรรมยาวนาน และการทวงความยุติธรรมของ ‘เสาร์’ – ผู้ป่วยจิตเวช คดีหมิ่นฯ กษัตริย์

ดูฐานข้อมูลคดี เสาร์ ผู้ป่วยจิตเภท คดี 112 (ร้องศาลฎีกาฯ ทวงเงินทักษิณ)

ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 โดยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 ประกอบมาตรา 65 วรรค 2 ลงโทษจำคุก 3 เดือน เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 4 เดือน เหตุเคยต้องโทษจำคุกในคดียาเสพติด แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เนื่องจากคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวน และในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คงจำคุก 2 เดือน 20 วัน แต่เสาร์เคยถูกคุมขังในชั้นฝากขังแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. – 19 ส.ค. 2558 รวม 84 วัน จึงถือว่าจำคุกมาเกินกว่าโทษตามคำพิพากษา เสาร์จึงไม่ถูกนำตัวไปขังอีก

ภายหลังจำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตาม มาตรา 112 เนื่องจากข้อความที่อยู่ในคำร้องถือเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพสักการะและอยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้ แต่จำเลยได้กระทำความผิดในเวลาที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะจิตฟั่นเฟือน จึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 1

ด้วยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว นำมาสู่การยื่นคำขอรับเงินทดแทนและค่าใช้จ่ายต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 เพื่อชดเชยเวลา 84 วัน ที่เสาร์ถูกคุมขังในปี 2558

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ ได้มีคำวินิจฉัยฉบับลงวันที่ 24 พ.ย. 2565 เห็นว่า “…คดีนี้ศาลทหารกรุงเทพได้อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณา จำเลยจึงไม่ได้ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 20(2) แห่งพระราชบัญญัตินี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 จึงวินิจฉัยให้ยกคำขอ…”

ต่อมา ทนายความและเสาร์ได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ต่อศาลอุทธรณ์ ภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนด คือ 30 วัน

.

ความเป็นมาในการคุมขังเสาร์

คดีนี้ เสาร์ถูกพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง แจ้งข้อกล่าวหา และถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2558 และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพจนถึงวันครบกำหนดฝากขังโดยไม่มีญาติมายื่นประกันตัว (ทั้งที่ตามประกาศ คสช. ในขณะนั้น คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร แต่พนักงานสอบสวนกลับนำตัวเสาร์ไปขอฝากขังที่ศาลอาญา)

ในวันที่ 20 ส.ค. 2558 ซึ่งครบกำหนดฝากขัง 84 วัน แต่อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง เสาร์จึงถูกปล่อยตัว แต่พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวเสาร์ไปรับการตรวจรักษาอาการจิตเภทที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และได้ทำเรื่องขออายัดตัวหากเสาร์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อการรักษาเสร็จสิ้น เวลาผ่านไปจนกระทั่งวันที่ 30 พ.ย. 2558 แพทย์รายงานผลการตรวจวินิจฉัยต่อพนักงานสอบสวนว่า แม้เสาร์ยังมีความคิดหลงผิดอยู่ แต่สามารถสื่อสารเรื่องคดีได้ จึงลงความเห็นว่า เสาร์สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว และให้พนักงานสอบสวนมารับตัวกลับไปดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 4 ก.พ. 2559 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง จึงนำตัวเสาร์จากสถาบันกัลยาณ์ฯ พร้อมสำนวนส่งให้อัยการศาลทหารกรุงเทพเพื่อพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งอัยการทหารนัดเสาร์มาในวันที่ 20 เม.ย. 2559 และส่งฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลทหารกรุงเทพ ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวันเดียวกัน

.

อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย

สำหรับอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ที่เสาร์และทนายความยื่นต่อศาลอุทธรณ์ มีประเด็นโดยสรุปดังนี้


3.1 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดี

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ว่า “…คดีนี้ศาลทหารกรุงเทพได้อนุญาตให้นายเสาร์ แสงเมือง ประกันตัวในระหว่างการพิจารณา จำเลยจึงไม่ได้ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 20 (2) แห่งพระราชบัญญัตินี้…” นั้น คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดี 

เนื่องจากตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เสาร์ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. ถึงวันที่ 19 ส.ค. 2558 และในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 4 พ.ย. 2563 ซึ่งเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลได้ระบุไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาอย่างชัดเจนเช่นกันว่า เสาร์ถูกคุมขังมาพอแก่โทษตามคำพิพากษา จึงให้ปล่อยตัวจำเลยไป

กรณีจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่า เสาร์ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. ถึงวันที่ 19 ส.ค. 2558 ที่คณะกรรมการฯ รับฟังข้อเท็จจริงว่า เสาร์ไม่ได้ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจึงคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงในสำนวน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ จึงมิชอบด้วยกฎหมาย

3.2 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ คลาดเคลื่อนต่อ ป.วิ.แพ่ง – ขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงขัดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ 

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ คลาดเคลื่อนต่อหลักกฎหมายมาตรา 1 (7)(8) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 กล่าวคือ

ที่คณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่า “…คดีนี้ศาลทหารกรุงเทพได้อนุญาตให้นายเสาร์ ประกันตัวในระหว่างการพิจารณา จำเลยจึงไม่ได้ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 20 (2) แห่งพระราชบัญญัตินี้…” นั้น

พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติความหมายของคำว่า “การพิจารณา” ไว้เป็นการเฉพาะ กรณีจึงต้องพิจารณาเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 บัญญัติว่า

“(7) “กระบวนพิจารณา” หมายความว่า การกระทำใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดี ซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาล หรือตามคำสั่งของศาล ไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้

(8) “การพิจารณา” หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่ง ก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง” 

จากบัญญัติดังกล่าว “การพิจารณา” ย่อมหมายถึง การกระทำใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอันเกี่ยวกับคดี ซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาล หรือตามคำสั่งของศาล 

และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (22) บัญญัติว่า “ขัง หมายความถึง การกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล” 

ดังนั้น กรณีคดีนี้เมื่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ยื่นคำร้องขอฝากขังเสาร์ต่อศาลอาญา และศาลมีคำสั่งให้ขังในชั้นฝากขัง ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาในศาลก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษา ตามมาตรา 2 (22)  และมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่เสาร์ถูกขังในชั้นฝากขังตามคำสั่งศาลตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. ถึงวันที่ 19 ส.ค. 2558 จึงเป็นการถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี ตามมาตรา 20 (2) แห่ง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ เสาร์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายในคดีอาญา

นอกจากการพิจารณาว่าการถูกขังในชั้นฝากขังตามคำสั่งศาลจะเป็นการถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีหรือไม่ อย่างไรแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 25 วรรคท้ายซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนไว้ว่า “บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ” 

และยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล 

ฉะนั้น การตีความว่าการถูกคุมขังในชั้นฝากขังเป็นการถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี ตามมาตรา 20 (2) แห่ง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ หรือไม่ จะต้องเป็นการตีความเพื่อคุ้มครองสิทธิ มิใช่การตีความเพื่อจำกัดสิทธิ อันจะเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเกินสมควร 

.

ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง เห็นว่าการถูกคุมขังระหว่างพิจารณา หมายถึงเฉพาะในฐานะจำเลย ไม่ใช่ผู้ต้องหา

วันที่ 11 ก.ค. 2566 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 26 เม.ย. 2566 ซึ่งยกอุทธรณ์ของเสาร์ มีเนื้อหา เห็นว่า พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “จําเลยที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ต้อง (1) เป็นจําเลยที่ถูกดําเนินคดีโดยพนักงานอัยการ (2) ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี…” และมาตรา 21 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “การกําหนดค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามมาตรา 20 ให้กําหนดตาม หลักเกณฑ์ ดังนี้ (1) ค่าทดแทนการถูกคุมขัง ให้คํานวณจากจํานวนวันที่ถูกคุมขัง ในอัตราที่กําหนดไว้สําหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา” 

ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี ตามความหมายมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) หมายถึง การถูกคุมขังในฐานะจําเลยเท่านั้น การถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนเป็นการถูกคุมขังในฐานะผู้ต้องหา ไม่ใช่ฐานะจําเลย และเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้เช่นนี้แล้ว กรณีจึงไม่อาจนําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (7) (8) มาใช้บังคับดังที่ผู้ยื่นคําขออุทธรณ์ได้ 

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในระหว่างวันที่ 28 พ.ค. ถึงวันที่ 19 ส.ค. 2558 ผู้ยื่นคําขอถูกคุมขังตามที่พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ยื่นคําร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา และเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2559 อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ฟ้องผู้ยื่นคําขอต่อศาลทหารกรุงเทพ ในวันเดียวกันศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ประกันตัวผู้ยื่นคําขอไปในระหว่างพิจารณา

ต่อมามีการโอนสํานวนมาศาลอาญาตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคําขอไม่ได้ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีตามความหมายของมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ดังกล่าว ที่จะกําหนดค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จําเลยในคดีอาญาให้แก่ผู้ยื่นคําขอได้ 

ที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จําเลยในคดีอาญา มีคําวินิจฉัยให้ยกคําขอมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ยื่นคําขอฟังไม่ขึ้น พิพากษายกอุทธรณ์ 

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 มาตรา 25 กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ทำให้การเรียกร้องค่าทดแทนจากการถูกคุมขังรวม 84 วัน ของเสาร์ต้องสิ้นสุดลง โดยที่เขาไม่ได้ค่าทดแทนใดๆ เลย

X