7 เรื่องราวว่าด้วยความอยุติธรรม ความหวัง และพลังของ 7 ‘ผู้หญิงนักสู้’ บนถนนสายประชาธิปไตย  

#EmpoweringWomens

บนเส้นทางการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ความเท่าเทียม หรือบางสิ่งอย่างที่พวกเขาปรารถนาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย บนเส้นทางนั้นมีหลายผู้คนต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม การสูญเสีย การถูกลดทอนความมนุษย์ ไม่ว่าจะจากการถูกดำเนินคดี ถูกคุมขังในเรือนจำ หรือถูกติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ

เธอบางคนต้องโทษจำคุก 87 ปี สูงสุดในการลงโทษจำคุกคดี 112

เธอบางคนต้องจำใจทิ้งลูกชายของตัวเองไว้เบื้องหลังแล้วก้าวเท้าเข้าเรือนจำ

เธอบางคนใกล้ชิดกับแวดวงตุลาการ แต่วันหนึ่งกลับต้องใกล้ชิดในระดับเข้าไปอยู่ลึกถึงเรือนจำ

เธอบางคนเคยวางชีวิตเป็นเดิมพันทวงความยุติธรรมด้วยการอดอาหารนานถึง 2 เดือน

เธอบางคนเรียกร้องต่อพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน ให้ฟังเสียงประชาชน แต่พรรคกลับแจ้งความประชาชน

ฯลฯ

เราขอเสนอเรื่องราวของ ‘7 ผู้หญิง’ ที่หวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่กลับถูกรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคาม นั่นทำให้ชีวิตของพวกเธอต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมหลากหลายรูปแบบที่หากไม่ใช่ตัวพวกเธอเองก็อาจไม่มีวันเข้าใจ แม้การต่อสู้ของพวกเธอจะยังไม่สิ้นสุด แต่เราหวังว่าทุกคนจะร่วมเคียงข้างและต่อสู้ไปพร้อมกับพวกเธอจนกว่าพวกเราจะถึงวันใหม่ที่ใฝ่ฝัน 

อัญชัญ: ขอส่งต่อพลังแห่ง ‘การต่อสู้โดยไม่ย่อท้อ’ ถึงผู้หญิงทุกคน

“ป้าอัญชัญ” ปัจจุบันอายุ 67 ปี เธอถูกกล่าวหาว่าอัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมทั้งหมด 29 ครั้ง เป็นความผิด 29 กรรม ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 87 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เนื่องจากรับสารภาพ คงเหลือโทษจำคุกราว 43 ปี 6 เดือน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในข้อกล่าวหานี้เท่าที่ทราบข้อมูล

ในคดีนี้ป้าอัญชัญถูกคุมขังครั้งแรกในระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2558 ก่อนได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2561 รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 3 ปี 9 เดือน 

ตลอดเวลาที่ได้รับ “อิสรภาพชั่วคราว” ชีวิตของเธอพลิกผันแทบจะกลายเป็นหลังมือ ทรัพย์สินหลายอย่างถูกธนาคารยึด และขาดการชำระตามกำหนดเนื่องจากถูกคุมขัง เธอจึงต้องออกมาทำขนมขายหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง

เธอเคยบอกไว้ว่า ในบั้นปลายชีวิตของผู้หญิงอย่างเธอ ฝันว่าอยากใช้ชีวิตที่ไม่ต้องเรียบหรูอะไรมากมาย ขอแค่อยู่อย่างไม่ลำบากและมีอิสระก็เพียงพอแล้ว

แต่สุดท้ายศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาทำให้เธอต้องถูกคุมขังเป็นครั้งที่ 2 มาตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน โดย ณ ต้นปี 2566 เธอยังมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีกประมาณเกือบ 9 ปีข้างหน้า 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ทนายความได้เดินทางไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อเข้าเยี่ยมป้าอัญชัญอีกครั้ง เธอบอกว่าช่วงนี้เหงามาก เพราะไม่ค่อยได้รับจดหมายจากคนข้างนอกเหมือนแต่ก่อน

ทั้งยังเริ่มมีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น ทำให้ป้าคิดว่าจะพยายามออกกำลังกายให้มากขึ้นเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงกว่านี้

ป้าบอกว่าความทุกข์ทนจากการถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังไม่ได้เลือกเกิดกับเฉพาะบางเพศ แต่ทุกเพศ ทุกวัยที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ล้วนได้รับความลำบากกันทั้งนั้น 

“มันไม่มีความยุติธรรมตามแบบสากลเลย อย่างป้าเองแค่แชร์คลิปลงเฟซบุ๊ก มันต้องมีโทษขนาดนี้เลยเหรอ ป้ารู้สึกว่าป้าไม่ได้รับความยุติธรรมเลย”

ป้าเล่าต่อว่า “สิ่งที่เป็นความทุกข์และลำบากที่สุด นอกจากการไม่มีอิสรภาพและต้องปฏิบัติตามกฎในเรือนจำทุกอย่างโดยที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ ก็คือ ‘การเบียดเสียดเยียดยัด’ แย่งทรัพยากรต่างๆ กับผู้ต้องขังในเรือนจำ 

“ป้าก็แก่แล้วลูก ในนี้คนเยอะมาก คนแก่ล้มหัวร้างข้างแตกกันหลายคน บางคนอายุจะ 90 แล้ว ยังอยู่ในเรือนจำอยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ซักผ้า หรือซื้อข้าวของ มันต้องแย่งกันหมดเลย ยิ่งคนที่ไม่มีญาติไม่มีคนส่งเงินมาให้ยิ่งลำบาก”

ผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างของป้าอัญชัญ เธอบอกว่าต้องเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง ต่อสู้กับความอยุติธรรมโดยที่ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร เหมือนอย่าง “คุณหญิงพูนสุข พนมยงค์” ซึ่งเธอให้ความนับถืออย่างมาก

ป้าคิดว่า พลังที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้หญิงอย่างเราคือ ‘ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน’ และ ‘ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน’ เพื่อที่พวกเราจะได้มารวมตัวกันต่อสู้กับความอยุติธรรมในประเทศนี้ได้  

ส่วนพลังของผู้หญิงในตัวเองที่ป้าอัญชัญอยากส่งต่อให้กับผู้หญิงทุกคน นั่นก็คือ ‘พลังในการต่อสู้โดยไม่ย่อท้อ’

อย่างที่รู้กันว่า เส้นทางการต่อสู้ของป้าอัญชัญนั้นยาวนานและผ่านความลำบากแสนเข็ญมามากมายหลายอย่าง แต่จนถึงวันนี้เธอยังคงพูดอย่างหนักแน่นทุกครั้งว่า ‘ยังคงสู้อยู่และจะสู้ต่อไป’ 

“อย่ายอมให้เขากดหัวเราเหมือนเราไม่ใช่คน เราต้องร่วมมือร่วมใจกันเงยหน้าสู้ อย่าให้เขาทำเราได้ฝ่ายเดียว ป้าเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงทุกคนที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ อย่ายอมก้มหัวให้ความอยุติธรรม เราต้องสู้เพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่านี้ วันที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินอย่างแท้จริง”

เชื่อว่าทุกคนสัมผัสได้ถึงพลังของความเป็นนักสู้ที่ไม่เคยท้อถอยของป้าอัญชัญได้ เธอคือแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดของพวกเราทุกคน และหวังว่าเธอจะได้รับอิสรภาพในเร็ววันนี้

วรรณภา: ‘นักโทษ’ คดีความมั่นคงของรัฐ

และ ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ ของลูกชายทั้งสอง

นักโทษหญิงที่ถูกคุมขังอยู่ในคดีการเมืองที่คดีถึงที่สุดแล้ว ปัจจุบันมีอย่างน้อย 2 คนเท่านั้น ได้แก่ “ป้าอัญชัญ” ในคดีมาตรา 112 ที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ส่วนอีกคนหนึ่งเธอมีชื่อว่า “วรรณภา” แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 35 ปี  

วรรณภาเพิ่งถูกคุมขังในฐานะ “นักโทษเด็ดขาด” ไปเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา จากการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนโทษจำคุก 3 ปี ในข้อหา “เป็นอั้งยี่” กรณีแจกเสื้อยืดสีดำที่มีสัญลักษณ์ “สหพันธรัฐไท” ซึ่งถูกรัฐไทยมองว่ามีความมุ่งหมายต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยไปเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยหวังจะแบ่งแยกพื้นที่การปกครองของประเทศออกเป็นมลรัฐต่างๆ 

สุดท้ายวรรณภาต้องจำใจทิ้งลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัยกำลังโตทั้งสองคนไว้เบื้องหลัง และก้าวเท้าเข้าเรือนจำอีกเป็นหนที่ 2 โดยก่อนหน้านั้นเธอเคยถูกคุมขังมาแล้ว 1 ครั้ง เป็นเวลา 19 วัน จากการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำคุก เมื่อช่วงกลางปี 2564 ก่อนศาลฎีกาจะให้ประกันตัวในเวลาต่อมา โดยหนึ่งในเงื่อนไขของการปล่อยตัวคือให้ติดกำไล EM ซึ่งวรรณภาต้องใส่มาตั้งแต่นั้นจนถึงวันที่เธอกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งในครั้งนี้ คิดเป็นเวลานานกว่า 1 ปีครึ่ง

วรรณภามีลูกชายอยู่ด้วยกันสองคน อายุ 13 ปี และ 18 ปี เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ตั้งใจเลี้ยงดูลูกทั้งสองอย่างดีที่สุดด้วยขาลำแข้งตลอดมา ที่ผ่านมาเธอทำงานรับจ้างมาแล้วหลายอย่าง ตั้งแต่ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับรถแท็กซี่ ขายของ รับจ้างคัดแยกพัสดุที่คลังสินค้า ฯลฯ โดยก่อนหน้านี้ชีวิตเธอและลูกๆ ก็ดำเนินไปอย่างลำเข็ญพอสมควรอยู่แล้ว เพราะวรรณภาทำงานหาเงินเพียงคนเดียว แต่ทว่าครอบครัวมีรายจ่ายหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนลูกทั้งสองคน ค่าเช่าห้อง และจิปาถะอีกหลายอย่าง

ชีวิตของวรรณภายิ่งลำบากเข้าไปกันใหญ่ เมื่อต้องถูกดำเนินคดีนี้ การมีประวัติอาชญากรรมในคดีความที่ยังไม่สิ้นสุด การถูกให้ติดกำไล EM และการต้องเดินหน้าสู้คดีขณะที่มีภาระรายล้อมตัว ทำให้เธอต้องถูกไล่ออกจากงาน กลายเป็นคนที่มีงานทำไม่เป็นหลักแหล่ง คาดเดาไม่ได้ รายได้ของเธอจึงลดฮวบลงหลายเท่าตัว 

วรรณภาเคยเล่าว่า เธอเคยถูกไล่ออกจากห้องเช่าหลายต่อหลายครั้ง เพราะค้างจ่ายค่าเช่าหลายเดือนติดต่อกัน  ตลอดกว่า 4 ปี ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีนี้ ไม่เคยมีครั้งไหนที่เธอมีเงินพอให้ไปจ่ายค่าเช่าตรงเวลาเลย วรรณภาต้องวิ่งวุ่นทำงานตัวเป็นเกลียว กู้หนี้ยืมสิน เพื่อนำมาใช้จ่ายให้พอผ่านไปได้ในแต่ละวัน

ถึงกระนั้นเธอก็อยากให้ลูกทั้งสองคนได้เรียนหนังสือสูงที่สุดเท่าที่จะมีแรงส่งเสียได้ เธอเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น แต่สุดท้ายเมื่อวรรณภาถูกดำเนินคดีไม่นาน ลูกชายคนโตก็ตัดสินใจหยุดเรียนและออกมาช่วยแม่ทำงานรับจ้างหาเงินพยุงครอบครัวให้อยู่รอดได้ ขณะที่เขายังอายุไม่ถึง 18 ปีด้วยซ้ำไป

และเมื่อวรรณภาถูกคุมขังในครั้งนี้ ลูกชายคนเล็กวัย 13 ปี ต้องถูกส่งให้ไปอยู่กับยายที่ต่างจังหวัด นั่นทำให้เขาต้องหยุดเรียน ม.1 กลางคัน และจะไม่ได้เรียนหนังสือต่ออีก เพราะยายอายุเยอะมากแล้ว ไม่มีแรงที่จะทำงานหาเงินให้หลานชายได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ ส่วนลูกชายคนโตขออยู่ทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ ต่อไปเพียงลำพัง เพื่อเฝ้ารอวันที่แม่จะได้กลับออกมาอีกครั้ง

วรรณภาเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกชายทั้ง 2 คน เธอทำงานรับจ้างหาเงินทั่วกรุงเทพฯ อย่างไม่เป็นหลักแหล่ง ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นที่ไหนจะมีงานให้เธอได้ทำ 

“มันรุนแรงมากเลยเหรอ แค่เสื้อตัวเดียวคุณกลัวมากเลยเหรอ สงสัยมากเลยว่าเสื้อตัวนี้มันไปทำอะไรให้ใคร สาระสำคัญคือเป็นแค่การพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม เขาไม่ได้ไปเชิญชวนให้ไปฆ่าใครหรือไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครเลย

“แต่มาบอกว่าเสื้อตัวนี้เป็นทรราชแผ่นดิน มันแรงมากเลยนะ เราโดนตั้งข้อหาอั้งยี่ ยุยงปลุกปั่น มันรุนแรงมากนะ แค่กับเสื้อตัวเดียว แค่เสื้อตัวเดียวถึงกับเป็นอั้งยี่ เป็นกบฏเลยเหรอ” 

กลายเป็นว่าเธอต้องถูกทหารนับ 10 นายจับเข้าค่ายทหารอยู่เกือบสัปดาห์ ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาความมั่นคงของรัฐ ถูกเลิกจ้างงาน ถูกติดกำไล EM และต้องโทษจำคุกมากถึง 3 ปี ตลอด 3 ปีหลังกรงขังนี้ลูกชายของเธอจะไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องขาดแม่ให้พักพิง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ “เสื้อยืดสีดำที่มีโลโก้สหพันธรัฐไท”

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของวรรณภาก่อนต้องเข้าเรือนจำ: ‘วรรณภา’ จำเลยคดีสหพันธรัฐไท- หัวอกแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง และฝันร้ายที่รัฐไทยมอบให้     

ป่าน ทะลุฟ้า: มองพัฒนาการ ‘เพศ’ ในขบวนนักกิจกรรม และความไม่เท่าเทียมในเรือนจำหญิง

“ป่าน” กตัญญู หมื่นคำเรือง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า วัย 27 ปี ก้าวสู่เส้นทางเคลื่อนไหวการเมืองมาตั้งแต่ปี 2558 และกลับเข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวอีกครั้งภายใต้ปีก “ทะลุฟ้า” เมื่อมีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ปี 2563 

ระหว่างเส้นทางการต่อสู้และดันเพดานข้อเรียกร้องของเธอและเพื่อนๆ ป่านต้องถูกคุมขังในเรือนจำ 1 ครั้ง อยู่นาน 56 วัน เมื่อช่วงกลางปี 2565 พร้อมกับเพื่อนทะลุฟ้าอีก 6 คน หลังถูกฟ้องจากกรณีทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 

เราชวนป่านกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง เพื่อทบทวนถึงพัฒนาการความเท่าเทียมทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยระลอกนี้ รวมถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในเรือนจำหญิง (ทัณฑสถานหญิงกลาง) ที่เธอเข้าไปประสบเจอด้วยตัวเองเกือบ 2 เดือน

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม: คลิกที่นี่

ติดตามบทสัมภาษณ์อื่นๆ ในซีรีส์ได้เร็วๆ นี้ ตลอดทั้งเดือนมีนาคม

X